ห้องสมุดสาธารณะเปลี่ยนเมือง และชีวิตคนในชุมชนได้จริงหรือ? - บ้านและสวน
ห้องสมุด

ห้องสมุดสาธารณะเปลี่ยนเมือง และชีวิตคนในชุมชนได้จริงหรือ?

วันนี้มีโอกาสได้นั่งคุยกับคุณ Marie Østergård ผู้นำโครงการสร้างอาคารห้องสมุดชื่อดัง ที่ถือเป็นต้นแบบของห้องสมุดสาธารณะอย่าง Dokk1 – ห้องสมุดเปี่ยมศักยภาพแห่ง Aarhus คุณ Marie เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดึงนวัตกรรมมาใส่ในห้องสมุด เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมอย่างสูงสุดของผู้คน และนั่นกลายมาเป็นแนวคิดหลักในการวางแผนสร้าง Dokk1 ซึ่งได้เปิดให้บริการไปในเดือน มิถุนายน 2015

ห้องสมุด

หลังเปิดตัว คุณ Marie ได้เข้าดำรงตำแหน่งต่อในฐานะ Head of Communication Engagement, Partnerships and Communication ซึ่งเป็นโอกาสให้เธอได้สานต่อนโยบายที่ว่าด้วยการพัฒนาห้องสมุดให้เป็นพื้นที่ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริการประชาชน และเต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชน

เมื่อ Office of Knowledge Management and Development หรือ OKMD ดำเนินการจัดเสวนา ภายใต้หัวข้อ “เมือง คิด ใหม่” จึงไม่รอช้าที่จะเชิญหัวเรือใหญ่ในการพัฒนาองค์ความรู้ อย่างคุณ Marie มาร่วมเปิดโลกทัศน์ให้ผู้เข้าร่วมงานผ่านแนวคิดหลักของเธอที่ว่าด้วยเรื่อง “Knowledge City : Ecosystem and Empowerment” ซึ่งเธอได้มาไขข้อข้องใจว่าโอกาสและคุณภาพชีวิตของคนในสังคมจะถูกพัฒนาผ่านห้องสมุดสาธารณะได้อย่างไร

ห้องสมุด

Q: จากที่พวกเรามีโอกาสได้ฟังคุณถ่ายทอดแนวคิด คุณพูดถึงห้องสมุดว่า “ต้องเปิดกว้างแบบประชาธิปไตย, เป็นพื้นที่ที่จุดประกาย, เต็มไปด้วยบทสนทนาและปฏิสัมพันธ์” ซึ่งฟังดูน่าตื่นเต้นทีเดียว แต่คุณมีวิธีออกแบบและวางแผนการก่อสร้างห้องสมุดหรือพื้นที่เพื่อการเรียนรู้แบบที่ว่านั้นอย่างไร ถึงได้เกิดห้องสมุดที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลางและเต็มไปด้วยนวัตกรรม อย่างห้องสมุดใน Aarhus?

Ms. Marie Østergård:
“อย่างแรกสุด คุณต้องรู้จักเรียนรู้ความต้องการจากผู้ใช้โดยการให้คนเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบด้วยซะตั้งแต่แรก หมายความว่า ทีมของเราเริ่มจากการสังเกตวิธีการใช้พื้นที่ของคนหลายๆ ที่ เช่นที่ เช่นพิพิธภัณฑ์, สถานีรถไฟ หรือแม้แต่ห้าง เพื่อดูการปฏิสัมพันธ์และวิธีที่ผู้คนเข้าไปใช้พื้นที่พวกนั้น เพียงเพราะเราต้องการทำให้สมุด ไม่ได้แปลว่าเราต้องนำต้นแบบมาจากห้องสมุดเท่านั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า การมองหาแนวการออกแบบแบบตัวเลือกเดียวเบ็ดเสร็จนั้น ไม่ใช่กระบวนการที่ดี โจทย์เดียวกันอาจมีวิธีแก้ที่ดีได้มากกว่าวิธีเดียว จากขั้นตอนนี้ทีมออกแบบห้องสมุดที่ Aarhusจึงมีวิธีการสร้างสรรค์พื้นที่ที่แตกต่างออกไป โดยการนำแนวคิดและแรงบรรดาลใจมาจากพื้นที่คนทั่วไปเข้าไปใช้งานต่างๆ กัน”

