10 ไม้ยอดฮิต ปลูกริมถนนให้ร่มเงา ช่วยจับฝุ่น
คุณเคยสงสัยหรือไม่? ต้นไม้ริมถนน ที่คุณเห็นตามข้างทางในยามขับรถผ่านนั้นคือพรรณไม้ชนิดใด โดยเฉพาะบริเวณถนนใหญ่ในเมือง พรรณไม้แต่ละชนิดมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก
วันนี้ บ้านและสวน จะพาไปชม ต้นไม้ริมถนน ยอดฮิตที่นิยมปลูก แถมดูแลง่าย …. ไปดูกันเลยว่ามีชนิดใดบ้าง
ตะแบก
ไม้ต้นผลัดใบ สูง 15 – 20 เมตร ทรงพุ่มรูปไข่ เปลือกต้นเรียบเป็นมันสีเทา มีรอยเป็นวงสีขาวรอบต้น ปลายใบมน มีติ่งแหลมเล็ก โคนใบสอบ ใบอ่อนสีแดงและมีขนปกคลุม ดอกบานวันแรกสีม่วงอมชมพู ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีขาว ออกดอกเดือนกรกฎาคม – กันยายน เจริญเติบโตช้า
นิยมปลูกริมถนน ทางเดิน ริมบ่อน้ำ ลักษณะดอกทำให้จำสับสนกับต้นอินทนิลน้ำ ซึ่งมีต้นแตกต่างจากตะแบกคือ เปลือกต้นของอินทนิลน้ำจะดำและขรุขระ ออกดอกเป็นช่อตั้งที่ปลายกิ่ง
พญาสัตบรรณ
ไม้ต้น สูง 15 – 25 เมตร ทรงพุ่มแผ่เป็นชั้น ๆ เนื้อไม้อ่อนและกิ่งเปราะ ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวออกเป็นวงรอบกิ่ง โคนใบมน แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีขาวนวล ออกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง ช่อใหญ่ กลม สีขาวหรือขาวอมเขียว บานพร้อมกันทั้งช่อและนานหลายวัน ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ในช่วงเย็น ออกดอกเดือนมกราคม – พฤษภาคม
ต้นที่ปลูกอยู่ในที่ชื้นแฉะดอกจะบานช้ากว่าต้นที่ปลูกอยู่ในที่แล้ง ควรปลูกลงแปลงกลางแจ้งเป็นต้นเดี่ยวให้ห่างจากต้นไม้อื่นอย่างน้อย 8 เมตร ทรงพุ่มจะแผ่ได้สวยงาม สารสกัดจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาแผลเรื้อรัง และต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้
อินทนิลน้ำ
ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นเล็กและมักคดงอ แต่พอใหญ่ขึ้นจะเปลา ตรง มีเรือนยอดแผ่กว้าง เป็นพุ่มลักษณะคล้ายรูปร่ม เปลือกต้นสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน มักจะมีรอยด่าง ๆ เป็นดวงขาว ๆ อยู่ทั่วไป ผิวเปลือกค่อนข้างเรียบ ไม่แตกเป็นร่องหรือเป็นรอยแผลเป็น เปลือกในจะออกสีม่วง
มักพบขึ้นตามที่ราบลุ่มที่ชื้นแฉะทั่วไป รวมไปถึงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลำห้วย หรือในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดงดิบ พบได้มากสุดทางภาคใต้ นอกจากนี้ยังเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดระนองและจังหวัดสกลนครอีกด้วย
อินทนิลบก
ไม้ต้น สูง 8-15 ม. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยง ดอกสีชมพูถึงม่วงแดง หรือซีดขาว ดอกตูมเป็นรูปลูกข่าง ส่วนบนมีรอยบุ๋มตามยาว กลีบรองดอกรูปถ้วย
ลักษณะคล้ายอินทนิลน้ำมาก แต่ ใบ ดอก และผลมีขนาดใหญ่กว่า ใบป้อมและกว้างกว่าใบอินทนิลน้ำ ปลายใบมนกว้างหรือแหลมเป็นติ่งสั้นๆ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกไม่ชูตั้งขึ้นเหนือเรือนยอด ขนาดของดอกบานกว้าง 10-12 เซนติเมตร แต่ละดอกจะชิดกันเป็นกลุ่ม ดอกสีม่วงอมชมพู และสีจะจางซีดลงเป็นสีขาวอมชมพู ออกดอกช่วงฤดูร้อน
เสลา
ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง10 – 20 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือทรงกระบอก หนาทึบ เปลือกต้นสีเทาเข้มเกือบดำ ผิวขรุขระ มีรอยแตกเป็นทางยาว กิ่งโน้มลงต่ำ ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนใบมน แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนนุ่มทั้งสองด้าน กลีบดอกทรงกลม โคนคอดเป็นก้านสั้นๆ มีหลายสี เช่น สีม่วง ม่วงอมแดง ขาว หรืออาจมีทั้งสีขาวและม่วง กลีบดอกบาง ยับย่น ขอบกลีบย้วย ออกดอกเดือนธันวาคม – มีนาคม ชอบแสงแดดตลอดวัน
