รู้จักความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อความเป็นเมือง - บ้านและสวน

รู้จักความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อความเป็นเมือง

พื้นที่สีเขียวกับความหลากหลายทางชีวภาพมีความสัมพันธ์กัน ถ้าเรามองง่ายๆ พื้นที่ประกอบด้วยต้นไม้ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็นับเป็นพื้นที่สีเขียวแล้ว และพื้นที่เหล่านั้นจะนำมาความหลากหลายทางชีวภาพ นั่นคือ เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีพันธุ์พืชหลากชนิด พันธุ์สัตว์ที่หลากหลาย รวมไปถึงจุลินทรีย์ในดิน ในพืชและอากาศ

บ้านและสวนมีโอกาสพูดคุยกับ คุณประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชี้ให้เราเห็นอย่างหนักแน่นว่า พื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็น “โครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่น่าอยู่” 

D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\01.jpg
คุณประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

“เมืองไม่ได้มีแค่ตึกรามบ้านช่อง ถ้ามีพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่นันทนาการ เมืองก็น่าอยู่ สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นเพราะว่าต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่มช่วยกรองอากาศ กรองมลพิษได้ ยิ่งพื้นที่นั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น คนอาจมาใส่ใจเรียนรู้ว่านี่พืชอะไร ต้นอะไร บางทีอาจมีพืชสมุนไพร แล้วทำไมจึงมีแมลง นก ผีเสื้อเหล่านี้อยู่ และยังส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพของผู้คนด้วย ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะใกล้บ้านก็ตาม คนได้ออกมาพักผ่อน มาออกกำลังกาย

อีกเรื่องคืออาหาร เพราะพื้นที่ที่มีความหลากหลายมีพันธุ์พืชจำนวนมาก รวมถึงพืชสมุนไพรและผักสวนครัวที่เราเก็บมารับประทานก็ถือว่าเป็นความหลากหลายทางชีวภาพอย่างหนึ่ง คุณอาจประหยัดเงินก้อนเล็กๆ จากการปลูกพืชและกินผักสวนครัวได้ซึ่งส่งต่อให้กลายเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ”

ความหลากหลายไม่จำกัดขนาด

ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พื้นที่สีเขียวในแต่ละเมืองควรมีอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่กรุงเทพมหานคร มีเพียง 7.49 ตารางเมตรต่อคน นับว่ายังน้อยกว่าเกณฑ์ ภาครัฐจึงพยายามผลักดันผ่านนโยบายและส่งเสริมในเชิงกฎหมาย เช่น กทม.มีนโยบายกรุงเทพสีเขียวปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น และนโยบายสวน 15 นาที สร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กทั่วกรุงเทพฯ ให้ประชาชนเดินทางถึงภายใน 15 นาที เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ 

ซึ่งการออกแบบพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพคือการสร้างระบบนิเวศ แบ่งได้หลายประเภทตามรูปแบบของพื้นที่ เช่น ระบบนิเวศบก ระบบนิเวศน้ำ และระบบนิเวศชายฝั่ง เมื่อมีพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ที่มีความหลากหลายสายพันธุ์อยู่ร่วมกัน ซึ่งในพื้นที่เล็กๆ ในเมืองก็สามารถสร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้ 

D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\06.jpg
D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\05.jpg

สวนป่าสักศึกษา ขนาดเพียงแค่ 2 ไร่ในซอยวิภาวดี 5 เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องโครงการสวน 15 นาทีที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่สาธารณะรองรับการใช้งานของคนในย่าน ภายในสวนขนาดเล็กที่เข้ามาลึกจนสุดซอย เต็มไปด้วยต้นสักมากมายที่มีคนมาปลูกเอาไว้ แทรกด้วยต้นไม้อื่นๆ เช่น ต้นชมพู่ ต้นกระเจี๊ยบ และต้นไม้ที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ที่มีความชื้นเท่านั้น เช่น ต้นเทียนนา ต้นโทงเทง เพราะตรงจุดนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ คอยรับน้ำเวลาที่มีน้ำท่วมขัง ทำให้มีสัตว์และแมลงสามารถมาวางไข่ได้ สัตว์น้อยใหญ่ต่างผลัดกันออกมาใช้ชีวิตตามช่วงเวลา มีการสำรวจพบนกกว่า 30 สายพันธุ์ 