Q: ห้องสมุดนี้ได้ชื่อว่า “สร้างขึ้นโดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ทำให้ดูเหมือนมีกลุ่มผู้ใช้งานกว้างมากเช่น ผู้คนที่เรียนไม่จบ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งผู้อพยพลี้ภัย เป็นต้น อย่างนี้จะมีวิธีให้คนทุกกลุ่มที่ว่ามา รู้จักห้องสมุดของคุณได้อย่างไร

Ms. Marie Østergård:
ความจริงและกลุ่มคนที่กล่าวถึงเหล่านี้ เข้าถึงได้ง่ายมากเพราะมีองค์กรต่างๆ ที่ดูแลพวกเขาอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาช่องทางในการติดต่อกับคนเหล่านี้ อีกกลุ่มที่ง่ายต่อการเข้าถึงคือ พ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะพื้นที่ของเรารองรับความต้องการเด็กๆ ได้ดี โดยเฉพาะด้านการศึกษา และในกลุ่มผู้สูงอายุ พวกเขามีเวลาว่างมากขึ้น พื้นที่ที่มีกิจกรรมเอื้อต่อการพบปะ คลายเบื่อก็จะกลายเป็นที่ที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้อย่างดี ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดคือพื้นที่ที่เราเรียกว่า “human-centric” เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง แต่กลุ่มคนที่เข้าถึงได้ยาก กลับเป็นกลุ่มคนทั่วไปที่มีอาชีพ มีกิจวัติประจำวันที่แน่นอน เพราะเมื่อชีวิตของพวกเขายุ่งตลอดทั้งวันอยู่แล้ว เขาก็ไม่รู้สึกว่าต้องการกิจกรรมหรือพื้นที่อื่นๆ อีก

Q: ในยุคสังคม Digital แบบนี้ ใครๆ ก็เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว click คุณทำอย่างไรในการกระตุ้นให้ผู้คน ยังรู้สึกว่าอยากเดินทางมาใช้ห้องสมุดของคุณอยู่

Ms. Marie Østergård:
ก็น่าแปลกใจทีเดียว ว่าถึงแม้คนส่วนใหญ่จะมี internet ใช้ที่บ้าน แต่นั่นไม่ทำให้พวกเค้านั่งค้นข้อมูลอยู่กับบ้านอย่างเดียว ผู้คนยังต้องการพบปะและติดต่อกัน แม้บางคนจะเดินทางมาห้องสมุดคนเดียว แต่ก็ยังรู้สึกว่าได้อยู่ท่ามกลางกลุ่มคนต่างๆ นั่นเท่ากับว่าเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้แบบได้พบหน้าคร่าตากันจริงๆ เรื่องพวกนี้น่าจะเป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่ทำให้คนยังเดินทางออกมาใช้พื้นที่ของห้องสมุดอยู่

ดังนั้นถ้าคุณอยากจะนัดเจอเพื่อน ห้องสมุดเลยกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เพราะนอกจากเป็นจุดนัดพบแล้ว คุณยังจะได้สัมผัสแรงบรรดาลใจต่างๆ ได้ดูการแสดงดนตรี ได้ร่วมอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนหน้าใหม่ พอคุณได้มาลองทำกิจกรรมเหล่านี้ ความคิดของคุณจะถูกเปิดกว้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเหตุผลที่คนออกจากบ้านมาห้องสมุด ฉันเชื่อว่า เพราะการได้เป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งอย่างที่สร้างสรรค์ มันมีพลัง

Q: คุณคิดว่าแนวคิดการสร้างห้องสมุดแบบนี้ เอามาปรับใช้กับบริบทของพื้นที่อื่นๆ ได้มั้ย? และอย่างประเทศไทยคุณคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะสร้างห้องสมุดสาธารณะแบบเดียวกันกับ Aarhus

Ms. Marie Østergård:
ฉันเชื่อว่าในพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมและรูปแบบของสังคมใกล้เคียงกับ Denmark ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะสร้างห้องสมุดแบบ Aarhus ได้อย่างแน่นอน แต่ในบริบทของไทย ก็ย่อมจะเป็นที่ที่มีรูปแบบและให้ความรู้สึกที่ต่างออกไปเพราะเมืองทุกเมืองมีบริบทเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ในการหยิบแนวคิดเดียวกันมาใช้กับอีกพื้นที่หนึ่ง ก็ต้องคำนึงถึงความต้องการที่เท้จริงของคนในพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก ทั้งในด้านทัศนคติ ความสนใจ หรือพฤติกรรม จึงจะนำไปสู่แนวทางการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและใช้งานได้ดี ดังนั้นห้องสมุดที่ กรุงเทพฯ จะต้องแตกต่างไปจากที่ Aarhus และจะแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง เพราะเมืองทุกเมืองและประชากรในแต่ละแห่งมีบุคลิคลักษณะ และความต้องการเฉพาะตัว

