อิฐ และแสงธรรมชาติ คือความงามที่ยั่งยืน - room magazine

อิฐ และแสงธรรมชาติ คือความงามที่ยั่งยืน

หากพูดถึงผลงานสถาปัตยกรรมในอาเซียนที่กำลังมาแรงในขณะนี้  เราคงไม่พลาดที่จะนึกถึงงานออกแบบจากสตูดิโอบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างประเทศเวียดนามแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรเจ็กต์บ้านอิฐเรียบเท่ของ Tropical  Space สตูดิโอออกแบบ จากนครโฮจิมินท์ที่สะดุดสายตาโลกโซเชียลมาได้สักพักใหญ่

Nguyen Hai Long และ Tran Thi Ngu Ngon คือสองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Tropical  Space และนำเสนองานออกแบบที่สะท้อนถึงความเข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนเวียดนามได้อย่างลึกซึ้ง ไปพร้อม ๆ กับการตอบโจทย์การอยู่อาศัยในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นได้อย่างชาญฉลาด และล่าสุด Terra Cotta Studio ของทั้งคู่ได้รับรางวัล จาก Architizer A+ Award 2017 ในสาขา Architecture +Workspace ด้วย

TS: “เรารู้สึกว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับภูมิอากาศเขตร้อนนั้นท้าทายด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตามฤดูกาล เราจึงประยุกต์แนวคิดการป้องกันและลดความร้อนภายในบ้าน ซึ่งมีที่มาจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นดั้งเดิมของเวียดนามมาใช้เป็นหลัก ในขณะเดียวกันเราก็อยากให้คนเวียดนามตระหนักถึงคุณค่าและชื่นชมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองมากกว่าที่จะหยิบยืมมาจากวัฒนธรรมอื่น” 

หากจะบอกว่า Tropical  Spaceเชี่ยวชาญด้านการใช้วัสดุ “อิฐ” เป็นพิเศษก็คงไม่ผิดนัก สถาปัตยกรรมก่ออิฐรูปทรงเรียบง่ายกลายเป็นเอกลักษณ์ของสตูดิโอนี้ไปแล้ว แต่ภายใต้ความคล้ายคลึงของวัสดุ แต่ละโครงการกลับมีลักษณะเฉพาะบางอย่างอันเกิดขึ้นจากเหตุผลด้านการใช้สอย การสร้างความโปร่งสบาย การระบายอากาศที่ดี และการเปิดรับแสงธรรมชาติให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสเปซ คือปรัชญาพื้นฐานในการออกแบบ เป็นไปได้ว่าแนวคิดส่วนหนึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากหลุยส์ ไอ คาห์น สถาปนิกในตำนานเจ้าของแนวคิดที่ทั้งคู่ชื่มชม เห็นได้จากแนวคิดของคาห์นที่กล่าวไว้ว่า “I sense Light as the giver of all presences…” 

TS: “โดยปกติเราจะไม่ทุ่มเทเวลาหรืองบประมาณมากนักในการสรรหาวัสดุก่อสร้าง เพราะเราพบว่าวัสดุที่พร้อมใช้งานและมีราคาคุ้มค่านั้นมีความเหมาะสมในการใช้งานมากกว่า ในเวียดนามอิฐและคอนกรีตเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมาก เราจึงเลือกใช้วัสดุทั้งสองชนิดเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าสามารถสร้างสรรค์พื้นที่ต่าง ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งยังมีเสน่ห์เมื่ออยู่ท่ามกลางแสงเงาธรรมชาติ”

นอกจากเหตุผลด้านการใช้งาน “อิฐ” ยังเป็นวัสดุที่ค่อนข้าง “ดิบ” ใช้พลังงานในการแปรรูปน้อย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าวัสดุจากอุตสาหกรรมหนักอื่น ๆ ตอบรับกับแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนที่  Tropical  Spaceยึดมั่นมาโดยตลอด

TS: “การใช้เทคโนโลยี วัสดุ และการก่อสร้างสมัยใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการผสมผสานกันของรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างสไตล์ จนบางครั้งอาจทำให้ความเป็นเอกลักษณ์เลือนหายไป” 

เรารู้สึกว่าสภาพภูมิอากาศเขตร้อนเป็นจุดกำเนิดของวัสดุและกระบวนการออกแบบ ซึ่งจะช่วยให้สถาปัตยกรรมมีคาแร็คเตอร์ ทั้งยังสะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้การผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมเขตร้อนเข้ากับแนวคิดความยั่งยืน ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ในระยะยาวอีกด้วย

Terra Cotta Studio ได้รับรางวัล จาก Architizer A+ Award 2017 ในสาขา Architecture +Workspace

อ่านต่อ : บ้านอิฐ เรียบๆแต่ลงตัว

Tropical Space

สำหรับใครที่อยากร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับคุณ Nguyen Hai Long และ Tran Thi Ngu Ngon พบกันได้ในงานเสวนา DESIGN TALK : Modern Tropical (re)Design วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ 14.00 น. @งานบ้านและสวนแฟร์ มิดเยียร์ 2017, Hall 100 ไบเทคบางนา สำรองที่นั่งฟรีที่ www.baanlaesuan.com/designtalk-register 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ : Room Fan


เรื่อง  Monosoda
ภาพ  Tropical Space , แฟ้มภาพนิตยสารบ้านและสวน