D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\01.jpg
D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\04.jpg

อีกหนึ่งจุดเด่นของสวนป่าสักศึกษาคือการใช้พื้นที่ร่วมกับชุมชนโดยรอบ มีประตูที่เชื่อมต่อสวนกับบ้านของคนในชุมชนถึง 4 จุดด้วยกัน มีทั้งคนที่ใช้เป็นทางผ่านและเป็นสถานที่ออกกำลังกาย ทำให้พื้นที่แห่งนี้ถูกใช้ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมเรียนรู้ระบบนิเวศที่ทำให้สวนแห่งนี้มีชีวิตชีวาตลอดทั้งปี

พื้นที่ริมถนนหรือใต้ทางด่วนเป็นอีกหนึ่งทำเลที่ถูกพลิกให้กลายมาเป็นพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะวงแหวน-ถนนพุทธมณฑลสาย 2 พัฒนาจากพื้นที่ใต้สะพานเชื่อมทางด่วนบริเวณสี่แยกพุทธมณฑลสาย 2 ตัดกับถนนพรานนก แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 โซน คือโซนแรกเป็นทางเดินและวิ่งรอบบึงน้ำ และโซนทางวิ่งตรงใต้สะพานที่ปลูกต้นไม้ใหญ่เอาไว้จำนวนมาก 

แม้แต่ในมหาวิทยาลัยมีพื้นที่กว้างที่อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์ สามารถใช้เป็นพื้นที่ตั้งต้นของการสร้างพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายได้

“อย่างในมหาวิทยาลัยมีบ่อน้ำก็จะมีนิเวศน้ำ รอบๆ นั้นก็ต้องมีพืชพรรณที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำลำคลองอยู่แน่นอน เมื่อมีพืชก็จะมีสัตว์ตามมา ไม่ว่าจะเป็นแมลง ผีเสื้อ นก ที่จะทำให้เกิดการผสมพันธุ์ คาบเมล็ดพืชชนิดต่างๆ มาลงในพื้นที่นั้น นำมาซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพได้ แต่ว่าเราอาจจะต้องมีวิธีการปกป้องในช่วงที่ระบบนิเวศเริ่มก่อตัว ต้นไม้เริ่มงอก ระวังไม่ให้คนไปทำลาย ไม่ให้มีการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ในที่นั้น”

D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\04.jpg
D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\05.jpg

พฤกษาดุริยางค์ ในเขตพื้นที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกออกแบบให้เป็นสวนริมน้ำและพิพิธภัณฑ์ต้นไม้ที่สามารถนำมาสร้างเป็นเครื่องดนตรีได้ประมาณ 1,500 ต้น เช่น กระดังงาไทย จำปา มะขาม จามจุรี พร้อมทั้งเป็นแหล่งศึกษาสังคมและวัฒนธรรมที่พึ่งพิงจากธรรมชาติ ตลอดจนการเก็บรักษาดูแลต้นไม้ เมื่อมีต้นไม้หลากหลาย เหล่าแมลงและสัตว์ก็ย่อมตามมา 

D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\01.jpg

ขยับออกไปสักหน่อยที่ย่านพระประแดง มีสวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา คุ้งบางกะเจ้า เนื้อที่ประมาณ 39 ไร่ แทรกตัวเป็นส่วนประกอบเล็กๆ ของคุ้งบางกะเจ้า ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันเป็นผืนใหญ่กว่า 12,000 ไร่ 

