บ้านครอบครัว ที่เปลี่ยนข้อจำกัดชีวิตให็เป็นความพิเศษ - บ้านและสวน

บ้านครอบครัว ที่เปลี่ยนข้อจำกัดให้เป็นความพิเศษ

หัวใจสำคัญของ บ้านครอบครัว หลังนี้อยู่ตรงโถงบันไดที่ออกแบบมาให้เหลื่อมและไม่ทับซ้อนกันทำให้ทุกชั้นสามารถมองลงมาเห็นพื้นชั้นล่างได้เสมอ เพื่อให้ทุกคนมีปฎิสัมพันธ์เชื่อมต่อ มองเห็นหรือได้ยินเสียงกันและกันได้แม้จะอยู่ในคนละพื้นที่

Design Directory : สถาปนิก A A D design

บ้านครอบครัว
ทางเข้าบ้านหลบเข้าไปในหลืบผนังเพื่อให้ความเป็นส่วนตัว โดยตัวผนังฝั่งขวากรุด้วยกระเบื้องแผ่นเล็กในแนวตั้งที่ค่อยๆ เรียงไปตามความโค้งของผนัง

การสร้าง บ้านครอบครัว สักหลังให้สวยงามอาจไม่ได้เริ่มต้นขึ้นบนที่ดินผืนกว้างแล้วใส่ฟังก์ชันตามใจหรือเติมดีไซน์ตามฝันได้ง่ายๆ แบบนั้นเสมอไป เพราะในชีวิตจริงเราอาจต้องสร้างบ้านบนพื้นที่ที่มีรูปทรงไม่สมมาตร ติดกับรั้วเพื่อนบ้านในระยะประชิด ไม่มีบริบทธรรมชาติให้มอง หรือไม่มีมุมท้องฟ้าเปิดให้ได้เห็น แต่ก็ใช่ว่าข้อจำกัดเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคจนไม่สามารถสร้างบ้านสวยๆ กันได้เลย            

ดังเช่น บ้านสีขาวหลังนี้ของคุณพิ้งค์-ประภาวรรณ วินิจศาสตร์และคุณท๊อป-กุลธัช สุวัฒนพันธุ์กุล ที่สร้างขึ้นบนที่ดินขนาด 150 ตารางวาภายในซอยแคบๆ แวดล้อมไปด้วยชุมชนขนาดเล็กที่ไม่มีธรรมชาติแวดล้อมของตัวเอง  แต่ด้วยแนวคิดเชิงบวกของ คุณอาร์ต- อยุทธ์ มหาโสมสถาปนิกแห่ง A A D design  ก็สามารถเปลี่ยนข้อจำกัดทั้งหมดให้กลายเป็นบ้านแสนสวย แฝงด้วยดีไซน์พิเศษที่น่าประทับใจ

บ้านครอบครัว คอร์ตต้นไม้
คอร์ตต้นไม้กลางบ้านกรุด้วยผนังกระจกใสทรงโค้งบานสูงจากพื้นจรดเพดาน ช่วยให้แสงธรรมชาติเข้าบ้านได้เต็มที่ และคนในบ้านก็สามารถชมพื้นที่สีเขียวได้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของภายใน
 
บ้านครอบครัว
โซฟาส่วนกลางที่ทุกคนในครอบครัวมักจะมาใช้พักผ่อนอยู่เกือบตลอดวัน เพราะบรรยากาศที่ผ่อนคลายจากแสงธรรมชาติและความสดชื่นของสวนที่อยู่ใกล้ๆ

เริ่มต้นด้วยโจทย์เฉพาะตัว

จากประสบการณ์ชีวิตในบ้านตลอดช่วงโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา ทำให้คุณพิ้งค์และคุณท๊อปตระหนักว่าภาวะน่าสบายและพื้นที่สีเขียวภายในบ้านนั้นเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับคนในครอบครัว ทั้งคู่จึงตัดสินใจสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมาเพื่อให้คน 3 วัยได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข

“การแยกครอบครัวกันอยู่ทำให้รู้สึกเหงาๆ นะ พอเราแต่งงานก็คิดเลยว่าแทนที่จะแยกบ้านไป เรากลับอยากมีบ้านหลังใหม่ที่รวมทุกคนในครอบครัวให้มาอยู่ด้วยกันมากกว่า สิ่งแรกที่คิดก็เป็นเรื่องสุนทรียะก่อนเลย ต้องมีพื้นที่สีเขียวให้เราอยู่บ้านได้โดยไม่อึดอัด และพอได้มาคุยกับคุณอาร์ต เขาช่วยคิดถึงการใช้ชีวิตของเราที่ไม่ใช่แค่วันนี้พรุ่งนี้แต่ยาวไปถึงอนาคตด้วย คิดถึงสเปซให้ลูกของเราซึ่งตอนนั้นยังไม่เกิด คิดถึงสเปซสำหรับพ่อแม่เรา โดยเฉพาะสเปซสำหรับน้องชายที่เป็นเด็กพิเศษ รวมถึงพื้นที่สีเขียวที่ต้องวางแผนกันตั้งแต่ต้น หลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่เราไม่ทันได้คิดแต่คุณอาร์ตออกแบบมาให้อย่างละเอียดจนเราขนลุกเลย”

บ้านครอบครัว
ผนังบริเวณที่วางทีวีสามารถใช้เป็นมุมนั่งเล่นไปด้วยได้

เพราะคุณอาร์ตเชื่อว่าสถาปนิกที่ดีไม่เพียงแค่ตอบโจทย์ฟังก์ชันพื้นฐานให้เจ้าของบ้าน แต่ต้องทำบ้านให้อยู่สบายด้วย “ผมรู้สึกว่านี่เป็นงานที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะเรื่องการมีเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงที่ผมอินกับการมีลูกของตัวเองพอดี และเข้าใจในเรื่องสเปซที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ของเด็ก รวมถึงการพัฒนา EQ และ IQ แบบรอบด้าน กับการออกแบบสเปซให้เด็กพิเศษซึ่งเป็นคนที่อยู่บ้านมากที่สุดให้มีความสุข มีสมาธิ และไม่รู้สึกเบื่อบ้าน โดยทุกคนยังอยู่ในสายตากันและกัน มีปฏิสัมพันธ์กันได้ อีกทั้งพื้นที่บ้านก็อยู่ในซอยคับแคบที่ทำให้เกิดความซับซ้อนในงานก่อสร้าง จึงต้องมีการวางแผนกันให้ดี”

บ้านครอบครัว บ้านสีขาว
ระเบียงที่อยู่ระหว่างอาคารยังใช้เป็นที่ปลูกต้นไม้เพื่อแทรกธรรมชาติเข้าไปช่วยลดความขาวเรียบของตัวอาคาร

บ้านที่มีออฟฟิศแยกส่วนชัดเจน

นอกจากบ้านแล้ว เจ้าของยังอยากมีโฮมออฟฟิศเพื่อสามารถทำงานได้ใกล้ๆ ด้วย แต่แทนที่จะผสานฟังก์ชันบ้านกับออฟฟิศไปในพื้นที่เดียวกัน สถาปนิกคิดว่าควรแยกสัดส่วนไว้ให้ชัดเจน เพื่อบ้านยังคงบรรยากาศผ่อนคลายสำหรับสมาชิกคนอื่นๆ ด้วย จึงออกแบบอาคารออฟฟิศเพิ่มขึ้นมาด้านหน้า โดยมีทางเชื่อมบริเวณชั้น 2 ที่เจ้าของสามารถเข้าออกได้ง่ายและเป็นส่วนตัว

และถึงแม้จะอยู่ในซอยแคบแต่ภายในจำเป็นต้องมีที่จอดรถกว้างขวางเพื่อรองรับส่วนที่เป็นออฟฟิศไว้ด้วย ลานจอดหน้าบ้านจึงค่อนข้างเปิดโล่งทั้งสำหรับเป็นที่จอดและขนของต่างๆ ส่วนประตูเข้าบ้านแอบอยู่ในมุมเล็กๆ ของผนังโค้งสีขาวทำให้รู้สึกเป็นส่วนตัวจากโซนออฟฟิศ เวลาเปิดก็จะมีเลเยอร์ของกระจกโค้งกับสวนคอร์ตในบ้านช่วยกั้นสายตาจากภายนอก แต่คนในบ้านจะยังคงเห็นความเคลื่อนไหวเวลามีพนักงานขนของนอกบ้านได้ จากนั้นก็ผลักส่วนนั่งเล่นให้ไปอยู่ด้านในเพราะนั่นคือพื้นที่ส่วนตัวจริงๆ

