กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส และงานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ ฟ้าใส (Joint Plan of Action – CLEAR Sky Strategy) (2567-2573) และงานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน ในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00-16.30 น. ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การจัดงานเปิดตัว “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (2567-2573)” มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมฯ ซึ่งดำเนินการตามผลการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่าง สปป.ลาว เมียนมา และไทย ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการร่วมฯ กำหนดแผนงานและแนวทาง ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยในงานเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมฯ กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ สปป.ลาว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา เข้าร่วมด้วย
ในส่วนของงานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน มีวัตถุประสงค์ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการนำแผนปฏิบัติการร่วมฯ มาปฏิบัติใช้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจาก 8 หน่วยงาน ได้แก่
- กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย (Ministry of Environment and Forestry of Indonesia)
- กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ (Ministry of Sustainability and the Environment of Singapore)
- กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีน (Ministry of Ecology and Environment of China)
- กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- องค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (World Health Organization South-East Asia Region: WHO SEARO)
- องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit: GIZ)
- ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center: ADPC) และ
- ธนาคารโลก (World Bank) มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนโดยหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอาเซียน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษ ADPC และ GIZ
ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานตามวันและเวลาดังที่ระบุข้างต้น โดยสามารถลงทะเบียนผ่าน QR Code ที่ปรากฏด้านล่างนี้