มองผู้คน ดูสถาปัตยกรรมที่ น่าน ลำปาง
ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราจะมองเห็นความงามในสิ่งรอบตัว และในการดำเนินชีวิตที่ต่างกันออกไป ในช่วงเวลาเด็ก เรามองความสุขและความงามของชีวิตในมุมหนึ่ง แต่เมื่อเติบโตขึ้น เราอาจจะคิดว่ามุมมองเหล่านั้น ไม่ใช่สาระสำคัญอะไรเลยในชีวิต…ก็เป็นได้
ทริปเดินทางสั้นๆสู่ภาคเหนือครั้งนี้ ทำให้เราได้กลับมามองความหมายของ “ความงดงาม” ที่แท้จริงอีกครั้ง ด้วยประสบการณ์ และมุมมองของเราเอง… แน่นอนว่าประสบการณ์ชีวิตนั้น แต่ละคนมีมันเป็นของตนเอง และไม่มีของใครเหมือนกัน แต่อย่างน้อย ความคิด ความรู้สึกที่เกิดจากทริปนี้ น่าจะสอดคล้องหรือเข้าถึงในใจใครบางคนได้บ้าง ไม่มากก็น้อยครับ
#01 รักน้อยๆ แต่รักน่านๆ
วันแรกเราเริ่มกันที่จังหวัดน่านครับ เราถึงน่านประมาณ 10 โมง ในวันธรรมดาๆ วันหนึ่งของเมืองน่าน ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเงียบสงบ และการได้พักจากความวุ่นวาย จากเมืองหลวงที่เราคุ้นเคย ด้วยความที่น่านเป็นเมืองขนาดเล็ก ผู้คนก็ไม่มากเท่าตัวเมืองในจังหวัดอื่นๆเช่นเชียงใหม่หรือภูเก็ต ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้น่าน ได้ชื่อว่าเป็นเมือง “สโลว์ไลฟ์”
“เมืองน่าน” อีกหนึ่งเมืองในล้านนาตะวันออกที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่หลอมรวมจากเทือกเขาสูงถึงพื้นราบ ทำให้เสน่ห์ของเมืองน่านยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ โดยผู้ที่ไปเมืองน่านจะพบกับสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลาย อาทิ วัดภูมินทร์ วัดพระธาตุเขาน้อย วัดมิ่งเมือง พระธาตุแช่แห้งพระธาตุคู่เมือง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เป็นต้น
#เมืองสเกลคน
แม้จะได้มาสัมผัสชีวิตแบบน่านเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ได้เห็นสถาปัตยกรรมและผู้คนได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความเป็นจริง แต่ก็ทำให้รู้สุกได้ว่า จริงๆแล้ว “น่าน” อาจไม่ใช่เมือง “สโลวไลฟ์” อย่างที่ใครๆคิดหรอก แต่เป็นเมืองที่คนกรุงอย่างเราไม่คุ้นเคยมากกว่า เพราะทุกๆเมืองเป็นเมืองที่มีสปีดปกติ แต่เมื่อเราได้หลุดออกจากหน้าจอคอม ออกจากสภาวะแวดล้อมเดิมๆ เราก็จะมีเวลามองสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้น และตอนนั้นเอง เวลาของเราอาจเดิน “ช้าลง”
แต่ผมกลับคิดว่าน่าน เป็นเมืองของ “สเกลคน” มากกว่า คือสเกลที่ทำให้คนรู้สึกเป็นคน สเกลที่ทำให้เรารู้สึกว่าได้ใช้พื้นที่ต่างๆ ในเมืองหรือแม้แต่ในบ้านได้อย่างนุ่มนวล เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด
หรือจะพูดอีกที ทุกที่ที่ยังไม่มีความเจริญรุกล้ำมากนัก มักมีความรู้สึกและสเปซแบบนี้กระจายอยู่เต็มไปหมด ไม่มีตึกระฟ้า ไม่มีการจราจรติดขัด ไม่มีความสับสนวุ่นวายของผู้คน ผมว่าเท่านี้มันก็พอแล้วที่จะเป็นเมืองของ “คน” จริงๆ… ระหว่างเดินเล่นชมเมืองบริเวณวัดภูมินทร์ เราพบว่าอาคารบ้านเรือนแถวนั้นถูกย่อสเกล ลดทอนความใหญ่โต ให้เหลือขนาดพื้นที่ที่คนจะสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกกายและใจมากที่สุด กล่าวคือการไม่จำเป็นต้องโดดเด่นกว่าใคร ไม่ต้องแซงหน้าใคร แค่มองไปรอบๆตัว แล้วคิดถึงความกลมกลืนที่จะเกิดขึ้นกับภาพรวมมากที่สุด
