“sacit Craft Power” SACIT The Future of Crafts : Guru Panel
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit จัดงานระดมความคิดขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ให้เผยแพร่ไปในระดับสากล และเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมไทย มาร่วมประชุมเสวนา “sacit Craft Power” SACIT The Future of Crafts : Guru Panel เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ กรุงเทพ
การประชุมเสวนาในครั้งนี้ sacit เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมไทย 9 ท่าน มาแสดงความ คิดเห็น ใน 3 ด้าน คือ Unseen Craft, Thainess และ Craft Power ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณวิบูลย์ ลี้สุวรรณ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาจิตรกรรมราชบัณฑิตยสภา / ครูมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประเภทผลงานเครื่องทอ ปี 2559 (ผ้ากาบบัว) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) / ดร.สิริกร มณีรินทร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถรรมไทย(องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ ท้องถิ่น สำนักบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) / ม.ล.ภาวินี สันติศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท อโยธยาเทรด(93) จำกัด และ บริษัท สหัสชา (1993) จำกัด / รศ. ดร.สุภาวี ศิรินคราภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร / อาจารย์ ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องการนำศิลปะไทยต่อยอดสู่ออกแบบร่วมสมัย และเรื่องสี “ไทยโทน” / นางสาวชลดา สิทธิวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) / นายอาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม (CEA), นายพิติรัตน์ วงศ์สุทินวัฒนา หัวหน้างานยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน สำนักท่องเที่ยวโดย ชุมชน (อพท.)
ก่อนเริ่มประชุม นางสาวนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ได้กล่าวถึงความสำคัญของ sacit Craft Power เพื่อระดมความคิดเพื่อจัดทำองค์ความรู้และกำหนดทิศทางงานศิลปหัตถกรรมในประเทศไทย รวมถึงนำข้อมูลไปเผยแพร่ในระดับนานาชาติให้มีความรู้ ความเข้าใจถึงวัสดุ กระบวนการและวิธีคิดของทรัพยสินทางปัญญา ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมของประเทศไทยในระดับสากล
9 เครื่องควรค่าศิลปหัตถกรรมไทย
สำหรับศิลปหัตถกรรมไทยที่ sacit ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และต้องการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก คือ งาน 9 เครื่อง โดยแบ่งจากวัสดุ ได้แก่ เครื่องทอ เครื่องโลหะ เครื่องดิน เครื่องหิน เครื่องไม้ เครื่องหนัง เครื่องกระดาษ เครื่องแก้ว และ เครื่องอื่นๆ ซึ่งการจะสืบสานงานศิลปหัตถกรรมให้ยั่งยืนได้นั้นต้องทำงานในหลากหลายมิติ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำงานร่วมกับพ่อครู แม่ครู ทายาทที่จะสืบสานงาน จนถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยการสืบสานศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป
sacit Craft Power
Unseen Craf : ศิลปหัตถกรรมไม่สูญหาย
ในประเด็น Unseen Craft สรุปความได้ว่า จริงๆ แล้วงานศิลปหัตถกรรมทุกประเภทมีเสน่ห์และมีคุณค่าในตนเอง วิถีของงานศิลปหัตถกรรมเกิดขึ้นจากประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยมีเรื่องของภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ชีวิตประจำวันของผู้คน ประเพณี ความเชื่อ และอาจมีการผสมผสานกับงานศิลปหัตถกรรมที่มาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน จนถึงตะวันออกไกล ทำให้งานศิลปหัตถกรรมไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ผ้าสมปักปูน และผ้าเยียรบับ กระทั่งการผลิตชิ้นงานที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์สินค้าภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) เช่น ผ้ากาบบัว ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีผสมผสานเทคนิควิธีการทอถึง 4 วิธีและนำลักษณะเฉพาะของอัตลักษณ์ผ้าประเภทต่างๆ มาไว้ด้วยกัน
ในการเป็นนักสะสม หรือ ผู้อนุรักษณ์งานศิลปหัตถกรรมไทย หากเราศึกษาสะสมอย่างผู้มีความรู้ ความเข้าใจ จะทำให้งานศิลปหัตถกรรมแต่ละชิ้นมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่กำลังผลิตผลงาน การสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมต้องใช้เวลาในการทำงาน และต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะบางครั้งผลงานอาจไม่ได้เป็นที่ยอมรับในทันทีทันใด แต่อาจได้รับการยอมรับในภายภาคหน้าก็ได้
sacit Craft Power
Thainess : กระแสไทยในสากล
อะไรคือ สิ่งที่เรียกว่า Thainess และกระแสความเป็นไทยขายได้หรือไม่ในตลาดต่างประเทศ เป็นประเด็นที่กูรูได้ช่วยกันสะท้อนมุมมองออกมาได้ว่า
Thainess เป็นสิ่งที่ขายได้ในตลาดต่างประเทศ แต่หากต้องการให้เกิดการยอมรับในระดับที่เป็นอุตสหกรรมวงกว้าง (Mass Industry) ต้องปรับรูปลักษณ์ ความเป็นไทย ให้มีความเป็นสากล ดังเช่นที่ ม.ล.ภาวินี กล่าวว่า “เราต้องพูดภาษาเดียวกับเขา” เพราะสินค้าศิลปหัตถกรรมยังถูกตีความว่าเป็นสินค้าเพื่อการสะสม หากต้องการให้สินค้าศิลปหัตถกรรมแพร่หลายขึ้น ควรปรับรูปแบบบางอย่างให้เข้าถึงจับต้องง่ายขึ้น แต่ยังคงคุณค่าในวิธีผลิตชิ้นงาน เช่น การนำผ้าทอ หรือลวดลายผ้าทอ ทำเป็นปลอกหมอนสามเหลี่ยม ที่รองนั่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องมีความเข้าใจตลาดและความต้องการของผู้บริโภคประกอบด้วย
ขณะที่การสืบสานศิลปหัตถกรรมไทย ควรเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังวิธีคิดของผู้คน เช่น ความหมายที่แท้จริงของเครื่องประดับ ไม่ใช่แค่สวมใส่ แต่ยังเป็นมรดกตกทอดให้ทายาท คุณค่าที่แท้จริงของเครื่องประดับเป็นสิ่งที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เครื่องประดับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมูลค่า
อย่างไรก็ตาม Thainess มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคือรากแก้วของงานศิลปหัตถกรรมไทย การจะสร้างความภาคภูมิใจใน ความเป็นไทย ต้องมองให้เห็นถึง “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” หรือ ราคา ที่สำคัญ ความเป็นไทย ยังทำให้เราโดดเด่นแตกต่างจากชาติอื่น และสามารถยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลกได้ ยกตัวอย่างเช่น แฟชั่นชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ผสมผสานทั้งความเป็นไทย และความสากล สะท้อนอัตลักษณ์ไทยทว่าสวยร่วมสมัยและสวมใส่ได้จริง
sacit Craft Power
Craft Power : ศิลปหัตถกรรมมมั่นคงยั่งยืน
ประเด็นสุดท้ายของการเสวนา คือ Craft Power ซึ่งมองย้อนกลับเข้ามาถึงการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมภายในประเทศ โดยอาจเป็นไปได้ทั้งจากการสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรม-ชุมชน การสนับสนุนให้เกิดการใช้สินค้าศิลปหัตถกรรมไทยอย่างแพร่หลาย จนถึงการสนับสนุนครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม
การจะทำให้ ศิลปหัตถกรรมไทย ยั่งยืนได้นั้น ต้องเกิดจากการร่วมมือจากหลายหน่วยงานทำงานร่วมกัน และ งานศิลปหัตถกรรม ก็คือ ทุนทางวัฒนธรรม (Culture Assets) ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจ หากมีการสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็จะเป็นการสืบสานให้ งานศิลปหัตถกรรมไทย สืบต่อไปได้ เช่น การท่องเที่ยวชุมชนแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผ้าทอแม่แจ่มอันเป็นเอกลักษณ์ การท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสุโขทัย การนำเที่ยวชุมชนโดยปราชญ์ท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงนำรายได้เข้าชุมชน แต่ยังเป็นการสืบสานผลงานและนำความภาคภูมิใจมาให้คนในชุมชน แม้แต่ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณทีี่ดังในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่จะปังในคนไทยด้วยอย่างไร
การใช้การสื่อสาร ศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องและเรื่องเล่า น่าจะเป็นคำตอบที่ช่วยให้การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลผลิตของ ศิลปหัตถกรรมไทย ไปในวงกว้างได้ยิ่งขึ้น และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การสร้างผลงานในวันนี้ อาจไม่ใช่เพียงเพื่อขายสินค้า แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเกิด Creative Value ของงานศิลปหัตถกรรมไทย สืบต่อไป
ก้าวต่อไปของ ศิลปหัตถกรรมไทย : สรุปสิ่งที่ได้จาก sacit The Future of Crafts : Guru Panel
ช่วงสุดท้ายของการเสวนา นางสาวนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit กล่าวสรุปเนื้อหาจากการประชุมเสวนา “sacit Craft Power” SACIT The Future of Crafts : Guru Panel มีทั้งหมด 8 ประเด็น คือ
- การจัดการองค์ความรู้และการจัดการการผลิต คือ การจัดการองค์วามรู้จากผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ การเผยแพร่เพื่อสร้างคุณค่าให้กับองค์ความรู้นั้นๆ นอกจากนี้ควรมีการจัดการการผลิต เพื่อให้การดำเนินธุรกิจนั้นใช้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
- การเลือกใช้ให้เข้าใจง่าย คือการเลือกใช้องค์ความรู้ที่มีให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ในรูปลักษณ์ที่ลูกค้าเข้าใจง่าย
- การสร้างคุณค่าให้สามารถส่งต่อเป็นมูลค่าได้ เช่น การมอบเครื่องประดับให้ในช่วงเวลาที่เด็กเกิด เผื่อวันหน้าครอบครัวขัดสนก็สามารถนำเครื่องประดับไปขายเพื่อเป็นทุนทรัพย์
- การส่งต่อสิ่งของที่มีคุณค่าทางใจ เป็นการสร้างสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต
- การ Collaboration การร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิต เพื่อแบ่งปันวัสดุรวมถึงกระบวนการก็อาจก่อให้เกิดสินค้าใหม่ๆ หรือการร่วมมือกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต เพื่อให้เกิดสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดให้มากขึ้น
- การสร้างสังคมผู้รักงานศิลปหัตถกรรม (ไทยนิยม -Thainess) sacit ได้มีการประชุมสมาชิกเครือสมาชิก สศท. ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งทุกคนจะได้มาแบ่งปันสินค้าที่ผลิตเพื่อแสดงศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างเรือข่ายคนรักงานศิลปหัตถกรรม นอกจากนี้ ในชุมชนแต่ละชุมชนเองยังสามารถร่วมมือกันแล้วสร้างให้เกิดสังคมคนรักงานศิลปหัตถกรรม ได้ด้วยเช่นกัน
- การสร้างประสบการณ์ เช่น การจัด Workshop ถ่ายทอดกระบวนการผลิต งานศิลปหัตถกรรม รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักท่องเที่ยว จะช่วยสร้างความเข้าใจ ความรักในงานศิปหัตถกรรมและส่งต่อเรื่องราวออกไปภายนอก
- การสร้างแฟชั่น การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ผลิตสามารถลุกขึ้นมาเป็นแฟชั่นนิสต้า เป็นตัวแทนของสินค้าที่ตนเองผลิต จะช่วยให้งานศิลปหัตถกรรมได้รับการยอมรับ และเกิดการตระหนักว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายและทุกคนเข้าถึงได้
สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อหาแนวโน้มงานหัตถกรรมฉบับสมบูรณ์ ติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ sacict Craft Trend Book 2025 ได้ที่ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และศักยภาพ โทร. 0-3536-7054-9 ต่อ 1385 หรืออ่านในรูปแบบ E-book ได้ที่ https://www.sacit.or.th/th/detail/2024-06-20-16-40-45