Upcycled House เก็บของเก่ามาเล่าในบ้านหลังใหม่
รีโนเวตบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ ยุค 50 ด้วยการรื้อถอนบ้านเดิมและก่อสร้างใหม่ โดยนำวัสดุบ้านเดิมทุกชิ้น รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ กลับไปประกอบให้เป็นบ้านหลังใหม่ที่ปรับฟังก์ชันให้เข้ากับไลฟ์สไตล์มากขึ้น
Design Directory : สถาปนิก Research Studio Panin
ลึกเข้าไปในหมู่บ้านที่ละลานตาไปด้วยอาคารสมัยคุณพ่อคุณแม่ คือ บ้านสองชั้นสีขาวขนาดไล่เลี่ยกับหลังอื่นๆ ซึ่งเกือบจะดูกลมกลืน ทว่ากลับสอดแทรกไปด้วยรายละเอียดเก่าเจือใหม่ผสมผสานกันอย่างลงตัว เมื่อผนวกกับข้าวของในบ้านที่สะสมกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณทวด และเรื่องเล่าของ คุณเพียว – ปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ก็ทำให้บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยทรงจำที่มีชีวิตชีวา หยิบมาเล่าสู่กันฟังได้อย่างไม่รู้เบื่อ ผ่านงาน รีโนเวตบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังนี้
“เดิมทีบ้านหลังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยที่ดินยังเป็นทุ่งบางเขน มองออกไปได้ไกลจนถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) เลย”
คุณเพียวเล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กที่มักจะมาเยี่ยมคุณทวดอยู่บ่อยๆ นั่งอ่านหนังสือ เปิดดูรูปเก่า ฟังเรื่องเล่าที่ตกทอดกันมา และซึมซับนิสัยการสะสมทีละน้อย จนเมื่อสิบสามปีก่อนที่คุณเพียวได้มาอาศัยเต็มตัว ทุกมุมบ้านก็เต็มไปด้วยความผูกพัน แต่ด้วยสภาพบ้านที่เก่าโทรมตามอายุจนอยู่ลำบาก ทั้งระดับบ้านที่ต่ำกว่าถนนถึงครึ่งเมตร ซึ่งเมื่อถึงฤดูฝน บันไดขึ้นชั้น 2 ก็จะกลายเป็นท่าน้ำทุกครั้งที่น้ำท่วมซอย จนต้องขนของขึ้นไปอยู่ชั้นบน เพื่อหนีความชื้นที่สะสมในบ้าน โชคดีที่บ้านชั้นล่างเป็นปูน ความเสียหายจึงยังไม่รุนแรงนัก แต่ก็ส่งผลให้บ้านดูโทรมลงไปไม่น้อย
คุณเพียวจึงปรับบ้านครั้งใหญ่ด้วยการรื้อถอนบ้านเดิมและก่อสร้างใหม่ ก่อนเข้าอยู่ในระยะยาว โดยตั้งใจจะรักษารูปแบบ อารมณ์ และความรู้สึกของบ้านเดิมไว้ให้มากที่สุด จึงเริ่มจากการมองหาสถาปนิกที่ตรงใจ โดยสืบค้นค้นจากบ้านและสวน Directory จนพบกับทีมสถาปนิกจาก Research Studio Panin โดย ศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์ ดร.ธนาคาร โมกขะสมิต และคุณพิธิวัฒน์ ปะมาคะเต ที่เข้าใจความต้องการเจ้าของบ้าน บวกกับประสบการณ์ของทีมที่คลุกคลีอยู่กับการเก็บข้อมูลอาคารเก่าเป็นทุนเดิม แผนการชุบชีวิตบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ยุค 50 จึงเริ่มต้นขึ้นพร้อมเรื่องราวจากมุมต่างๆ ของบ้าน โดยโจทย์สำคัญคือการรักษาบ้านเดิมเอาไว้และเจ้าของเองก็อยู่บ้านได้อย่างสบาย
หมุนเวียนวัสดุเก่ามาใช้ให้มากที่สุด
การรักษาบ้านเดิมซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ไม่ซ้ำกันเลย นำมาสู่การทำบัญชีรายชื่อวัสดุบ้านทุกชิ้นที่ยังใช้งานได้ ตั้งแต่ประตู หน้าต่าง พื้นไม้ ตง คาน ฝาผนัง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โดยติดหมายเลข ถ่ายภาพ วัดขนาด และทำเป็นโมเดลสามมิติ สำหรับใช้ในระหว่างขั้นตอนออกแบบ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกชิ้นส่วนที่เก็บมา สามารถนำกลับไปประกอบใหม่ได้พอดี
