รู้จักพีตมอสส์ก่อนเลือกใช้ปลูกต้นไม้
หากพูดถึงวัสดุเพาะกล้า หลายๆ คนคงนึกถึง พีตมอสส์ [ พีทมอส ] เพราะความสะดวกในการใช้งาน จึงนิยมใช้เป็นส่วนมาก โดยเฉพาะพืชมีมูลค่า เช่น กัญชา แคคตัส ที่ต้องใช้วัสดุที่มีความสะอาดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมพีตมอสส์ [ พีทมอส ] จึงมีราคาค่อนข้างสูง เมืองไทยผลิตพีตมอสส์ได้หรือไม่ ต้องเลือกซื้อเลือกใช้อย่างไร แล้วจริงๆ แล้วควรใช้พีตมอสส์หรือไม่ ฟาร์มกูรูจะพาไปรู้จักเบื้องหลังเบื้องลึกของพีตมอสส์กัน
พีตมอสส์เกิดขึ้นได้อย่างไร [ พีทมอส ]
พีตมอสส์ เกิดจากการทับถมของสแฟกนัมมอสส์และอินทรียวัตถุอื่นๆ ที่ย่อยสลายทับถมกันเป็นชั้นเลเยอร์ เรียกว่า พีต (Peat) แต่ส่วนที่เป็นสแฟกนัมมอสส์ เมื่อมอสส์เกิดใหม่จะดันส่วนที่ตายแล้วให้อยู่ชั้นล่างแล้วทับถมย่อยสลายเป็นระดับชั้นจึงเรียกว่า พีตมอสส์ (Peat Moss) ซึ่งกว่าจะย่อยสลายในแต่ละชั้นต้องใช้เวลายาวนานมาก เนื่องด้วยเป็นย่อยสลายแบบไม่มีอากาศ แต่ละปีจะย่อยสลายเพียง 1 มิลลิเมตรเท่านั้น
บริเวณที่พบพีตมอสส์จะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) หรือบึงน้ำ ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น ส่วนใหญ่อยู่ซีกโลกเหนือ บริเวณนั้นจะถูกเรียกว่าพีตแลนด์ (Peatland) ซึ่งมีเพียงบางประเทศเท่านั้น เช่น รัสเซีย แคนนาดา เยอรมนี ฟินแลนด์ สวีเดน และสหรัฐอเมริกา โดยจะมีบริษัทเอกชนรายใหญ่ ได้สิทธิในการทำสัมปทานในการขุดพีตมอสส์เหล่านั้นเพื่อจำหน่ายไปทั่วโลก พีตมอสส์ที่จำหน่ายในเมืองไทยจึงเป็นสินค้านำเข้า 100%
การแบ่งลำดับของพีตมอสส์
การแบ่งระดับของพีตมอสส์ยึดหลักมาตรของ Lennart von Post ที่ใช้วัดระดับการสลายตัวของซากพืชที่ตายแล้ว โดยใช้ความชื้น การย่อยสลาย และเส้นใย ชี้วัดเป็นระดับขั้นซึ่งมีด้วยกันถึง 10 ระดับ ได้แก่
H1 พีตยังไม่ย่อยสลาย บีบได้น้ำใส
H2 พีตใกล้ย่อยสลาย บีบได้น้ำขุ่น
H3 พีตเริ่มย่อยสลาย บีบได้น้ำสีน้ำตาลขุ่น
H4 พีตย่อยสลายเล็กน้อย บีบได้น้ำสีน้ำตาลขุ่นเข้ม
H5 พีตย่อยสลายปานกลาง บีบได้น้ำสีน้ำตาลโคลน
H6 พีตย่อยสลายสูง ละเอียด บีบได้น้ำสีดำ
H7 พีตย่อยสลายสูงมาก ละเอียด บีบได้น้ำสีดำสนิท
H8 พีตย่อยสลายสูงมาก ละเอียด บีบได้น้ำสีดำสนิท
H9 พีตย่อยสลายสมบูรณ์ บีบไม่มีน้ำไหลออกมา
H10 พีตย่อยสลายสมบูรณ์ บีบพีทจะไหลผ่านนิ้วมือ
สีที่ต่างมีความละเอียดที่ต่างด้วย
