รวม 12 ปัญหาสวน ที่พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน และฤดูฝน - บ้านและสวน

รวม 12 ปัญหาสวน ที่พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน และฤดูฝน

สวนหรือพื้นที่สีเขียวในบ้าน นอกจากจะช่วยให้ความร่มรื่น ช่วยให้บ้านเย็นขึ้นได้แล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ใช้พักผ่อนหย่อนใจและใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัวได้อีกด้วย

แต่หลายบ้านก็มักจะประสบกับ ปัญหาสวน ไม่สวย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนและช่วงหน้าร้อนที่สภาพอากาศและอุณหภูมิ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของพืชพรรณเปลี่ยนแปลงอย่างมากจนเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบต่อต้นไม้ตามมาได้ เช่น ใบไม้ไม่เขียว เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล หญ้าและวัชพืชขึ้นรกจนเป็นป่า ดังนั้น เจ้าของบ้านจึงต้องเตรียมรับมือและหมั่นสังเกตดูแลอยู่เสมอ เพื่อให้สวนสวยทุกฤดูกาล

ปัญหาสวนหน้าร้อน
ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ซึ่งจะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป อีกทั้งยังร้อนอบอ้าว จนส่งผลให้ทั้งเราและบ้าน รวมถึงสวนต้องเผชิญกับแสงแดดตลอดทั้งวัน ซึ่งถึงแม้ว่าแสงแดดจะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี แต่แสงแดดที่มากจนเกินไปก็ทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ในสวนตามมาได้เช่นเดียวกัน

ต้นไม้ได้รับน้ำไม่เพียงพอ
เนื่องจากในช่วงหน้าร้อนที่มีสภาพอากาศร้อนจัด ต้นไม้จะเกิดการคายน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้นไม้มีโอกาสเหี่ยวเฉาหรือขาดน้ำได้ง่าย จึงแนะนำให้หมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่มากเป็นเท่าตัวของช่วงเวลาปกติ โดยเฉพาะสนามหญ้าที่ต้องมั่นใจได้ว่าพื้นดินชุ่มจริง ๆ ซึ่งเวลาที่เหมาะสมในการรดน้ำต้นไม้คือ ช่วงเวลาไม่เกิน 6-9 โมงเช้า ที่อากาศกำลังดีและเป็นเวลาที่ต้นไม้เริ่มสังเคราะห์แสง หรือช่วงเวลาประมาณ 5 โมง ไม่มีแสงแดดแรงจัดจนเกินไป เพราะหากรดน้ำในช่วงเวลาประมาณหลังเที่ยงเป็นต้นไป แทนที่ต้นไม้จะสามารถดูดน้ำจากใต้ดินไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของลำต้นได้มากขึ้น น้ำที่รดไปอาจไม่ได้ถูกต้นไม้นำไปใช้ นอกจากนี้ การรดน้ำควรรดบริเวณโคนไปจนถึงราก และหลีกเลี่ยงบริเวณดอกและใบ เพราะจะทำให้ดอกร่วง และยิ่งถ้าน้ำไม่ระเหยบวกกับแสงแดดที่ส่องมาอาจทำให้เกิดอาการใบเน่า หรือใบไหม้ตามมาได้

ใบไหม้จากการใส่ปุ๋ย
ในช่วงที่อากาศร้อนไม่ควรให้ปุ๋ยแก่พืชหากไม่จำเป็น และไม่ควรให้บ่อยจนเกินไป เพราะ จะเป็นการเร่งการแตกใบใหม่ ซึ่งใบอ่อนจะไม่ทนต่อสภาพอากาศและแสงแดดที่ร้อนจัด แต่หากจำเป็นควรใส่อย่างระมัดระวัง โดยหากใส่ปุ๋ยแบบเม็ดไม่ควรให้เม็ดปุ๋ยติดค้างอยู่ที่ใบและยอด หรือหากใส่ปุ๋ยทางใบและฉีดยาฆ่าแมลงก็ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่อากาศร้อนจัด เพราะจะทำให้เกิดอาการใบไหม้และไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ แต่ทั้งนี้อาจเลือกใช้วิธีการบำรุงดินให้เหมาะสม ด้วยการเติมอินทรียวัตถุ ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก เพื่อหลีกเลี่ยงใบไหม้จากการถูกความร้อนของปุ๋ยและสารเคมีแทนได้

อุณหภูมิใต้ดินร้อนเกินไป
ในช่วงที่อากาศร้อนจัดมักเกิดปัญหาดินแห้งแตกระแหงและไม่สามารถอุ้มน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นไม้ได้อย่างเพียงพอ เพราะน้ำในดินจะเกิดการระเหยไปในอากาศอย่างรวดเร็วตามอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น เจ้าของสวนจึงควรหมั่นพรวนดินเป็นประจำ เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุย สร้างช่องว่างระหว่างพื้นที่ใต้ดินให้น้ำและอากาศไหลซึมได้อย่างสะดวก รวมถึงปกป้องหน้าดินจากรังสีความร้อนของพระอาทิตย์ อย่าง การปลูกพืชคลุมดิน การเลือกใช้วัสดุ เช่น ฟางข้าว เศษใบไม้แห้ง กาบมะพร้าว หรือกรวดที่มีความลึกอย่างน้อยสามนิ้ว มาคลุมแปลงหรือโคนต้น เพื่อรักษาความชื้นและอุณหภูมิใต้ดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