บ้านครอบครัว บันได
แสงธรรมชาติที่เข้ามาผ่านช่องเปิดด้านบนสามารถลงถึงบริเวณคอกใต้บันได ช่วยเสริมพัฒนาการให้เด็กเล็กได้ดีกว่าแสงไฟประดิษฐ์
บ้านครอบครัว บันได
แนววนของบันไดมีที่เหลื่อมมุมแบบไม่ทับซ้อนกัน นอกจากให้แสงผ่านลงชั้นล่างได้แล้วยังทำให้คนชั้นบนมองเห็นความเคลื่อนไหวหรือส่งเสียงสื่อสารกันได้ด้วย
บ้านครอบครัว
พื้นที่ใต้บันไดซึ่งออกแบบให้เป็นเหมือนคอกสำหรับลูกสาวได้ใช้เป็นพื้นที่เล่นอย่างเป็นสัดส่วน พร้อมขั้นบันไดที่นั่งได้แบบอัฒจันทร์ เมื่อโตขึ้นก็ยังสามารถปรับฟังก์ชันใช้งานได้หลากหลาย
บ้านครอบครัว
พื้นที่ขนาดกะทัดรัดใต้บันไดตกแต่งด้วยไม้ช่วยทำให้เด็กเล็กรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย

โถงบันไดและคอร์ตต้นไม้

หัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้อยู่ที่โถงบันไดและคอร์ตต้นไม้ ที่นอกจากจะสวยสะกดสายตาราวกับประติมากรรมแล้ว บันไดยังเป็นช่องเปิดให้แสงธรรมชาติเข้าถึงผ่านผนังกระจกด้านบน ด้วยการออกแบบให้เหลื่อมและไม่ทับซ้อนกันทำให้ทุกชั้นสามารถมองลงมาเห็นพื้นชั้นล่างได้เสมอ เพื่อให้ทุกคนมีปฎิสัมพันธ์เชื่อมต่อ มองเห็นหรือได้ยินเสียงกันและกันได้แม้จะอยู่ในคนละพื้นที่

“บันไดมีฟังก์ชันค่อนข้างหลากหลาย ชั้นล่างผมกั้นเป็นคอกพร้อมทำที่นั่งล้อมไว้ให้เป็นพื้นที่ของลูกสาวแทนการซื้อคอกกั้นเด็กมาวางกลางบ้าน ถ้าอยากได้บ่อบอลก็เทบอลลงไปได้เลย เวลาเด็กอยู่ตรงนี้ คุณพิ้งค์ก็สามารถทำอาหารตรงแพนทรี่ได้หรือคุณท๊อปนั่งเล่นตรงมุมโซฟาก็ยังได้ยินเสียงลูก ขณะที่น้องชายใช้บันไดเป็นที่เดินเล่นผ่อนคลายเพื่อฝึกสมาธิ เวลาเดินก็ยังมองลงมาช่วยสอดส่องดูแลหลานสาวตัวน้อยข้างล่างไปด้วย โดยแสงธรรมชาติที่ผ่านเข้ามาจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และมีผลต่อพัฒนาการเด็กได้ดีกว่าแสงไฟประดิษฐ์”

บ้านครอบครัว
ทางเดินตรงกลางสวนโรยด้วยหินแกรนิตก้อนสี่เหลี่ยม ส่วนด้านข้างเป็นกระบะปลูกต้นไม้สีขาวในรูปทรงฟรีฟอร์มสวยๆ และสามารถใช้เป็นที่นั่งเล่นได้เลย

นอกจากจะมีบันไดเชื่อมต่อสเปซแล้ว ยังมีคอร์ตต้นไม้ที่ช่วยกระจายความสดชื่นสีเขียวไปยังทุกชั้นในบ้าน โดยทำเป็นสวนไม้ใบดูแลง่ายภายในกระบะรูปทรงฟรีฟอร์มที่สามารถใช้เป็นที่นั่งเล่นในสวนแทนการวางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เสริมด้วยน้ำตกเล็กๆ ให้ลูกสาวลงเล่นได้อย่างปลอดภัย และน้องชายมานั่งผ่อนคลายฟังเสียงน้ำ หรือเดินไปบนหินก้อนเล็กที่ช่วยนวดฝ่าเท้าไปด้วยในตัว รอบๆ คอร์ตต้นไม้ล้อมด้วยผนังกระจกทรงโค้งสวยเพื่อเชื่อมต่อมุมมองธรรมชาติเข้ามาสู่ภายใน เพิ่มความอุ่นใจในการใช้พื้นที่สวนนอกบ้านได้มากขึ้น

