ประเภทของวัชพืช ที่มักพบบ่อยและกำจัดยากในสนามหญ้า
วัชพืชเกิดขึ้นได้ทั้งในแปลงต้นไม้ และในสนามหญ้า ที่เห็นจะหนักหนามากก็ในสนามหญ้า เพราะพื้นที่สนามหญ้าเป็นพื้นที่ได้รับแสงแดด น้ำ และปุ๋ยที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการเติบโตของวัชพืช
เพื่อให้การป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ผลจริงจัง เราจึงต้องรู้จัก ประเภทของวัชพืช ที่สร้างปัญหาในสนามหญ้าก่อน เพราะวัชพืชแต่ละประเภท มีวิธีการป้องกันและกำจัดที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน ซึ่งในที่นี้ บ้านและสวน จะขอแบ่ง ประเภทของวัชพืช ตามลักษณะของลำต้น ใบ และการดำรงชีวิต ดังนี้
1.วัชพืชใบแคบ
โดยทั่วไปใบมีลักษณะยาว เส้นใบขนานกับตัวใบ ลำต้นกลมมีข้อ ปล้องชัดเจน มีลำต้นใต้ดินที่เรียกว่า “เหง้า (Rhizome)” และส่วนของลำต้นที่เลื้อยทอดนอนในระดับผิวดิน ที่เรียกว่า “ไหล (Stolon)” และจะนิยมเรียกวัชพืชในกลุ่มนี้ว่า “หญ้า” นำหน้า
- หญ้าคา
ชื่อวิทยาศาสตร์: Imperata cylindrica. (Linn.) Beauv.
ชื่อสามัญ Cogon grass
มีลำต้นใต้ดินหรือเหง้าสีขาวแข็งแรง แตกหน่อลุกลามได้เร็ว ใบและช่อดอกแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ใบแคบยาวมีขนสาก ขอบใบคม ลำต้นตั้งสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า และเมล็ดที่ปลิวกระจายออกไปได้กว้างขวาง จัดเป็นวัชพืชที่กำจัดได้ยาก แต่ก็สามารถกำจัดได้ด้วยการขุดเอาลำต้นใต้ดินออกให้หมด หรือใช้สารเคมีกลุ่ม ไกลโฟเซต แต่ในกรณีที่ทำสนามหญ้าไปแล้ว มีหญ้าคาขึ้นในสนามหญ้า จะไม่สามารถใช้สารเคมีในกลุ่มนี้หรือสารคมีประเภทที่ใช้กับวัชพืชแคบได้ เพราะสารจะทำลายหญ้าสนามให้ตายไปด้วย จึงต้องขุดถอนออกอย่างเดียว
- หญ้าชันกาด
ชื่อวิทยาศาสตร์: Panicum repens. Linn
ชื่อสามัญ: torpedo grass
เป็นวัชพืชที่กำจัดได้ยากเช่นกัน มีลำต้นใต้ดินหรือเหง้าสีขาว และมีไหลเป็นลำต้นที่เลื้อยทอดนอนในระดับผิวดิน แตกรากตามข้อ และแตกหน่องอกเป็นต้นใหม่ กาบใบไม่มีขน แต่ขอบกาบใบมีปุยขนสีขาว ใบยาวเรียว ด้านหน้าใบมีขนสีขาวจำนวนมาก หลังใบไม่มีขน ลำต้นทั้งเลื้อยและตั้งตรงสูง 30 – 100 เซนติเมตร ขยายพันธุ์โดยลำต้น เหง้า และเมล็ดที่ปลิวกระจาย ส่วนการกำจัดมักจะใช้วิธีเดียวกับหญ้าคา
- หญ้าขน
ชื่อวิทยาศาสตร์: Brachiaria mutica (Forsk) Stapf.
