ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองผ่านการดีไซน์

ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองผ่านการดีไซน์

สงสัยหรือไม่ว่า? ทำไมกรุงเทพฯ รวมทั้งเมืองใหญ่ ๆ ถึงได้ร้อนขึ้นทุกปี ฤดูหนาวหายไปไหน ฝนตกทีไรน้ำท่วมขังทุกที ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เคยมาเป็นฤดูกาล กลายเป็นมีตลอดทั้งปี ไม่เพียงแค่อากาศ แม้แต่เสียงนกแมลงที่เคยได้ยินรอบบ้าน ยังค่อย ๆ เงียบหายไป แทนที่ด้วยเสียงรถราที่วิ่งกันตลอดคืน ระบบนิเวศของเรายังดีอยู่ไหม? เกิดอะไรขึ้นกับสภาพแวดล้อม ถ้าอยากให้มลพิษลดลงต้องทำอย่างไร?

#บ้านและสวน ชวนไปพูดคุยกับนักวิชาการจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับนักวิชาการผังเมือง เกี่ยวกับสถานการณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูความหลากหลายผ่านการ Redesign เมือง รวมทั้งทำความรู้จักระบบฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและพื้นที่สีเขียว (Thai Green Urban: TGU) เครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชนทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง

ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างไรต่อเมือง? ถ้าความหลากหลายทางชีวภาพหายไปจะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อเอ่ยถึงคำถามเหล่านี้ เราอาจจะยังนึกไม่ออกว่าการหายไปของแมลงบางชนิด หรือนกแค่หนึ่งสายพันธุ์จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตเรา แต่หากบอกว่าถ้าผึ้งหายไปจากธรรมชาติอาจทำให้สูญสิ้นมนุษยชาติได้เลย เพราะเมื่อไม่มีผึ้งช่วยผสมเกสรให้ดอกไม้ พืชก็ไม่ออกผล ต้นไม้ก็ไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้ เมื่อไม่มีพืช ก็ขาดอาหารสำหรับสัตว์ เมื่อพืชและสัตว์ล้มตาย แล้วมนุษย์จะอยู่ได้อย่างไร นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกขึ้นมาให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองยังส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ในมุมอื่น ๆ อีกด้วย ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

คุณสุรีย์พร เกิดแก่นแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มงานพื้นที่เฉพาะและพื้นที่พัฒนาพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สรุปภาพรวมของความหลากหลายในเมืองว่าไม่เพียงทำให้เกิดการหมุนเวียนของระบบนิเวศทางกายภาพเท่านั้น ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนและสัตว์ที่อาศัยภายในเมือง

“ความหลากหลายทางชีวภาพ เราพูดถึงพืช สัตว์ รวมทั้งจุลินทรีย์ ถ้าเริ่มต้นจากจุลินทรีย์ในดิน ก็มีหลากชนิด หลายสายพันธุ์ ที่เกื้อกูลกัน และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทําให้ดินมีคุณภาพดี เมื่อดินมีคุณภาพดีก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อมีพืชหลากหลาย ก็จะดึงดูดสัตว์เข้ามากินเป็นอาหาร ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีพวกแมลงเข้ามาด้วย และก็ดึงดูดสัตว์ที่กินสัตว์เข้ามาอีก แล้วพื้นที่สีเขียวตรงนั้น ก็จะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เกิดวัฏจักรของระบบนิเวศที่ครบวงจรขึ้นมา”

คุณสุรีย์พร เกิดแก่นแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มงานพื้นที่เฉพาะและพื้นที่พัฒนาพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ไม่เพียงเท่านั้นความหลากหลายทางชีวภาพ ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจ ต่อสุขภาพของคน และสุขภาพของเมือง เพราะการมีต้นไม้สีเขียวจะช่วยดูดซับสารพิษ ลดความร้อน ทำให้เมืองร่มรื่น มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และดึงดูดสัตว์ต่าง ๆ ให้มาอยู่ในธรรมชาติ ทำให้เมืองชีวิตชีวา เกิดความเพลิดเพลิน สบายตา สบายใจ ส่งผลให้ความเครียดของผู้คนลดลง ส่วนด้านของเศรษฐกิจ ความหลากหลายยังทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในชุมชน เช่น เครื่องจักสานย่านลิเภา เสื่อจันทรบูร ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ซึ่งมาจากการนำพืชในท้องถิ่นมาผลิตเป็นสินค้า กลายเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่แตกต่างกัน

“อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อนขึ้น อากาศเปลี่ยนแปลง มีพายุมากขึ้น ฝนตกหนักน้ำท่วม เหล่านี้ล้วนเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่นำไปสู่โลกเดือด ถ้าเราสนับสนุนให้ชุมชนช่วยกันรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ จะทำให้เมืองมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อีกทั้งยังเป็นการรักษาทุนทรัพยากรของพื้นที่ที่จะสร้างอาชีพได้อย่างมั่นคงให้กับคนในชุมชน ให้สามารถดำเนินชีวิตตามวิถีเดิมและมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป โดยไม่ต้องออกไปแสวงหาทรัพยากรในพื้นที่อื่น”

คุณชรินี สุวรรณทัต ผู้อำนวยการกลุ่มงานสิ่งแวดล้อมชุมชน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวขยายความเพิ่มว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ยังช่วยให้คนใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เพราะคนในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพค่อนข้างห่างไกลจากธรรมชาติมาก ดังนั้นการมีพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่ดีแก่เยาวชน รวมทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์ให้คนในชุมชนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นจากกิจกรรมทางสังคมที่ทำร่วมกัน

ซึ่งในการทำงานของ สผ. จะทำหน้าที่ส่งเสริมและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ผ่านการกำหนดนโยบายและวางแผนงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน  ไม่ว่าจะเป็นการ ให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องประโยชน์ของพืชและสัตว์ท้องถิ่น ผลกระทบของการปลูกพืชต่างถิ่นที่ทั้งรุกรานและไม่รุกราน การสนับสนุนความรู้แก่สถาบันการศึกษา อีกทั้งยังร่วมมือกับเทศบาลทั่วประเทศ เพื่อทำโครงการนำร่องเสริมสร้างการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยการสำรวจทรัพยากรในท้องถิ่นและวางแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน

“หน้าที่ของ สผ. คือสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเห็นความสําคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และพื้นที่สีเขียว เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะช่วยทําให้คุณภาพชีวิตของคน ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจและชุมชนดีขึ้น รวมทั้งคุณภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และกายภาพของเมืองโดยรวม และอีกส่วนหนึ่งคือการส่งเสริมให้ชุมชนในแต่ละท้องถิ่นต ระหนักถึงภูมินิเวศที่อาศัยอยู่ว่ามีลักษณะอย่างไร การปฏิบัติตัว รวมทั้งปรับพฤติกรรมภายใต้สภาพแวดล้อมเหล่านั้นอย่างเหมาะสม เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคงและมีความสุข”

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองด้วย “โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว”

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ (Drivers of Tree Cover Loss) คือ การขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่มาพร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ส่งผลโดยตรงต่อการจัดการพื้นที่ ผืนดินว่างเปล่ากลายร่างเป็นที่อยู่อาศัยและย่านธุรกิจ ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของชุมชนในเขตเมือง และกำลังขยายออกไปสู่ชานเมือง เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้สภาพของเมืองเปลี่ยนไป

การจัดสรรที่ดินเพื่อปลูกป่าในเมือง หรือสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่อาจเป็นไปได้ยาก หากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว “การสร้างโครงข่ายพื้นที่สีเขียวยั่งยืน” อาจเป็นคำตอบที่เหมาะสมมากกว่า โดย คุณสุรีย์พร เกิดแก่นแก้ว ให้รายละเอียดว่าแนวทางนี้คือการนำที่ว่างมาสร้างให้เกิดประโยชน์ และปลูกต้นไม้ให้มีการลดหลั่นไล่ระดับกันคล้ายต้นไม้ในป่าธรรมชาติ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันของไม้ต่างระดับ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ อาจจะเป็นพื้นที่ว่างข้างบ้าน ที่ว่างใต้ทางด่วน หรือพื้นที่ริมทางระหว่างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายสีเขียวอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างความสมดุลให้กับเมืองและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน รวมทั้งเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนในเมืองให้สามารถเดินทางได้สบาย และสัตว์ต่าง ๆ สามารถข้ามไปยังสวนสาธารณะอื่น ๆ เพื่อหาอาหารหรือผสมพันธุ์ได้

