ไพโรจน์ ชมพักตร์ The Craftsmanship in Detail Space
“งานประณีตฝีมือ” เป็นสิ่งหนึ่งที่ “ช่าง” ไม่ว่าแขนงไหนย่อมอยากฝึกฝนไปให้ถึง แม้จะไม่ใช่เชิงช่างชั้นสูงแต่งานช่างที่ได้แสดงฝีมือไม่ว่าจะเป็นดีเทลเล็กๆ ก็เป็นความภูมิใจและบอกตัวตนในผลงาน และนั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ คุณบี-ไพโรจน์ ชมพักตร์ แห่ง Detail Space ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เท่ที่มีส่วนผสมระหว่างงานไม้ งานเหล็ก และการทำสีสนิม พยายามใส่ลงไปในทุกผลงาน
จุด SPARK ความชอบในงานเหล็กผสมไม้และงานสี
“แบ่งเป็น 2 ส่วนส่วนแรกตอนผมเด็กๆ ยุค 80 ไม่มีของเล่นให้เราเหมือนสมัยนี้ ผมชอบทำของเล่นเอง ทำว่าว ทำบ้านบนต้นไม้ เลยซึมซับงานประดิษฐ์งานช่างมาตั้งแต่เด็ก จุดสปาร์กที่สอง อาจเป็นช่วงเรียนจบมาแล้วได้รับงานออกแบบโรงแรมที่ภูเก็ต ชื่อโรงแรม Escape de Phuket เป็นโรงแรมที่เจ้าของอยากดีไซน์สไตล์เหมืองแร่ เราได้ไปศึกษาเกี่ยวกับยุคการทำเหมืองแร่ ว่ามีวัสดุอะไรบ้าง ไม้ เหล็ก ดูพื้นผิว มู้ดแอนด์โทน เพื่อมาออกแบบให้ได้ฟีลลิ่งของการย้อนยุค เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชอบงานเหล็กกับงานไม้
“พอกลับมาที่บ้าน ก็เริ่มก่อตั้งบริษัท เพื่อรับงานกับเพื่อนๆ ที่อยู่ทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต และหัวเมืองใหญ่ โดยจับงานเหล็กมาชนกับงานไม้ แล้วพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ของเราเอง เป็นสิ่งที่เราชอบตั้งแต่เด็กๆ ชื่อ ‘Detail Space’ มาจาก สเปซ ที่เป็นสิ่งรอบตัวเรา ดีเทล คือ การใส่ใจในงานและรายละเอียดที่เราทำ”
มุมโปรด
“มุมโปรดก็คือมุมนี้แหละ เป็นความฝันตั้งแต่ 10 ปี ที่แล้วว่าอยากมีช็อปที่ลงมาแล้วสามารถทำงานได้เลย ถ้าเป็นช่วงคิดงานก็จะเป็นห้องทำงานเงียบๆ เพราะต้องสเก็ตช์งาน วาดทำแบบเป็นสามมิติ หลังจากนั้นมุมโปรดที่สองจะเป็นเวิร์กช็อปที่เราสามารถตัดไม้ ซอยไม้ สามารถทำตัวอย่าง เพื่อศึกษาสัดส่วนความแข็งแรงของชิ้นงานขึ้นมาคร่าวๆ ก่อนพัฒนาแบบต่อๆ ไป”
บรรยากาศในการทำงานที่ชอบ
“สิ่งแรกของผมเลยนะ คือ การจัดการเครื่องมือให้เป็นระเบียบ วางแผนงานที่ดี เข้าตำรา ‘หยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา’ เป็นหัวใจหลักที่ผมอยากทำให้ทีมช่างเห็นด้วยว่าการทำงานที่ดี การวางแผนที่ดี การเดินไปหาเครื่องมือที่ดีมันใช้เวลาสั้น ไม่ใช่ว่าหาตลับเมตรอันหนึ่งเดินหา 10 นาที การออร์แกไนซ์พื้นที่ทำงาน การจัดสัดส่วนเครื่องมือ เป็นหัวใจของการเป็นช่าง”
ส่งต่อแรงบันดาลใจ
“ผมเอาความสนุกเป็นที่ตั้ง ตอนเด็กๆ ผมชอบทำงานประดิษฐ์อย่างนี้ พอเราเอาความสนุกเป็นที่ตั้ง เราจะเรียนรู้เองโดยอัตโนมัติ เราจะอยากไปหาช่าง ไปหาคนเก่งๆ อยากจะไปเรียนรู้กับช่าง การเอาความสนุกเป็นที่ตั้งสามารถทำออกมาเป็นอาชีพได้ และเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ พอทำงานสำเร็จออกมาชิ้นหนึ่ง เรามีความภาคภูมิใจจังเลย เราก็พิจารณาต่อยอดสร้างเป็นอาชีพได้
“ตอนแรกผมเริ่มจากเครื่องมือเหล็ก แล้วมาต่อยอดผสมกับไม้ เรียนรู้เรื่องงานสีเข้าไป สร้างความแตกต่างอะไรได้ งานเข้าลิ่มงานไม้เป็นงานที่เรียกว่า Craftsmanship หรือช่างฝีมือประณีต เวลาทำงานชิ้นหนึ่งช่างจะดูเทคนิคการเข้าไม้ ใช้ทักษะที่สูงขึ้น การวัด การวางแผน มากกว่าที่เราเอาตะปูมายิง อีกอย่างเวลาที่เราทำงานคราฟต์ มันจะหนีออกจากโทรศัพท์ได้ เรารู้สึกสนุก อยากจะทำ อยากจะอยู่กับมัน โดยไม่รู้สึกว่าอยากหนีไปกินข้าว ต้องทำงานแล้ว อะไรแบบนั้น
“ตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไร พอชอบแล้วเราจะอยากเรียนรู้เองโดยอัตโนมัติ สมมติชอบเรื่องไม้ เราก็อยากจะไปหาคนที่มีความรู้เกี่ยวกับไม้ ไปขอความรู้ ไปศึกษา อยากรู้การทำสี ก็ไปหาความรู้ในอินเทอร์เน็ต ไปหาความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำสีเพื่อเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทาง เราจะได้ลองผิดลองถูก ได้ทดลอง พวกนี้เป็นขั้นตอนที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง เป็นกระบวนการพัฒนาวนลูปไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เป็นสินค้าที่เอาไปขายและเป็นอาชีพได้ครับ”
เรื่อง : ธัญยธรณ์ นาราเต็มทรัพย์
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง