รู้ก่อนเลี้ยงควายไทย สัตว์เกษตรมากมูลค่า
หลังจากที่มีการใช้เครื่องจักรมาทดแทนแรงงานของ “ควาย” จึงทำให้การเลี้ยงควาย เป็นที่นิยมน้อยลง แต่ปัจจุบันนี้ การเลี้ยงควาย เป็นสิ่งที่เกษตรกรไทย กลับมาให้ความสนใจมากขึ้นอีกครั้ง
การเลี้ยง ควาย เปลี่ยนจากวิธีเลี้ยงในอดีต มาเป็นเลี้ยงเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ ที่นำไปสู่การตลาด ด้านการบริโภคเนื้อ และด้านความสวยงาม บทความนี้ จึงเป็นบทสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงควายไทย สำหรับเกษตรกร หรือผู้สนใจที่เริ่มเลี้ยงควายไทย และทำให้อาชีพการเลี้ยงควาย มั่นคง ยั่งยืน คู่เกษตรกรไทยตลอดไป
สิ่งเริ่มต้นที่ควรรู้ในการเลี้ยง ควาย
1. สายพันธุ์ ในประเทศไทยมีควายสายพันธุ์หลักๆ อยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ ควายป่า และควายบ้าน ซึ่งในส่วนของควายบ้านก็จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ควายปลัก และควายแม่น้ำ แต่ในกลุ่มหลักๆ ของควายทั้งสองกลุ่มนี้ ก็สามารถผสมพันธุ์กันได้ แต่ก็จะมีลักษณะ รูปร่างที่ต่างกันออกไป
1.1 ควายปลัก (Swamp Type) จะเป็นกลุ่มที่พบมากที่สุดในประเทศไทยที่เกษตรกรนามาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานและบริโภคเนื้อ มีนิสัยเชื่อง ชอบนอนแช่ปลัก เลี้ยงง่าย กินหญ้าได้หลากหลายชนิด รวมทั้งวัชพืชอื่น ได้อีกหลายชนิด รูปร่างลักษณะสมส่วน เขายาวโค้งเป็นวง ลำตัวสีดำ มีถุงเท้าสีขาวที่ขาทั้ง 4 ข้าง คิ้วและแก้มมีจ้ำสีขาว ใต้คอมีลายสีขาวคาด ซึ่งบางตัวที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน ก็สามรถนามาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์ได้อีก หรือในบางตัวอาจมีผิวหนังสีชมพู ซึ่งเราจะเรียกกันว่าควายเผือก
1.2 ควายแม่น้ำ (River Type) เป็นควายอีกสายพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย แต่ยังพบปริมาณไม่มาก เพราะเป็นการเลี้ยง แบบเฉพาะเจาะจง ด้านผลผลิตในเรื่องของน้ำนมเท่านั้น การให้เนื้อจะให้น้อยกว่าควายปลัก รูปร่างสูงใหญ่ ลำตัวมีสีดำ เขาโค้ง ม้วนเข้าหาหัวกบาล หลังมีตะโหนก
ลักษณะนิสัยของ ควาย
โดยทั่วไปควายที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกรในบ้านเรา จะเป็นควายปลัก เสียส่วนมาก มีนิสัยเชื่อง เลี้ยงง่าย กินพืชได้หลากหลายประเภท รวมทั้งเศษพืชผลจากการเกษตรอีกหลายชนิด ชอบนอนแช่ปลักหรือโคลน ว่ายน้าเก่ง ทนฝน ไม่ทนแดด ชอบนอนใต้ร่มไม้ ตัวผู้บางตัว อาจมีนิสัยดุร้ายในช่วงที่ตัวเมียจะมีการผสมพันธุ์
โรงเรือนหรือคอก