“พื้นที่สีเขียวที่กล่าวถึงจะไม่ใช่ลานหรือสนามหญ้า แต่เป็นการปลูกต้นไม้หลายระดับอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ที่แปลงใหญ่ แล้วในกรณีของเมืองก็จะเอื้อต่อการสร้างโครงข่ายพื้นที่สีเขียว (Green Network) เน้นในเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างสวนสาธารณะแปลงใหญ่ ด้วยสวนขนาดเล็กที่เรียกว่า Pocket Park แล้วปลูกต้นไม้ต่อเนื่องบนทางเท้า เพื่อสร้างความร่มรื่น ซึ่งจะส่งเสริมให้คนออกกำลังกาย ให้ความสำคัญกับการเดินเท้า ใกล้ชิดธรรมชาติ สุขภาพก็จะแข็งแรงขึ้น”

โดย พื้นที่สีเขียวยั่งยืน จะมีความหลากหลายของพืชพรรณทั้งชนิดและปริมาณ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เป็นองค์ประกอบหลักช่วยกรองแสงแดด ลดหลั่นลงมาด้วยไม้ขนาดกลางที่ช่วยเพิ่มความร่มรื่นและกรองฝุ่น และมีพื้นระดับล่างคลุมดินให้ชุ่มชื้น การปลูกพืชลักษณะนี้จะทำให้เกิดสมดุลทางระบบนิเวศ เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม ร่มเย็น น่าอยู่ และเพิ่มองค์ประกอบของการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรในเมือง ชุมชน และผู้มาเยือน ตลอดจนเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชน

“ตอนนี้หลายสถานที่ก็ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อย่างศิริราช ก็มีการทำพื้นที่สีเขียวตรงช่องว่างระหว่างอาคาร หรือคอนโดมิเนียมบางแห่งก็มีการทำสวนดาดฟ้าที่ใช้ไม้หลายระดับเป็นพื้นที่สวนกลางสำหรับลูกบ้าน หรือแม้แต่บ้านในโครงการก็เริ่มใช้รั้วต้นไม้แทนรั้วคอนกรีต ทำเป็นลักษณะ Green Wall สวนแนวดิ่ง ซึ่งจะเห็นว่าวิธีการเหล่านี้ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก เพียงแต่อยากสนับสนุนให้เลือกใช้ไม้พื้นถิ่นมาปลูกมากกว่า เพราะมีความทนทานต่อโรค แมลง เหมาะสมกับดินและสภาพอากาศ สามารถเจริญเติบโตได้เอง ดูแลรักษาก็ง่าย และยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่นเอาไว้ด้วย”

Redesign เมืองอย่างไรให้ดีกับเราและดีต่อโลก

หากมองในแง่จัดการพื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์ อาทิ ทำสวนป่าใต้ทางด่วน ปลูกต้นไม้บนทางเท้า เพิ่มต้นไม้ให้เกาะกลางถนน ปรับภูมิทัศน์พื้นที่ว่างรอบทางด่วนให้กลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับออกกำลังกาย ฯลฯ การเติมพื้นที่เหล่านี้ให้เต็มด้วยต้นไม้และออกแบบให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม เป็นวิธีการที่น่าสนใจในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง

แต่ในภาพรวมระดับเมือง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือวางผังเมืองให้เอื้อต่อการมีพื้นที่สีเขียว ยังต้องอาศัยข้อบังคับและการบริหารจัดการของผู้มีอำนาจในพื้นที่ มาช่วยออกข้อกำหนดมาผลักดันให้เกิดการ Redesign เมืองได้อย่างแท้จริง ในมุมของ ดร. กฤติมา ลี่รัตนวิสุทธิ์ นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ท้องถิ่น โครงการเมืองแห่งอนาคตระดับโลก องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Habitat) ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง มองว่าการแก้ผังเมืองของกรุงเทพฯ ให้มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในเมืองนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้มีการวางแผนกำหนดทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้ที่ผ่านมาการออกแบบเมืองไม่เหมาะสมกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตึกสูงบดบังทิศทางลม ใช้วัสดุอย่างกระจก คอนกรีต และเหล็กที่กักเก็บความร้อน ซึ่งไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ

“สิ่งที่เรากําลังจะเผชิญต่อไปนี้ก็คืออากาศที่ร้อนขึ้นในทุกๆ ปี ทีนี้เราจะ Redesign เมืองยังไง ก็ต้องดูหลายบริบท อย่างการใช้ Blue and Green Infrastructure กรีน ก็คือการใช้พืชพันธุ์ของต้นไม้สร้างพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ และ บูล ก็คือ แหล่งน้ำ คู คลอง แม่น้ำ เข้ามาเป็นส่วนประกอบภายในเมือง อีกคำก็คือ Biodiversity ความหลากหลายทางชีวภาพ ยกตัวอย่าง ฮ่องกง เป็นประเทศที่อยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรเหมือนบ้านเรา แต่วิธีการที่ใช้ ออกแบบเมืองของเขาจะกำหนดเลยว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์ต้องเป็นพื้นที่สีเขียว อีกอย่างหนึ่งที่สิงคโปร์ทำคือวางผังเมือง การสร้างตึกสักแห่งจะไม่ได้วางเป็นบล็อกลงไปเลย แต่จะแบ่งเป็นโซน แล้วดูองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมดว่า โครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการอยู่อาศัยของคนในพื้นที่นั้น ๆ ครอบคลุมเพียงพอมั้ย มีพื้นที่สีเขียวตามกำหนดหรือเปล่า เพื่อให้เอื้อต่อคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีของคนในเมือง”

อีกหนึ่งตัวอย่างของการบริหารจัดการ Blue Infrastructure ที่น่าสนใจคือไต้หวัน ด้วยสภาพภูมิประเทศทำให้ไต้หวันเผชิญพายุตลอดทั้งปี สิ่งที่ตามมาคือน้ำท่วม จึงต้องการพื้นที่สำหรับรับน้ำ โดยปรับให้มีหน้าที่หลากหลาย (multi – functions) เช่น สนามเด็กเล่นปรับระดับให้ต่ำ เพื่อทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับน้ำตอนฝนตก และระบายน้ำออกเมื่อฝนหยุด หรือการที่รัฐบาลท้องถิ่นยอมแลกที่ดินที่เป็นเหมืองเก่าของเอกชนเพื่อทำเป็นสวนหรือพื้นที่รับน้ำก่อนที่น้ำจะท่วมตัวเมือง

“การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอาจไม่จำเป็นต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพแบบพื้นที่ป่าเพียงอย่างเดียว การทำ Urban Farming ปลูกผัก สวนแนวตั้ง หรือสวนบนดาดฟ้า อาจเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะระบบตลาดของบ้านเราใช้มูลค่ามหาศาลไปกับค่าขนส่ง เราส่งผักจากภาคเหนือเข้ามาขายในกรุงเทพฯ เสียค่าขนส่ง ค่าน้ำมันไปเท่าไหร่ แต่ถ้าสมมติว่าเรามีแปลงปลูกผักใกล้ๆ บ้าน ก็จะช่วยประหยัดค่าขนส่งไปได้มาก”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสร้างความตระหนักรู้ให้คนในเมืองช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อกอบกู้สภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังย่ำแย่ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราสามารถช่วยกันได้ แต่วิสัยทัศน์กับการบังคับใช้กฎหมายของผู้บริหารก็มีส่วนสำคัญ ในการทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน

เช่น การเพิ่มภาษีโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้ทรัพยากรมาก เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเมือง, การแก้กฎหมายให้กับตึกที่กำลังก่อสร้างต้องมีพื้นที่สีเขียว 30% (green space 30%) รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังและมีบทลงโทษชัดเจน อาทิ การให้ FAR Bonus (Floor Area Ratio – มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) ซึ่งเป็นการให้อนุญาตให้อาคารที่มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะสามารถต่อเติมความสูงอาคารได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ถูกบังคับใช้กับอาคารทุกแห่ง

“ปัจจัยสําคัญที่จะทําให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ต้องมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ Political View ของผู้ที่มีอํานาจในการจัดการและตัดสินใจ ว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และต้องการแก้ไขอย่างจริงจังหรือเปล่า ส่วนต่อมาก็คือภาคประชาสังคมที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภาครัฐหันมาสนใจ ถ้าเกิด Policy ที่ชัดเจน ผู้นำออกกฎหมายมาบังคับใช้ ภาคประชาสังคมช่วยกันผลักดัน ผู้มีรายได้น้อยและทุกคนช่วยกันทำ (inclusive) การเปลี่ยนแปลงก็อาจเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะเมืองนี้เป็นของทุกคน (City for all).

ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเมืองด้วยระบบฐานข้อมูล TGU (Thai Green Urban)

อีกเครื่องมือที่ทาง สผ. ใช้เพื่อสนับสนุนและสร้างให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเมืองร่วมกับชุมชนต่าง ๆ คือระบบฐานข้อมูล TGU (Thai Green Urban) ใช้ในการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะปริมาณพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชน เพื่อสร้างการเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับเทศบาลต่าง ๆ ในการรวบรวมปริมาณพื้นที่สีเขียว 6 ประเภท ตามการแบ่งลักษณะและการใช้ประโยชน์ของ สผ. และนำข้อมูลนั้น ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการและรักษาพื้นที่สีเขียวภายในเมือง

คุณสุรีย์พร เกิดแก่นแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มงานพื้นที่เฉพาะและพื้นที่พัฒนาพิเศษ ในฐานะผู้ดูแลระบบ TGU อธิบายให้ฟังว่า โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2558 และในปี 2566 มีการปรับโครงสร้างเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจรวมทั้งวิธีนำเข้าข้อมูลแก่เทศบาลและชุมชนต่าง ๆ ไปแล้วในปี 2567 ซึ่งในจำนวนเทศบาลกว่า 2,400 แห่ง ถึงตอนนี้มีเทศบาลนำเข้าข้อมูลสู่ระบบแล้วมากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งการเก็บข้อมูลเหล่านี้รวมไว้ในที่เดียวกัน จะเป็นประโยชน์ในการจัดการพื้นที่ภายในการดูแลของเทศบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการนำพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาพัฒนาให้กลายเป็นสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวของเมือง

“ข้อดีคือเมื่อเรามีฐานข้อมูลตรงนี้รวมอยู่ในที่เดียว ก็จะทำให้การจัดการหรือพัฒนาพื้นที่ง่ายขึ้น ลดการทำงานซ้ำซ้อน และสามารถวางแผนร่วมกันได้เลย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีในการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นได้จริง โดยหลังจากมีข้อมูลของพื้นที่จากเทศบาลแต่ละแห่งแล้ว เราก็จะมาดูว่าทิศทางการพัฒนาควรเป็นอย่างไร ชุมชนต้องการพื้นที่แบบไหน ยกตัวอย่างเทศบาลเมืองพิษณุโลก หลังจาก สผ. ลงไปร่วมทำงานด้วยก็พบว่าชุมชนต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เราก็เอาข้อมูลพื้นที่สีเขียวที่มีในระบบฐานข้อมูล TGU มาวางแผนร่วมกันเพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสม สรุปก็ไปเจอพื้นที่รกร้างแห่งหนึ่ง ที่อยู่ระหว่างถนนกับแม่น้ำน่าน เทศบาลเขาก็ปักหมุดหมายตรงนั้น และเข้าไปพัฒนาจนเกิดเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน มีการปลูกต้นไม้ ผักสวนครัว ชาวบ้านก็เข้าไปรดน้ำช่วยกันดูแล และใช้ประโยชน์จากสวนนั้นร่วมกัน”

นอกจากการเห็นภาพรวมของพื้นที่ที่จะนำมาสร้างประโยชน์ได้แล้ว เมื่อมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และแยกประเภทชัดเจน ทำให้เห็นว่าจากเดิมที่เคยคิดว่ามีพื้นที่รกร้างจำนวนเท่านี้ เมื่อสำรวจอย่างจริงจังกลับพบว่ามีจำนวนมากกว่านั้น ซึ่งหากเปลี่ยนให้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นสวนสาธารณะ สัดส่วนของพื้นที่สีเขียวสาธารณะต่อประชากรก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนดีขึ้น