ภายใต้ดีไซน์ที่โค้งมนของงานกรุไม้ลามิเนตบริเวณที่วางทีวี ยังซ่อนไว้ด้วยลิ้นชักสำหรับเก็บของ รวมถึงเป็นที่นั่งเล่นได้ด้วย
 
บ้านครอบครัว มุมรับประทานอาหาร
มุมรับประทานอาหารตกแต่งด้วยโต๊ะหินอ่อนลายสวย ส่วนฝ้าเพดานกรุลามิเนตลายไม้ให้มีแนวโค้งที่นุ่มนวลและต่อเนื่องไปถึงผนังด้านข้างสำหรับวางทีวี ซึ่งทำเป็นที่นั่งเล่นได้ด้วย
บ้านครอบครัว
พื้นที่เปิดโล่งและเชื่อมต่อระหว่างโซฟากับมุมรับประทานอาหารภายใต้โทนสีละมุนของไม้และเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
บ้านครอบครัว
เพราะยอมเสียพื้นที่ใช้งานในบ้านให้เป็นพื้นที่สวนพร้อมเปิดผนังด้านข้างให้โล่งจึงได้แสงธรรมชาติเต็มที่ ขณะที่คนในบ้านก็สามารถมองออกไปชมฟ้าด้านนอกได้โดยไม่อึดอัด
แพนทรี่
มุมรับประทานอาหารตกแต่งด้วยโต๊ะหินอ่อนลายสวย ส่วนฝ้าเพดานกรุลามิเนตลายไม้ให้มีแนวโค้งที่นุ่มนวลและต่อเนื่องไปถึงผนังด้านข้างสำหรับวางทีวี ซึ่งทำเป็นที่นั่งเล่นได้ด้วย

นุ่มนวลด้วยเส้นโค้ง

แม้ว่าหน้าตาภายนอกบ้านจะดูเรียบเท่ในอาคารรูปทรงเหลี่ยม แต่ภายในกลับสร้างความสมดุลด้วยเส้นโค้งที่นุ่มนวล ไม่ว่าจะเป็นผนังโค้งบริเวณประตูทางเข้า ต่อเนื่องมาถึงผนังกระจกโค้งละมุนบริเวณสวนคอร์ตที่คุณพิ้งค์บอกว่าหาช่างทำกระจกโค้งตามแบบได้ยากมาก เพราะต้องหนา สวย และปลอดภัย

“เราทั้งคู่ชอบอารมณ์ละมุนๆ และมินิมัลแบบญี่ปุ่น ก็เลยอยากให้ภายในบ้านมีมุมโค้งๆ ที่ไม่แข็ง ดูสบายตา ผนังกระเบื้องหน้าบ้านก็ต้องโค้งและปูแนวตั้งด้วยซึ่งมีช่างเจ้าเดียวที่ทำแบบนี้ได้ ขั้นไม้ใต้บันไดก็ต้องโค้งนะไม่เหลี่ยม ฝ้าเพดานไม้ก็โค้งมาถึงตัวตู้เก็บของที่นั่งเล่นได้ซึ่งทำขอบโค้งเหมือนกัน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องวัสดุที่ออกแบบค่อนข้างเยอะแต่เราก็หาช่างทำจนได้”

สวนคอร์ต
เพิ่มความสวยงามให้กับพื้นที่สวนด้วยโครงสร้างอาคารที่เน้นการใช้เส้นโค้งให้ดูอ่อนโยน และยังเป็นเหมือนกรอบภาพที่นำสายตาขึ้นไปสู่ท้องฟ้าด้านบน
แม้จะต้องปิดทึบผนังส่วนใหญ่ที่ติดกับฝั่งเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังออกแบบให้มีช่องเปิดสำหรับต้นไม้ได้เติบโต โดยมีการเจาะช่องเล็กๆ ไว้ที่ผนังส่วนล่างให้ไฟในบ้านส่องออกมาเป็นไฟทางเดินสำหรับชุมชนไปด้วย

ดีไซน์ของเส้นโค้งนี้ยังโยงมาถึงแลนด์สเคปในสวนและโครงฟาซาดด้านข้างของตัวบ้านที่คุณอาร์ทออกแบบไว้ให้เป็นมุมมองเปิด ด้วยเหตุผลว่า

