พืชกินแมลง เพชฌฆาตงับเหยื่อ
หลายคนคงเข้าใจว่าพืชกินแมลง มีฟัน มีปากงับงับ สามารถเคี้ยวอาหารได้แบบในการ์ตูนหรือในจินตนาการ แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่ ว่าที่จริงแล้ว พืชกินแมลง สามารถกินอาหารได้อย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พืชกินแมลง ไม่สามารถเคี้ยวหรือกลืนเหยื่อได้ แต่จะปล่อยแบคทีเรีย น้ำย่อยหรือเอนไซม์ออกมาเพื่อช่วยย่อยสลายซากเหยื่อที่เป็นสัตว์หรือสัตว์เซลล์เดียว ได้แก่ แมลงและสัตว์ขาปล้องที่หลงเข้ามาติดอยู่ในกับดัก จากนั้นจะดูดไนโตรเจนจากเหยื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของลำต้น ซึ่งกระบวนการนี้เป็นผลมาจากการปรับตัวให้อยู่รอดในดินที่มีสารอาหารน้อย ดังนั้นคุณสมบัติของพืชกินแมลง คือ
1.สามารถล่อจับเหยื่อ
2.สามารถสังหารเหยื่อ
3.สามารถย่อยสลายและดูดกินธาตุอาหารจากเหยื่อได้
การกินอาหารหรือเหยื่อ
1.กับดักที่ไม่เคลื่อนไหว
ถุงดักเหยื่อ (Pitfall)
เป็นลักษณะถุงที่มีน้ำขัง มีกลิ่นหวาน และ สีสันสะดุดตา บริเวณปากถุงจะค่อนข้างลื่น เมื่อเหยื่อบินมาเกาะจะพลัดตกลงไปและไม่สามารถปีนกลับขึ้นมาได้ เช่น
หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes หรือ Tropical Pitcher Plant)
หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes หรือ Tropical Pitcher Plant)เป็นพืชกินแมลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเมืองไทย มักขึ้นอยู่รวมกันเป็นกอหนาแน่นหรือเกาะไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย มีช่อดอกแยกเพศและมีกระเปาะดักแมลงที่นิยมเรียกว่า “หม้อ” ซึ่งเป็นส่วนประกอบของใบ เหยื่อส่วนมากเป็นมด โดยทั่วไปมักมีอายุประมาณ 1-3 เดือน จะเติบโตดีในช่วงฤดูฝน เพราะสภาพแวดล้อมมีความชื้นสูง ทำให้หม้อดักแมลงมีขนาดใหญ่และสีสันสวยงาม
ซาร์ราซีเนีย (Sarracenia หรือ American Pitcher Plant)
เป็นพืชกินแมลงที่มีใบใหญ่ที่สุด บางชนิดมีกรวยดักแมลง สูงเกือบ 1 เมตรเป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย การเลี้ยงในเมืองไทยจึงต้องมีการปรับตัวและจะมีระยะต้นโทรมในช่วงปลายปี แล้วจะฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงฤดูร้อน ต้นที่สมบูรณ์มักออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม
ลอบดักเหยื่อ (Lobster pot)
ภายในกับดักจะมีขนที่ชี้เรียงกันในทิศทางนำไปสู่ด้านใน เมื่อเหยื่อหลงเข้าไปจะไม่สามารถเดินย้อนกลับออกมาได้ พบในสกุล S. psittacina
กาวดักเหยื่อ (Flypaper)
เป็นกับดักที่มีเมือกเหนียวสร้างจากรยางค์บนผิวใบ ทำให้เหยื่อขนาดเล็กไม่สามารถดิ้นหลุดได้ บางชนิดใบจะสามารถม้วนรัดเหยื่อเมื่อต้องการย่อยสลายได้อีกด้วย
หยาดน้ำค้าง (Drosera หรือ sundew)
เป็นพืชล้มลุก ลำต้นขึ้นแนบพื้นดิน ลักษณะใบจะถูกปกคลุมด้วยเส้นขนเล็กๆ ที่ปลายขนมีต่อมสีแดงทำหน้าที่ผลิตเมือกเหนียว เมื่อแสงแดดส่องจะเห็นเมือกนี้เป็นประกายระยิบระยับคล้ายหยาดน้ำค้าง แต่ละชนิดจะมีขนาดที่แตกต่างกันมาก ชอบแสงแดดจัด หากอยู่ในที่ร่ม ขนและต่อมที่ปลายขนจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว
พิงกุย(Butterwort)
ชื่อ butterwort มาจากผิวใบที่ดูแวววาวเหมือนถูกเคลือบด้วยมันเนย ลักษณะต้นคล้ายกุหลาบหิน มีดอกสีโทนม่วง ชมพู ขาว ที่ผิวใบมีขนและเมือกไว้จับแมลง เมื่อปลูกไปนานๆ ใบล่างจะม้วนงอจนดันต้นให้ลอยขึ้นจากวัสดุปลูก สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการปักชำ