Golly Gosh House แต่งบ้านเดี่ยว เติมความเป็นตัวเอง
แต่งบ้านเดี่ยว เติมความเป็นตัวเอง ผ่านการแต่ง เสริม เพิ่มไลฟ์สไตล์ ไม่ว่ามู้ดแอนด์โทน สีสัน หรือกราฟิก ที่เมื่อเดินเข้ามาแล้วต้องอุทานว่า “โอ้ คุณพระคุณเจ้า” คงไม่เกินจริงสำหรับบ้านหลังนี้
Design Directory : Hyper-Haus
แต่งบ้านเดี่ยว เติมความเป็นตัวเอง
แต่งบ้านเดี่ยว เติมความเป็นตัวเอง
เมื่อมองจากภายนอกบ้าน อาจดูไม่แตกต่างอะไรจากบ้านเดี่ยวทั่วไป แต่ภายในกลับต่างออกไป กลายเป็นโลกส่วนตัวที่หลอมรวมความเป็นตัวเองออกมา ผ่านการแต่งเสริม เพิ่มไลฟ์สไตล์ ไม่ว่ามู้ดแอนด์โทน สีสัน หรือกราฟิก ที่เมื่อเดินเข้ามาแล้วต้องร้องว่า “โอ้ คุณพระคุณเจ้า” คงไม่เกินจริงสำหรับบ้านหลังนี้ และเป็นที่มาของชื่อบ้าน “Golly Gosh House” ซึ่งเป็นคำสแลงภาษาอังกฤษที่มาจากคำอุทานว่า “Oh My God!”
ออกแบบผ่านการพูดคุยเหมือนเพื่อน
จุดเริ่มต้นของการตกแต่งภายในบ้านเดี่ยวหลังนี้ คุณธิศา – ภนิทธิศาฐ์ พิพัฒณาชัยภูมิ เจ้าของบ้าน เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มมีความกังวลว่าทีมออกแบบจะไม่รับงาน เพราะบ้านมีพื้นที่เพียง 250 ตาราเมตร ซึ่งเป็นขนาดเล็กสุดที่รับออกแบบ ปัญหานี้คลี่คลายลงเมื่อเจ้าของบ้านและทีมออกแบบได้พูดคุยกัน
ทีมออกแบบจาก Hyper-Haus เล่าว่า “อยากให้เจ้าของบ้านสบายใจและสนิทใจเหมือนเพื่อน ถ้าลูกค้าไม่รู้จักเรา อาจมีอุปสรรคในการทำงานกันต่อ ก่อนจะตกลงรับงานจึงต้องคุยกันก่อนว่างานเราเป็นแบบไหน” ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ทีมออกแบบได้ทำความรู้จักเจ้าของบ้าน โดยพูดคุยกันด้วยเรื่องที่ไม่ใช่แค่งานออกแบบ บางครั้งนอกจากการตั้งคำถามว่าต้องการฟังก์ชันอะไรกับเจ้าของบ้าน อาจยังไม่ลึกซึ้งมากพอที่จะสะท้อนตัวตน จึงต้องทำความรู้จักผ่านไลฟ์สไตล์ ของสะสม และสัตว์เลี้ยง เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นตัวตนของเจ้าของบ้านได้มากที่สุด
ทุกตารางเมตรที่เป็นตัวเอง
เนื่องด้วยเจ้าของบ้านทำงานเป็นวีเจในแอปพลิเคชันหนึ่ง บางครั้งต้องไลฟ์สดเป็นเวลานาน 8- 13 ชั่วโมง โจทย์หลักจึงต้องการพื้นที่ทำงานที่มีแสงสว่างเพียงพอ ทีมออกแบบจึงใช้ไฟดาวน์ไลต์ดวงเล็กติดตั้งกระจายหลายจุด และออกแบบผนังครีบโค้งซ่อนไฟสร้างความน่าสนใจให้ห้องทำงาน ทั้งยังได้ไอเดียการใช้โทนสีที่เจ้าชองบ้านชอบอย่าง Burgundy และ Ivory ซึ่งมาจากสีของรถที่โพสต์ลงในอินสตาแกรม มาออกแบบมุมทำงานด้วย
อีกหนึ่งมุมที่ต้องร้องว้าว คือ ซีเคร็ตบาร์หรูหราที่ซ่อนตัวอยู่ในส่วนแต่งตัว เนื่องจากมีบางช่วงเวลาที่เจ้าของบ้านอยากออกมาจากห้องนอนแล้วได้นั่งดื่มเครื่องดื่มเบาๆ โดยไม่ต้องเดินลงไปชั้นล่าง ทุกฟังก์ชันของบ้านหลังนี้จึงเรียกได้ว่าเกิดจากไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง
ผิวพื้นเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยน
เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด การแบ่งพื้นที่ใช้สอยจึงไม่ได้จำกัดเพียงการออกแบบผนังกั้น แต่ใช้ผิวพื้นของวัสดุเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ใช้สอยด้วย อาทิ ห้องนั่งเล่นปูพื้น SPC ลายไม้สีอ่อน ให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง ห้องรับประทานอาหารและครัวคุมโทนสีดำ แต่เลือกใช้พื้นผิวต่างกัน ห้องทำงานปูกระเบื้องลายหินอ่อนสีขาว ซึ่งการใช้สีสว่างมีส่วนช่วยให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวพร้อมทำงาน เมื่อขึ้นมาชั้น 2 ก็จะพบจุดเด่นคือพื้นทางเดินยาวของส่วนแต่งตัวที่ปูพื้นด้วยกระเบื้องโมเสกดูคล้ายพรม ให้ความรู้สึกพิเศษเหมือนรันเวย์เดินแบบ ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เจ้าของบ้านชอบเป็นอย่างมาก
แต่งผนัง เติมความหลายหลาย
ห้องนั่งเล่นที่พร้อมรองรับการสังสรรค์ แต่เมื่อไม่มีงานเลี้ยงก็สามารถเปิดม่านให้แสงและลมธรรมชาติเข้ามาภายในบ้านในวันที่ไม่ต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ หรือในยามค่ำคืน เพียงเปิดประตูบานเลื่อนห้องนั่งเล่นออกไป ก็สามารถเชื่อมต่อพื้นที่ภายในบ้านและสระน้ำข้างบ้านให้เป็นพื้นที่ปาร์ตี้ขนาดใหญ่ขึ้นได้ แม้ผนังจะมีการใช้วัสดุที่มีพื้นผิวหลากหลาย แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกแตกต่างขัดแย้ง เพราะออกแบบภายใต้โทนเดียวกันโดยใช้สีดำเป็นหลัก และผสมสีอื่นในสัดส่วนที่น้อยกว่า ความแตกต่างหลากหลายนี้ทำให้สามารถเปลี่ยนมุมถ่ายไลฟ์สดได้แบบไม่ซ้ำ อีกทั้งเติมฟังก์ชันให้ผนังภายในบ้านหลายส่วนเป็นชั้นโชว์และพื้นที่เก็บของไปในตัว โดยลดความอึดอัดด้วยการกรุกระจกเงา ทำให้เกิดมุมมองลวงตาว่ามีความลึกและกว้างกว่าพื้นที่จริง
แต่งเติม เสริมลูกเล่นให้ฝ้า
เจ้าของชอบอยู่บ้านมาก และอยากให้บ้านมีลูกเล่นที่สร้างความสนุก สดใส ทีมออกแบบจึงแต่งฝ้าเพดานด้วยลายกราฟิกและเท็กซ์เจอร์ อย่างการนำกราฟิกหน้ายิ้ม Smiley มาออกแบบเป็นลวดลายฝ้าเพดานของห้องนั่งเล่น และใช้พื้นผิวที่ไม่เรียบและใส่กลิตเตอร์ให้ความระยิบระยับ เปลี่ยนฝ้าเพดานห้องน้ำให้เหมือนท้องฟ้ายามค่ำคืน
การออกแบบแสงสว่างเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทีมออกแบบตั้งใจสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก โดยใช้แสงสีวอร์มไวต์ ทำให้มีบรรยากาศอบอุ่น เหมาะสำหรับการพักผ่อน โดยเฉพาะห้องนอนที่ได้รับโจทย์จากเจ้าของบ้านว่าต้องให้ได้ตามคอนเซ็ปต์ Fifty Shades of Grey จึงใช้โคมไฟดาวน์ไลต์ดวงเล็ก และการทำฝ้าหลืบซ่อนไฟ สร้างบรรยากาศให้ห้องนอนมีความเซ็กซี่ ซ่อนเร้น น่าค้นหา ตรงตามโจทย์ที่เจ้าของบ้านให้ไว้
คุณธิศาเจ้าของบ้านยังทิ้งท้ายให้เราฟังว่า “ชอบบ้านหลังนี้มาก ไม่ว่าจะไปพักที่ไหนก็รู้สึกอยากกลับมาอยู่บ้านตลอด เพราะอยู่แล้วสบายใจ เป็นตัวเราจริงๆ สิ่งที่ทีมออกแบบค้นพบมีมากกว่าที่เราเข้าใจตัวเอง เฮ้ย! อันนี้แหละที่เราต้องการ”
Designer’s Tips
บ้านคือ“เซฟโซน” ที่พักกายใจของแต่ละคน มีผู้คนอีกไม่น้อยที่ให้ความหมายของคำว่า “บ้าน” แตกต่างกันออกไป ไม่มีอะไรตายตัว เป็นบ้านในแบบที่ทำให้ตัวเองมีความสุข เป็นพื้นที่ส่วนตัวอยู่แล้วสบายใจ เช่นกันกับผลงานชิ้นนี้ ที่ได้ตีความให้ความหมายใหม่กับคำว่า “บ้าน” คือ การสร้างงานศิลปะให้ที่อยู่อาศัย แม้หน้าตาจะแตกต่างจากภาพจำของที่อยู่อาศัยทั่วไปแต่เชื่อว่าบ้านหลังนี้จะเป็นพื้นที่ที่อยู่แล้วสบายใจและแสดงออกถึงตัวตนของเจ้าของความฝันนี้
เจ้าของ : คุณภนิทธิศาฐ์ พิพัฒณาชัยภูมิ
ออกแบบตกแต่งภายใน : Hyper-Haus
คอลัมน์บ้านสวย พ.ค. 67
เรื่อง : ปาราเมศ เมนะเนตร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : Suntreeya