บ้านเหล็ก สัมผัสความงามภายใต้รูปทรงกล่องที่เรียบง่าย
บ้านเหล็ก หลังนี้ ทำให้เราได้สัมผัสความเท่ของโครงสร้างเหล็กสีดำที่บางเฉียบและโครงถัก (Truss) ที่คิดมาอย่างเป็นระบบ เพื่อออกแบบอาคารให้มีระยะยื่นออกไปได้มากราวกับลอยอยู่กลางอากาศ
Design Directory : Duangrit Bunnag Architect Limited (DBALP) โดยคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค
บ้านเหล็ก หลังนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ดินขนาด 350 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ของบ้านหลังเดิม เมื่อต้องการขยับขยายจึงรื้อสร้างใหม่ คุณฮุย-สมศักดิ์ โลหะนาคะกุล เจ้าของบ้าน ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายเหล็กมีความตั้งใจว่าหากจะมีบ้านสักหลังวัสดุสำคัญในการก่อสร้างต้องเป็นเหล็ก และอยากให้บ้านมีกลิ่นอายสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ที่โชว์โครงสร้างงานสถาปัตยกรรม เน้นการเปิดเผยสีจริงของวัสดุจำพวกเหล็ก โลหะ ผนังปูนเปลือย และไม้ลุคเรียบเท่ ซึ่งครั้งหนึ่งมีโอกาสไปร้านอาหาร The Never Ending Summer ย่านคลองสาน ได้เห็นงานสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นสไตล์เดียวกันกับที่คิดไว้ จึงนำความตั้งใจที่จะสร้างบ้านนี้ไปพูดคุยและให้ คุณด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นผู้ออกแบบ
สถาปัตยกรรมรูปทรงเรขาคณิตทรงกล่องหลังนี้มีลูกเล่นแฝงอยู่มากมายให้ชวนติดตาม เริ่มจากการวางผังอาคารเป็นตัวแอล (L) ล้อมคอร์ตที่มีสระว่ายน้ำแนวยาว และต้นพญาสัตบรรณยืนต้นสูงให้ร่มเงาแก่ตัวอาคาร ฐานของอาคารยกสูงจากพื้น 1 เมตร เพื่อการถ่ายเทอากาศ ลดความชื้นเข้าสู่อาคารและช่วยซ่อนงานท่องานระบบต่างๆได้อีกด้วย บ้านแบ่งเป็นสองส่วนหลัก คือ ส่วนพักอาศัยและส่วนทำงาน ทั้งสองส่วนเชื่อมกันด้วยชานขนาดใหญ่เปิดรับวิวธรรมชาติ เพื่อให้คนได้ใกล้ชิดกับต้นไม้ได้มากขึ้น
การออกแบบเหมือนการเต้นรำ
“การทำงานการออกแบบกับเจ้าของบ้านเหมือนการเต้นรำ หน้าที่เดียวของผมคือทำให้คู่เต้นตรงหน้ามีความสุขและทำให้ตัวเองมีความสุขด้วย”
จากแนวคิดการทำงานของสถาปนิก ทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าของบ้านมากขึ้น นำมาซึ่งความเข้าใจวิถีชีวิตไปสู่การออกแบบสถาปัตยกรรมที่คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล “ผมตั้งใจเก็บไม้ยืนต้นในพื้นที่เดิมไว้ พยายามรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด” แนวคิดนี้ของเจ้าของบ้าน ทำให้การออกแบบบ้านหลังนี้มีต้นไม้อยู่ร่วมกับอาคารได้อย่างลงตัวเหมือนกับการเต้นรำ บางจังหวะอาคารโอบล้อมต้นไม้ บางจังหวะถอยออกเพื่อให้ต้นไม้โดดเด่น
เชื่อมสัมพันธ์ด้วยการเปิดโล่ง
