วิธีใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างถูกต้อง และอยู่ร่วมกับน้ำอย่างมีความสุข - บ้านและสวน

วิธีใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างถูกต้อง และอยู่ร่วมกับน้ำอย่างมีความสุข

ทุกวันนี้สภาพดินฟ้าอากาศค่อนข้างแปรปรวน และสร้างผลกระทบที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การดำเนินชีวิตไปจนถึงสวนในบ้าน โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำ” ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำหลาก หรือน้ำกัดเซาะ

การเตรียมรับมือปัญหาดังกล่าวด้วยความเข้าใจ จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้การอยู่ร่วมกันระหว่างคน สวน และ น้ำ เป็นไปได้ด้วยดี และมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

อยู่ร่วมกันกับน้ำ

น้ำ เป็นทรัพยากรที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสวน การทำความเข้าใจว่าที่ตั้งของสวนหรืออาณาเขตของบ้านอยู่ในบริเวณไหน ก็ช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้อย่างถูกต้อง และอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างมีความสุข ในที่นี้ขอแบ่งพื้นที่อย่างง่าย เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

1.ป่าฝน ต้นน้ำ

แม้ว่าป่าต้นน้ำจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนเป็นเจ้าของได้ แต่ที่ราบสูงและภูเขาที่เป็นพื้นที่ของเอกชนซึ่งมีบริเวณติดต่อกับป่าธรรมชาติก็ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์และเกี่ยวพันกับพื้นที่ต้นน้ำ ส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม โดยดึงน้ำไปใช้รดพืชพรรณและเป็นที่ระบายน้ำในสวนออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง จึงควรงดใช้สารเคมี และควรมีการจัดทางระบายน้ำให้น้ำจากแหล่งเกษตรกรรมได้รับการบำบัด ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย 

ต้นไม้ตามธรรมชาติทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน แม้กระทั่งเฟินและมอสส์ก็มีส่วนช่วยดูดซับน้ำและรักษาหน้าดินได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ควรอนุรักษ์ต้นไม้บริเวณรอบ ๆ โดยเฉพาะริมน้ำ ทั้งไม้ยืนต้นและไม้ชายน้ำ เนื่องจากมีส่วนในการยึดเกาะตลิ่งและดูดซับน้ำ จึงช่วยชะลอความรุนแรงของน้ำและลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่มได้ รวมถึงไม่ควรสร้างศาลาหรือสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ ซึ่งอาจก่อปัญหาเรื่องทิศทางการไหลและความแรงของน้ำในบริเวณดังกล่าว ส่วนการทำฝายชะลอน้ำก็ควรศึกษาความสมดุลของแหล่งน้ำว่ามีความจำเป็นหรือไม่ เพราะในพื้นที่บางแห่งมีน้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง การสร้างฝายมากเกินไปจะเป็นการขังน้ำให้เน่าเสีย และทำให้น้ำไหลไปยังพื้นที่ด้านล่างได้น้อยกว่าปกติ สำหรับวัสดุที่ใช้ก่อสร้างฝายควรเป็นหิน หรือไม้ไผ่ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าการสร้างฝายคอนกรีตถาวร ซึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำตามธรรมชาติได้

2.กลางน้ำ ใกล้ชุมชน

พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มที่มีคนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบจากน้ำได้ง่าย ควรสังเกตปริมาณน้ำในที่ดินและบริเวณรอบ ๆ ว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าบริเวณใกล้เคียงซึ่งน้ำท่วมถึงหรือไม่ นอกจากนี้การออกแบบบ้านในลักษณะยกใต้ถุนสูง หรือปลูกไม้พื้นถิ่นที่ทนน้ำท่วมขังได้ดี ก็ช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ในบ้านและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมได้ หรือหากจำเป็นต้องนำดินจากภายนอกมาถมควรตักเอาหน้าดินเดิมออก แล้วถมดินใหม่ลงไปก่อน จากนั้นจึงนำหน้าดินเดิมมาถมทับด้านบนอีกที เนื่องจากมีสารอาหารมากกว่าและดูดซึมน้ำได้ดีกว่าดินถมใหม่ ซึ่งส่วนมากเป็นดินเหนียวในชั้นดินดาน ในกรณีที่อยู่บริเวณพื้นที่ต่ำและมีที่ดินกว้างมากควรทำบ่อเก็บน้ำ สำหรับเป็นแก้มลิงรับน้ำในฤดูน้ำหลาก รวมถึงยังเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย

น้ำ
ควรมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ในจุดที่ต่ำกว่าพื้นที่รอบๆ สำหรับระบายน้ำและเก็บไว้ใช้รดน้ำต้นไม้ โดยอาจมีกังหันวิดน้ำช่วยเติมอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเน่าเสีย

ส่วนพื้นที่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ควรสังเกตทิศทางการไหลของน้ำว่าอยู่ในจุดที่เป็นส่วนโค้งส่วนเว้าหรือไม่ รวมถึงทิศทางลมที่ทำให้เกิดคลื่นมากระทบริมตลิ่งว่ามีมากน้อยเพียงใด หากมีคลื่นแรงมากหรืออยู่บริเวณส่วนเว้าของแม่น้ำลำคลองอาจต้องทำตลิ่งให้แข็งแรง เนื่องจากอาจจะเกิดแรงน้ำกัดเซาะตลิ่งภายในที่ดินเรา แต่หากอยู่ในส่วนโค้งหรือริมฝั่งน้ำที่อยู่ในแนวตรง ควรหลีกเลี่ยงการทำตลิ่งด้วยคอนกรีตหรือโครงสร้างที่แข็งจนเกินไป เพราะจะทำให้น้ำไหลแรงขึ้น เป็นผลให้น้ำกัดเซาะตลิ่งรุนแรงมากขึ้น อาจทำตลิ่งไม้ไผ่ แล้วปลูกไม้ชายน้ำหรือถมหินให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของพืชพรรณพื้นถิ่นและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำจะดีกว่า

3.ปลายน้ำ ชายทะเล

ที่ดินซึ่งอยู่บริเวณปากแม่น้ำและริมทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศป่าชายเลนและป่าชายหาด ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำค่อนข้างรุนแรง โดยพื้นที่สวนที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำหรือพื้นที่ชายทะเลจะมีลักษณะเป็นดินเลน จึงมักพบพรรณไม้ชายเลน เช่น โกงกาง แสม ลำพู และเสม็ดขาวขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ต้นไม้เหล่านี้ ถือเป็นตัวช่วยไม่ให้พื้นที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะเสียหาย เพราะหากต้นไม้ถูกตัดหรือมีการถมดินใหม่ทับมากเกินไป ไม่นานพื้นที่ดังกล่าวก็จะถูกน้ำทะเลกัดเซาะและพังทลายในที่สุด แม้จะมีการตอกเสาเข็มหรือเตรียมงานโครงสร้างไว้อย่างแข็งแรงแล้วก็ตาม

น้ำ

ส่วนสวนริมทะเลที่มีลักษณะเป็นหาดทราย หรือดินปนทรายมักจะประสบปัญหาทั้งการกัดเซาะจากน้ำทะเลและไอทะเลที่มากับลม ซึ่งจะมีเกลือคอยกัดกร่อนวัสดุก่อสร้างให้ผุพังได้ง่าย จึงควรใช้วัสดุธรรมชาติที่มีความแข็งแรง เช่น หินแกรนิต กรวดล้าง หรือไม้ที่หาได้ในพื้นที่ ในด้านการจัดสวนพบว่าต้นไม้ทั่วไปจะเจริญเติบโตได้ช้า ยกเว้นไม้พื้นถิ่น  เช่น จิกทะเล คนทีสอทะเล เตยทะเล สนทะเล มะพร้าว ที่เจริญเติบโตได้ดี จึงใช้ในการจัดสวนได้