จะเห็นว่า ชั้น H9-H10 ที่มอสส์ทับถมกันเป็นเวลานานจะมีความละเอียดมาก หากใช้ปลูกพืชจะเกิดความแน่นมากเกินไป ในทางตลาดจึงแบ่งพีตมอสส์เพื่อจำหน่ายออกเป็น 2 กลุ่ม คือ White Peat คือ พีตมอสส์ในระดับ H1-H5 ซึ่งยังย่อยสายไม่มาก บีบได้น้ำสีน้ำตาลขุ่น อีกกลุ่มคือ Black Peat คือพีตมอสส์ในระดับ H6-H10 ที่ย่อยสลายแล้ว มีความละเอียด บีบได้น้ำสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ ส่วนใหญ่พีตมอสส์ที่จำหน่ายโดยทั่วไปจะเป็นการผสมทั้ง White Peat และ Black Peat เข้าด้วยกัน หรือขึ้นอยู่กับผู้จำหน่ายนั่นเอง
เส้นใยที่ละเอียดเพื่อใช้งานต่างกัน
นอกจากนี้ยังแบ่งพีตมอสส์จากลักษณะของเส้นใยได้อีก 3 กลุ่ม คือ Fibric ชั้น H1-H3 เนื้อหยาบเป็นเส้นใย Hemic ชั้น H4-H6 เนื้อหยาบผสมละเอียด และ Sapric ชั้น H6-H10 เนื้อละเอียดเป็นโคลน แต่ในทางการใช้งานจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ พีตมอสส์เพาะกล้า เนื้อมีความละเอียดเก็บความชื้นได้ดี มักเป็นพีตมอสส์ดำ อีกประเภทคือพีตมอสส์ปลูกพืช จะเป็นพีทมอสส์ขาว เนื้อหยาบ มีเส้นใย ระบายน้ำได้ดีกว่าพีตมอสส์ดำ
ข้อดีและข้อด้อยของ พีทมอส
พีตมอสส์เป็นวัสดุที่ย่อยสลายทับถมเป็นชั้นๆ เป็นเวลานาน จึงเป็นอินทรีย์วัตถุที่สะอาด ปลอดเชื้อ ไม่มีวัสดุอื่นๆ อย่างโรคพืช แบคทีเรีย เชื้อรา แมลงศัตรูพืช หรือหญ้าต่างๆ เจือปน เหมาะสำหรับการเพาะเมล็ด เพาะกล้า ทั้งยังกักเก็บความชื้นได้ดี ใช้ไปนานๆ ไม่ทำให้ดินแน่นจึงช่วยให้รากพืชเติบโตได้ดี
แม้จะเก็บความชื้นได้ดี แต่หากปลอยให้แห้งพีตมอสส์ก็ใช้เวลาเก็บความชื้นใหม่นานเช่นกัน ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกตายทันทีหากขาดการให้น้ำ พีตมอสส์มีค่าเป็นกรด pH 3-4 จึงเหมาะที่จะเพาะเมล็ดพืชบางชนิดเท่านั้น และที่สำคัญพีตมอสส์ไม่ได้มีธาตุอาหารที่เพียงพอต่อการเติบโตของพืช หากใช้พีตมอสส์ปลูกพืชต้องผสมกับวัสดุปลูกอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย
ด้วยที่มาที่ไปซึ่งเป็นวัสดุหายาก ราคาสูง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ บวกกับกรรมวิธีให้ได้มาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พีตมอสส์ในการเกษตรอยู่ในช่วงถอยหลัง ซึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่หลายๆ คนเริ่มหันไปใช้วัสดุอื่นทดแทน อย่างการใช้ขุยมะพร้าวผสมคลุกกับทรายหยาบและไบโอชาร์ หรือใช้ยอดกระถินและต้นกล้วยบดละเอียดผสมไบโอชาร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล
เรื่อง : JKR
ภาพประกอบ : นิตาพร รัตนอัมพร
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=3kNosFsk–s&bcgovtm=vancouver+is+awesome
https://www.blacklandcentre.org/the-science/von-post-humification-scale/