ความท้าทายคือเราจะเปลี่ยนทัศนคติในการใช้ห้องสมุดอย่างไร ให้ผู้คนหันมามองภาพลักษณ์ของห้องสมุดต่างออกไปจากเดิม ห้องสมุดไม่ได้เป็นพื้นที่เงียบเชียบ เอาไว้เก็บแค่หนังสือเก่าหนาเตอะอีกต่อไป แต่มันจะต้องกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา การมีส่วนร่วมและพบปะซึ่งกันและกัน จะต้องเป็นพื้นที่แห่งการแชร์ความรู้และพัฒนาชีวิตของคน

Q: คุณคิดว่าห้องสมุดสาธารณะจะกลายมาเป็นหัวใจหลักในการสร้าง Smart City?

Ms. Marie Østergård:
แน่นอนค่ะ ฉันคิดว่ามันสำคัญมาก ห้องสมุดเป็นของคู่กันกับเมืองสร้างสรรค์และทุกๆ Smart City จะต้องมีห้องสมุดอยู่เสมอ ห้องสมุดที่ฉลาดจะมองหาวิธีการดึงเทคโนโลยีในเมือง Smart city มาปรับใช้กับตัวเองด้วย ดังนั้นห้องสมุดจะคอยเรียนรู้จากลักษณะสถาปัตยกรรมรอบข้างและเทคโนโลยีที่สิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นใช้ เพื่อดึงเอาส่วนที่ดีมาใช้พัฒนาพื้นที่และผลักดันให้เกิดบริการที่มีศักยภาพสูงแก่ประชาชน

ส่วนตัวฉันมองว่าในหลายๆ ที่ คำว่า Smart City เน้นไปที่เรื่องของเทคโนโลยี แต่บ่อยครั้งที่เรามองข้ามไปว่า จะทำอย่างไรให้ประชากรในเมืองนั้น เข้าถึงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วยเทคโนโลยีนั้นอย่างทัดเทียม และทั่วถึงกัน

ห้องสมุดคือกลไกสำคัญในการกระจายความรู้ เพราะมันคือสถานที่สาธารณะที่เปิดกว้างทางความคิดตามวิถีประชาธิปไตย ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกันเพื่อไปถึงเป้าหมายทั้งของตนเองและส่วนรวม โดยหากผู้คนเข้ามาที่ห้องสมุดแล้ว สิ่งแรกที่จะได้รับนั้นแน่นอนคือความรู้ และสิ่งถัดมา คือเสรีภาพในการแสดงออก เช่น บางคนต้องการเริ่มต้นธุรกิจ Startup แต่ไม่รู้ว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจที่เขาสนใจที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปอ่านทำความเข้าใจได้อยู่เยอะมาก ก็สามารถมาค้นหาได้ที่ห้องสมุดสาธารณะเพื่อต่อ ยอดไอเดียทางธุกิจของเขาได้อย่างเสรี

Q: ท้ายที่สุด คุณคิดว่ามีอะไรที่ต้องน่าห่วงหรือต้องคำนึงเป็นพิเศษถึงก่อนจะสร้างห้องสมุดสาธารณะหรือไม่ ?

Ms. Marie Østergård:
ตราบใดที่แผนงานและการดำเนินการต่างๆ ของห้องสมุดนั้นมีความโปร่งใส ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกลาง ไม่โอนเอียงฝักใฝ่ไปทางทางใดทางหนึ่ง และตราบเท่าที่ห้องสมุดสาธารณะยังสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้จริงๆ ก็ไม่น่ามีอะไรจะต้องห่วง ห้องสมุดจะต้องไม่มองข้ามคนบางกลุ่มเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงองค์ความรู้ นั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ห้องสมุดสาธารณะในทุกวันนี้ ควรมีองค์ประกอบที่หลากหลายทั้งในแง่ของกิจกรรมและบริการ : มีพื้นที่ให้อ่านและเรียนรู้แบบสงบ, มีพื้นที่ของเสียงดนตรี, มีพื้นที่ของการศึกษาและปฏิสัมพันธ์ ความครบครันเหล่านี้คืออนาคตของห้องสมุดสาธารณะ

ห้องสมุด ห้องสมุด