การพัฒนาพื้นที่เล็กๆ ส่วนนี้ให้กลายเป็นป่าในเมืองที่อุดมสมบูรณ์เช่นในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพื้นที่เดิมถูกปรับเตรียมดินสำหรับการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร มีการนำดินทรายมาถมทั่วทั้งพื้นที่จนเหลือหน้าดินอยู่เพียงนิดเดียว และได้รับผลกระทบจากการเป็นรอยต่อของน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม การปลูกต้นไม้จึงยาก มีเพียงหญ้าและต้นมะพร้าวอยู่ไม่กี่ต้น การพัฒนาพื้นที่จึงต้องเริ่มจากปลูกไม้โตเร็ว เช่น สนทะเล สนประดิพัทธ์ หูกระจง รวมถึงไม้พื้นถิ่นอย่างตีนเป็ดน้ำและลำพูที่มักขึ้นริมน้ำเป็นไม้เบิกนำ

D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\06.jpg
D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\03.jpg

เมื่อเดินตามทางเดินไปเรื่อยๆ จะได้พบกับชายหาดของสวนที่ถูกกัดเซาะจนเสียที่ดินไปถึง 4 ไร่ จึงต้องทำแนวไม้ไผ่กันคลื่นและต้องการให้เกิดการตกตะกอนของดินเลนเพิ่มขึ้น จากนั้นจึงเอาต้นจากไปปลูกตามแนวไม้ไผ่ ทดลองปลูกต้นโกงกาง ต้นลำภู และต้นแสมที่มีรากอากาศที่สามารถยื่นรากออกไปในเลนนิ่มๆ ได้ ช่วยยึดดินให้แน่นขึ้นเป็นการช่วยเตรียมดินให้ต้นอื่นๆ พร้อมที่จะโตต่อไป 

จากความพยายามต่อเนื่องหลายปี ปัจจุบันสวนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ด้านระบบนิเวศลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างบริเวณคุ้งบางกะเจ้าแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม เป็นแหล่งศึกษาวิจัย พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ รวมถึงต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่กลายเป็นจุดเด่นของที่นี่คือพบหิ่งห้อยถึง 4 สายพันธุ์ ซึ่งระหว่างทางเราจะเห็นว่ามีหอยทากที่เป็นอาหารของหิ่งห้อยผู้ล่าอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งดูนก จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2566 พบนกถึง 66 สายพันธุ์ ทั้งนกพื้นถิ่นและนกอพยพ เช่น นกกระเต็น นกกินเปรี้ยว นกตีทอง นกเค้าจุด เหยี่ยวแดง 

D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\04.jpg
D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\07.jpg

OECMs แหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง

ประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่ม HAC กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People โดยมีเป้าหมายในการคุ้มครองพื้นที่ทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี
ค.ศ. 2030 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “เป้าหมาย 30×30” ซึ่งหากให้เรื่องของการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียวคงเป็นเรื่องยาก ภาคเอกชนหลายแห่งจึงเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ผ่านพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง หรือ OECMs (Other effective area-based conservation measures) 

OECMs เป็นพื้นที่นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง ไม่ใช่ป่าสงวน ไม่ใช่พื้นที่อุทยาน และอาจเป็นพื้นที่ในเมืองที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ต้องมีการบริหารและจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติ หน้าที่และบริการของระบบนิเวศ วัฒนธรรม จิตวิญญาณ สังคมเศรษฐกิจและคุณค่าอื่น ๆ ของท้องถิ่นโดยรวมอย่างยั่งยืนในระยะยาว

การบริหารจัดการพื้นที่ที่จะเข้าข่ายเป็น OECMs จะต้องมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด (In-situ conservation) อย่างยั่งยืน อาจจะเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการ หรือเป็นเป้าหมายรองของการจัดการที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 

พื้นที่ OECMs จะต้องมีการบริหารและจัดการอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยควรมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ การกำกับดูแลพื้นที่โดยรวม วัตถุประสงค์ การจัดการ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ในระยะยาวเพื่อให้ดำรงอยู่ในสภาพธรรมชาติหรือใกล้เคียงธรรมชาติ