ความยากของงานอยู่ที่ขั้นตอนการเก็บข้อมูล ที่ต้องวางแผนว่าจะเก็บวัสดุแต่ละชิ้นไปใช้ในส่วนใดของบ้านใหม่บ้าง เพื่อจะได้ระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อรื้อถอน โดยส่วนที่มีสภาพดีก็จัดเก็บไว้ที่โรงเรือนชั่วคราว ส่วนที่ชำรุดก็ส่งไปซ่อมที่โรงไม้ วิธีนี้ทำให้เจ้าของบ้านนำวัสดุเก่ากลับมาใช้งานได้กว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แม้จะแลกมาด้วยระยะเวลา ต้นทุนการรื้อถอน จัดเก็บ และบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว แต่หากเทียบกับความทรงจำที่ฝังอยู่ในทุกมุมบ้านไปอีกนานก็ถือว่าคุ้มค่า
ปรับฟังก์ชันให้เหมาะกับไลฟสไตล์
สิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดภายใต้บรรยากาศบ้านเก่าก็คือฟังก์ชัน ซึ่งหนึ่งในโจทย์หลักได้แก่การเพิ่มห้องนอนชั้นล่างสำหรับคุณพ่อคุณแม่อายุแปดสิบปี และการปรับผังบ้านให้โล่ง แสงเข้าถึงทุกห้อง มีลมพัดผ่านตลอด
การออกแบบบ้านหลังใหม่จึงเริ่มต้นจากสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด คือทิศแดดและลมเพื่อสร้างการหมุนเวียนอากาศตามธรรมชาติ และจัดผังบ้านโดยไล่ระดับความเป็นส่วนตัวจากหน้าบ้านไปจนถึงหลังบ้าน คั่นกลางด้วยคอร์ตยาร์ด เพื่อแยกบริเวณส่วนตัวกับส่วนรวมออกจากกัน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มแสงให้บ้านสว่างและมีการระบายอากาศที่ทั่วถึงทุกห้อง โดยชั้นล่างประกอบด้วยส่วนรับแขก ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องคุณพ่อคุณแม่ ส่วนชั้นบนประกอบด้วยห้องอเนกประสงค์ ห้องพระ ห้องพักสำหรับแขก และห้องส่วนตัวของคุณเพียว โดยทำผังให้ล้อไปกับชั้นล่างเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลงานระบบ
แม้ผังบ้านจะเปลี่ยนไป ก็ยังมีโถงทางเดินและบันไดกลางบ้านที่คุณเพียวขอให้ปรับปรุงใหม่ แต่ตั้งอยู่ในตำแหน่งเดิม และถอดแบบมาจากบ้านเก่าเกือบทั้งหมด ทั้งรูปแบบบันได ทางเดิน พื้นผิวผนัง และตำแหน่งช่องเปิด เพื่อให้ยังเป็นทางเดินที่อบอุ่นคุ้นเคย เชื่อมส่วนต่างๆ ในบ้านที่ออกแบบใหม่เข้าไว้ด้วยกัน
บ้านหลังใหม่ของนักสะสมของเก่า
บ้านถูกรื้อและประกอบขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดียวกับบ้านหลังเก่า แต่ด้วยการใช้งานในบ้านที่ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้วัสดุหลายชิ้นที่ถอดเก็บไว้ ถูกนำกลับมาใช้ในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม อย่างไม้เครื่อง (ไม้โครงสร้าง เช่น ตง คาน) ก็นำมาทำเป็นราวบันไดแทนของเดิมที่สึก หน้าต่างบานเปิดที่เคยอยู่รวมกันเป็นแผง ก็จับแยกบานแล้วนำมาเข้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะชุดหน้าต่างผืนใหญ่ของบ้าน เกิดจากการรวมหน้าต่างหลายบานของบ้านเก่า นำมาจัดองค์ประกอบรวมกัน เชื่อมส่วนที่เป็นช่องว่างระหว่างบานด้วยแผ่นพื้น เสริมบัวกันน้ำด้วยไม้คาน ติดตั้งมือจับและบานพับให้คละกันไปทั้งเก่าใหม่ ด้วยความที่วัสดุส่วนมากเป็นไม้ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้การตัดต่อหรือเพิ่มลดขนาดทำได้ง่ายเมื่อผ่านมือช่างไม้ที่ชำนาญ
การทำบ้านที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของคุณเพียวและทีมสถาปนิก จึงไม่ได้เป็นเพียงการออกแบบบ้านใหม่ที่อยู่สบายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการออกแบบความทรงจำที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่รุ่นคุณทวดให้เจืออยู่ในทุกมุมของบ้าน ซึ่งเปรียบเหมือนของสะสมชิ้นใหญ่ของเจ้าของบ้านรุ่นปัจจุบัน ที่จะเล่าสืบต่อไปโดยไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา
เจ้าของ : คุณปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์
สถาปัตยกรรม : Research Studio Panin โดยศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์ ดร.ธนาคาร โมกขะสมิต และคุณพิธิวัฒน์ ปะมาคะเต
เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : Suntreeya