ในอดีตเกษตรกรที่เลี้ยงควายส่วนใหญ่จะให้ควายนอนอยู่ใต้ถุนบ้านตนเอง เนื่องจากปัญหาด้านโจรผู้ร้าย แต่ในปัจจุบันได้มีการสร้างโรงเรือนขึ้นมา หรือทำคอก ให้ควายอยู่แยกออกจากตัวบ้าน มีหลังคา หรืออยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เผื่ออาศัยหลับแดด ในบางที่ก็จะกางมุ้ง เพื่อป้องกันยุง และแมลงรบกวนในเวลากลางคืน
อาหารหลักของควาย
ควายส่วนมากจะกินหญ้าเป็นหลัก หรืออาหารหยาบชนิดต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น หญ้าแห้ง หญ้าหมัก ฝางข้าว หรือเศษเหลือจากผลผลิต ด้านการเกษตร เช่น ต้นข้าวโพด ยอดอ้อย ใบมันสาปะหลัง ต้นถั่ว เป็นต้น
การผสมพันธุ์
ควายเพศเมียจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 2 ปีครึ่งขึ้นไป ส่วนเพศผู้อายุ 3 ปีขึ้นไป ระยะการตั้งท้องประมาณ 308-337 วัน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว โดยทั่วไปควายสามารถคลอดลูกเองได้โดยธรรมชาติ ผู้เลี้ยงจึงไม่จำเป็น ที่จะต้องดึงลูกควายออก ในขณะที่แม่ควายกำลังเบ่งลูก นอกจากสังเกตเห็นอาการที่ผิดปกติก่อนคลอด ก็สามารถช่วยทำคลอดได้ เช่น ลูกควายคลอดผิดท่า หรือแม่ควายใช้เวลาเบ่งลูกนานผิดปกติ
โรคสำคัญที่ควรรู้ใน ควาย
โรคที่พบในควาย ได้แก่ โรคปากเท้าเปื่อย โรคคอบวม โรคแท้งติดต่อ และวัณโรค แต่ส่วนมากที่พบบ่อยครั้ง จะมีอยู่ 2 โรค คือ โรคปากเท้าเปื่อย และโรคคอบวม เมื่อควายมีอาการผิดสังเกต เช่น ยืนซึม ไม่กินอาหาร ไม่เคี้ยวเอื้อง จมูกแห้ง หายใจแรง ควรรีบติดต่อ สัตวแพทย์ มาดูแลรักษาโดยด่วน ก่อนที่อาการจะลุกลามจนยากแก่การรักษา ในเบื้องต้นนั้น ในแต่ละโรคก็จะมีวัคซีน ที่สามารถนำมาฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ควายได้ในระดับหนึ่ง ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้มาก และทำให้เกิดการสูญเสียน้อยลง
อัตลักษณ์ของควายไทยตามตำรา
มีจุดสังเกตแบ่งออกเป็น 5 จุดด้วยกัน ดังนี้
1. บั้งคอสีขาว หรือ บางแห่งเรียกว่า อ้องคอ บริเวณขนและหนังใต้คอเป็นสีขาว มีรูปตัววีชัดเจน เหมือนแถบบ้างของนายสิบ โดยมีความเชื่อว่า นอกจากเป็นลักษณะที่ส่งเสริม ให้ควายดูงามแล้วยังถือว่าเป็นลักษณะมงคล โดยปราชญ์ชาวบ้านเชื่อว่า ถ้าเป็นควายไทย ต้องปรากฏลักษณะนี้ชัดเจน ซึ่งอ้องคอของควายยังสามารถจำแนกระดับความงาม 3 ระดับคือ คอ 3 อ้อง ถือว่าเป็นระดับสวยงามที่สุดในระดับแรก ซึ่งถ้าประกอบลักษณะอื่นด้วย เช่น หน้าตา รูปร่าง ท่าทาง และระดับความงามรองลงมา คือคอ 2 อ้อง และ 1 อ้องตามลำดับ แต่ถ้าอ้องคอไม่มีสีขาวที่ชัดเจน ให้สันนิษฐานได้เลยว่า มีการผสมของควายมูร่าหรือควายนม