“บางพื้นที่หลังจากเข้าไปสำรวจแล้วเราได้พบว่าจากเดิมพื้นที่ที่มีศักยภาพจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะเพิ่มจากสองแห่งกลายเป็นสิบแห่งเลย ซึ่งบางพื้นที่ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะ ชุมชนก็เลยเข้าไปใช้งานไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปเราก็ต้องไปคุยกับพื้นที่นั้นๆ ว่าเปิดให้ประชาชนไปใช้งานได้มั้ย เช่น วัด หรือโรงเรียน ถ้าเปิดได้ เทศบาลก็สามารถไปพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวของชุมชน ซึ่งก็จะช่วยตอบโจทย์ของแต่ละเทศบาลว่าพื้นที่สีเขียวสาธารณะของประชาชน เพียงพอตามข้อกำหนดสิบตารางเมตรต่อคนหรือไม่”

นอกจากนี้ยังสำรวจด้วยว่าในแต่ละเทศบาลมีพื้นที่ไหนที่มีการใช้งานร่วมกันบ้าง เช่น ก่อนหน้านั้นเทศบาลอาจจะเลือกทำสวนสาธารณธทางฝั่งซ้ายของเมือง แต่เมื่อสำรวจแล้วพบว่าประชาชนใช้งานทางฝั่งขวาซึ่งติดกับอีกเทศบาลมากกว่า แทนที่จะสร้างทางฝั่งซ้ายเหมือนเดิม ก็ย้ายมาพัฒนาในฝั่งขวาและดูแลร่วมกัน

“วิธีจัดการพื้นที่จากข้อมูลเหล่านี้ อาจะเรียกว่าเป็นการ Redesign เมืองในรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน เพราะเมื่อเราเห็นภาพรวมของพื้นที่ รู้ว่ามีทรัพยากรอยู่ตรงไหน และนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ก็จะทำให้การวางผังเมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวเกิดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยไม่ต้องไปรื้อโครงสร้างที่มีอยู่ แต่เป็นการจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ขึ้นมาได้”


ติดตามความคืบหน้าของโครงการและกิจกรรมของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ที่ https://www.onep.go.th/ 

นิยาม:
พื้นที่สีเขียว หมายถึง พื้นที่ธรรมชาติหรือพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือกำหนดขึ้น ในเมืองหรือชุมชน ปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก มีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ การดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตของประชาชน
พื้นที่สีเขียวยั่งยืน หมายถึง พื้นที่สีเขียวที่มีพืชพรรณที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและปริมาณ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เป็นองค์ประกอบหลัก และได้รับการดูแล บำรุงรักษาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสมดุลทางระบบนิเวศ เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม ร่มเย็น น่าอยู่ และเพิ่มองค์ประกอบของการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรในเมือง ชุมชน และผู้มาเยือน ตลอดจนเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชน

พื้นที่สีเขียว แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

  1. พื้นที่สีเขียวสาธารณะ อาทิ สวนสาธารณะ สวนหย่อม สวนสุขภาพ สวนพฤกษศาสตร์ สนามเด็กเล่น
  2. พื้นที่สีเขียวอรรถประโยชน์ ประกอบด้วย 1. พื้นที่สีเขียวส่วนบุคคล เช่น สวนในโครงการพัฒนาของเอกชน สวนในบ้านและอาคารพักอาศัย 2. พื้นที่สีเขียวในสถาบัน อาทิ สถาบันราชการ สถาบันการศึกษา แหล่งประวัติศาสตร์ 3. พื้นที่สีเขียวในพื้นที่สาธารณูปการ เช่น พื้นที่ฝังกลบขยะ พื้นที่รอบบ่อบำบัดน้ำเสีย เขตท่าอากาศยาน 
  3. พื้นที่สีเขียวที่เป็นริ้วยาวตามแนวสาธารณูปการ อาทิ พื้นที่ริมทางสัญจรทางบก บริเวณริมทาง เกาะกลางถนน เขตทางรถไฟ และพื้นที่ริมทางสัญจรทางน้ำ บริเวณริมแม่น้ำ คลองชลประทาน
  4. พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจของชุมชน เช่น พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ พื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งผลิตอาหารแก่ชุมชน ประเภท ไร่ นา สวนผลไม้ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  5. พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ เช่น พื้นที่ป่า ป่าธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวบนเนินเขา พรุ แหล่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้า
  6. พื้นที่สีเขียวที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์หรือรอการพัฒนา อาทิ พื้นที่สีเขียวที่ปล่อยรกร้าง