“ผมให้เจ้าของบ้านเลือกเลยครับว่าจะยอมแลกมุมมองที่เปิดสู่เพื่อนบ้านได้ซึ่งสามารถเห็นท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งตาจากห้องนั่งเล่นชั้นล่าง โดยที่คนด้านนอกมองเข้ามาไม่เห็น ยกเว้นส่วนกลางชั้น 2 ที่กลางวันเราเลือกติดม่านปิดได้ หรือจะเลือกปิดผนังฝั่งนี้ทึบไปเลยซึ่งมันง่ายมาก แต่อยู่ในบ้านจะไม่เห็นฟ้ากว้างแล้วนะ ซึ่งผมว่าเปิดแล้วคุ้มกว่าแน่นอน ผมเลยออกแบบโครงสร้างโค้งๆ ไว้สำหรับติดฟาซาดได้ในอนาคต รวมถึงพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้เป็นแนวรั้วเผื่อมีอาคารสูงขึ้นมาด้านข้าง ส่วนผนังด้านล่างที่ปิดทึบก็เจาะเป็นช่องเล็กๆ ให้ลมผ่านได้พร้อมกับเป็นช่องให้แสงไฟในบ้านส่องสว่างออกไปตรงทางเดินให้ชุมชนด้วย เพื่อนบ้านมีความสุข ชุมชนก็มีความปลอดภัย”

ห้องนั่งเล่น
ส่วนนั่งเล่นของคุณพ่อคุณแม่บริเวณชั้น 2 ยังได้ความโปร่งโล่งที่ต่อเนื่องของคอร์ตต้นไม้และผนังกระจก ทำให้มองเห็นพื้นที่สีเขียวได้อย่างสบายตา
ห้องนอน
ห้องนอนคุณพ่อคุณแม่บริเวณชั้น 2 ที่สามารถเทควิวพื้นที่สวนสีเขียวได้ และเวลาเปิดม่านก็ยังมองเห็นความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งของบ้านได้เช่นกัน
สวนน้ำตก
ภายในสวนยังมีมุมบ่อน้ำเล็กๆ สำหรับให้เด็กเล่น รวมถึงน้ำตกที่ช่วยสร้างเสียงผ่อนคลายทางธรรมชาติ โดยผนังด้านข้างเป็นผนังสองชั้นที่ช่วยแยกสวนในบ้านออกจากการเข้าถึงของสัตว์เลื้อยคลานด้านนอก เพิ่มความปลอดภัยเวลาใช้งาน และยังเป็นแนวสำหรับปลูกต้นไม้ได้ในอนาคต

บ้านครอบครัว ของคน 3 รุ่นใต้หลังคาเดียวกัน

การอยู่ร่วมกัน 3 รุ่นภายในบ้านหลังเดียวทำให้ต้องมีการแยกพื้นที่ใช้งานอย่างเป็นสัดส่วน โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่นั่งเล่นและรับประทานอาหารส่วนกลาง รวมถึงสวนคอร์ตขนาดย่อม ขณะที่ชั้น 2 เป็นพื้นที่ของคุณพ่อคุณแม่และน้องชายที่มีห้องส่วนตัวแต่แอบวางสเปซให้อยู่ในสายตาได้เพื่อความสบายใจ พร้อมกับห้องออกกำลังกายและหน้าผาจำลองในมุมที่เปิดให้ลมธรรมชาติหมุนเวียนได้ ตัวหน้าผายังยาวต่อเนื่องมาถึงห้องทำงานของคุณท๊อปบริเวณชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ของคุณพิ้งค์และคุณท๊อป หรือใช้ในกรณีปีนผาขึ้นมาเข้าห้องอาบน้ำได้เลยโดยไม่ต้องผ่านบันไดหลัก

“เราค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่คุณอาร์ตตีโจทย์เรามาได้ละเอียดมากๆ ขนาดนี้ ตั้งแต่ที่ได้มาอยู่บ้านนี้ก็รู้สึกผ่อนคลายมาก สเปซที่โปร่งช่วยให้เรามองเห็นและสื่อสารกันได้ตลอด รู้สึกอบอุ่นปลอดภัยในสายตากันและกัน แต่ก็ยังมีสเปซของตัวเอง เข้าถึงสวนได้ในระยะเอื้อมถึง ตอนนี้มีนกมาทำรังให้ลูกได้เรียนรู้ธรรมชาติไปด้วย หรืออย่างชั้น 3 ถ้าปิดจนมองไม่เห็นพื้นที่สีเขียวเลยจะอึดอัดเหมือนอยู่อาคารพาณิชย์มาก รู้เลยว่าจากแบบกว่าจะออกมาเป็นบ้านได้ขนาดนี้มันยาก แต่ก็คุ้มค่าจริงๆ สำหรับบ้านที่เราเชื่อว่าจะอยู่ด้วยกันไปได้อีกนานๆ”

