บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน ที่มีโครงสร้างหลักเป็นคอนกรีต ผสมกับวัสดุพื้นถิ่น - บ้านและสวน

บ้านที่มีลมหายใจ…และกำไรของชีวิต

ณ หัวโค้งหนึ่งของทางหลวงชนบทที่ลัดเลาะไปตามท้องทุ่งในตำบลบ้านชัฏป่าหวาย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มองเข้าไปก็จะเห็นบ้านหลังคาแป้นเกล็ดที่ดูแปลกตากว่าบ้านเรือนโดยรอบ ตัวอาคารคอนกรีตแซมด้วยองค์ประกอบไม้แลดูนิ่งสงบและอบอุ่น บ้านหลังนี้คือบ้านของ คุณเต้อ – นันทพงศ์ ยินดีคุณ และครอบครัว

เจ้าของ : ครอบครัวยินดีคุณ

ออกแบบ : คุณนันทพงศ์ ยินดีคุณ

“มีความคิดว่าเมื่อคุณพ่อเกษียณก็อาจมาอยู่ทำสวนทำไร่ ใช้ชีวิตง่ายๆอยู่ที่นี่” คุณเต้อเล่าถึงสาเหตุที่มาปลูก บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน อยู่ที่นี่ “เริ่มมาจากตอนหนีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯปี 2554 เราทั้งครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ น้องชาย และผมมาเช่ารีสอร์ตซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่แปลงนี้ และก็เริ่มติดใจบรรยากาศของพื้นที่แถบนี้” แม้จังหวัดราชบุรีจะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ หากขับรถก็ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ แต่อำเภอสวนผึ้งซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังยังมีบรรยากาศแบบชนบทอย่างเต็มเปี่ยม

 

“ที่นี่ไม่ได้ไกลจากกรุงเทพฯ ผมสามารถขับรถไปทำงานที่อาศรมศิลป์ได้บ้านหลังนี้จึงไม่ใช่บ้านตากอากาศ แต่เป็นบ้านอีกหลังที่หากคุณพ่อเกษียณแล้วคงมาอยู่กัน”

มองจากภายนอกบ้านหลังนี้ดูใหญ่โตทีเดียว แต่ความจริงแล้วการออกแบบเริ่มมาจากการสร้างพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคน แล้วจึงนำมาผนวกเข้าด้วยกัน

“บ้านที่อยู่ปัจจุบันเป็นบ้านเดี่ยวที่อยู่ร่วมกัน บ้านใหม่ก็เลยอยากให้ทุกคนได้มีพื้นที่ของตัวเอง แล้วก็เชื่อมพื้นที่เหล่านั้นด้วยโถงทางเดิน เปิดพื้นที่ตรงกลางเป็นสวนและกั้นความเป็นส่วนตัวของทุกห้องออกจากกัน แต่ก็ยังหลวมพอที่ลมจะไหลเวียนผ่านทุกส่วนของบ้านได้

บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน หลังนี้จึงมีรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ที่ทับซ้อนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยมีลานหินกรวดซึ่งปลูกต้นไม้ใหญ่สองสามต้นอยู่ตรงกลาง หากมองจากด้านบนก็จะเห็นว่ามีส่วนกั้นให้เกิดความเป็นส่วนตัวและเพิ่มความสดชื่นให้ทุกพื้นที่ในบ้าน แต่มองจากด้านล่างกลับดูนิ่งสงบ เข้ากับห้องทำงานของคุณเต้อที่ต้องการสมาธิในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม

ทางเดินทั้งหมดภายในบ้านและระเบียงของแต่ละห้องตั้งอยู่บนคานยื่น (Cantilever) ด้วยเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม

“ผมคิดว่าคานยื่นนั้นเป็นเหมือน ‘กำไรของโครงสร้าง’ เพราะไม่ต้องเสียฐานราก ไม่ต้องเสียเสา ใช้การฝากน้ำหนักไว้กับโครงสร้าง จึงออกแบบให้ทางเดินและระเบียงเป็นโครงสร้างที่ยื่นออกไป 1.50 เมตร ทั้งเพิ่มพื้นที่สัญจรและช่วยกันแดดกันฝนได้ดี รวมถึงทำให้บ้านดูเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคล้ายยุ้งข้าวอีกด้วย”

แนวคิดในการออกแบบของคุณเต้อมักเกิดจากการตอบโจทย์ด้วยเหตุและผล นอกจากการใช้คานยื่นแล้ว การเลือกใช้คอนกรีตเปลือยและไม้เก่าก็เกิดจากเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าเช่นกัน

