ฟาร์มคาเฟ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สองไร่ สโลว์ไลฟ์ ฟาร์ม - บ้านและสวน

ปรับ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ให้อยู่แบบพอดีและมีรายได้

บนพื้นที่ 2 ไร่ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีฟาร์มเล็กๆ ที่ทั้งปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา มีคาเฟ่ ร้านอาหาร และฟาร์มสเตย์รวมอยู่ด้วยกัน

จากพี้นที่ทดลองเรียนรู้ของวิศวกรหัวใจเกษตรที่นำแนวคิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน พัฒนาจนเป็นฟาร์ม business model “ฟาร์มคาเฟ่ เกษตรทฤษฎีใหม่” ที่สร้างรายได้จากหลายทาง อีกหนึ่งธุรกิจเกษตรที่ประสบความสำเร็จจากคนที่เริ่มต้นจากศูนย์

“ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ผมมาทำงานอยู่ที่อยุธยา ไหนๆ ก็มาอยู่ที่นี่แล้ว ผมตัดสินใจซื้อที่แปลงนี้ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ทำงานไว้ออกแรงขุดดินปลูกต้นไม้ ทำการเกษตรอย่างที่ชอบ ในตอนนั้นก็คิดว่าจะทำเกษตรแบบไหนดี สุดท้ายตัดสินใจใช้แนวทาง “เกษตรทฤษฎีใหม่” ที่ดูมีแนวโน้มที่จะทำได้และเหมาะกับพื้นที่ที่เรามีครับ” คุณพันธ์ – คำพันธ์ แก้วมา เจ้าของสองไร่ สโลว์ไลฟ์ ฟาร์มพูดถึงจุดเริ่มให้ฟัง 

ฟาร์มคาเฟ่ เกษตรทฤษฎีใหม่

ผมวางแผนไว้ตั้งแต่แรกแล้วครับว่าจะสร้างรายได้จากที่ผืนนี้ได้ยังไง เริ่มจากปล่อยปลาในบ่อที่มีอยู่ก่อนแล้ว รอโตค่อยจับขาย ไปคุยกับโรงอาหารที่ทำงานว่าเขาต้องใช้ผักอะไรบ้าง ก็ปลูกผักส่งให้เขา ปลูกผักสวนครัว ผักพื้นบ้านทั่วๆ ไป ปลูกกล้วย เลี้ยงไก่ไว้เก็บไข่กิน เราปลูกผักเพราะรักตัวเอง สดสะอาด ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือช่วยลดรายจ่ายในขณะที่เรายังมีรายได้จากฟาร์มไม่มากครับ”

ฟาร์มคาเฟ่และฟาร์มสเตย์ภายใต้ชื่อ สองไร่ สโลว์ไลฟ์ ฟาร์ม มีเส้นทางในสายธุรกิจกับแนวคิด เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ปรับใช้แบบพอเพียง พอดี ได้อย่างไร ตามไปดูที่ละส่วนของที่แห่งนี้

สร้างแบรนด์เพื่อสร้างตัวตน เรื่องสำคัญที่ถูกมองข้าม

“ผมเคยมีโอกาสได้ไปดูงานด้านการเกษตรที่ญี่ปุ่นครับ เขาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์เป็นสิ่งแรก ผมนำวิธีนี้มาใช้ ตั้งชื่อฟาร์ม ทำโลโก้ สร้างโปรไฟล์เพื่อสื่อสารให้คนรู้ว่าที่นี่เราทำอะไรกันบ้าง เล่าการใช้ชีวิต กิจกรรมประจำวันที่ทำ ใช้มือถือถ่ายรูปหามุมสวยๆ โพสต์ลงที่เพจ “สองไร่ สโลว์ไลฟ์ ฟาร์ม” คนก็เข้ามาดูและให้ความสนใจกันมากครับ

“เราเองก็ไม่ได้มีความรู้ด้านการตลาด อาศัยเรียนรู้จากคนที่เข้ามาที่ฟาร์ม ถามเขาว่ารู้จักเราได้ยังไง ส่วนใหญ่ก็ติดตามมาจากเพจ จากสื่อออนไลน์ และบอกต่อๆ กันมา นั่นหมายความว่าสิ่งที่ทำมันได้ผล เรื่องของแบรนดิ้งเป็นสิ่งที่คนทำเกษตรส่วนใหญ่จะมองข้ามไม่ค่อยคิดถึงกัน ผักใครๆ ก็ปลูก ไข่ใครๆ ก็มี การที่เรามีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก เขาจะจำชื่อเราได้ มีอะไรเราก็ขายได้หมดครับ”

จากสนามซ้อมพัฒนาเป็นฟาร์ม Business model

ในตอนนั้นเกษตรแปลงเล็ก (การทำเกษตรในพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่) เป็นที่นิยม กระแสของคนที่ทำงานประจำทำงานออฟฟิศที่อยากมีสวนเกษตรมีเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีฟาร์มลักษณะนี้เป็นตัวอย่างให้เขาเห็นมากนัก หลังจากเริ่มทำได้ 3 ปีคุณพันธ์มองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าจะเกิดขึ้นได้หลายทาง ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ หันมาทำการเกษตรแบบฟูลไทม์ พัฒนาให้เป็นฟาร์ม Business model

“หลังจากเริ่มทำไปพักใหญ่ มีคนเข้ามาเยี่ยมชมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ และถ้าพูดกันตามตรง ในปัจจุบันการทำธุรกิจเกษตร แค่ปลูกผักขายสร้างรายได้ไม่พอที่จะเลี้ยงชีพหรอกครับ แต่ถ้าเรามีคาเฟ่มีร้านอาหาร นำวัตถุดิบที่เรามีมาใช้แปรรูปไว้คอยบริการคนที่มาหาเรา มันก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้เรามากขึ้น”

“ในส่วนของคาเฟ่ร้านอาหารเราเปิดให้บริการเฉพาะช่วงวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ มีคุณสุ – สุคนธ์ แก้วมา ภรรยาผมทำหน้าที่เป็นแม่ครัวหลัก จ้างแรงงานในท้องที่ 2-3 คนมาเป็นลูกมือ เราเริ่มจากเสิร์ฟอาหารจานเดียวแบบง่ายๆ ที่เราถนัดและทำกินกันเองในบ้านอยู่แล้ว ข้าวไข่เจียว ข้าวผัดกะเพรา เมนูอาหารก็คิดพัฒนากันมาเรื่อยๆ ดูจากวัตถุดิบที่เรามีในฟาร์มเป็นหลัก ส่วนพวกเครื่องดื่มก็อาศัยเรียนรู้ ทดลองทำกันเอง และเวลาที่เราซื้อเครื่องทำกาแฟ เขาก็จะมีสูตรสำเร็จมาให้ครับ”

ต้นไม้ใหญ่ที่นกปลูกให้      

“เดิมทีนี้เป็นพื้นที่โล่งโล่งเลยครับ ผมปลูกต้นไม้เองไม่กี่ต้น ก้ามปู สาเก มะม่วง หูกระจง ส่วนที่เหลือนกเป็นคนปลูกทั้งนั้นครับ ผมก็ปล่อยให้เขาโต แล้วค่อยมาคัดดูอีกที ต้นไหนที่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะ ให้ร่มเงาให้ความร่มรื่นก็ปล่อยไว้ ที่เหลือก็ถอนทิ้เมื่อก่อนเราก็ทำนาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ครับ แต่พอทำคาเฟ่ต้องเปลี่ยนเป็นที่จอดรถแทน”

เล้าไก่และอุโมงค์ดูแบบมาจาก Pinterest ของต่างประเทศ เวลาไก่เดิมมันจะขี้ไปเรื่อยๆ การทำเล้าแบบนี้แดดส่องถึง ลมพัดระบายอากาศดี ช่วยให้ขี้ไก่แห้งเร็ว ไม่ส่งกลิ่นเหม็น ทำความสะอาดง่ายและไม่ต้องทำความสะอาดบ่อย ใช้เป็นโครงเหล็กเพื่อความแข็งแรงและป้องกันหมาและสัตว์อื่นๆ เข้าไปรบกวนไก่

ที่นี่เลี้ยงไก่ไข่พันธุ์โรดไอส์แลนด์ มีอายุใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มแก่ ออกไข่น้อยลง

สองไร่ฟาร์มสเตย์

“ตั้งใจทำบ้านพักไว้ตั้งแต่แรกแล้วครับ คนจากที่ไกลๆ ที่มาดูงานเยี่ยมชมฟาร์มเขาก็ต้องมีที่พัก เราตั้งใจให้เขามาอยู่กับเราทั้งวัน ตื่นเช้าใส่บาตร เลี้ยงไก่ ปลูก ดูแลและเก็บผักไปขาย ไปทำอาหารกิน ให้เขาเรียนรู้การใช้ชีวิต รู้ว่าเกษตรกรอยู่กันยังไง สอนการออกแบบพื้นที่ เผยแพร่หลักเกษตรทฤษฎีใหม่เขาได้รู้ครับ”

“แปลงปลูกผักใช้วิธียกแปลงดินครับ ก่อกระบะยกสูงจากพื้นเพื่อให้ดูสวยงามเป็นระเบียบ ทำงานสะดวก และเปลี่ยนดินปลูกได้ง่าย ส่วนดินปลูกเราก็ผสมกันเองครับ ใช้ปุ๋ยคอก (ขี้วัว) ผสมกับดินที่สั่งซื้อมาอัตราส่วนเท่ากัน บางครั้งก็ใส่มูลไส้เดือนบ้าง แล้วหมักทิ้งไว้ ทำแบบง่ายๆ ไม่ได้พิถีพิถันอะไรมากนักครับ