ศูนย์เรียนรู้ “ป่าในกรุง” โดยสถาบันปลูกป่าเเละระบบนิเวศ ปตท. เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในที่ดินเปล่าของ ปตท. จำนวน 12 ไร่ บนถนนสุขาภิบาล 2 ให้เป็นพื้นที่ปลูกป่านิเวศที่สมบูรณ์จำลองป่ากรุงเทพฯ ในอดีต โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือ พื้นที่ปลูกป่า 75 เปอร์เซ็นต์ แหล่งน้ำ 15 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่อาคารเพื่อการเรียนรู้ 10 เปอร์เซ็นต์

ป่าในกรุงประกอบด้วยพันธุ์ไม้พื้นถิ่นเดิมของกรุงเทพฯ ที่มักพบในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตามริมน้ำ ลำคลอง บึง สลับกับภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นดอน หรือโคกที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 0-130 เมตร และพันธุ์ไม้หายากกว่า 270 ชนิด มีทั้งพืชป่าดิบลุ่ม พืชป่าเบญจพรรณ พืชป่าน้ำตกและเขาหินปูน พืชชายน้ำ และพืชตระกูลปาล์ม 

ระหว่างทางเดินบนสกายวอล์คที่เพิ่มระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความสูงของพันธุ์ไม้ จะได้พบกับสังคมพืชป่าดิบลุ่ม ไล่ระดับ ตั้งแต่ ต้นสูงชะลูดอย่างยางนา ตะเคียนทอง หว้า มะค่าโมง ล้านใหญ่ มะตาด ต้นแก้ว พุด และมีโอกาสได้เห็นนกหลายชนิดที่อาศัยอยู่บนยอดไม้

D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\05.jpg

เมื่อเดินผ่านบริเวณน้ำตกจะได้เห็นพันธุ์ไม้ต่างระดับผสมผสานกันอยู่ อย่าง ไทรย้อย หว้า โมก ข่อย จิกน้ำ  มะเกลือ รวมถึง กันเกรา เฟิน กล้วยไม้ และกก

D:\Profile_Users\Tinnakrit\AppData\Local\Microsoft\Windows\INetCache\Content.Word\BSP241115-058.jpg

แม้ว่าจะมีเอกชนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ภาครัฐก็ยังส่งเสริมและผลักดันให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ OECMs ผ่านการสร้างกลไกผลประโยชน์ (Incentive) 

“เราก็พยายามส่งเสริมว่าเขาเข้ามาร่วมกับเราแล้วจะได้ผลประโยชน์อะไรตอบแทน เมื่อเอกชนยินดีที่จะเอาพื้นที่ของตัวเองมาร่วมเป็นพื้นที่หนึ่งใน OECMs แล้ว 1. เราจะให้ใบรับรองเขาไหม 2. ใบรับรองนั้นสามารถนำไปลดหย่อนอะไรได้บ้าง  และถ้าเขาเปลี่ยนใจไม่เป็นพื้นที่ OECMs แล้วเราจะมีขั้นตอน กระบวนการอย่างไร แล้วจะส่งเสริมให้เขาขยายพื้นที่อย่างไร”

นับเป็นความท้าทายของการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองที่ต้องการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน แต่ไม่ใช้เรื่องยากจนเกินไปนัก

“การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพไม่ยาก แต่ว่าเราอาจจะต้องมีวิธีการปกป้องในช่วงที่เริ่มก่อตัว ระวังไม่ให้มีคนไปทำลาย หยุดยั้งการเจริญเติบโตของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ หมายความว่าไปออกกำลังกายแต่ไม่ได้ไปเด็ดต้นไม้ เราต้องช่วยกันรักษาและปกป้อง เข้าไปใช้ประโยชน์ในแง่ของนันทนาการ ในแง่ของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ทำลายการคงอยู่ของสัตว์ในพื้นที่นั้นก็ยังคงมีอยู่”