นิยมปลูกในสวน ริมถนน ริมทางเดิน ระยะปลูกที่เหมาะสม 4 – 8 เมตร ทนแล้งและทนดินเค็ม นิยมนำเนื้อไม้มาแกะสลัก เป็นพรรณไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์
กัลปพฤกษ์
ไม้ต้นผลัดใบ สูง 5 – 15 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือรูปร่ม เปลือกต้นสีเทา ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือมีติ่งสั้น ดอกสีชมพู และเปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อใกล้โรย เกสรเพศผู้สีเหลือง ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ชอบแสงแดดตลอดวัน ระยะปลูกที่เหมาะสม 4 – 9 เมตร
นิยมปลูกตามสวนสาธารณะหรือริมถนน เนื้อไม้และเปลือกมีสารแทนนิน ใช้ฟอกหนัง เป็นไม้ถิ่นเดียวของไทยและเป็นพรรณไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น
ชมพูพันธุ์ทิพย์
ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 8-25 ม. เรือนยอดรูปไข่หรือทรงกลม แผ่กว้างเป็นชั้นๆ ผิวลำต้นสีน้ำตาลขรุขระ ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ใบรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง คล้ายรูปแตร ดอกสีชมพูอ่อน ชมพูสดถึงขาว กลางดอกสีเหลือง ดอกออกในช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. ผลเป็นฝักกลม เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบบสีน้ำตาล มีปีกปลิวไปได้ไกล ทนสภาพน้ำท่วมได้ดี นิยมปลูกให้ร่มเงา ปลูกริมถนนได้ ไม่เหมาะกับสนามเด็กเล่นและลานจอดรถ
ไปดู เทศกาลชมพูพันธ์ทิพย์ บานสะพรั่งที่กำแพงแสน ที่นี่
หางนกยูง
ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 10 – 15 เมตร ทรงพุ่มรูปร่ม ลำต้นเกลี้ยง เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอน มักมีรากโผล่พ้นดินออกโดยรอบเมื่อโตเต็มที่ ระบบรากแข็งแรง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกเป็นช่อเชิงหลั่นขนาดใหญ่ ออกที่ปลายกิ่งหรือกิ่งข้าง มีหลายสี คือ สีแดงอมส้ม ส้ม เหลือง ออกดอกเดือนเมษายน – มิถุนายน ทนแล้ง ระยะปลูกที่เหมาะสม 6 – 10 เมตร
ควรปลูกในบ้านที่มีบริเวณกว้าง เพราะลำต้นและรากมีขนาดใหญ่มาก อาจก่อความเสียหายกับสิ่งปลูกสร้าง เมื่อผลัดใบอาจทำให้ท่อระบายน้ำอุดตันได้ เป็นพรรณไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประดู่
ไม้ต้นผลัดใบ สูง 10 – 20 เมตร ทรงพุ่มกลม แผ่กว้าง เรือนยอดทรง กิ่งก้านห้อยลง เปลือกต้นสีน้ำตาลปนดำและแตกเป็นสะเก็ด ใบประกอบแบบขนนก ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งทู่ โคนใบกว้าง ขอบใบเรียบ ช่อดอกเป็นช่อกระจะออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกรูปถั่ว สีเหลือง มีกลิ่นหอม บานเพียงวันเดียวแล้วร่วง ออกดอกเดือนเมษายน – พฤษภาคม ผลตรงกลางมีเมล็ดกลมนูน ทนแล้งและทนน้ำท่วมขังได้สูงถึง 1 เมตร
นิยมปลูกในพื้นที่กว้าง เพื่อให้ร่มเงา ปัจจุบันมีพันธุ์ใบด่างที่ใช้ปลูกประดับ ช่วยเพิ่มความสว่างให้กับสวน ยอดอ่อนและช่อดอกอ่อนกินเป็นผักสดกับน้ำพริกหรืออาหารรสจัดได้ เป็นพรรณไม้ประจำจังหวัดภูเก็ต
ราชพฤกษ์
ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 5-15 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกเรียบเกลี้ยงสีเทาอ่อน สีเทาอมน้ำตาลหรือสีนวล ใบรูปไข่แกมรูปขอบขนานปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางเกลี้ยงเป็นมัน ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อแบบช่อกระจะยาวตามซอกใบห้อยย้อยลง ออกดอกช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. ชอบดินร่วนปนทราย ทนดินเลว เป็นไม้ประจำชาติไทย และเป็นไม้มงคล นิยมใช้ปลูกริมถนน ในสวน และริมทะเล
อ่านต่อเรื่อง 40 ต้นไม้ยอดฮิตที่ไม่เคยตกเทรนด์ คลิกเลย
เรื่อง: Bundaree D.
ภาพ: คลังภาพบ้านและสวน