โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์ มูลนิธิที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าว - บ้านและสวน

โรงเรียนชาวนานครสวรรค์ มูลนิธิที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าว

หากพูดถึงองค์กรที่มีความสำคัญต่อชาวนา มูลนิธิโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ เป็นหนึ่งในนั้น การพัฒนาข้าวนาปี ให้สามารถปลูกได้แบบข้าวนาปรังเกิดขึ้นจากงานวิจัยและการพัฒนาของมูลนิธินี้ ส่งต่อ สายพันธุ์ข้าว ใหม่ให้ถึงมือชาวนาได้ปลูกเลี้ยงชีพ

ข้าวหอมมะลิปลูกได้เฉพาะนาปี แต่ “ข้าวขาวเกยไชย” ที่ โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์ ปรับปรุงได้นั้น ให้รสชาติที่คล้ายกับข้าวหอมมะลิ คือหอมนุ่ม ทานอร่อย แต่อายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 95-100 วัน จึงสามารถปลูกได้ตลอดปี ทั้งแบบข้าวนาปรังและนาปี ไม่เพียงเท่านั้นยังมีอีกหลาย สายพันธุ์ข้าว ที่สร้างชื่อเสียงให้กับมูลนิธิ เช่น ช่อราตรี นิลสวรรค์ ชำมะเลียงแดง

จากจุดมุ่งหมายของมูลนิธิโรงเรียนชาวนา ตั้งขึ้นเพื่อทำงานเกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว การผลิตพันธุ์ข้าวอินทรีย์เป็นหลัก รวมถึงสอนเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ วิธีการลดต้นทุนการผลิต เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่ลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรและมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย

โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์
คุณเขียว – นพดล มั่นศักดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์

คุณเขียว – นพดล มั่นศักดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิฯ เล่าว่า “ทางมูลนิธิเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวมากกว่า 400 สายพันธุ์ เพื่อที่จะอนุรักษ์ไว้สำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์ในการวิจัย ซึ่งการมีพันธุ์ข้าวจำนวนมากถือเป็นต้นทุนที่ดีต่อการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ถ้าหากเราอยากได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ดีไม่เหมือนใคร เราต้องรู้ก่อนว่าพันธุ์ข้าวที่เรามีอยู่แล้วนั้นมีอะไรบ้าง และมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร เพื่อให้ได้คุณสมบัติเด่นของข้าวพันธุ์ใหม่ที่ปรับปรุงได้มา”

ปัจจุบันมูลนิธิฯ แห่งนี้ได้มีพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกับโครงการของมหาวิทยาลัย โรงเรียน และหน่วยงานในระดับชุมชน ในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของพวกเขามากที่สุด และส่งมอบองค์ความรู้ให้ชาวนาสามารถปรับปรุงพันธุ์ได้เอง รวมถึงสายพันธุ์ข้าวอินทรีย์ต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่องของคุณเขียวไว้อย่างน่าสนใจ

ความสำเร็จจากการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของ โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์

มูลนิธิฯ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาข้าวมานานหลายปี ทำให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ดีเพิ่มมากขึ้น และหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งครั้งนี้จะขอแนะนำ 5 สายพันธุ์ตามนี้

โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์
ข้าวขาวเกยไชย

ข้าวขาวเกยไชย

เป็นข้าวขาวที่พัฒนามาจากข้าวสายพันธุ์บาสมาติก (Basmati) ที่ปลูกในประเทศไทยจนแทบหมดคราบความเป็นบาสมาติกไปหมดแล้วมาผสมกับหอมมะลิ จนเกิดเป็นขาวเกยไชย ข้าวนาปรังที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ดี จุดเด่นของข้าวสายพันธุ์นี้คือ เมล็ดยาว เป็นข้าวเจ้าที่นุ่ม หุงขึ้นหม้อ รสชาติอร่อยเหมือนหอมมะลิ ผลผลิต นาอินทรีย์ 750-850 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 95-100 วัน

โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์
ผลิตภัณฑ์แป้งข้าวกล้อง ออร์แกนิก จากข้าวขาวเกยไชย ภายใต้แบรนด์ บุญบันดาล

นอกจากข้าวขาวเกยไชยจะสามารถนำมาหุงเพื่อรับประทานได้แล้ว ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แป้งข้าวกล้องและข้าวจ้าวออร์แกนิกได้เช่นกัน เหมาะสำหรับนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น เบเกอร์รี ซาวโดวจ์ (Sourdough) คุกกี้ เค้ก และเส้นขนมจีน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จำหน่ายผ่านแบรนด์ บุญบันดาล Boonbundan สำหรับท่านใดที่สนใจ ก็สามารถติดต่อโดยตรงได้เลย

โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์
ข้าวนิลสวรรค์

ข้าวนิลสวรรค์

เมล็ดสีม่วงดำ พัฒนามาจากข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์หอมนิล ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวเร็วกว่าหอมนิล นิลสวรรค์เป็นข้าวนาปรังที่มีโภชนาการสูงมาก กลิ่นหอม และมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง ดัชนีน้ำตาลต่ำ อุดมไปด้วยวิตามินอีและแมกนีเซียม ผลผลิต นาอินทรีย์ 600-800 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 95-105 วัน

โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์
ข้าวชำมะนาด

ข้าวชำมะนาด

เป็นข้าวเจ้าที่มีกลิ่นหอมมาก กลิ่นคล้ายดอกชำมะนาด เมล็ดอ้วน รสชาติดี เป็นข้าวนาปรังที่ให้ผลผลิต นาอินทรีย์ 700-750 กิโลกรัมต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยว 95-100 วัน

โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์
ข้าวช่อราตรี

ข้าวช่อราตรี

เป็นข้าวสายพันธุ์แรกที่ทางมูลนิธิเปิดตัว และมีการกระจายตัวปลูกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ให้ผลผลิตดี รสชาติดี เนื้อสัมผัสเหมือนข้าวหอมมะลิ พัฒนามาจากข้าวสายพันธุ์เรนโบว์

ปรับปรุงโดยการคัดเลือกพันธุ์ให้ปลูกเป็นนาปรังได้ จุดเด่นของข้าวช่อราตรีคือ เมล็ดใส ไม่หักง่าย ซึ่งเมล็ดจะประกอบไปด้วยน้ำตาลและแป้งกระจายตัวอยู่ทั่วเมล็ด สามารถแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้หลายอย่าง ผลผลิต นาอินทรีย์ 600-800 กิโลรักมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 115-120 วัน

โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์
ข้าวชำมะเลียงแดง

ข้าวชำมะเลียงแดง

ข้าวเจ้าเมล็ดสีแดง พัฒนามาจากข้าวสายพันธุ์หอมเลื่องลือ เมล็ดยาว ปริมาณน้ำตาลน้อย มีความนุ่มมาก ปริมาณสังกะสีจะสูงมาก สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายและบำรุงฮอร์โมนเพศ เป็นข้าวนาปรังที่ให้ผลผลิต นาอินทรีย์ 600-800 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 120-130 วัน

ข้าวเหนียว ขวัญไพศาล

ข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ ที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี

เป็นข้าวเหนียวนาปรัง “ขวัญไพศาล” (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) มีจุดเด่นที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากข้าวเหนียวปกติเป็นข้าวนาปี ลักษณะมีกลิ่นหอม และผลผลิต นาอินทรีย์ 600-800 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 95-105 วัน ข้าวเหนียวขวัญไพศาล เป็นลูกผสมระหว่าง ข้าวเหนียวเล้าแตกกับข้าวเหนียวเขี้ยวงู เป็นการผสมกันระหว่างความอร่อยและผลผลิตที่สูง

การพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว สามารถทำได้ 2 รูปแบบ

วิธีการแรก เริ่มจากการคัดข้าวกล้อง เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยเริ่มจากการกะเทาะเปลือกออกแล้วดูโครงสร้างของเมล็ดข้าว ซึ่งข้าวแต่ละพันธุ์ก็จะมีโครงสร้างที่ต่างกันออกไป โดยจะเลือกข้าวกล้องที่สมบูรณ์ที่สุด คัดเมล็ดที่มีความขาว ใส มัน วาว ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ในการคัดเลือกพอสมควร

อีกวิธีคือการผสมข้ามสายพันธุ์ เป็นการจับคู่พันธุ์ข้าวที่เราต้องการมา 2 สายพันธุ์ โดยเลือกจุดเด่นของข้าวแต่ละสายพันธุ์ที่เราต้องการ นำเกสรมาผสมกัน เมื่อได้เมล็ดออกมาแล้วจึงนำไปปลูกเพื่อคัดเลือก จะทำการปลูกแล้วคัดเลือกอย่างน้อย 9 ครั้ง ถึงจะได้พันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเหมือนกันทุกต้น ไม่มีพันธุ์อื่นปะปน

ภาพ : มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่าย โรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์

