ดูแลกันใน บ้านครอบครัว 3 เจเนอเรชั่น
จากพื้นที่บ้านเดิมของสองครอบครัวพี่น้องที่มีบ้านหันหลังชนกัน กลายมาเป็นการเชื่อมที่ดินแคบยาวเพื่อสร้าง บ้านครอบครัว 3 เจเนอเรชั่น ที่ต่างก็ช่วยดูแลซึ่งและกัน พร้อมพื้นที่ส่วนกลางและสวนภายในบ้านที่ใช้งานได้จริง
Design Directory : สถาปนิก Architect9kampanad
บ้านครอบครัว ที่เริ่มต้นจากการดูแลกันและกัน
บ้านครอบครัว หลังนี้มีทางเข้าสองทางทะลุสองซอยในหมู่บ้านสัมมากร เนื่องจาก คุณอ๊อบ – ณัทพงศ์ วิญญรัตน์ สถาปนิกของ Architect9kampanad ได้เริ่มออกแบบบ้านของน้องสาวแปลงที่ติดกันด้านหลังก่อน แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงทำการทุบบ้านชั้นเดียวเดิมทั้งหมดออกทั้งสองแปลง เพื่อสร้างบ้านสองหลังที่เชื่อมทุกอย่างไว้ด้วยกัน เหตุผลหลักๆ คือ เพื่อให้สมาชิกทั้งสองบ้านได้ดูแลกันและกัน บนที่ดินขนาด 12×40 เมตร โดยสมาชิกมีดังนี้ ในส่วนบ้านหลังแรกมีน้องสาว 2 คน บ้านของคุณอ๊อบ มีคุณอ๊อบ ภรรยา ลูกสองคน คุณพ่อและคุณแม่ รวมทั้งน้องสาวอีกคนที่ไม่ได้อยู่ประจำที่เมืองไทย กลายเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ในบ้าน 3 เจเนอเรชั่น
ห้องรับแขกใหญ่คือหัวใจของบ้าน
“เราเน้นพื้นที่ส่วนกลางเป็นหลัก เพราะถ้าโดยเวลาปกติทุกคนจะใช้เวลาร่วมกันจริงๆ ส่วนห้องนอนก็จะใช้นอนจริงๆ เท่านั้น” คุณตั๊ม-เฉลิมพล สมบัติยานุชิต สถาปนิกร่วมอีกคนของ Architect9kampanad เสริมความเห็น โดยมาจากการสังเกตพฤติกรรมของทั้งสองครอบครัวนี้ ทำให้จุดหลักของบ้านคือส่วนห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่ทุกคนสามารถมาใช้ดูหนัง นั่งเล่น วิ่งเล่นไปมาได้ และใส่คอร์ตทั้งหมด 3 คอร์ตเข้ามาเพื่อคุณภาพชีวิตของการอยู่อาศัยที่ดี ให้บ้านได้แสง ลม วิว พร้อมช่วยระบายความร้อนภายใน
ซึ่งบ้านเป็นลักษณะมองเข้ามาภายใน เพื่อบังวิวจากภายในที่ควบคุมไม่ได้รอบบ้านออกไป ให้สามารถนั่งเล่นนอนเล่นเอกเขนกบนระเบียงบ้านตัวเองโดยเพื่อนบ้านไม่สามารถมองเห็นได้ แก้ปัญหาแปลนบ้านแบบดั้งเดิมก่อนหน้านี้ และยังทำให้เกิดมุมเล็กๆ ในบางจุดภายในบ้าน หากสมาชิกต้องการความเป็นส่วนตัวในบางครั้ง ขณะที่บ้านน้องสาวยังมีห้องรับแขกขนาดเล็กไว้ใช้งานด้วยยามจำเป็น
ประนีประนอมการใช้งาน บ้าน 3 เจเนอเรชั่น
การตกแต่งทั้งหมดเลือกให้โทนสีเป็นสีไม้อ่อนๆ และสีขาว เพื่อให้ความรู้สึกกลางๆ ที่สุดที่สมาชิกทุกคนทั้ง 3 เจเนอเรชั่นรับได้ โดยเฟอร์นิเจอร์ไม้จากบ้านเก่าคุณแม่ของคุณอ๊อบได้บริจาคส่งต่อให้แก่เพื่อนที่ต้องการไป เฟอร์นิเจอร์ใหม่เลือกให้เหลือน้อยชิ้นเพื่อการดูแลรักษาและทำความสะอาดได้ง่าย เพราะคุณพ่อคุณแม่จะเป็นหลักในการดูแลบ้านช่วงที่สมาชิกทุกคนไปทำงานหรือเรียนหนังสือ
ฟาซาด หลังคา และเพื่อนบ้าน
เนื่องจากบ้านหลังนี้ออกแบบจากพฤติกรรมการใช้งานของสมาชิกล้วนๆ จึงเป็นเสมือนกล่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่มาต่อกันเป็นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่มีทางเดินและคอร์ตภายในเชื่อม การลดทอนความแข็งที่เป็นกล่องจึงจำเป็นเพื่อให้บ้านยังดูกลมกลืนกับบ้านโดยรอบได้ หลังคาจึงออกแบบเป็นทรงแหงนที่สลับด้านกัน จะได้ไม่เกิดระนาบใหญ่เกินไปหันไปทางใดทางหนึ่ง จนกลายเป็นสะท้อนแสงเข้าบ้านด้านข้าง และฟาซาดก็ทำเป็นอิฐช่องลมวงกลม ช่วยทั้งสร้างความเป็นส่วนตัว และยังเปิดให้ระบายอากาศได้พอสมควร
คุณอ๊อบผู้เป็นทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิกได้กล่าวถึงบ้านหลังนี้ไว้ว่า “เป็นบ้านที่อยู่แล้วสบายมาก ภายในมีความเป็นส่วนตัว ตอบโจทย์ทุกคน แม้แต่คนภายนอกที่เข้ามาแวะเยี่ยมเยียนอย่างแขกของคุณพ่อคุณแม่เอง ก็เข้าใจถึงเจตนาของการออกแบบบ้านหลังนี้ เรียกว่ารู้สึกกันได้ทุกคน” เป็นการตบท้ายด้วยน้ำเสียงที่ต้องการสื่อสารถึงความอบอุ่นของสมาชิกทุกคนในบ้าน 3 เจเนอเรชั่นหลังนี้
เจ้าของ: คุณณัทพงศ์ วิญญรัตน์ และครอบครัว
สถาปนิก: Architect9kampanad โดยคุณเฉลิมพล สมบัติยานุชิต และคุณณัทพงศ์ วิญญรัตน์
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: อภินัยน์ ทรรศโนภาส
สไตล์: Suntreeya