หน้าผาจำลอง
หน้าผาจำลองส่งตรงมาจากอเมริกา แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ระหว่างชั้น 2 และ 3 แต่มีระบบไฟที่ช่วยกำหนดเส้นทางการปีนได้เป็นร้อยๆ เส้นทางพร้อมปรับระยะเอนได้ตามต้องการเพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อ
ห้องทำงาน เสื่อทาทามิ
ภายในห้องนอนยังมีห้องทำงานเล็กๆ ที่คุณท๊อปเลือกปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิ เพราะติดใจกลิ่นอะโรม่าหอมๆ ของเสื่อจากสมัยตอนที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น
ห้องนอน
ห้องนอนของคุณพิ้งค์และคุณท๊อปมีพื้นที่ไม่มากเกินความจำเป็น เพราะเน้นใช้งานเฉพาะช่วงกลางคืน และยังเชื่อมมุมมองออกไปสู่สวนและห้องนอนลูกสาวฝั่งตรงข้ามได้
ayutt อยุทธ์ มหาโสม

Designer’s Tips

“เพราะการออกแบบบ้านไม่ใช่แค่ให้ดูสวยแต่ต้องทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย ผมมองไปไกลถึงอนาคตเลยออกแบบฟังก์ชันให้สามารถปรับเปลี่ยนไปตามอายุของเจ้าของบ้านได้ด้วย  อย่างพื้นที่ใต้บันไดซึ่งตอนนี้ทำหน้าที่เหมือนคอกเด็กเล็ก วางหนังสือเด็กและของเล่นได้ พอโตขึ้นอาจใช้วางของสะสมหรือมุมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ส่วนห้องนอนลูกบนชั้น 3 ก็เผื่อไว้เวลาลูกโตและต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สามารถใช้ห้องข้างๆ ปรับให้เป็นห้องนอนเพื่อนที่จะมาค้างและทำกิจกรรมได้ หรืออาจปรับอาคารออฟฟิศให้เป็นบ้านอีกหลังของลูกสาวก็ยังได้ เช่นเดียวกับโครงสร้างที่เป็นเหมือนกรอบภาพสวยๆ ทางสายตาตรงสวนคอร์ตก็ยังสามารถต่อเติมฟาซาดเพื่อกั้นมุมมองหากมีการสร้างอาคารสูงเพิ่มด้านข้าง หรือจะปูพื้นทำระเบียงไปบนโครงสร้างที่พาดไว้เพื่อขยายสเปซโดยไม่ต้องรื้อหรือทุบอะไรทิ้งเลย เราถึงเรียกบ้านนี้ว่า Vitality House เพราะเป็นบ้านที่มีชีวิต”

คุณอยุทธ์ มหาโสม สถาปนิกแห่ง A A D design

ผนังฟาซาดบริเวณชั้นบนสุดของบ้านสำหรับช่วยกรองแสง ความร้อน และพรางสายตาจากภายนอก โดยสามารถเปิดออกเพื่อรับลมได้มากขึ้น
นอกจากจะออกแบบโครงสร้างในเส้นสายโค้งมนเพิ่มความสวยงามให้กับบ้านและพื้นที่สวนแล้ว สถาปนิกยังเผื่อให้สามารถต่อเติมฟาซาดระหว่างช่องเปิดด้านข้างหากจำเป็นต้องปิดมุมมอง หรือต่อเติมพื้นที่ช่องเปิดด้านบนเพื่อขยายพื้นที่ได้ในอนาคต

เจ้าของ : คุณประภาวรรณ วินิจศาสตร์และคุณกุลธัช สุวัฒนพันธุ์กุล

สถาปนิก : A A D design โดยคุณอยุทธ์ มหาโสม

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ ,กรานต์ชนก บุญบำรุง

สไตล์ : Suntreeya


บ้านครอบครัว ใหญ่ของบัวชมพู ฟอร์ด

บ้านบรรจบ บ้านสีขาวสไตล์โมเดิร์นของครอบครัวใหญ่