“พืชผักที่ปลูกที่นี่ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้าน ผักสวนครัวที่ใช้ในร้าน ซื้อต้นกล้ามาปลูกและตัดขยายพันธุ์ปักชำเอาเองครับ เป็นผักที่ปลูกง่าย เลี้ยงง่าย ดูแลก็ง่าย ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา ไม่ต้องถึงขั้นทำตารางเวลาว่าจะต้องเพาะเมื่อไหร่ ปลูกเมื่อไหร่ เก็บผักเมื่อไหร่ แค่ดูว่าอะไรโทรมอะไรเหลือน้อยก็ปลูกเพิ่มแค่นั้นเองครับ

“แต่ถ้าเป็นผักอื่นๆ และผักสลัดจะปลูกอยู่อีกทีหนึ่งครับ เขาเป็นลูกเพจที่ทำธุรกิจผ้าม่าน แต่ชอบทำการเกษตรเหมือนกัน เขาไปเรียนมาจากเกษตรสุขกลางกรุง ณ. ทุ่งบางเขน เขาปลูกผักเก่งกว่าผมอีกครับ เขาปลูกของเขาอยู่แล้วหลายไร่แต่ไม่มีที่จะขาย เลยมาเป็นฟาร์มคอนแทคกัน ผมแค่เข้าไปตรวจดูว่าเขาไม่ใช้สารเคมี ที่นั่นเราปลูกแบบออร์แกนิคครับ”

ฟาร์มคาเฟ่ เกษตรทฤษฎีใหม่
บ่อน้ำขนาด 20×40 เมตร ลึก 2 เมตร เป็นบ่อที่เจ้าของที่เดิมขุดไว้แล้ว เลี้ยงปลานิล ปลาช่อน ปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ

ศาลาริมน้ำสร้างจากเศษไม้เก่า ผนังไม้ไผ่ขัดแตะจากเมืองลำปาง ปูเสื่อวางหมอนขวาน มุมนั่งเล่นพักผ่อน กินข้าวจิบกาแฟสำหรับลูกค้า

จะสังเกตได้ว่าทุกพื้นที่ในฟาร์มแยกเป็นสัดส่วน ทุกอย่างถูกจัดวางอย่างมีดีไซน์ ดูทันสมัย สบายตา ไม่ว่าจะเป็นทางเดินไปยังส่วนต่างๆ พื้นที่ปลูกผัก เนื่องจากคุณพันธ์ชอบงานออกแบบ ชอบอะไรที่ดูเป็นระเบียบสวยงาม อีกจุดที่น่าสนใจคือ การนำของเหลือใช้และวัสดุหาง่ายในท้องถิ่นที่มีราคาไม่แพงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คนที่เข้ามาศึกษาดูงานสามารถนำไปทำตามได้

“๒ Rai Farm Shop”

“๒ Rai Farm Shop” ธุรกิจเสริมที่เป็นร้านฟาร์มช็อปเล็กๆ เพื่อรองรับผลผลิตที่มีมากเกินใช้ เป็นแหล่งรวมสินค้าจากกลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สินค้าชุมชน สินค้า OTOP ที่คุณพันธ์หามาจากทั่วประเทศ ฟาร์มพันธมิตร รวมไปถึงพืชผักจากชาวบ้านที่ร่วมโครงการ “๑ บ้าน ๑ งาน” และลูกบ้านจากโครงการ “เกษตรวิลเลจ”  

“ตอนนี้มีอยู่ 2 สาขา คือที่ Cherry Mall คลองหลวง และที่ The Satit Space ธรรมศาสตร์รังสิตครับ ในอนาคตจะขยายสาขาเพิ่มให้ได้ 10 สาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และคิดว่าจะเปิดร้านที่ฟาร์มด้วยครับ และถ้าในอนาคตเราแข็งแรงมั่นคงพออาจจะเปิดขายในลักษณะแฟรนไชส์ด้วย

“ตอนนี้เรายังต้องการสินค้าเพิ่มนะครับ พวกสินค้าเกษตรที่น่าสนใจ มีสตอรี่มีเรื่องเล่า ติดต่อเข้ามาได้เลยครับ”

ฟาร์มคาเฟ่ เกษตรทฤษฎีใหม่

โครงการ “๑ บ้าน ๑ งาน”  

“โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เรามีฟาร์มช็อปแล้วครับ ที่ร้านเรามีแค่ผักสลัด ส่วนผักพื้นบ้าน ผักสวนครัวยังมีค่อนข้างน้อย ผมขับรถผ่านไปเห็นชาวบ้านปลูกผักไว้กินเองตามบ้าน เลยเข้าไปพูดคุยถามความสมัครใจว่าต้องการปลูกส่งขายกันไหม ในหนึ่งบ้านอาจปลูกผักหลายอย่างแต่แต่ละบ้านจะปลูกผักไม่ซ้ำกัน เพื่อไม่ให้ล้นตลาดจนเกินความต้องการครับ เลือกบ้านที่อยู่ในเส้นทางระหว่างฟาร์มกับร้านฟาร์มช็อป เพื่อประหยัดค่าขนส่งและทำงานสะดวก

“ผักเหล่านี้ปลอดภัยไว้ใจได้ครับเพราะชาวบ้านเขาปลูกไว้กินเองอยู่แล้ว เราปล่อยให้เขาปลูกเขาทำตามที่เขาทำอยู่แล้ว แค่เข้าไปตรวจว่าไม่ใช่ยาไม่ใช่สารเคมี เราจะแวะไปรับผักที่บ้านเขาอาทิตย์ละครั้งช่วงวันเสาร์หรืออาทิตย์ครับ”

ฟาร์มคาเฟ่ เกษตรทฤษฎีใหม่

โครงการ “เกษตรวิลเลจ”

“ตอนที่มีคนเข้ามาศึกษาดูงานฟาร์มเราเยอะขึ้น ผมก็ได้เรียนรู้ว่าคนส่วนใหญ่อยากเป็นเจ้าของฟาร์มแบบนี้บ้าง และการที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายตามองค์กรและสถานศึกษาเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรแปลงเล็ก การจัดการบริหารฟาร์มขนาดเล็ก การทำฟาร์มเกษตร การทำธุรกิจเกษตร และการสร้างแรงบันดาลใจในการทำเกษตร ผมก็มองเห็นช่องทางทำธุรกิจใหม่คือการทำแปลงเกษตรขาย สร้างเป็นโครงการ “เกษตรวิลเลจ” ครับ

“ตอนนี้ทำเป็นมินิฟาร์ม จะมีแปลงปลูกผัก มีเล้าไก่ มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีบ่อน้ำ ไม่มีบ้านพักอาศัย ชื่อโครงการว่า “ฟาร์มวิว” อยู่ที่คลอง 3 หลังโรงเรียนสวนกุหลาบ มี 9 แปลง ขนาด 125 ตารางวา ราคา 2,900,000 บาท ส่วนอีกโครงการอยู่ที่อำเภอเสนา ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ราคา 2,700,000 บาทครับ ทุกโครงการเรามีบริการจัดการดูแลให้ถ้าเจ้าของไม่มีเวลา และรับซื้อผลผลิตทั้งหมดมาขายที่ร้าน “๒ Rai Farm Shop” ด้วยครับ”

ทิ้งท้ายให้คิดในการทำ ฟาร์มคาเฟ่ เกษตรทฤษฎีใหม่

“คำแนะนำแรกจากผมสำหรับคนที่คิดจะมีธุรกิจเกษตรคือคุณต้องไม่มีหนี้ครับ หาที่ดินสักผืนขนาด 1 ไร่กำลังดี ในราคาที่คุณสู้ไหว และมั่นใจว่าขายต่อแล้วจะไม่ขาดทุนในกรณีที่คุณล้มหรือทำต่อไม่ไหว มีเงินทุนสำรองให้พอใช้อยู่ได้ในช่วงที่รอขายผลผลิต อาจจะต้องประหยัด ลดรายจ่าย และทำบัญชีครัวเรือน การทำบัญชีครัวเรือนเป็นสิ่งที่สำคัญและเห็นผลนะครับ เพราะจะทำให้เรามองเห็นรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน อีกเรื่องที่สำคัญคือ ศึกษาหาข้อมูลในสิ่งที่กำลังจะทำ สร้างแบรนด์ และรู้ว่าจะขายให้กับใคร”

“อย่ามองว่าการทำเกษตรจะต้องจนครับ เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการของการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อไว้กินไว้ใช้ในครอบครัว ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เหลือกินก็นำไปขาย ในความพอเพียงนั้นเราก็สร้างรายได้ได้ครับ”

หากคุณสนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมในทุกเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น อยากเข้าไปพูดคุยเยี่ยมชม ไปจิบกาแฟกินข้าว ติดต่อเป็นวิทยากร ขอคำปรึกษา หรืออยากให้ช่วยออกแบบจัดสรรพื้นที่ในฟาร์ม สามารถติดต่อคุณพันธ์ได้ที่ โทร. 09-2695-7926 เพจ “สองไร่ สโลว์ไลฟ์ ฟาร์ม”

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

เลี้ยง“ชันโรง” ผึ้งจิ๋วผลิตน้ำผึ้งและผสมเกสร เพิ่มผลผลิตทั้งไม้ผลและผัก

Chicken Tunnel ประโยชน์ของอุโมงค์ทางเดินไก่