ความเรียบง่ายในบ้านโมเดิร์นชั้นเดียวที่เคารพต่อธรรมชาติ
รายละเอียดบนความเรียบง่ายใน บ้านโมเดิร์นชั้นเดียว หลังนี้ แม้บ้านนี้จะดูลอยเด่นด้วยรูปทรงที่ค่อนข้างแปลก แต่ความเคารพต่อธรรมชาติที่แวดล้อมก็มีอยู่ในใจอย่างเต็มเปี่ยม เราให้ความสำคัญกับทิศทางของแสงและลมในแต่ละช่วงเวลา เราศึกษาถึงช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และที่สำคัญที่สุดก็คือการเปิดรับทิวทัศน์ของท้องทะเล เพราะนี่คือบ้านตากอากาศ
บ้านโมเดิร์นชั้นเดียว
ครั้งแรกที่ได้เห็นอาคารหลังนี้ ทำให้เราอดแปลกใจไม่ได้ว่า ที่นี่คือบ้านตากอากาศหรือโกดังเก็บของกันแน่ คิดดูอีกทีใครจะมาสร้างโกดังบนที่ดินติดชายหาดขาวสะอาด ซึ่งแวดล้อมด้วยบรรยากาศแสนสบายของเมือง Casaurina Beach แห่งนี้ได้ลงคอ จนเมื่อเราได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศภายในบ้าน เราก็เข้าใจทันทีว่าบ้านหลังนี้ออกแบบเพื่อกล่อมอารมณ์ของผู้อยู่อาศัยข้างในบ้านมากกว่าการประดับตกแต่งภายนอกบ้านเพื่อให้คนอื่นมอง นอกจากจะสบายอย่างที่เราไม่คาดคิดแล้ว บ้านหน้าตาแปลกๆหลังนี้ยังให้แง่คิดดีๆกับเราอีกด้วย
ความกลมกลืนในความแตกต่าง
“เรายึดการเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติและการประหยัดพลังงานเป็นหลักสำคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้ เช่นเดียวกับบ้านหลังอื่นๆในเมืองนี้” คุณแอนดรูว์ นิมโม หนึ่งในสิบสถาปนิกที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบบ้านหลายหลังในเมืองนี้เล่าให้เราฟัง ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาตินั้นไม่ได้หมายความว่าต้องกลืนหายไปกับสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว “แม้บ้านนี้จะดูลอยเด่นด้วยรูปทรงที่ค่อนข้างแปลก แต่ความเคารพต่อธรรมชาติที่แวดล้อมก็มีอยู่ในใจอย่างเต็มเปี่ยม เราให้ความสำคัญกับทิศทางของแสงและลมในแต่ละช่วงเวลา เราศึกษาถึงช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และที่สำคัญที่สุดก็คือการเปิดรับทิวทัศน์ของท้องทะเล เพราะนี่คือบ้านตากอากาศ” ซึ่งถ้าผู้อาศัยไม่สามารถสัมผัสและรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภายนอกได้ บ้านหลังนี้ก็คงเป็นบ้าน “ตากอากาศ” ที่กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติไม่ได้เช่นกัน
บ้านฝรั่งแบบใหม่กับบ้านไทยแบบเก่า
บ้านหลังนี้ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ใช้หลักการถ่ายเทของอากาศมาช่วยในการระบายความร้อน ตำแหน่งของช่องเปิดรับลมได้รับการวางไว้อย่างรอบคอบ ลานพักผ่อนตรงกลางแบ่งบ้านออกเป็นสองส่วน แทนที่จะเป็นอาคารทึบหลังใหญ่หลังเดียว เรามองว่ามันคล้ายคลึงกับหลักการออกแบบ “เรือนล้อมลาน” ของบ้านไทย แต่สำหรับชาวออสซี่นี่คือส่วน “Outdoor Living” ที่พวกเขาชื่นชอบ ถึงจะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม แต่ที่แน่ๆคือการออกแบบในลักษณะนี้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตในสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้น แม้ปริมาณฝนจะไม่มากเท่าบ้านเรา แต่บ้านนี้ก็มีการกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ เริ่มจากรางน้ำบนหลังคา ผ่านท่อลงไปสู่ระบบกรองและตกตะกอน ไปจนถึงแท็งก์เก็บน้ำใต้ดิน และปั๊มน้ำขึ้นมาใช้ได้เมื่อต้องการ
พื้นที่กว้างในบ้านหลังเล็ก
แม้พื้นที่ภายในบ้านพักตากอากาศหลังนี้จะไม่กว้างขวาง แต่ก็ไม่รู้สึกคับแคบแม้แต่น้อย เพราะผู้ออกแบบใช้หลัก “One Space Living” หรือการทำห้องห้องเดียวให้มีส่วนใช้สอยครบถ้วน โดยไม่มีการกั้นห้องหรือทำผนังปิดให้เป็นห้องเล็กๆ ส่วนสำหรับนอน พักผ่อน แต่งตัว และชำระร่างกายรวมอยู่ในห้องที่มีขนาดกำลังดี เพียงพอสำหรับการพักอาศัยระยะสั้นในช่วงวันหยุด เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นแบบลอยตัว ซึ่งมีลักษณะโปร่งเบา ทำให้ห้องดูไม่รกตา ทั้งยังง่ายต่อการปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายตามการใช้งานในแบบต่างๆ สีโทนสว่างที่เลือกใช้ เช่น สีขาวและสีเบจก็ช่วยทำให้ห้องไม่ทึบ ตรงกับที่ผู้ออกแบบกล่าวในตอนท้ายว่า“ขนาดของบ้านจะเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญเท่าประสิทธิภาพและความรู้สึกต่อพื้นที่ใช้สอยของบ้าน”
การไปเยือนประเทศออสเตรเลียในครั้งนี้ จึงไม่ใช่การไปหาไอเดียใหม่ๆจากบ้านเมืองฝรั่งมาใช้เพียงอย่างเดียว เพราะเรายังได้เห็นหลายๆไอเดียที่คนไทยเคยทำกันมาตั้งแต่อดีต แต่อาจถูกลืมไปพร้อมๆกันการเข้ามาของเทคโนโลยีและวัฒนธรรมจากชาติที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากเรามาก ณ เวลานี้เราควรต้องใส่ใจกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า บางทีเราอาจต้องหวนคิดถึงวิถีชีวิตในอดีตที่เหมาะสมกับแผ่นดินแผ่นฟ้าบ้านเรา ด้วย นอกจากนี้ข้อคิดหนึ่งที่เราได้ก็คือ บ้านสมถะหลังเล็กก็อาจสามารถรองรับความเป็นอยู่ได้ดีไม่แพ้บ้านหรูหลังใหญ่ หากผ่านกระบวนการออกแบบอย่างรอบคอบ
เรื่อง : ทัตชัย น้อยสง่า
เรียบเรียง : เจรมัย พิทักษ์วงศ์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ออกแบบ: Lahz Nimmo Architects