[DAILY GUIDE] เพิ่มบรรยากาศด้วย แสงไฟในสวน
เมื่อแสงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป แสงไฟในสวน ตัวช่วยที่สามารถสร้างบรรยากาศให้สวนสวยดูมีมิติแปลกตาขึ้นได้ ทั้งยังเพิ่มโอกาสให้เจ้าของบ้านได้ชื่นชมความงามและใช้งานสวนได้เต็มที่
โดยเฉพาะบ้านในเมืองที่มีพื้นที่สวนไม่มาก การจัด แสงไฟในสวน เพิ่มเข้าไปจะช่วยให้สวนของคุณดูกว้างขึ้นด้วย บ้านและสวนจึงรวบรวมข้อมูลน่ารู้สำหรับคุณ ๆ ที่กำลังคิดจะติดตั้งไฟในสวนมาฝากกัน
ขั้นตอนการออกแบบไฟในสวน
– พิจารณาการใช้งานในสวน โดยพิจารณาได้จากผังแบบแปลนของสวน หรือดูว่าเจ้าของต้องการใช้งานแบบไหน
– กำหนดประเภทของโคมไฟให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยกำหนดโคมไฟประเภทต่าง ๆ ลงไปในผังการออกแบบสวน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้แสงไฟ จุดเด่นในสวนที่ต้องการเน้น บริเวณที่ต้องการความปลอดภัย แล้วจึงตรวจสอบระยะห่างของการติดตั้ง และประเภทของหลอดไฟให้เหมาะสมกับการใช้งาน
– ร่างแผนผังการเดินท่อร้อยสายไฟ เพื่อแสดงตำแหน่งของสายไฟ ท่อร้อยสายไฟ ตู้สวิตช์ควบคุมการเปิด ปิดไฟ และโคมไฟประเภทต่าง ๆ
– ติดตั้งระบบไฟและโคมไฟทั้งหมด รวมไปถึงระบบควบคุมการเปิด ปิดอัตโนมัติด้วย
โคมไฟประเภทต่าง ๆ กับความเหมาะสมในการใช้งาน
Step Light โคมไฟสำหรับติดตั้งบริเวณขอบของขั้นบันไดหรือกำแพงเตี้ย ๆ เพื่อแสดงให้เห็นการเปลี่ยนระดับจากสูงมาต่ำ หรือจากต่ำมาสูง
Floodlight หรือโคมฉาย เป็นโคมไฟสำหรับการส่องบริเวณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ประติมากรรม สนามหญ้า หรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารตามแต่ลักษณะของการใช้งาน
Wall Light เป็นโคมไฟที่ติดบนผนัง กำแพงรั้ว เพื่อบอกขอบเขตและให้ความสว่างเฉพาะบริเวณนั้น และยังเป็นการเพิ่มลูกเล่นให้ผนังกำแพง ช่วยให้สวนดูมีมิติ มีความน่าสนใจอีกด้วย
Bollard Light ไฟส่องทางเดิน สูง 0.50 -1 เมตร เป็นโคมไฟที่ใช้บอกทิศทางของเส้นทางเดินในสวน ส่องสว่างเพื่อความสวยงามและเพื่อความปลอดภัยในสวน
In ground Up light เป็นโคมไฟฝังพื้นที่ส่องขึ้นไปยังต้นไม้หรือวัตถุที่เราต้องการเน้น เช่น ต้องการเน้นให้เห็นผิวสัมผัสหรือลวดลายบนผนังกำแพงหรือรั้วไม้ ทิศทางของแสงจะสาดขึ้นตรง ๆ อยู่ด้านหน้าวัตถุที่เราต้องการตกแต่งด้วยแสงไฟ หรือสาดขึ้นด้านหลังวัตถุนั้นก็ได้ หากด้านหลังวัตถุมีฉากหลังที่เรียบ ไม่มีลวดลายรกตา จะยิ่งเสริมให้วัตถุนั้นดูโดดเด่นขึ้นมาได้อย่างงดงาม ข้อดีของโคมไฟชนิดนี้คือจะไม่เห็นดวงโคมตั้งเกะกะสายตา แต่มีข้อเสียคือ ราคาสูงและต้องการการดูแลรักษามากกว่าโคมฉา Top จะมีรูปแบบหลากหลาย โดยมากจะอยู่บนเสาสูง 2.50 เมตร ติดตั้งเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมในสวนตอนค่ำได้ เช่น จัดงานเลี้ยงสังสรรค์
Pillar หรือ ไฟหัวเสา มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีทั้งแบบที่ส่องแสงลงด้านล่างอย่างเดียวและแบบที่ส่องทั้งบนทั้งล่าง นิยมติดข้างประตูทางเข้า ควรติดในระดับสายตาพอดีเพื่อไม่ให้แสงแยงตา
Uplight คือไฟที่ส่องแสงจากล่างขึ้นบน นิยมใช้ส่องใต้ต้นไม้ที่มีรูปทรงสวยๆ หรือติดเป็นแนวเพื่อส่องให้เห็นอาณาเขตของพื้นที่ เช่น ส่องตามแนวกำแพง มีทั้งแบบที่วางเหนือพื้นดินและแบบฝัง แต่ควรระวังไม่ติดตั้งในจุดที่แสงส่องเข้าตา
Adjustable Spot คือไฟสปอตไลท์ที่ปรับองศาได้ และมีก้านแหลมด้านล่าง โยกย้ายตำแหน่งได้ง่าย เพียงปักลงในดิน ไม่ต้องติดตั้งหรือทำฐานใหม่
Lamp หรือ ไฟติดผนัง สำหรับติดที่ผนังภายนอกบ้านให้แสงสว่างออกมาด้านหน้า มีขนาดแตกต่างกัน ตั้งแต่ 10 เซนติเมตร จนถึง 30 – 40 เซนติเมตร
ชนิดของหลอดไฟกับโทนแสงที่ได้
หลอดไส้ มีสองชนิด คือ หลอดไส้ธรรมดากับหลอดแฮโลเจน หลอดไส้เป็นหลอดไฟที่ให้แสงโทนอุ่นหรือโทนแสงสีเหลือง ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ดูสบายตา แต่มีข้อเสียคือ กินไฟและอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น
หลอดคอมแพ็คท์ฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบที่เราคุ้นเคย ส่องสว่างครอบคลุมพื้นได้ดี นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการผลิตให้มีแสงสีเหลืองนวล จึงสามารถนำมาใช้แทนหลอดไส้ได้ดีทีเดียว
หลอดเมทัลแฮไลด์ ให้แสงในโทนสีขาวไปจนถึงโทนอุ่น ข้อดีคือกินไฟน้อยและมีอายุการใช้งานค่อนข้างยาวนาน ส่วนข้อเสียคือ ราคาสูง
หลอดโซเดียมความดันสูง ให้แสงออกโทนเหลืองส้ม บางคนอาจไม่ชอบ เพราะทำให้สีจริงในธรรมชาติดูผิดเพี้ยนไป
หลอดปรอทความดันสูง ให้โทนแสงสีขาวไปจนถึงขาวฟ้า ใช้ส่องต้นไม้ จะให้สีเขียวที่สวยงาม แต่สีอื่น ๆ อาจเพี้ยนได้บ้าง
Tips แสงไฟสำหรับปลูกต้นไม้ในบ้าน ทางรอดเมื่อในห้องมีแสงน้อย
ติดตาม บ้านและสวน