สายพันธุ์ข้าวในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ ข้าวบางสายพันธุ์ปลูกได้เฉพาะพื้นที่ อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ ปลูกได้แค่ในพื้นที่ทางภาคอีสานและทางตอนบนของประเทศ เนื่องจากพื้นที่ภาคกลาง เป็นพื้นที่ลุ่มแอ่งกระทะ และช่วงในเวลาที่ต้องปลูก ไม่สามารถปลูกได้เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะสม ทั้งน้ำท่วมและมีปริมาณน้ำมาก

ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ทางมูลนิธิฯ พัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรชาวนา จังหวัดนครสวรรค์สามารถปลูกเป็นข้าวนาปรังได้ และคงเอกลักษณ์ความหอมอร่อยของข้าวหอมมะลิ นอกจากนี้ยังมีข้าวอีกหลายสายพันธุ์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่แพ้ข้าวหอมมะลิด้วยเช่นกัน

ชาวนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวได้เอง

หลังจากที่เกษตรกรได้รับพันธุ์ข้าวแล้ว ก็จะนำมาปลูกและพอโตจนออกรวงก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่าย โดยเมล็ดข้าวที่ได้ส่วนหนึ่งจะถูกเก็บมาปลูกต่อในรอบต่อไป พอปลูกได้ 2-3 รอบ จะสังเกตได้ว่าคุณภาพของเมล็ดข้าวตกต่ำลง เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่กลายพันธุ์ได้ง่าย ดังนั้น ทางมูลนิธิจึงเข้าไปส่งเสริมแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวได้ด้วยตัวเอง

วิธีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยตัวเอง เริ่มจากให้เกษตรกรแบ่งแปลงส่วนหนึ่งไว้สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยเฉพาะ พอปลูกและเก็บเกี่ยวได้เมล็ดพันธุ์ข้าวมาแล้ว เกษตรกรจะต้องคัดเมล็ดข้าวพันธุ์ที่สมบูรณ์เพื่อนำมาปลูกต่อ โดยใช้องค์ความรู้จากที่ทางมูลนิธิฯ ส่งมอบให้ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถรักษาคุณภาพของเมล็ดข้าวไว้ได้ และช่วยลดต้นทุนเนื่องจากไม่ต้องหาซื้อพันธุ์ข้าวใหม่ตลอด 

ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มีกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนชาวนาที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 102 กลุ่ม มีสมาชิกทั้งหมด 4,500 คน
ส่วนใหญ่เกษตรกรมีอาชีพทำนา มีโรงเรียนชาวไร่ 1 แห่ง อยู่ที่ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์

ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ของ โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์

ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิฯ ที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์ บุญบันดาล Boonbundan โดยข้าวทั้งหมดเป็นออร์แกนิก ได้รับมาตรฐานยุโรป USDA IFOAM ผลิตภัณฑ์มีทั้ง ข้าวขาว ข้าวกล้อง แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวกล้อง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ จากข้าว

“มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่าย โรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ เป็นมูลนิธิฯ ที่ให้ความรู้เรื่องการทำนาแบบอินทรีย์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำนา อยากให้เกษตรกรลองทำ อย่างน้อยถ้าทำไม่ได้ทั้งหมดก็เริ่มแบ่งพื้นที่ในการทำ อย่างเช่น มีพื้นที่นา 10 ไร่ แบ่ง 2 ไร่ ไว้ปลูกข้าวกินเอง แบ่งอีก 1 ไร่ ไว้ปลูกข้าวเพื่อทำพันธุ์สำหรับปลูกในฤดูถัดไป ส่วนที่เหลือก็ปลูกไว้จำหน่าย”

“พวกเราพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ในทุกๆ เรื่องเกี่ยวกับข้าวให้กับผู้ที่สนใจ มีการเปิดอบรมในหลายหลักสูตร ทั้งหลักสูตรการทำนาแบบอินทรีย์ลดต้นทุน หลักสูตรการพัฒนาพันธุ์ข้าว เรียนรู้การคัดเลือกพันธุ์ข้าว” คุณเขียวกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับท่านใดที่สนใจสินค้าหรือสนใจอยากเข้าอบรมกับทางมูลนิธิโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ สามารถติดต่อผ่านแบรนด์  บุญบันดาล Boonbundan ได้ หรือ โทร. 056-050-301, 065-5519425

เรื่อง : สรวิศ บุญประสพ

ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง

รู้จักพันธุ์ข้าว พื้นที่ปลูก และประโยชน์ที่ซ่อนอยู่

รู้ลึกเรื่อง ข้าวสรรพสี (Rainbow Rice) ปลูกเพื่อกินใบ ใช้ประดับสวน