ไฟเกษตร 2567 ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว ขอไฟเกษตร ได้นะ! - บ้านและสวน

ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้วขอใช้ ไฟเกษตร ได้นะ! ค่าไฟถูกกว่า

อยากต่อไฟฟ้าเข้าพื้นที่สวน น่าไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการทำเกษตรอย่างเช่นใช้กับเครื่องสูบน้ำ หรือต่อระบบรดน้ำสปริงเกลอร์ สามารถทำเรื่องขอติดตั้ง ไฟเกษตร ได้ด้วยขั้นตอนง่ายๆ แม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชุมชนก็ทำได้ ที่สำคัญคือค่าไฟถูกกว่าไฟบ้าน

แม้การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะสะดวกต่อการใช้งานในพื้นที่เกษตรที่อยู่ห่างไกลและไม่ได้เชื่อมต่อกับไฟฟ้า แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่มีผลต่อความจำเป็นใช้ไฟฟ้าต้องสะดุดลงได้ การยื่นเรื่องขอใช้ ไฟเกษตร จากการไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยให้การทำเกษตรเป็นเรื่องสะดวกขึ้น

โดยสามารถยื่นเรื่องขอติดตั้งไฟฟ้าในรูปแบบ “ไฟเกษตร” ได้ โดยจะมีอัตราค่าไฟอยู่ในประเภทที่ 7 สูบน้ำเพื่อการเกษตร สำหรับการใช้ไฟฟ้าฟ้กับเครื่องสูบน้ำ สามารถแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 แบบ คือ 1. เป็นบ้านอยู่อาศัยทั่วไปแต่มีพื้นที่ทำการเกษตร 2. เป็นกลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร เพื่อการเกษตรของหน่วยราชการ สหกรณ์เพื่อการเกษตร กลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่หน่วยงานราชการรับรอง โดยต่อผ่านเครื่องวัดไฟฟ้าเครื่องเดียว

แต่ ไฟเกษตร ก็มีข้อกำหนดเบื้องต้นที่ต้องใช้เอกสารรับรองจากหน่วยงานรัฐ และข้อกำหนดอื่นๆ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ที่ควรต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ

ไฟเกษตร 2567

อะไรคือ ไฟเกษตร ?

ไฟเกษตร คือ ประเภทของอัตราค่าไฟฟ้า อยู่ในประเภทที่ 7 ไฟเกษตรคือไฟที่มีไว้ใช้สำหรับทำการเกษตรกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น ไฟเดินเครื่องสูบน้ำ จ่ายน้ำ จ่ายไฟ ในสวน ไร่ นา เป็นต้น โดยอัตรค่าไฟจะแตกต่างจากค่าไฟบ้านที่ใช้กันทั่วๆ ไป

ไฟเกษตร

เกณฑ์กำหนด ขอไฟเกษตร 2567

1.ต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่หวงห้ามใดๆ ของราชการ

2.ต้องมีทางสาธารณะที่รถยนต์สามารถวิ่งผ่านได้อย่างสะดวก และสามารถดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าโดยวิธีปักเสาพาดสายได้

3. เกษตรกรผู้ยื่นคำร้องจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร (สมุดทะเบียนเกษตรกร)

4.ต้องระบุแหล่งน้ำที่จะใช้เพื่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น คลองสาธารณะ คลองชลประทาน แหล่งน้ำใต้ดินในลักษณะต่างๆ

5.ต้องมีเอกสาร/หลักฐานสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือหนังสือสัญญาเช่าที่ดินทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องไม่ใช่ที่ดินที่ถือครองโดยเอกชนรายใหญ่

6.เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ขอติดตั้ง มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 15(45) แอมป์ ต่อราย

7.ต้องสามารถออกใบแจ้งหนี้ค่ากระแสไฟฟ้ามิเตอร์เครื่องที่ 2 (ใหม่) โดยจะแจ้งเก็บเงืนไปที่มิเตอร์เครื่องที่ 1 (เก่า) ทั้งสองมิเตอร์ต้องอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าเดียวกัน

8. ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการขยายเขต ฯ ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อราย (PEA รับผิดชอบ) ในกรณีที่เกิน 50,000 บาท ผู้ขอใช้ไฟฟ้าสามารถสมทบเงินในส่วนที่เกินได้

เอกสารที่ต้องมี

เมื่อเข้าเกณฑ์กำหนดข้างต้น ต้องมีเอกสารเพิ่มเติมที่ผู้ขอยื่นเรื่องต้องเตรียมไว้ คือ

1. สำเนาทะเบียนบ้าน

2. สำเนาบัตรประชาชน

3. สำเนาโฉนดที่ดิน

4 สำเนาทะเบียนเกษตรกร เอกสารรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานราชการ

ไฟเกษตร

ขั้นตอนการขอ ไฟเกษตร

1.ขอบ้านเลขที่เพื่อให้ได้สำเนาทะเบียนบ้าน

2.ยื่นเรื่องกับท้องถิ่นเพื่อขอใบรับรอง โดยนำเรื่องไปยื่นกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยแนบสำเนาทะเบียนบ้านของตัวเราเองและเพื่อนบ้านในโซนเดียวกันอย่างน้อย 3 หลังคาเรือนไปพร้อมกัน

3 ยื่นเรื่องที่การไฟฟ้าในพื้นที่นำเอกสารไปยื่นที่การไฟฟ้าอำเภอในพื้นที่ แล้วกรอกเอกสารให้เรียบร้อย ซึ่งเป็นการยื่นเรื่องไว้รองบประมาณในรอบต่อไป

ค่าทำเนียมติดตั้ง

-ติดตั้ง 5(15) แอมป์ ราคา 1,000 บาท

-ติดตั้ง 15(45) แอมป์ 1 เฟส ราคา 6,450 บาท

-ติดตั้ง 15(45) แอมป์ 3 เฟส ราคา 21,350 บาท

ไฟเกษตร

ความต่างของอัตราค่าไฟ

ไฟเกษตรจะน้อยกว่าอัตราค่าไฟบ้าน (ประเภทที่1) พอสมควร โดยมีอัตราดังนี้

อัตราปกติ (บาท / หน่วย)

– 100 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 100) 2.0889

– เกิน 100 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 101 เป็นต้นไป) 3.2405

ค่าบริการ 115.16

ส่วนค่าไฟบ้านคิดอัตราดังนี้

อัตราปกติ (บาท / หน่วย)

ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย / เดือน

– 15 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 15) 2.3488

– 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16 – 25) 2.9882

– 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26 – 35) 3.2405

– 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36 – 100) 3.6237

– 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101 – 150) 3.7171

– 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) 4.2218

– เกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) 4.4217

ค่าบริการ 8.19

ใช้ไฟเกิน 150 หน่วย / เดือน

– 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 150) 3.2484

– 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) 4.2218

– เกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) 4.4217

ค่าบริการ 38.22

เห็นราคาแบบนี้แล้ว เกษตรกรหลายคนน่าจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ควรพิจารณาอย่างรอบครอบ เพราะหากอยากเปลี่ยนจากหม้อเกษตรเป็นหม้อบ้าน มีขั้นตอนต้องดำเนินการพอสมควรเช่นกัน โดยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ใกล้เคียงได้เลย

เรียบเรียง JOMM YB

ภาพ มนธีรา มนกลาง

ปลูกกัญชา ทำนา ทำไร่ หลายรูปแบบทำเกษตร ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้

ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ นำมา ขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้ระยะยาว

Tagged :