2. จุดสีขาวบริเวณใบหน้า ในลักษณะของควายงาม ที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน จะพบจุดสีขาว บนใบหน้าทั้งหมด 7 จุด ได้แก่ บริเวณเหนือหัวตา 2 ข้าง รวมเป็น 2 จุด บริเวณแก้มด้านซ้ายขวา 2 ข้าง รวมเป็น 2 จุด บริเวณกรามซ้ายขวา 2 ข้าง รวมเป็น 2 จุด และใต้คางอีก 1 จุด รวมทั้งหมดบนใบหน้า จะมีทั้งหมด 7 จุด ปราชญ์ชาวบ้านจะเรียกลักษณะนี้ว่า ตาแต้มแก้มจ้ำ
3. ข้อเท้าขาว ข้อเท้าหรือแข้งมีขนเป็นสีขาว ตั้งแต่หัวเข่าลงไปถึงข้อเท้า ทั้ง 4 ข้าง หรือที่เรียกว่า ถุงเท้า 4 ข้าง จะพบชัดเจนและเป็นอัตลักษณ์ของควายไทย
4. ขั้วอัณฑะ และปลายลึงค์ในควายตัวผู้ ซึ่งในควายไทยจะมีขั้วอัณฑะสั้น เกือบติดท้อง ปลายลึงค์ จะหย่อนเล็กน้อย ซึ่งจะต่างจากควายลูกผสมตรงที่ว่า ปลายลึงค์ และขั้วอัณฑะ จะมีความหย่อนยานไม่เหมือนควายไทย
5. สีหนังและขน ลักษณะสีผิวหนังและขนของควายไทยจะกลมกลืนกัน เป็นสีเทาดำ โดยผิวหนังจะเป็นสีดำ และขนมีสีเทาหรือสีดอกเลา ในช่วงอายุยังน้อยจะมีขนเป็นสีเทาแดง หรือสีเปลือกเม็ดมะขาม และสีขนจะเข้มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น โดยขนของควายไทยจะไม่ดก และหนาแน่น เหมือนควายมูร่าหรือควายนม
การเลี้ยงควายในปัจจุบันกลับมานิยมเลี้ยงกันอีกครั้ง ทำให้เกษตรกรไทยหันมาให้ความสำคัญ กับการพัฒนาสายพันธุ์ควายไทยมากขึ้น ปัจจุบันในการพัฒนาสายพันธุ์ควายไทยตามอัตลักษณ์นำไปสู่ความสวยงาม ทำให้เป็นการเพิ่มมูลค่า ในการเลี้ยงควายของเกษตรกร อีกทั้งการพัฒนารูปร่าง เพื่อนาไปสู่การบริโภคเนื้อ และนำไปสู่การส่งออกของควายไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง จึงเป็นหนึ่งอาชีพทางเลือก สำหรับท่านที่สนใจในการเลี้ยงควาย บทความทั้งหมดนี้ สามารถนำไปเป็นข้อมูลเบื้องต้น เพื่อให้อาชีพนี้อยู่คู่กับเกษตรกร อย่างยั่งยืน และมั่นคงต่อไปในอนาคต
GURU รับเชิญ : เจ้าชายสัตว์
เจ้าชายสัตว์ หรือ ก้องเกียรติ ถาดทอง เกษตรกรด้านปศุสัตว์ ผู้เขียนหนังสือ My Little Farm VOL.2 คนเมืองเลี้ยงไก่ไข่ ปัจจุบันคุณก้องเกียรติหันหลังให้กรุงเทพฯ ย้ายไปสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์เกษตรในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ในชื่อ ฟาร์มเจ้าชายสัตว์ เลี้ยงแพะนม ไก่ไข่ ควายไทย ไก่ต่างประเทศ เป็ดไข่ และไก่ชน ทั้งยังทำงานด้านศิลปะควบคู่ไปด้วย
หลักการออกแบบ โคก หนอง นา ใจความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
การผลิตพืชผักและผลไม้เพื่อส่งออก ตอนที่ 2 : มาตรฐานโรงคัดบรรจุ