บ้านคุณหลวง
บ้านเล็กขนาดกำลังดี ที่มีต้นไม้ 2 ต้น เกี่ยวพันเติบโตล้อกันขึ้นไป เป็นที่สะดุดตาของทุกคนที่ผ่านไปมา โดยแท้จริงแล้วบ้านหลังนี้คือ “บ้านคุณหลวง” ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดภูมินทร์ เดิมเป็นบ้านที่เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ได้ให้ช่างสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่อยู่ของธิดาทางกรุงเทพฯ ได้ส่งอำมาตย์ตรีหลวง ธนานุสร (ช่วง โลหะโชติ) มาเป็นคลังจังหวัดคนแรกของน่าน และเนื่องจากเป็นชาวพิษณุโลก เมื่อมาถึงจึงได้ขอซื้อบ้านและที่ดินนี้จากเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ปัจจุบันยังถูกเก็ยรักษาไว้ให้คงรูปแบบเดิมมากที่สุด
เราทราบภายหลังว่ากำแพงบ้านแต่เดิมสูงท่วมหัว แต่ปัจจุบันสูงระดับเอว สาเหตุอาจมาจากการถมถนนสูงขึ้นนั่นเอง แต่นั่นก็ทำให้นักท่องเที่ยวอย่างเรา ได้เห็นบ้านเก่าหลังนี้อย่างชัดเจน รูปแบบเป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ เดิมใต้ถุนนั้นอยู่ที่ระดับปกติ แต่เมื่อมีการถมดิน ใต้ถุนจึงอยู่ต่ำกว่าระดับดินรอบบ้าน ทางเข้าบ้านนั้นมีการยื่นมุขหลังคาเป็นชานระเบียงขนาดใหญ่ เปิดเป็นบันไดทางขึ้นบ้านที่ดูอบอุ่นตามรูปแบบบ้านสมัยก่อน สเกลของบ้านก็เล็กแบบพอดีๆ ไม่รู้สึกว่ากว้างเกินไปจนเกินความรู้สึกของการเป็นบ้าน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
บริเวณใกล้เคียงกันนั้น เราสามารถเดินไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ พระเจ้าน่าน ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 เป็นอาคารปูน 2 ชั้น มีมุขด้านหน้าตามรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณ ก่อนหน้านี้อาคารนี้ใช้เป็นอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้น กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคาร เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530
มี ซุ้มต้นลีลาวดี ที่ขึ้นเป็นแถวเรียงรายแผ่ขยายกิ่งก้านโค้งคล้ายอุโมงค์ต้นไม้สวยงาม เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักมาถ่ายรูปกัน
ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ และภายในมีการนำโบราณวัตถุ ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยาประจำท้องถิ่นมาจัดแสดงให้ชมอย่างสวยงาม ส่วนที่เป็นห้องจัดแสดงชั้นล่าง จัดแสดงชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับล้านนา เช่น ลักษณะอาคาร บ้านเรือนและเครื่องใช้ใน ชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ ที่สวยงาม เป็นต้น
เมื่อกลับมาค้นประวัติ เราก็พบว่า ปีพ.ศ.2532 อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็น อาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสาธารณะ อีกด้วย
#การระลึกถึงสิ่งเก่า ด้วยสิ่งใหม่
เป็นที่ทราบกันว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา” เหลือทิ้งไว้เพียงเรื่องราวหรือประวัติศาสตร์ ที่ยังคงเป็นเช่นเดิม ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง… อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ได้กักเก็บเรื่องราวที่มีประโยชน์แก่คนรุ่นหลังไว้มากมาย เป็นสถานที่ซึ่งมีคุณค่า เกินกว่าจะสามารถประเมินค่าได้
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านจึงผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง จนครั้งล่าสุดนี้ที่มีการบูรณะครั้งใหญ่ ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยก่อนหน้านี้อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านจะมุงหลังคาเป็นกระเบื้องลอนสีเขียวสด บวกกับตัวอาคารสีขาว เป็นรูปแบบคู่สีหนึ่งที่น่าจะเป็นที่นิยมและเหมาะสมในช่วงนั้นๆ
เดิมที่มีการบูรณะอาคารไปแล้วหลายครั้ง และเปลี่ยนเป็นหลังคาลอนสีเขียวด้วยงบประมาณที่จำกัด ซึ่งมีข้อมูลจากจดหมายเหตุพบว่า อาคารดั้งเดิมนั้นใช้เป็นหลังคาไม้แป้นเกล็ด ดังนั้นทางกรมศิลป์ จึงพิจารณาอีกครั้ง ถึงการเปลี่ยนวัสดุหลังคา แต่หากจะใช้หลังคาไม้แป้นเกล็ดจริงๆ ก็มีความกังวลเรื่องความทนทาน และต้องมีการซ่อมแซมดูแลรักษาบ่อย รวมถึงมีการั่วซึม ดังนั้นทางกรมศิลป์จึงต้องหาหลังคาที่สามารถตอบโจทย์และใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด
ทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆแล้ว คุณค่าของสิ่งๆหนึ่ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมา แต่อยู่ที่ผลลัพท์สุดท้าย และหน้าที่ที่แท้จริงของสิ่งนั้นมากกว่า… แม้จะเกิดจากวัสดุสมัยใหม่ แต่สุดท้ายตอบโจทย์เรื่องการบอกเล่าประวัติศาสตร์ไทยได้ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ร้านภูฟ้า โครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ร้านภูฟ้า โครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จัดตั้งขึ้นโดยอยากเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าในโครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อพัฒนาคุณภาพของคนในชุมชน ด้วยการสร้างวงจรการตลาดที่มีประสิทธิภาพระหว่างชุมชนท้องถิ่นกันดารกับผู้บริโภค
ปัจุบันภายในเป็นร้านค้าและร้านกาแฟรสชาติละมุน เป็นที่แวะพัก นั่งเล่น ของนักท่องเที่ยวหรือผู้คนย่านนั้นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งที่ยังอยู่อยู่ติดแม่น้ำน่าน ถือว่าเป็นจุดที่มีวิวที่ดีจุดหนึ่งของเมืองนี้เลยก็ว่าได้
อาคารถูกออกแบบเพื่อสะท้อนให้เห็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมภาคเหนือ โดยใช้ทรงของหลังคาที่มีการลดทอนรูปแบบดั้งเดิม ให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยสถาปนิกเลือกใช้ “กาแล” มาทำให้เกิดความร่วมสมัยมากขึ้น ส่วนของวัสดุที่ใช้ ก็พยายามสื่อถึงวัสดุที่ใช้กันจริงๆในสมัยก่อน นั่นก็คือหลังคาแป้นเกล็ดๆไม้
