บ้านชั้นเดียว เปลือยผิวด้วยอิฐโชว์แนว
บ้านชั้นเดียว ที่เด่นด้วยผนังอิฐโชว์แนวสีน้ำตาลแดงในแพตเทิร์นใหม่ๆ ดูแปลกตาตัดกับปูนเปลือยขัดมันที่ทาบทับในแนวเฉียงแทรกด้วยงานไม้ไผ่แต่งผนังในแนวตั้ง
“ฟ้า…และท้องทะเลกับลมนั้นมีอยู่…” ท่อนหนึ่งจากบทเพลง “ให้เธอ” โดยอัสนีและวสันต์ โชติกุล นั้นพอจะสื่อถึงบรรยากาศของบ้านหลังนี้ได้เป็นอย่างดี ในวันที่โลกเริ่มจะหมุนเร็วเกินไป ภาพบรรยากาศริมทะเลแบบเดิมๆ ก็เริ่มไกลห่างออกไปจากความทรงจำของเรา แต่ “พะงัน” จะยังคงเป็น “พะงัน” เสมอที่บ้านหลังนี้…“บ้านสมใจ” บ้านและที่พักสำหรับนักเดินทาง
คุณนัด – ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ สถาปนิกจาก NPDA Studio ลูกชายของ คุณบรรจบ และ คุณสมใจ พิริยประกอบ เจ้าของบ้านหลังนี้ เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า
“คุณพ่อและคุณแม่เกษียณมานานแล้ว พื้นเพเดิมของคุณพ่อเป็นคนเกาะพะงัน และมีที่ดินที่คุณย่าแบ่งไว้ให้ ก่อนหน้านี้พะงันเคยเงียบสงบ มีบรรยากาศสบายๆ ถนนหนทางก็ยังไม่ค่อยมี นักท่องเที่ยวที่มาเกาะนี้จึงเป็นผู้ที่รักในความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง จะมาทีก็ต้องไปสมุยก่อนแล้วต่อเรือมาที่พะงัน ที่แห่งนี้ก็เคยเป็นสวนมะพร้าวไม่ได้มีอะไรหวือหวาเป็นพิเศษ ในวันหยุดบางครั้งพวกเราก็กลับมาที่พะงัน มารับบรรยากาศทะเล บรรยากาศสวนมะพร้าว มองไปไกลๆ เห็นเรือประมง นั่นเป็นภาพจำของพะงันสำหรับผมเลย”
ทุกวันนี้เราสามารถนำรถข้ามฝั่งจากสุราษฎร์ธานีมาที่เกาะพะงันได้โดยสะดวกด้วยบริการของเรือเฟอร์รี่ ทำให้พะงันมีบรรยากาศคึกคักขึ้นมาก ปัจจัยสำคัญก็คือเทศกาลฟูลมูนปาร์ตี้ที่เลื่องลือกันในหมู่นักท่องเที่ยว
“ช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาก็พอดีว่าคุณพ่อและคุณแม่เกษียณอายุราชการ จากที่ทำงานอยู่ที่จังหวัดอื่น สุดท้ายก็เลยตกลงกลับบ้านที่พะงัน และเริ่มทำที่พักคล้ายเป็นโฮมสเตย์ (โคโคนัทแอนด์หนุ่มรีสอร์ต)”
คุณพ่อและคุณแม่ของคุณนัดจึงมีกิจกรรมทำหลังเกษียณ “แขกที่มาพักก็หลากหลาย มีตั้งแต่กลุ่มแบ็กแพ็กเกอร์ที่ตั้งใจมาปาร์ตี้ฟูลมูน ไปจนถึงครอบครัวที่ลางานยาวๆ จากยุโรปมาพักผ่อนริมทะเลบ้านเรา นักเขียนก็มี คนนั้นมักจองห้องริมชายหาด ทอดตามองทะเลพลางเขียนงานไปด้วย ได้บรรยากาศดีนะผมว่า พ่อกับแม่ก็ดูสนุกสนาน เหมือนได้เพื่อนใหม่ตลอดเวลา”
สิ่งที่แตกต่างไปคือ ที่พักของบ้านสมใจเน้นความเป็นกันเอง ลูกค้าส่วนใหญ่มักอยู่นานเป็นเดือนหรือหลายเดือน ทุกคนจึงมีจังหวะชีวิตที่เนิบช้าตามที่คุณนัดตั้งใจ และสุดท้ายก็กลายเป็นเพื่อนกับครอบครัวพิริยประกอบ หลายคนแวะมาในช่วงเวลาเดิมทุกปี
“ไม่ใช่ว่าอยากจะทำธุรกิจอะไรหรอกนะ แต่การจะสร้างกลุ่มสังคมดีๆ ที่ดูแลตัวเองได้ ระบบธุรกิจก็ต้องเข้ามาผสมกับความตั้งใจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อที่พักได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เพิ่มเติมพื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมในกลุ่มสังคมนี้ให้ดียิ่งขึ้น อาคารหลังใหม่นี้จึงเป็นทั้งบ้านของคุณพ่อคุณแม่และเป็น ‘ห้องนั่งเล่น’ ของทั้งโครงการไปพร้อมกัน เราตั้งชื่อว่า ‘บ้านสมใจ’ ตามชื่อของคุณแม่”
ในส่วนที่คุณนัดเรียกว่า “ห้องนั่งเล่น” จริงๆ แล้วเป็นพื้นที่เปิดโล่งจัดวางชุดโซฟาสำหรับนั่งพักผ่อน จากเดิมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่คุ้นชิน เพียงไม่นานหลังจากที่อาคารใหม่หลังนี้สร้างเสร็จ มุมนี้กลายเป็นมุมโปรดของคุณแม่ที่มักมานอนเล่นรับลมทะเลเป็นประจำ ส่วนคุณพ่อก็มีกิจกรรมให้ทำมากมาย
“คุณพ่อเป็นวิศวกร ท่านไม่หยุดคิดหรอกครับ ชอบเดินถือกระดาษกับดินสอ ออกแบบมุมนั้นมุมนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าจะนั่งเล่นก็คงเป็นมุมลับที่ดาดฟ้าข้างบนนั่นแหละ”
จากด้านล่างที่เป็นโถงเปิดโล่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ชั้นบนของบ้านสมใจยังมีดาดฟ้าสำหรับให้มานั่งพักผ่อนหย่อนใจยามแดดร่มลมตกอีกด้วย
เมื่อเราถามถึงใจความสำคัญในแง่ของการออกแบบบ้านสมใจหลังนี้ คุณนัดก็ถามกลับว่า
“เชื่อไหมว่าผมออกแบบบ้านนี้จากอัตลักษณ์พื้นถิ่น ซึ่งเป็นความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับเกาะพะงันแห่งนี้”
ครับ…ไม่ใช่ว่าเราไม่เชื่อ แต่บางครั้งคำว่าพื้นถิ่นก็คงต้องอาศัยการทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อย คุณนัดจึงอธิบายต่อว่า “ผมชื่นชอบการใช้วัสดุพื้นถิ่นและฝีมือช่างพื้นถิ่นในการสร้างสรรค์ผลงาน ในความทรงจำของผม ผนังก่ออิฐแดง พื้นปูนขัดมัน และฝาไม้ไผ่ผ่าซีก วัสดุเหล่านี้หาง่ายและกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เห็นได้ทั่วทั้งเกาะ ประกอบกับงานศิลปะริมทะเล มักมีลักษณะของสีสันและลวดลายแปลกตา ก็เลยนำมาใช้กับพื้นผิวของอาคาร เวลาคนเห็นอาคารก็จะจินตนาการไปได้ว่าเป็นทั้งลวดลายแบบศิลปะและแสงเงาที่ล้อเลียนมาจากเงาทาบของต้นมะพร้าวก็ได้ ผมว่าน่าสนใจและน่าจดจำไปพร้อมกัน นอกจากอัตลักษณ์ในเชิงรูปลักษณ์แล้ว เรื่องของความสบายก็สำคัญ ผมออกแบบให้ทุกห้องและทุกพื้นที่มีช่องเปิดสำหรับการถ่ายเทอากาศ ใช้ประโยชน์จากลมทะเลที่พัดมาตลอดทั้งวัน สร้างมุมบังแดดที่พอดีในช่วงชานบ้านด้านทิศตะวันตก และใช้ประโยชน์จากไอเย็นของบ่อน้ำรอบบ้าน บ้านหลังนี้จึงมีความสบายอย่างเหลือเฟือ แม้แดดริมทะเลจะร้อนแรงเพียงใดก็ตาม”
บ้านหลังนี้มองเห็นเด่นชัดได้แต่ไกลเลยทีเดียว ด้วยสีอิฐแดงและลายริ้วทแยงของอาคาร คุณนัดออกแบบห้องนั่งเล่นด้วยโครงสร้างเหล็กช่วงพาดกว้าง ผนังก่ออิฐฉาบปูนจึงเป็นเหมือนกับเสาหลักของโครงสร้าง แม้หลังคาของอาคารจะใช้วัสดุอย่างเมทัลชีต แต่มีดาดฟ้าไม้ที่ซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ทำให้พื้นที่ด้านล่างเย็นสบาย ความร้อนจากแสงแดดแผ่ลงมาไม่มากนัก การออกแบบโครงสร้างที่สอดคล้องกับการใช้งานและเอื้อต่อภาวะน่าสบาย ทำให้ความงามและการใช้งานที่ดีสามารถดำเนินไปได้พร้อมกัน
เที่ยงแล้ว ดวงอาทิตย์กำลังสาดแสงผ่านแนวต้นมะพร้าว คุณพ่อและคุณแม่กำลังเล่นกับหลานอยู่ที่มุมอีกด้านหนึ่งของห้องนั่งเล่น เป็นบรรยากาศของชีวิตที่ถ่ายทอดถึงกันและกันใน “บ้านสมใจ” สถานที่ซึ่งท่านทั้งสองได้กลับมาใช้ชีวิตที่พะงันอีกครั้ง เป็นทั้งที่รวมตัวของครอบครัวพิริยประกอบในวันหยุด และเป็นบ้านที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกที่สู่ความเป็นพะงันอย่างที่พะงันเคยเป็น บ้านหลังนี้ทำให้ผมเห็นพะงันอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน พะงันในวันวาน…ที่เวลาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
เจ้าของ : คุณบรรจบ – คุณสมใจ พิริยประกอบ
ออกแบบ : NPDA Studio โดยคุณณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ
เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