ตะไคร่ในบ่อน้ำหรือบ่อปลา
แสงแดดเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดตะไคร่น้ำ เนื่องจากตะไคร่ต้องใช้แสงในการสังเคราะห์อาหาร ทำให้ในช่วงที่มีแสงแดดจัดหรือบ่อปลาที่อยู่ในตำแหน่งที่โดนแสงโดยตรง มีโอกาสเกิดตะไคร่น้ำได้ง่ายและขยายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สัตว์น้ำขาดออกซิเจน เกิดปัญหาท่อระบายน้ำหรือบ่อกรองอุดตัน ซึ่งเมื่อระบบน้ำหมุนเวียนได้ไม่ดี ก็จะทำให้น้ำเน่าเสียง่าย และบ่อไม่ใสจนขาดความสวยงาม ดังนั้น จึงอาจป้องกันโดยการสร้างร่มเงา ปลูกต้นไม้ริมบ่อ เช่น จิกน้ำ กระทิง ลำดวน เสม็ดแดง หรือเพิ่มระบบไหลเวียนของน้ำเพื่อทำให้ตะไคร่น้ำเกิดและเติบโตช้าลง นอกจากนี้ สำหรับบ่อน้ำที่ไม่ได้เลี้ยงปลาอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาป้องกันและกำจัดตะไคร่น้ำร่วมด้วย

ใบไหม้หรือเหี่ยวเฉา
เมื่อฤดูกาลเปลี่ยน ทิศทางของแสงแดดก็จะเปลี่ยน โดยในช่วงหน้าหนาวแสงแดดจะอ้อมไปทางทิศใต้ แต่เมื่อเข้าสู่หน้าร้อนแสงแดดจะค่อย ๆ อ้อมกลับมาทางทิศเหนือและสาดส่องลงมาแรง ๆ ตรง ๆ ทำให้ต้นไม้ได้รับแสงกันแบบเต็ม ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าพืชจะต้องการแสงเพื่อการเจริญเติบโต แต่การได้รับแสงแดดมากหรือนานจนเกินไป ก็ทำให้เกิดผลเสียแก่พืชได้เช่นกัน โดยหากต้นไม้ไม่ได้รับปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการระบายความร้อน ต้นไม้จะปิดปากใบลงเพื่อควบคุมการระเหย ทำให้ใบเหี่ยวเฉา และเกิดอาการแห้งตาย หรือเรียกว่าอาการ sun burn ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะพบในไม้อวบน้ำ ไม้ในร่ม และไม้ที่ต้องการแสงแดดครึ่งวันรำไร

• โรคและศัตรูพืช
ในฤดูร้อนเป็นช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัดและมีความชื้นต่ำ ทำให้วัชพืชหรือศัตรูของพืชจำพวกแมลงต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายทำให้ต้นไม้เติบโตช้าและเสื่อมโทรมเร็ว สามารถเจริญเติบโตได้ดี เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และไรต่างๆ เจ้าของสวนจึงควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงในสวนอยู่เสมอ

  • เพลี้ยไฟ : แมลงศัตรูพืชขนาดเล็ก สีเหลืองนวล เหลืองปนน้ำตาล หรือน้ำตาลเข้มและสีดำ จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ดอก และผล ทำให้เกิดรอยด้านหรือรอยแผลสีน้ำตาล สามารถกำจัดได้โดยการใช้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่าแก่ กระเทียม หรือใช้สารเคมีป้องกันกำจัด
  • เพลี้ยอ่อน : เพลี้ยอ่อนเป็นแมลงที่มีขนาดเล็กเท่าหัวเข็ม ลำตัวอ่อนนุ่มสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีดำเข้ม ชอบดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบ ยอด หรือดอก ทำให้มีอาการใบหงิกงอ ใบเหลืองร่วง ต้นไม่แตกยอดอ่อน ไม่ออกดอก ดอกเหี่ยวและอ่อนแอ หากพบให้ตัดกิ่งไปทำลาย หรือฉีดพ่นด้วยมาลาไธออน เซฟวิน หรือเอส 85
  • เพลี้ยแป้ง : ถ้าพบเพลี้ยแป้งเป็นจำนวนน้อยเกาะอยู่ตามใบ หรือส่วนที่ตัดทิ้งได้ให้ตัดทิ้งไปก่อน แล้วเลือกใช้วิธีธรรมชาติ เช่น น้ำยาล้างจาน พริกสด เหล้าขาว หรือใช้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ฟิโปรนิล (Fipronil) อิมิคาคลอพริด (Imidacloprid) ไดโนทีฟูแรน (Dinotefuran) ไวท์ออยล์ (Whiteoil) ปิโตรเลียมออยล์ (Petroleum Oil) ร่วมกับการกำจัดมดที่เป็นตัวนำพา เพื่อช่วยลดการระบาด

ปัญหาสวน หน้าฝน