ปุ๋ย AB คืออะไร อยากปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จำเป็นต้องรู้ - บ้านและสวน

ปุ๋ย AB คืออะไร? อยากปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จำเป็นต้องรู้

เราได้ยินคำว่า ปุ๋ย AB กันอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Soilless Culture) หรือไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) แล้ว ปุ๋ย AB คืออะไร ควรเลือกใช้แบบไหน ปุ๋ย AB มีข้อดี-ข้อด้อยอย่างไร มาหาคำตอบกัน

ปุ๋ย AB คืออะไร? ในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์หรือการปลูกพืชในน้ำให้เจริญเติบโตและได้ผลผลิตที่ดี พืชย่อมต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ที่เหมาะสม ทั้งแสงแดด น้ำ อุณหภูมิ และธาตุอาหารพืช ไม่แตกต่างกับการปลูกผักทั่วไป

การปลูกผักทั่วไป พืชจะได้รับธาตุอาหารจากการที่เราใส่ปุ๋ยต่าง ๆ ลงในดิน ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชีวภาพ หรือการฉีดพ่นทางใบ ฯลฯ สำหรับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้น พืชจะได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีในรูปแบบของสารละลาย เรียกว่า สารละลายธาตุอาหารพืช โดยพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เพราะมีการปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) และค่าการนำไฟฟ้าหรือค่า EC (Electrical Conductivity) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด พืชจึงได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน

ปุ๋ย AB คืออะไร

ปุ๋ย AB คืออะไร

การเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชโดยการนำปุ๋ยเคมีตามสูตรที่คำนวณแล้ว มาเตรียมเป็นสารละลายธาตุอาหารที่มีความเข้มข้นสูง แยกเป็น 2 ถัง เรียกว่า Stock Solution A และ Stock Solution B หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ปุ๋ย AB นั่นเอง

ปุ๋ย AB คืออะไร

การเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชเพื่อใช้ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ทำได้ 2 แบบคือ การเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชแบบเจือจาง และการเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชแบบเข้มข้น (Stock Solution) ซึ่งโดยทั่วไปผู้ปลูกจะเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชแบบเข้มข้นไว้ โดยแยกเป็น 2 ถัง เมื่อต้องการใช้ก็จะนำมาเจือจางให้ได้ความเข้มข้นตามต้องการ 

การเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชแบบเจือจาง เป็นการเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชจากการนำปุ๋ยเคมีตามสูตรที่คำนวณแล้ว มาผสมน้ำสะอาดในถังที่ใช้ปลูกพืชโดยตรง การเตรียมแบบนี้สะดวก สามารถนำไปใช้ปลูกพืชได้ตามต้องการ แต่ต้องทำบ่อย ๆ 

การเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชแบบเข้มข้น เป็นการเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชโดยการนำปุ๋ยเคมีตามสูตรที่คำนวณแล้ว มาเตรียมเป็นสารละลายธาตุอาหารที่มีความเข้มข้นสูง แยกเป็น 2 ถัง เรียกว่า Stock Solution A และ Stock Solution B หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ปุ๋ย AB นั่นเอง เมื่อต้องการนำไปใช้ปลูกพืชก็จะเอา Stock Solution A และ B มาผสมกับน้ำสะอาดเพื่อทำให้เจือจางตามอัตราส่วนที่กำหนด แล้วนำไปใช้ปลูกพืชตามต้องการ

สาเหตุที่ต้องแยกสารละลายธาตุอาหารออกเป็น Stock Solution A และ B ก็เพื่อป้องกันการทำปฏิกิริยาเคมีของปุ๋ยหรือสารเคมีบางชนิด ซึ่งไม่สามารถผสมกันโดยตรงที่ระดับความเข้มข้นสูงเพราะอาจเกิดการตกตะกอน ทำให้ปุ๋ยเสื่อมสภาพและพืชไม่สามารถดูดธาตุอาหารนั้นไปใช้ประโยชน์ได้

เกร็ดน่ารู้

การเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชโดยทั่วไปในบ้านเราจะเตรียมตามสูตรต่าง ๆ ซึ่งจะต้องเตรียมจากน้ำที่มีสารต่าง ๆ ละลายเจือปนอยู่น้อย เช่น น้ำฝน น้ำกรอง แต่ระบบการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เพื่อการค้าจำเป็นจะต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำในท้องถิ่น เช่น น้ำประปา น้ำบาดาล หรือแม่น้ำลำธาร โดยผ่านการกรองเอาสารแขวนลอยต่าง ๆ ออกไปแล้ว ซึ่งน้ำเหล่านี้จะมีแร่ธาตุต่าง ๆ ละลายอยู่ไม่มากก็น้อย วิธีที่จะช่วยให้สามารถนำน้ำเหล่านี้มาใช้ได้โดยตรงก็คือ การคำนวณปริมาณสารอาหารและกรดที่จะใส่ลงในน้ำ เพื่อเพิ่มเติมธาตุอาหารและปรับค่า pH ให้ได้ตามความต้องการของเรา