แต่ด้วยความที่เป็นอาคารสาธารณะ สถาปนิกจึงเลือกใช้วัสดุที่มีความทนทานกว่าวัสดุธรรมชาติอย่างไม้จริง แต่ยังคงความรู้สึกถึงธรรมชาติได้อยู่ เช่น ส่วนของผนังภายนอก สถาปนิกเลือกใช้ผนังคอนกรีตขัดมัน เป็นรูปแบบวัสดุที่เรียบง่ายและผู้คนก็เข้าถึงง่าย คุ้นเคยกันดี ส่วนหลังคานั้นเป็นโครงสร้างเหล็ก ติดตั้งแป และมุงด้วยหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ที่มีลายร่องลึกคล้ายไม้จริง แต่ทนทาน ปลวกไม่กิน ยิ่งมองในระยะไกลแล้วก็ยิ่งแยกไม่ออกว่าเป็นวัสดุทนแทนหรือไม้จริง
#02 ลำปาง
“ลำปางไม่ได้หนาวมาก แต่เรียบง่ายมาก”
วันที่ 2 ของทริปเรามาที่ลำปางครับ เมืองเล็กๆอีกเมือง ที่หลายคนหลงใหล เมืองที่มี “ม้า” เป็นภาพจำของใครหลายคน แต่สายตาผมกลับจะสอดส่องหาอาคารเก่า รูปแบบเดิมๆที่คงเสน่ห์อยู่เรื่อย น่าเสียดายที่เรามีเวลาอยู่แต่ละที่ไม่มากนัก ภาพที่เห็นและรับรู้ จึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวที่เมืองนี้เป็นเท่านั้น
ที่นี่นับว่าผู้คนพลุกพล่านมากกว่าที่น่าน แต่ยังคงรู้สึกได้ถึงความเรียบง่ายของผู้คน เหมือนกับเมืองในชนบททั่วไป เรามักมองเห็นอะไรชัดกว่าตอนที่เราอยู่ต่างถิ่น… ส่วนตัวคิดว่า “เมือง” จะเปลี่ยนแปลงไปตามผู้คนที่อาศัยอยู่ สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งาน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคมในตอนนั้นๆ
ซึ่งมาลำปาทั้งที เราก็ไม่พลาดที่จะนั่งเจ้า “รถม้าเมืองลำปาง” เพื่อชมเมืองกันสักหน่อยครับ นอกจากจะได้เห็นความน่ารักและได้ใกล้ชิดเจ้าม้าแล้ว เรายังได้เคลื่อนที่ไปรอบๆเมือง ด้วยความเร็วต่ำ อยู่ที่ประมาณ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วที่ช้าพอที่ทำให้เราเห็นความเป็นไปของเมืองและผู้คนในเมือง
แน่นอนว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมที่พบเห็นมากที่สุดคือตึกแถว ผุดขึ้นมากในยุค 30-40 ปีก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะย่านตัวเมือง มองเผินๆอาจคิดว่าอยู่ในตลาดสักย่านในกรุงเทพ แต่ที่นี่ยังคงมีอะไรบางอย่าง ที่ทำให้รู้สึกว่ามันแตกต่าง ในที่นี้อาจหมายถึงผู้คน สิ่งของ ในกิจกรรมของคนที่พบเจอ
แม้ที่นี่จะมีห้างใหญ่เข้ามาเปิดแล้ว แต่ที่ตลาดสด หรือ ตลาดนัด ยังคงมีสินค้าให้เลือกซื้อครบครันเช่นกัน ทั้งของกิน ของใช้ และเสื้อผ้า น่าแปลกที่บางอย่างความเจริญก็ไม่สามารถทดแทนได้ สิ่งเหล่านั้นอาจเป็น “ความคุ้นเคย” และ “ความสัมพันธ์” ในรูปแบบเดิมๆ เช่นการได้พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าที่นอกเหนือไปจากการเป็นคู่ค้ากัน บ้างถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ บ้างหยอกล้อกัน สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ห้างใหญ่ไม่สามารถให้ได้แน่นอน
#การกลับสู่ธรรมชาติ คือการกลับสู่ในจิตใจ
ที่ลำปาง เรายังได้มีโอกาสมาสงบจิตใจ และกราบสักการะพระธาตุที่ วัดพระธาตุดอยพระฌาน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่โบราณที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความสักการะมาช้านาน ซึ่งจะมีประเพณีการเดินขึ้นมาสักการะพระธาตุทุกปี ซึ่งห่อนหน้านี้ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก จนกระทั่งวัดพระธาตุดอยพระฌานได้รับการบูรณะ พัฒนา ให้มีสถาปัตยกรรมเชิงพุทธศิลป์มากขึ้น จึงเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายจากนักท่องเที่ยวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หนึ่งในการออกแบบให้มีสถาปัตยกรรมเชิงพุทธศิลป์ คือด้านหลังที่เป็นส่วนของพระอุโบสถซึ่งหันหน้าไปยังหน้าผาลึกลงไปด้านล่าง ที่พื้นที่ขอบออกแบบเป็นบ่อน้ำตื้นๆ กันผู้คนจะเดินพลัดตกลงไป แต่มุมมองที่ได้นั้นสวยงาม ไร้ราวกันตกที่มาเกะกะ เป็นการออกแบบที่ตั้งใจให้ผู้ที่มาวัดได้สัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิดจริงๆ
หลายครั้ง ที่สถานที่ทางศาสนาดูเหมือนจะไม่สามารถแยกขาดจากธรรมชาติได้เลย ที่ใดมีวัด ที่นั่นต้องมีต้นไม้หรือธรรมชาติขาดจากกันไม่ได้ นั่นอาจเป็นเพราะศาสนามักสอนให้เราศึกษาความจริงของชีวิตจากธรรมชาติรอบตัว เพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นจริงที่สุดและยังเป็นจริงเสมอมา
เมื่อครั้งที่ทำการบูรณะวัดแห่งนี้ การออกแบบและก่อสร้าง จึงต้องคิดถึงการเลือกใช้วัสดุที่สามารถสื่อถึงความเป็นธรรมชาติได้มากที่สุด แต่บวกกับที่ตั้งที่อยู่กลางป่าเขา สภาพอากาศอาจรุนแรง วัสดุเหล่านั้นจึงต้องทนทานด้วยเช่นกัน
วัดพระธาตุดอยพระฌาน สถานที่แห่งบุญกลางหุบเขาในตำบลป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองลำปาง 45 นาทีเท่านั้นเองครับ
…..เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่า แล้ว DsignSomething มาทำอะไรที่น่านและลำปางนี้ ผมขอเฉลยให้ง่ายๆครับ ทริปนี้ เราตามรอย SHERA มาครับ จากทั้งหมดที่เห็น ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน, ร้านภูฟ้า หรือวัดพระธาตุดอยพระฌาน แห่งนี้ ทั้งหมดใช้หลังคาของ SHERA ทั้งสิ้นครับ…! ตกใจเหมือนผมไหมครับ เพราะหลายคนคงรู้จักว่า SHERA นั้นผลิตวัสดุก่อสร้างที่ทดแทนไม้จริง แต่ทำไมถึงดูไม่แต่ต่าง และเทียบได้กับวัสดุธรรมชาติเลย
หลังคาตัวนี้มีชื่อว่า SHERA Zedar Shake หรือ เฌอร่า ซีดาร์ เชค เป็นหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่มีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ลายเสี้ยนไม้ไม่ใช่แค่การปาดให้เกิดลายตื้นๆเท่านั้น แต่จะมีความลึกลงไปมากกว่า สร้างมิติและความเหมือนไม้จริงได้มากที่สุด เด็ดกว่านั้นด้วยการติดตั้งเป็นหลังคาจริง กันฝนกันแดดได้จริง ไม่ต้องมี Sub Roof อีกชั้นหนึ่ง เป็นการประหยัดงบในการก่อสร้างได้ด้วย มี 3 สีให้เลือกตามแต่ภาพรวมสีของอาคาร
ต้องขอขอบคุณ SHERA ที่เปิดโลกวัสดุให้เราได้เห็นของจริง จากความไม่รู้ จากการตั้งคำถาม ส่วนคำตอบนั้น หลายคนอาจมีเป็นของตนเองแตกต่างออกไป แต่ถ้าเราไม่ยอมอยู่แต่ในความจำเจและความคุ้นชิน ผมเชื่อแน่ว่า เราจะพบกับความคิดใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีไม่มากก็น้อยครับ
ข้อมูล เฌอร่า ซีดาร์ เชค เพิ่มเติม คลิก > sherasolution