ชื่อสามัญ: Para Grass
หญ้าขนจัดเป็นพืชอาหารสัตว์ที่สำคัญชนิดหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นวัชพืชที่พบได้บ่อยในการจัดสวน มีลำต้นเป็นไหล ส่วนของข้อที่มีรากจะแตกลำต้นใหม่ลักษณะกึ่งตั้งกึ่งเลื้อยไปตามผิวดิน หญ้าขนสูงประมาณ 60-90 เซนติเมตร ข้อและกาบใบมีขนปกคลุม ใบเรียวยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ปกคลุมด้วยขนทั้งด้านบนและด้านล่างแผ่นใบ ขยายพันธุ์ด้วยลำต้น เพราะไม่ค่อยติดเมล็ด ส่วนการกำจัดใช้วิธีเดียวกับหญ้าคา
- หญ้าปากควาย
ชื่อวิทยาศาสตร์: Dactyloctenium aegyptium (L.)P.Beauv
ชื่อสามัญ: crowfoot grass
ลำต้นทอดนาบกับพื้นและยกสูงขึ้นได้ประมาณ 20-30 เซนติเมตร กาบใบเป็นแผ่นหนาเนื้อหยาบ ช่อดอกมี 4-5 ช่อดอกย่อย ซี่งอยู่ติดกันตรงปลายโคนก้านดอก ออกดอกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นหญ้าที่ไม่มีลำต้นใต้ดิน จะเติบโตเป็นกอเดี่ยว ถ้าในสนามหญ้ามีหญ้าปากควายขึ้นแทรก ให้กำจัดด้วยการขุดถอน แต่ทางที่ดีควรป้องกันตั้งแต่การเตรียมดินก่อนการจัดสวนและทำสนามหญ้า โดยใช้การขุดถากออกไป หรืออาจใช้สารเคมี เช่น ไกลโฟเซต, โปรพานิล
- หญ้าตีนกา
ชื่อวิทยาศาสตร์: Eleusine indica (L.) Gaertn
ชื่อสามัญ: Goose grass
ลำต้นสั้นตั้งเป็นกอ ไม่มีลำต้นใต้ดิน ความสูงของกอประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้นแบนสีขาว – เขียวอ่อน มีการแตกต้นใหม่ที่โคนกอจนเป็นกอขนาดใหญ่ ใบยาวปลายเรียวแหลม ออกดอกที่ปลายยอด แตกช่อดอกที่ส่วนปลาย 3 – 8 ช่อ ในแต่ละช่อย่อยมีดอกย่อยจำนวนมาก การกำจัดปฏิบัติเหมือนหญ้าปากควาย
Tips การแพร่กระจายของหญ้าวัชพืชทั้ง 5 ชนิดนี้ นอกจากแพร่กระจายจากต้นใต้ดินและเมล็ดที่ปลิวกระจายในพื้นที่เดิมแล้ว ยังติดมากับดินที่นำมาถมปรับระดับในสวน และติดมากับหญ้าสนามที่สั่งซื้อมาปู จึงต้องสังเกตและเก็บออกไป
2.วัชพืชใบกว้าง
ใบมีลักษณะกว้างมากกว่าแคบ ตัวใบอาจมีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปไข่ รูปกลม รูปแฉก เป็นต้น เส้นใบจะสานกันเป็นร่างแห
- ผักโขม
ชื่อวิทยาศาสตร์: Amaranthus gracilis Desf.
ชื่อสามัญ: slender amaranth
เป็นวัชพืชปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูง 30 – 80 เซนติเมตร ใบรูปกลมออกสามเหลี่ยมโคนใบกว้าง ปลายใบเรียวมน ลำต้นอวบขึ้นเป็นต้นเดี่ยว มีระบบรากลึกมาก ทำให้ทนทาน เจริญเติบโตเร็วแตกกิ่งก้านออกด้านข้างมาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้มีต้นใหม่หมุนเวียนแพร่ขยายอยู่ตลอดปี ส่วนวิธีการกำจัดคือให้ขุดถอนเอาทั้งรากขึ้นมา
- ผักโขมหนาม
ชื่อวิทยาศาสตร์: Amaranthus spinosus L.
ชื่ออังกฤษ: spiny amaranth
เป็นวัชพืชที่มีลักษณะทั่วไปเหมือนกับผักโขม ลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งมาก สูง 30-100 ซม. ลำต้นกลม มักมีสีแดง มีร่องเล็กตามความยาวของลำต้นผิวเรียบ ใบเป็นใบเดี่ยวเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนก้านใบมีหนามแหลมยาว 1-2 อัน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ส่วนวิธีการกำจัดคือขุดถอนเอาทั้งรากขึ้นมา
- ไมยราบเลื้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mimosa pucida L.
ชื่อสามัญ: Sensitive plant
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นสีแดงมีหนามเล็ก ๆ ทอดเลื้อยตามพื้นดิน มีขนหยาบปกคลุมลำต้น ใบประกอบรูปขนนกสองชั้น มีความไวต่อการสัมผัส ดอกเป็นช่อกระจุกแน่น กลีบดอกสีชมพู ผลเป็นฝักสั้น อยู่รวมกันเป็นช่อ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด การกำจัดให้ขุดถอนเอาทั้งรากขึ้นมาทำลาย
3.วัชพืชประเภทกก
เป็นวัชพืชประเภทใบแคบ ใบเรียวยาวเหมือนพวกหญ้า แต่ลำต้นไม่มีข้อไม่มีปล้อง และเป็นรูปสามเหลี่ยมไม่กลมเหมือนหญ้า วัชพืชกลุ่มนี้ที่สร้างปัญหาให้กับงานจัดสวนและสนามหญ้ามาก
- แห้วหมู
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyperus rotundus L
ชื่อสามัญ: Nut grass, Coco grass
แห้วหมูเป็นวัชพืชในสนามหญ้าที่กำจัดได้ยากที่สุด ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบของวัชพืชที่ร้ายแรงของโลก ปัจจุบันยังมีแห้วหมูอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “แห้วหมูใบยาว (Cyperus mitis Steud.)” ซึ่งเป็นวัชพืชในนาข้าวที่สำคัญ โดยแห้วหมูมีลักษณะลำต้นเป็นหัวและมีไหลเชื่อมต่อกันขยายจากต้นเดิมเป็นหัวใหม่ แพร่ขยายออกได้เร็ว และสามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ ใบแบนเรียวยาวเกิดที่ลำต้นใต้ดิน ดอกออกเป็นช่อสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยการแตกต้นใหม่จากส่วนหัวที่เกิดจากไหลใต้ดินแพร่กระจายตามความยาวของไหล และยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดที่หล่นหรือปลิวกระจายออกไป
วิธีกำจัดหญ้าแห้วหมู วัชพืชกวนใจคนรักสวน
- กกดอกขาว หรือกกตุ้มหู
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyperus brevifolius (rottb) Hassk.
ชื่อสามัญ: Green Kyllinga
เป็นพืชจำพวกกกที่มีอายุยืนหลายปี ที่มีลักษณะคล้ายแห้วหมู คือมีลำต้นอยู่ใต้ดิน เลื้อยทอดขนานไปกับดิน มีกาบหุ้มลำต้นสีน้ำตาลอมแดง ระบบรากเป็นระบบรากฝอยออกตามข้อของลำต้นใต้ดิน ใบ เป็นใบเดี่ยวออกจากส่วนโคนของลำต้น ช่อดอกเล็ก สีขาว เป็นกระจุกกลม แพร่กระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด และส่วนของลำต้นใต้ดิน ซึ่งจะเลื้อยแผ่ขยายไป ส่วนวิธีการกำจัดให้ปฏิบัติเหมือนกับแห้วหมู
- กกทราย
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyperus iria L.
ชื่อสามัญ: umbrella sedge
ลำต้นมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมไม่มีข้อปล้อง ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าสั้น ๆ ลำต้นเหนือดินแตกเป็นกอ เจริญเป็นกอแน่น ต้นเล็ก ๆ ถอนออกได้ไม่ยาก ใบงอกจากโคนลักษณะเรียวยาว ก้านชูดอกสูง 20-60 เซนติเมตร กกทรายแม้อายุสั้นฤดูเดียว แต่จะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จึงมีการแพร่ขยายต้นใหม่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ส่วนวิธีการกำจัดจะขุดถอนออก หรือใช้สารป้องกันกำจัด เช่น 2,4-D, ไกลโฟเสต, โพรพานิล
เรื่อง-ภาพ: อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย