บ้านตู้คอนเทนเนอร์สไตล์ไทยประยุกต์ ภูมิปัญญาไทยที่ปรับให้เข้ากับวิถีสมัยใหม่
บ้านตู้คอนเทนเนอร์สไตล์ไทยประยุกต์ หลังนี้ เป็นบ้านเชิงทดลองทั้งเรื่องการใช้พื้นที่แบบบ้านไทยกับการใช้งานจริงในปัจจุบัน และเรื่องวัสดุสมัยใหม่ ทุกพื้นที่ใช้สอยมีแก่นความคิดมาจากภูมิปัญญาไทย โดยไม่จำเป็นต้องมีหลังคาจั่วหรือสร้างเรือนไม้แบบบ้านไทยเดิม
เมื่อเห็นหลังคาผ้าใบสีขาว โครงสร้างเหล็กรูปทรงโฉบเฉี่ยว และผนังสีสดทำให้นึกว่ามีสนามเด็กเล่นตั้งอยู่ในบริเวณนี้เสียอีก แต่จริงๆแล้วบริเวณนี้เป็น บ้านตู้คอนเทนเนอร์สไตล์ไทยประยุกต์ ซึ่งสร้างจากผลงานวิจัยเรื่อง “สภาวะสบายและการปรับตัวเพื่ออยู่แบบสบายของคนในท้องถิ่น” ของ คุณกวง – รองศาสตราจารย์ ดร.กิจชัย จิตขจรวานิช เจ้าของบ้าน
“เราได้ออกภาคสนามจึงเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสภาพและปัจจัยแวดล้อมในท้องถิ่น สถาปัตยกรรมและการปรับตัวของคนเพื่อให้อยู่แบบสบายเป็นแนวคิดของการสร้างเรือนไทย ซึ่งผมนำมาใช้ออกแบบบ้านหลังนี้ โดยแยกอาคารเป็นสองหลัง หลังแรกเป็นส่วนรับประทานอาหารและครัว อีกหลังเป็นห้องนอนและห้องน้ำ แล้วเชื่อมด้วยชานกลางบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยแบบบ้านไทยที่อยู่สบาย และมีใต้ถุนบ้านที่เตรียมไว้ใช้งานในอนาคต”
ด้วยความที่เจ้าของบ้านเป็นสถาปนิก จึงคำนึงถึงการใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและช่วงเวลาที่ใช้งานเป็นหลัก เริ่มจากทางขึ้นบ้านที่เชื่อมต่อกับบ้านเดิมทำเป็นทางลาดโค้ง เพื่อให้ไม่รู้สึกว่าต้องเดินขึ้นชั้น 2 ทั้งยังให้ความรู้สึกคล้ายกำลังเล่นในสนามเด็กเล่น เหมือนกลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง และหลังจากเดินขึ้นสู่ชานไม้หน้าบ้านที่ร่มรื่นด้วยเงาไม้และมีม้านั่งโดยรอบ ซึ่งใช้เป็นส่วนรับรองแขก เราก็จะพบห้องอาหารและส่วนครัวที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้สามารถพับปรับขนาดได้ตามจำนวนคนที่ใช้งาน มีประตูบานเฟี้ยมเชื่อมต่อกับชานไม้กลางบ้านที่เปิดโล่งไปสู่ริมน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ใช้นั่งพักผ่อน เมื่อมีแขกมาร่วมรับประทานอาหารมื้อเย็นก็จะปูเสื่อแล้วนั่งกับพื้น สร้างความรู้สึกเป็นกันเองและเย็นสบายใกล้ชิดธรรมชาติ
“ลูกสาวคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากทำบ้านให้เหมือนสนามเด็กเล่น เวลาหลานๆหรือเพื่อนของเขามาก็จะวิ่งเล่นกัน ทุกคนก็จำบ้านเราได้แล้วอยากมาเที่ยวอีก เราทำทางลาดโค้ง ใช้ผนังสีสด ส่วนพื้นห้องกับชานที่ต่างระดับกันทำให้เด็กได้ปีนขึ้น-ลง แล้วมองลอดช่องโน้นช่องนี้เห็นมุมต่างๆของบ้าน เขาจะสนุกกันมาก เราให้ชื่อว่า ‘บ้านข้าวปั้น’ ตามชื่อลูก เพราะเราสร้างให้เขาได้ใช้งานร่วมกับเราด้วย“
“บ้านเราเป็นแบบเชิงทดลอง ทั้งเรื่องการใช้พื้นที่แบบบ้านไทยกับการใช้งานจริงในปัจจุบัน และเรื่องวัสดุสมัยใหม่ อย่างห้องทั้งสองหลังที่ดูคล้ายตู้คอนเทนเนอร์เป็นระบบผนังที่ทำจากแผ่นเหล็กเคลือบสีประกบกันโดยมีฉนวนโฟมอยู่ตรงกลาง ทำให้โครงสร้างเบาและกันความร้อนได้ดี ส่วนหลังคาที่คลุมชานกลางบ้านเป็นผ้าใบสีขาวที่สามารถฉีดน้ำล้างคราบฝุ่นออกได้ ส่วนพื้นเป็นไม้สนสวีเดนที่เมื่อใช้ไปนานๆก็จะเปลี่ยนเป็นสีเทา ดูเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง”
แม้ภายนอกบ้านจะดูสมัยใหม่สะดุดตา แต่ทุกพื้นที่ใช้สอยก็มีแก่นความคิดมาจากภูมิปัญญาไทย โดยไม่จำเป็นต้องมีหลังคาจั่วหรือสร้างเรือนไม้แบบบ้านไทยเดิม เมื่อวิถีชีวิตของคนปัจจุบันเปลี่ยนไป งานสถาปัตยกรรมก็ควรปรับให้สอดคล้องกันทั้งเรื่องวัสดุและการใช้สอยพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งรากแก้วเดิม
เจ้าของ – ออกแบบ : ครอบครัวจิตขจรวานิช
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : จิระศักดิ์ ทองหยวก, วิรุฬห์ วัฒนโกสิน
สไตล์ : ประไพวดี โภคสวัสดิ์