บ้านอิฐใต้ถุนสูงฟีลฝรั่งของสถาปนิกนักจัดสวน
บ้านอิฐใต้ถุนสูง ที่ทำใต้ถุนเป็นร้านอาหารแบบเปิดโล่ง ออกแบบบ้านสไตล์ทรอปิคัลผสมผสานตะวันออกและตะวันตก ท่ามกลางสวนสุดชิล
Designer Directory : ออกแบบ Jak Ladpli จักษ์ ลัดพลี, Full Scale Studio
การได้มาเยือนบ้านแต่ละหลัง เสมือนการเข้ามายืนอยู่ในห้วงความรู้สึกนึกคิดของผู้เป็นเจ้าของ ที่ถ่ายทอดภาพการใช้ชีวิตและความหลงใหลออกมาเป็นสเปซ บ้านอิฐใต้ถุนสูง ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่ในอำเภอแม่ริม จังหวังเชียงใหม่ หลังนี้ก็เช่นกัน ที่ถ่ายทอดความเป็นคนชอบอยู่กับธรรมชาติ รักการเดินทาง ใช้ชีวิตเอาต์ดอร์ และหลงใหลเสน่ห์ของเก่ามากเรื่องราวของ คุณโจ๊ก – จักษ์ ลัดพลี เจ้าของบ้านที่เป็นทั้งสถาปนิกและนักออกแบบสวน จึงไม่แปลกที่จะเห็นบ้าน ธรรมชาติ และวิถีชีวิตจะสอดผสานเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกมิติ
บ้านอิฐใต้ถุนสูง ที่ใช้ใต้ถุนเป็นร้านอาหาร
ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2019 ที่โควิด – 19 เริ่มระบาด และเป็นจังหวะชีวิตที่คุณโจ๊กมีหลายภารกิจที่ต้องทำไปพร้อมๆกับแผนการสร้างบ้าน จึงชวน คุณอรรถ – อรรถสิทธิ์ กองมงคล สถาปนิกจาก Full Scale Studio มาออกแบบบ้านให้ด้วยโจทย์ที่ต้องการสร้างบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูงและมีสระว่ายน้ำ เมื่อจังหวะชีวิตเริ่มคลี่คลาย ผนวกกับความตั้งใจแรกที่อยากเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารด้วย แต่ไม่สามารถทำได้ในสภาวะที่ไม่รู้ว่าโรคระบาดจะจบลงเมื่อไร จึงปรับแผนมาทำบ้านให้เป็นร้านอาหารแบบ Chef’s Table ในชื่อ 1’S Kitchen Journey เมื่อโจทย์เปลี่ยนไป คุณโจ๊กจึงปรับแบบและก่อสร้างเองโดยยึดโครงสร้างหลักไว้ จากบ้านชั้นเดียวจึงปรับเป็นบ้านสามชั้น โดยทำชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่งสำหรับนั่งรับประทานอาหาร และห้องครัว ส่วนชั้นบนเป็นสตูดิโอทำงานออกแบบและส่วนพักผ่อน
บ้านในสวน สวนในบ้าน
บ้านขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 300 ตารางเมตร แทรกตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบนที่ดิน 2 ไร่ ที่มีทั้งแปลงปลูกผักสวนครัว แปลงดอกไม้กินได้ที่ใช้จัดแต่งอาหาร และโรงปุ๋ยไส้เดือนที่แยกไปอีกหลัง มีหนองน้ำธรรมชาติที่ร่มรื่นด้วยพรรณไม้ริมน้ำ ซึ่งคุณโจ๊กวางผังโดยเช็กระดับพื้นดินที่เป็นจุดน้ำท่วมขังและจุดที่ต่ำที่สุด และด้วยพื้นดินเป็นดินเหนียวที่มีความสามารถในการเก็บน้ำ จึงทำการขุดบ่อเพิ่มเพื่อช่วยรับน้ำในฤดูฝน และสร้างระบบนิเวศที่ดีให้ทั้งคนและสรรพชีวิต ซึ่งความร่มรื่นของธรรมชาติยังต่อเนื่องเข้าไปสู่ทุกมุมภายในบ้าน ที่วางผังเป็นแนวยาวแทรกด้วยคอร์ตตรงกลาง ออกแบบให้ต้นไม้เชื่อมพื้นที่ในแต่ละส่วน สร้างความสัมพันธ์ในแนวตั้งและในแนวราบ ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ คน และธรรมชาติ
บ้านอิฐเชื่อมวัฒนธรรมและธรรมชาติ
การผสมผสานและเชื่อมต่อเป็นหัวใจการออกแบบของคุณโจ๊กที่ร้อยเรียงทุกความหลงใหล ฟังก์ชัน และการใช้ชีวิตจริงในแบบของเขา ให้กลายเป็นบ้านอิฐที่มีกลิ่นอายตะวันออกผสมตะวันตก โดยใช้การก่ออิฐเป็นตัวแทนในการเชื่อมโยงวัฒนธรรม และยังเข้ากับบริบทของเชียงใหม่ โดยสั่งอิฐท้องถิ่นหลายขนาดจากโรงงานที่อำเภอฝาง นำมาก่อเรียงให้เป็นแพตเทิร์นหลายแบบ ในส่วนโครงสร้างตัวบ้านเน้นการแสดงเนื้อแท้วัสดุ ทั้งงานคอนกรีตพื้นผิวหยาบที่ทิ้งร่องรอยไม้แบบหล่อ งานเหล็กโชว์ผิวสนิมที่เกิดและเปลี่ยนไปตามกาลเวลา พร้อมสร้างบรรยากาศให้รู้สึกเหมือนอยู่กับป่า แทรกตัวอยู่กับธรรมชาติตั้งแต่ทางเข้าที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ แต่พอเข้ามาก็เป็นลานโล่งให้เห็นตัวบ้านที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม และเป็นทางเข้าร้านอาหารที่มีทั้งหมด 6 โต๊ะ แบบเปิดโล่งที่ออกแบบแต่ละโต๊ะเว้นระยะห่าง โดยคั่นด้วยสวน บ่อน้ำ และต้นไม้ เนื่องจากเป็นการออกแบบในช่วงโควิด แต่ก็ทำให้แต่ละโต๊ะมีความเป็นส่วนตัว และได้ซึมซับกับธรรมชาติรอบตัว
ความเป็นธรรมชาติมักไม่สมบูรณ์แบบ แต่จะค่อยๆปรับเปลี่ยน เติบโต และพึ่งพากันจนเกิดความสมดุล บ้านหลังนี้ก็เช่นกันที่ไม่อาจสมบูรณ์ได้หากขาดการเติมเต็มจากธรรมชาติ ที่ช่วยปรับทั้งตัวบ้าน สเปซ และจิตใจให้มีความสมดุลในทุกมิติของชีวิต
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณจักษ์ ลัดพลี โทรศัพท์ 09-8829-8785
ออกแบบ : Full Scale Studio โดยคุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล
โทรศัพท์ : 08-9154 – 1758
คอลัมน์ บ้านสวย เดือน ก.ค.2567
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส, อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : Suntreeya