ปลูกกุลาบ ยากจริงหรือ?
คนไทยนิยม ปลูกกุลาบ มานาน เพราะความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าเป็นไม้มงคล กุหลาบ ไม้ดอกที่ได้ชื่อว่าเป็น ราชินีแห่งดอกไม้ทั้งปวง เพราะมีทั้งรูปลักษณ์และสีสันสะดุดตา นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความรักอีกด้วย โดยเฉพาะในวันวาเลนไทน์ ปลูกกุหลาบ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ทำให้กุหลาบเป็นดอกไม้ยอดนิยมมาทุกยุคทุกสมัย แต่กระนั้นก็ยังได้ยินหลายคนบ่นให้ฟังว่า ปลูกกุหลาบ เป็นเรื่องยาก ปลูกอย่างไรให้ออกดอกสวยตลอด ซึ่งเราเลยมีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากคนรักกุหลาบกันค่ะ
ปัจจัยสำคัญอย่างแรกที่อยากจะพูดถึงก็คือเรื่องดินที่ใช้ปลูก กุหลาบชอบดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย เพราะมีความโปร่ง ระบายน้ำได้ดี ไม่ขังแฉะ และมีธาตุอาหารสมบูรณ์ นอกจากนี้อาจใช้ดินผสมที่มีจำหน่ายทั่วไปก็ได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นดินเก่าที่อินทรียวัตถุต่าง ๆ ผ่านการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์มาแล้ว สำหรับวิธีทดสอบว่าดินมีคุณภาพหรือไม่ ให้รดน้ำบนดินที่เตรียมไว้พอชุ่ม กำดินผสมให้แน่น แล้วคลายมือออก ถ้าดินแตกออกไม่เป็นก้อน แสดงว่าดินมีความโปร่งร่วน นำมาปลูกกุหลาบได้ แต่ถ้าดินยังอัดเป็นก้อน แสดงว่าดินแน่นเกินไป ควรนำมาผสมใหม่ โดยใส่ปุ๋ยคอก (ที่ผ่านการย่อยสลายแล้ว) แกลบดิบ หรือใบไม้ผุ เพื่อให้ดินโปร่งและมีธาตุอาหารมากขึ้น
ประการต่อมาก็คือแสงแดด ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีแสงแดดส่องถึงอย่างน้อย 6 ชั่วโมง มีอากาศโปร่งโล่ง ไม่ร้อนเกินไป นอกจากนี้ยังไม่ควรปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ เพราะจะทำให้ทรงพุ่มไม่สวยงาม ออกดอกไม่สม่ำเสมอ หรืออาจไม่ออกดอกเลย หากปลูกในที่ที่ได้รับแสงแดดด้านเดียว กุหลาบก็จะออกดอกเพียงด้านเดียว เมื่อปลูกไปนาน ๆ ต้นจะเอียงเสียรูปทรง
ปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือน้ำที่ใช้รดต้นกุหลาบควรเป็นน้ำสะอาด เช่น น้ำประปา น้ำฝน หากใช้น้ำคลองต้องมั่นใจว่าไม่มีสิ่งอื่นเจือปน ส่วนน้ำบาดาล อาจมีแร่ธาตุบางอย่างที่กุหลาบไม่ชอบเจือปนอยู่ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรดน้ำกุหลาบคือช่วง 7.00-8.00 น. และควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ไม่ควรรดน้ำในช่วงที่มีแสงแดดแรง เพราะจะทำให้ใบเหี่ยวเฉาหรือเกิดรอยไหม้
สำหรับโรคที่พบบ่อย ๆ ก็คือ โรคใบจุดสีดำ และโรคตากบ โรคใบจุดสีดำเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง อาการที่สังเกตได้ชัดคือ จะมีจุดวงกลมสีน้ำตาล หรือสีดำบนใบแก่ ทำให้ใบเหลืองและร่วงไปในที่สุด มักระบาดในฤดูฝนและฤดูหนาว การแก้ไขคือ ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดมาก ควรฉีดทุก 5 วัน เพื่อป้องกันการลุกลาม ส่วนอีกโรคคือ โรคตากบ หรือโรคใบจุดสีน้ำตาล สาเหตุเกิดจากเชื้อราเหมือนกัน ลักษณะอาการคล้ายกับโรคใบจุดสีดำ แต่กึ่งกลางแผลจะมีวงกลมสีขาวคล้ายตากบ แต่ไม่รุนแรงเท่าโรคใบจุดสีดำ สามารถป้องกันและกำจัดได้ด้วยวิธีเดียวกัน
ส่วนฤดูกาลที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของกุหลาบคือ ช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งกุหลาบจะให้ดอกสวยและมีคุณภาพดีที่สุด โดยช่วงฤดูฝนกุหลาบจะอ่อนแอและมีโรคระบาดมากจนทำให้ใบร่วงหมดต้น ส่วนในฤดูร้อนกุหลาบมักให้ดอกเล็ก และไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากมีลักษณวิสัยไม่ชอบอากาศร้อน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการปลูกกุหลาบ แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการและขาดไม่ได้ก็คือ การดูแลเอาใจใส่จากผู้ปลูกเลี้ยง เพราะกุหลาบเป็นไม้ดอกที่อ้อนเจ้าของมาก ถ้าดูแลไม่ดี ก็อาจจะงอนจนไม่ยอมออกดอก ทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงผิดหวังมานักต่อนักแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากเรารู้หลักการปลูกที่ถูกวิธีแล้ว การปลูกกุหลาบก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเกินความสามารถค่ะ
สำหรับใครที่เป็นมือใหม่อยากลองหัด ปลูกกุหลาบ และเรียนรู้เรื่องกุหลาบเพิ่มเติม ก็สามารถหาคำตอบได้จากหนังสือ มือใหม่หัดปลูกกุหลาบ โดย อุไร จิรมงคลการ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน ตามร้านหนังสือทั่วไปค่ะ
อ่านต่อ
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Facebook บ้านและสวน