มรดก มรดกหนี้ ทายาทต้องชดใช้หนี้ไหม - ช่างประจำบ้าน โดย บ้านและสวน

มรดกหนี้ ทายาทต้องชดใช้หนี้ทั้งหมดไหม

ใครได้ มรดก มาก็ดีใจ แต่ถ้าผู้ตายมีหนี้สินด้วย ผู้รับมรดกจำเป็นต้องชดใช้แทนผู้ตายไหม และเท่าไร มาดูข้อกฎหมายกัน โดยเริ่มจากการเข้าใจว่า มรดกคืออะไร

มรดก
ภาพ : milin-john-unsplash

มรดก คือ ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อน หรือขณะถึงแก่ความตาย รวมถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัว เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้าน  ห้องชุด รถยนต์ หรือเงินฝากในธนาคาร เป็นต้น

  • สิทธิหน้าที่และความรับผิดของเจ้ามรดก ส่วนใหญ่หมายถึง หนี้ที่ผู้ตายก่อไว้ในขณะมีชีวิตอยู่ เช่น หนี้เงินกู้ หรือหนี้ทางละเมิด เป็นต้น
  • ทั้งนี้ทายาทต้องรับไปทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายตามมาตรานี้ แต่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ไม่ต้องรับผิดไปเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดถึงตัวทายาทเอง (ตามมาตรา 1601)
  • โดยเมื่อตาย มรดกตกทอดทันที ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกตั้งแต่เจ้ามรดกตาย  แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธินั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ก็ตาม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2506 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599)
ภาพ : ravi-avaala-unsplash

ตัวอย่างคดี

คำถาม : เจ้าหนี้สามารถฟ้องให้ทายาทให้ชดใช้หนี้ได้หรือไม่

คำตอบ : ฟ้องร้องได้ เช่น ก. กู้เงินไปจากโจทก์ เมื่อ ก. ตาย โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ก. ให้ชำระหนี้เงินกู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737

(อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2535)

คำถาม : ทายาทต้องชดใช้หนี้ของผู้ตายทั้งหมดหรือไม่

คำตอบ : ชดใช้ไม่เกินมูลค่าทรัพย์มรดกที่ได้รับมา เช่น กรณีมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ที่บิดาของจำเลยได้กระทำไว้ก่อนถึงแก่กรรม จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของเจ้ามรดก(ผู้ตาย) มิใช่เป็นกองมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นทายาท (ตามป.พ.พ.มาตรา1600) จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์ หากจำเลยได้รับมรดกก็รับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ (ตามป.พ.พ.มาตรา1601)

โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับถึงทรัพย์สินของจำเลยที่มิใช่ทรัพย์มรดก จึงฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ (ตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯมาตรา82.)

(อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2529)


เรื่อง : คเณศร์ สร้อยสายทอง, ณัฐชาพร นิตย์โชติ – ทนายความ


ผู้รับเหมาส่งมอบงาน แต่บ้านยังชำรุด ทำอย่างไร

กฎหมายรับมือ ผู้รับเหมาเบี้ยวส่งมอบงาน – งานมีปัญหา

ติดตามบ้านและสวน