ปุ๋ย AB คืออะไร

เลือกปุ๋ย AB ใช้แบบไหนดี

ปุ๋ย AB คืออะไร

ปุ๋ย AB มีให้เลือกใช้ทั้งในรูปของปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ส่วนมากนิยมใช้แบบปุ๋ยเคมี เนื่องจากใช้งานสะดวก ผู้ปลูกสามารถตรวจวัดค่า pH และค่า EC ได้ชัดเจนกว่า ทำให้การจัดการแปลงปลูกทำได้ง่ายกว่า ทั้งยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคที่มีจำหน่ายทั่วไป มีทั้งปุ๋ย AB ชนิดแห้งในรูปแบบผงหรือเม็ด และปุ๋ย AB ชนิดน้ำในรูปแบบสารละลายเข้มข้น สามารถนำมาละลายน้ำสะอาดตามอัตราส่วนต่าง ๆ แล้วใช้ปลูกพืชได้เลย

1 | ปุ๋ย AB ชนิดแห้งในรูปแบบผงหรือเม็ด ธาตุอาหารพืชแต่ละชนิดจะบรรจุซองแยกไว้ ตามปริมาณสูตรปุ๋ยของแต่ละยี่ห้อ โดยมากมักจัดธาตุอาหารหลักไว้ในชุด A และธาตุอาหารรองไว้ในชุด B เมื่อต้องการใช้ปลูกพืชก็นำไปละลายเป็นแม่ปุ๋ย AB แล้วผสมกับน้ำสะอาดตามอัตราส่วนที่แนะนำบนบรรจุภัณฑ์ ไม่ควรผสมปุ๋ยเจือจางเกินไปเพราะจะทำให้พืชเติบโตได้ไม่เต็มที่ และไม่ควรผสมปุ๋ยความเข้มข้นสูงเกินอัตราส่วนที่กำหนด เพราะอาจทำให้พืชมีอาการรากเน่าโคนเน่าตามมาได้

2 | ปุ๋ย AB ชนิดน้ำในรูปแบบสารละลายเข้มข้น ผู้ปลูกส่วนใหญ่นิยมใช้ปุ๋ย AB ชนิดน้ำแบบนี้ เนื่องจากมีการผสมให้ได้สัดส่วนตามที่แนะนำบนบรรจุภัณฑ์แล้ว จึงสามารถใช้งานได้ทันที ไม่ต้องรอละลายเป็นแม่ปุ๋ยแบบปุ๋ย AB ชนิดแห้ง แต่ข้อเสียก็คือ หากเก็บไว้นานอาจพบการตกตะกอน ซึ่งจะทำให้พืชไม่สามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้

เกร็ดน่ารู้

พืชผักกินใบ เช่น ผักสลัด คะน้า กวางตุ้ง ผักชี ฯลฯ ควรเลือกใช้ปุ๋ย AB สูตรเน้นธาตุสังกะสี (Zn) แมกนีเซียม (Mg) โบรอน (B) และแมงกานีส (Mn) ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ช่วยบำรุงใบเป็นหลัก

พืชผักกินผล เช่น มะเขือเทศ แตงกว่า เมลอน ฯลฯ ควรเลือกใช้ปุ๋ย AB สูตรเน้นโพแทสเซียม (K) ฟอสฟอรัส (P) แมงกานีส (Mn) และแมกนีเซียม (Mg) ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ช่วยบำรุงผล เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์

ประโยชน์ของปุ๋ย AB มีข้อดี-ข้อด้อย

ข้อดีของการใช้ปุ๋ย AB กับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่เห็นได้เด่นชัดคือ พืชได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างครบถ้วน ต้นพืชไม่มีการขาดแคลนสารอาหาร ส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตเร็ว ต้นสมบูรณ์ แข็งแรง มีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตเร็ว สามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตและเร่งการเจริญเติบโตให้เร็วขึ้น โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การปรับสารละลายธาตุอาหารพืชให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของรากพืช เป็นต้น

อีกทั้งในปัจจุบัน ยังมีการปรับปรุงสูตรสารละลายธาตุอาหารพืชให้สามารถปลูกพืชได้หลายชนิดมากขึ้น และมีรูปแบบการนำไปใช้งานที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ทำให้สามารถประยุกต์ปรับใช้กับการปลูกในสวนหลังบ้านเพื่อมีผักปลอดสารไว้รับประทานในครอบครัว และต่อยอดเป็นอาชีพได้

ส่วนข้อด้อยก็คือมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนปุ๋ย เพราะผู้ปลูกจำเป็นต้องให้สารละลายธาตุอาหารพืชอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการปลูกพืช

เอกสารอ้างอิง : กรมส่งเสริมการเกษตร. เอกสารคำแนะนำที่ 5/2558 การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์. กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2558.


รวม 10 นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตร ที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในภาคเกษตร
Hoka Farm เกษตรแนวตั้ง เพื่อตอบโจทย์คนเมืองที่มีพื้นที่น้อย

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm