สุนทรียะแห่งชีวิตในบ้านริมผา ของศิลปินแห่งชาติ ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์
บ้านริมผา บ้านพักอาศัยที่สะท้อนปรัชญา “การบรรจบกันของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมสู่สุนทรียะแห่งการใช้ชีวิต” เปรียบบ้านเหมือนผืนผ้าใบว่างๆ ให้คนที่มาอยู่ได้มาเติมเต็มความหมายในแบบของตัวเอง
บ้านริมผา ที่เรามาเยือนในครั้งนี้ ทำให้นึกไปถึงนิยามที่ว่า “การบรรจบกันของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมสู่สุนทรียะแห่งการใช้ชีวิต” บ้านซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณ “หน้าผา เขาใหญ่ รีสอร์ต” สถานที่แสนพิเศษที่ ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ในปี 2564 ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อมอบประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดาให้แก่ผู้มาเยือน บูติกรีสอร์ตในเหมืองหินเก่าแห่งนี้ผ่านการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ที่ซึ่งการขยายโครงการครั้งล่าสุดคือการปรับปรุงพื้นที่ริมหน้าผาเหนือรีสอร์ตให้เป็นบ้านพักอาศัยสามหลังในเฟสแรกสำหรับเปิดขาย โดยยังคงสะท้อนปรัชญาการใช้ชีวิตดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ซึ่งคราวนี้ บ้านและสวน ได้รับเกียรติให้เข้าเยี่ยมชม รวมถึงพูดคุยกับทั้งอาจารย์ถาวร และสถาปนิกผู้ออกแบบ รองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ จาก Research Studio Panin ด้วย
“การซื้อบ้านหลังนี้จริงๆ เหมือนเป็นการมารับช่วงต่อบ้านของอาจารย์ถาวรเลยค่ะ เพราะท่านออกแบบเหมือนใช้อยู่เอง เลือกวัสดุที่ดีที่สุด สวยที่สุด ผ่านสายตาการมองความงามของท่าน”
อาจารย์ต้นข้าวเล่าขณะที่เรานั่งคุยกันตรงระเบียงบ้านหนึ่งในสามหลัง ซึ่งตอนนี้มีเจ้าของครบหมดทุกหลังแล้ว บ้านทั้งสามหลังออกแบบเหมือนกัน โดยมีฟังก์ชันประกอบด้วยห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่พร้อมครัวเตรียมอาหารแบบเปิดโล่ง เชื่อมต่อกับระเบียงภายนอกและสระว่ายน้ำซึ่งสามารถมองเห็นบริเวณรีสอร์ตด้านล่างได้ทั้งหมด มีคอร์ตกลางบ้านที่กั้นระหว่างโซนห้องนั่งเล่นกับห้องนอนสองห้องซึ่งเข้าจากทางเดินริมคอร์ตด้านนอก พร้อมห้องน้ำในตัว “อากาศที่นี่ดีมากค่ะ เหมาะกับการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องเปิดแอร์ การเข้าๆ ออกๆ ทำให้เราได้ออกมาสัมผัสอากาศภายนอกและช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปของวัน”
ตัวบ้านออกแบบด้วยรูปทรงที่ตรงไปตรงมา แต่ยังดูมีความเป็นบ้านด้วยหลังคาจั่วที่หันชายคาไปทางด้านหน้าและด้านหลังขนานไปกับระเบียงและสระว่ายน้ำ องค์ประกอบต่างๆ อย่างผนังสีเทา พื้นระเบียงหิน ประตู-หน้าต่างกระจกบานใหญ่ รวมถึงส่วนผสมระหว่างวัสดุไม้ หิน และเหล็ก ทำให้บ้านดูกลมกลืนไปกับรีสอร์ตและบรรยากาศของเหมืองหินเก่า ขณะเดียวกันรูปลักษณ์ที่เรียบและนิ่งก็ทำให้เกิด บทสนทนาระหว่างบ้านและบริบทเดิม ตามที่อาจารย์ต้นข้าวอธิบายว่า “ปกติแล้วบริบทโดยรอบมักทำหน้าที่เป็นฉากหลังให้บ้านซึ่งเป็นจุดสนใจค่ะ แต่สำหรับที่นี่ บริบททำหน้าที่เป็นวัตถุทางศิลปะในตัวเองด้วย ขณะที่บ้านก็ทำหน้าที่เป็นฉากหลังให้เราได้ชื่นชมความงามของบริบทเช่นกัน อยากให้เมื่อบ้านเสร็จแล้วกลายเป็นเหมือนแกลเลอรี่ เหมือนผืนผ้าใบว่างๆ ให้คนที่มาอยู่ได้มาเติมเต็มความหมายในแบบของตัวเอง”
ด้วยความเป็นเหมืองหินเก่า วัสดุหินที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ถูกนำมาใช้นำเสนอเป็นองค์ประกอบเด่นภายในบ้าน อย่างผนังตรงปลายสุดของห้องนั่งเล่นและผนังรอบนอกเคาน์เตอร์ครัวที่กรุด้วยหินทั้งผืน รวมถึงนำมาสร้างเป็นกำแพงเกเบียน (Gabion) บริเวณรั้วหน้าบ้าน ผิวสัมผัสหินธรรมชาติที่ตัดกับผนัง พื้น และบานกระจกที่เรียบเกลี้ยง สร้างความน่าสนใจให้บ้าน และตอกย้ำถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในเหมืองหินเก่าซึ่งกลายมาเป็นหน้าผา เขาใหญ่ รีสอร์ตในปัจจุบัน ตามที่อาจารย์ถาวรกล่าวว่า “การทำเหมืองหินอาจพูดได้ว่าเป็นการขุดทำลาย แต่วันนี้การขุดทำลายนั้นสิ้นสุดลงแล้ว เหมืองเก่ากลายมาเป็นสถานที่ให้ก้อนหินได้แสดงตัวตน เป็นที่ที่เขาอยู่ มีหน้าที่ของตัวเอง มีความงามรอให้ทุกคนได้มาชื่นชม”
ตลอดช่วงเวลาสั้นๆ ที่เรานั่งพูดคุยกันตรงระเบียงริมสระว่ายน้ำ ทิวทัศน์ของหน้าผา เขาใหญ่ รีสอร์ต ที่อยู่ตรงหน้าเป็นประจักษ์ชัดถึงสุนทรียะที่รังสรรค์ขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมและงานศิลปะ ณ สถานที่ที่เปี่ยมด้วยคุณค่า
“มีคนเคยบอกว่า เขาใหญ่เป็นสถานที่พิเศษที่ทำให้ชีวิตของเรายืนยาวขึ้น” อาจารย์ถาวรเล่า ลมเย็นๆ ที่พัดขึ้นมาจากหุบเขาโล่งกว้างขัดจังหวะให้บทสนทนาเงียบลงครู่หนึ่ง เปิดโอกาสให้เราได้ฟังเสียงน้ำตกที่ดังอยู่ด้านล่าง รู้สึกถึงลมที่พัดผ่านใบหน้า และสูดอากาศหายใจอย่างสดชื่น การได้ใช้เวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีจากธรรมชาติเช่นนี้อาจเป็นสุนทรียะของชีวิตอีกประการหนึ่งที่บ้านหลังนี้จะได้เติมเต็มให้เจ้าของบ้านในอนาคต สอดคล้องกับคำที่อาจารย์ถาวรกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ นอกจากสายลม แสงแดด และอากาศอันบริสุทธิ์”
เจ้าของ : ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์
ออกแบบ : Research Studio Panin โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ ร่วมกับ ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ และคุณกวิศ โกอุดมวิทย์
เรื่อง : Tinnakrit
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : Suntreeya