บ้านริมตลิ่ง (ชัน)
สำหรับคนที่มีที่ดินติดแม่น้ำลำคลอง พื้นที่ครอบคลุมไปถึงตลิ่งที่อยู่ติดกับน้ำ อาจประสบปัญหาคลื่นน้ำเซาะตลิ่งตลอดเวลา ยิ่งเป็นพื้นที่ในบริเวณที่มีการเลี้ยวของสายน้ำ ก็อาจเกิดการกัดเซาะมากกว่าบริเวณอื่น เราขอนำเสนอแนวคิดในการรักษาตลิ่งให้อยู่คู่กับบ้านของเราตราบนานเท่านาน
เรื่องระยะถอยร่นของบ้านก็ต้องก่อสร้างตามกฎหมายอาคารทั่วไป โดยยึดขอบเขตจากโฉนดที่ดินเป็นหลัก หากมีพื้นที่ริมตลิ่งเพิ่มอันเนื่องมาจากกระแสน้ำพัดพาตะกอนดินมาทับถม พื้นที่นั้นก็ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเราเช่นกัน ในทางกลับกันเมื่อตลิ่งถูกกัดเซาะ เราก็สามารถสร้างบ้านให้ยื่นไปในน้ำได้ โดยต้องไม่เกินระยะถอยร่นจากแนวตลิ่ง
สำหรับการปลูกบ้านเราสามารถใช้เสาเข็มธรรมดาได้ แต่ความยาวและจำนวนขึ้นอยู่กับผลการเจาะสำรวจดิน (โดยวิศวกรผู้ชำนาญ) บางคนอาจเลือกทำเขื่อนหรือกำแพงกันดินขนาดใหญ่และหนาเพื่อป้องกันปัญหาที่ดินร่น แต่ก็ต้องแลกกับการเสียพื้นที่ริมตลิ่งที่เป็นธรรมชาติไป หากใครอยากคงสภาพเดิมๆของตลิ่งไว้ ลองใช้ “หิน” แทนการทำเขื่อนหรือกำแพงกันดินดู เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีต่อธรรมชาติรอบบ้านของเรา
โดยปกติแล้วการวางเรียงหินใหญ่ริมน้ำจะเรียกว่าการ “ทิ้งหิน” เกิดหลังจากขั้นตอนของการปรับดินเดิมเรียบร้อย ก่อนวางเรียงหินต้องปูแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์ ซึ่งจะทำหน้าที่หลายอย่างเลยละครับ แผ่นยางนี้นอกจากจะเป็นตัวกันหินไม่ให้จมลงไปในดินแล้ว ยังคอยป้องกันไม่ให้น้ำกัดเซาะดินด้วย หากไม่ปูแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์ก่อน ภายใน 2- 3 ปีหลังจากนี้ อาจต้องคอยเติมหินอีกครับ
ส่วนแนวคิดหลักในการออกแบบตัวบ้านคือการเปิดมุมมองสู่ส่วนที่เป็นน้ำให้มากที่สุด พร้อมทั้งยื่นบางส่วนของตัวบ้านให้อยู่เหนือน้ำ ช่วยให้รู้สึกใกล้ชิดน้ำมากขึ้น ตัวบ้านยกขึ้นจากพื้นเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี หน้าต่างบานกระทุ้งที่ใช้ก็ช่วยควบคุมการถ่ายเทอากาศไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป บ้านหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 190 ตารางเมตร ด้านล่างประกอบด้วยครัว ห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน และห้องน้ำ ส่วนชั้นสองประกอบด้วยห้องนอน 3 ห้องพร้อมห้องน้ำ และห้องทำงานเล็กๆ
พื้นที่ริมตลิ่งที่สวยงามย่อมเสริมให้บ้านดูน่าอยู่และร่มรื่นขึ้น ไม้ริมน้ำที่เหมาะสมอาจเป็นเตยหอม พลับพลึง หรือกระดุมทองเลื้อยก็ได้…
หากใครคิดจะถมตลิ่งสร้างบ้าน คิดดีๆก่อนนะครับ เพราะมันน่าเสียดายจริงๆ
เรื่องและทัศนียภาพ : “เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์”