สมาชิกในบ้านประกอบด้วย 3 ช่วงวัย ด้วยไลฟ์สไตล์มีความแตกต่าง ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้พบหน้าค่าตากันมากนัก คุณด้วงจึงเน้นการวางผังในบ้านให้เปิดโล่งเชื่อมต่อถึงกัน เพื่อให้ทุกเวลาที่มีคนอยู่ในบ้านจะสามารถมองเห็นและมีปฏิสัมพันธ์กันได้ง่าย
การเรียงตัวของบานเลื่อนกระจกใสช่วยเชื่อมต่อส่วนทำงานกับส่วนต่างๆของบ้านทางสายตา และเชื่อมพื้นที่ภายในและภายนอกได้เป็นอย่างดี ทำให้มองเห็นสระว่ายน้ำแนวยาว ไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงาสร้างความสดชื่น ช่วยลดความตึงเครียดจากการทำงาน ประกอบกับการจัดวางตำแหน่งตัวบ้านรวมถึงสระว่ายน้ำ ที่คำนึงถึงเรื่องของแสงแดดและทิศทางลมเพื่อให้ลมพัดผ่านหมุนเวียนได้ดี ภายในบ้านจึงมีสภาวะน่าสบายตามธรรมชาติ
ความงามที่มาจากโครงสร้างและวัสดุ
ภายใต้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่เรียบง่ายของบ้านหลังนี้ คือความเท่ของโครงสร้างเหล็กสีดำที่บางเฉียบและโครงถัก (Truss) ที่คิดมาอย่างเป็นระบบ เพื่อออกแบบอาคารให้มีระยะยื่นออกไปได้มากราวกับลอยอยู่กลางอากาศ เมื่อมองลึกถึงรายละเอียดจะพบว่าบ้านเหล็กหลังนี้เชื่อมโครงสร้างเหล็กด้วยระบบขันนอต นับว่าเป็นเรื่องท้าทายในการก่อสร้างเพราะต้องเตรียมชิ้นส่วนประกอบต่างๆมาจากโรงงาน โดยอาศัยการคำนวณจากวิศวกรโครงสร้างเพื่อให้ได้ชิ้นส่วนตามมาตรฐาน เนื่องจากการเจาะเหล็กรูปพรรณรีดร้อนต้องใช้ความละเอียดและคำนวณระยะการเจาะมาอย่างถูกต้อง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้บ้านเหล็กหลังนี้มีเสน่ห์ตรงตามสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ที่เจ้าของบ้านอยากให้เกิดขึ้น
เมื่อเข้ามาภายในบ้านมีจุดน่าสนใจคือ งานโชว์ฝ้าเพดานเหล็กเปลือยที่ดูเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นสำเร็จรูปพื้นลอนเหล็กหรือแผ่น Metal Deck ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานพื้นแบบคอมโพสิต (Composite Slab) ที่แผ่น Metal Deck เป็นไม้แบบพื้น แล้วเสริมเหล็กและเทคอนกรีต ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาในการก่อสร้างได้มาก โดยแผ่น Metal Deck ผลิตจากเหล็กชุบสังกะสีรีดขึ้นรูป และมีปุ่มนูนกระจายอยู่ตามสันของแผ่น ช่วยยึดเกาะไม่ให้แผ่นพื้นเหล็กกับคอนกรีตไถลตัวออกจากกัน
เสน่ห์ของบ้านหลังนี้คือการช่วยทำให้วัสดุแต่ละชนิดได้แสดงความงามเฉพาะตัว และยิ่งเห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อสอดประสานกับปรากฏการณ์ของธรรมชาติในแต่ละช่วงเวลา เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตของบ้านได้อย่างสมบูรณ์และสมดุล
เจ้าของ : คุณสมศักดิ์ โลหะนาคะกุล
ออกแบบ: Duangrit Bunnag Architect Limited (DBALP) โดยคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค
เรื่อง : Pakaho
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, ณัฐวรรธน์ ไทยเสน
สไตล์ : Suntreeya