“โครงสร้างหลักของบ้านหลังนี้เป็นคอนกรีต ส่วนเสาไม้และพื้นไม้บางส่วนเป็นไม้เก่า กระเบื้องก็เป็นกระเบื้องปูพื้นจากเอ๊าต์เล็ต คือถ้าเรามองหาวัสดุที่สมเหตุสมผล เราก็จะเจอและไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองจนเกินไป ผมชอบไปเดินดูวัสดุอยู่แล้ว และความที่เคยชินกับคุณพ่อที่ทำงานเกี่ยวกับรับเหมาก่อสร้างเวลาเราเห็นวัสดุที่น่าสนใจก็จะคิดราคาต้นทุน ความคุ้มค่า และลักษณะการใช้ไปก่อนแล้ว อย่างหลังคาแป้นเกล็ดบางคนจะคิดว่าแพง จริงๆ แล้วหากเราใช้หลังคาทั่วไปแบบที่นิยมกันแล้วตีฝ้า แบบนั้นจะแพงกว่าหลังคาแป้นเกล็ดเปลือยฝ้าเสียอีก หรือในการออกแบบเอง เมื่อเราเลือกวัสดุแล้วก็จะพยายามให้การใช้วัสดุทั้งหลายนั้นมีความลงตัว ไม่ให้มีเศษเหลือ ก็ออกแบบให้พอดีที่สุดเท่าที่เรายังสามารถอยู่ได้สบายนั่นเอง

อาจเพราะการคิดคำนึงเช่นนี้ จึงทำให้ทุกพื้นที่ของบ้านหลังนี้มีความลงตัวอย่างที่สุด

 

“ถึงผมจะชอบความเป็นธรรมชาติและความเป็นพื้นถิ่น แต่ก็ไม่ได้จงใจทำให้เป็นบ้านพื้นถิ่นอะไร หากการปล่อยให้วัสดุดูมีร่องรอยก็ช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่นให้บ้านได้ดี แถมยังดูกลมกลืนกับบริบทรอบๆ ด้วย”

ด้วยเหตุนี้คุณเต้อจึงไม่ได้ลงน้ำยารักษาเนื้อไม้ เพียงแต่เลือกไม้ให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น ไม้พื้นที่จะโดนแดดและฝนก็เลือกใช้ไม้ตะเคียนทอง ซึ่งนิยมใช้ทำเรืออยู่แล้ว จึงทนแดดทนฝนได้ดี ส่วนที่เป็นปูนเปลือยก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ

“หากจะลงน้ำยารักษาเนื้อไม้ก็ต้องลงทุกปี อย่างนั้นรอจนเมื่อครบรอบแล้วเปลี่ยนไม้ทีเดียวเลยน่าจะคุ้มค่าเช่นเดียวกัน”

นับเป็นอีกวิธีคิดที่นำเอาหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้กับงานออกแบบได้อย่างคาดไม่ถึง แต่ที่สำคัญคือ ดูสวยงามและเป็นธรรมชาติจริงๆ

 

“ตอนนี้ยังอยู่บ้านที่กรุงเทพฯเป็นหลัก ก็ไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านหลังนี้ด้วยแต่วันหนึ่งถ้าเบื่อชีวิตเมืองก็คงจะมาอยู่บ้านนี้เป็นหลักแทน ที่นี่สวยมากนะ ยิ่งในฤดูหนาวจะมีแสงเฉียงๆ สีอุ่นๆ ในยามเย็น คุณต้องมาเห็นเอง”

จะมีบ้านสักกี่หลังที่ทำให้เราได้สัมผัสถึงห้วงเวลาแห่งธรรมชาติอันบริสุทธิ์ สัมผัสคุณค่าของความงดงามที่ไม่ถูกรบกวนด้วยความเร่งรีบของชีวิตเมือง สำหรับผม…แค่นี้ก็คงคุ้มค่าแล้วที่จะมีบ้านชนบทสักหลัง บ้านที่ให้เราได้พักหายใจจริงๆ เมื่อลองมายืนบนดาดฟ้าของบ้านแล้วมองออกไปสู่ท้องทุ่งไกลสุดลูกหูลูกตาของอำเภอสวนผึ้ง ทิ้งเรื่องวุ่นวายไว้ก่อน ณ ช่วงเวลานั้น ผมถึงได้เข้าใจว่า อะไรคือกำไรของชีวิต

 

เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

อ่านต่อ : บ้านไม้วิถีไทย