แมลง ศัตรูพืช ที่เห็นแล้ว อย่านิ่งนอนใจต้องรีบกำจัด - บ้านและสวน

แมลงศัตรูพืช เป็นแมลงไม่ดีอย่าให้มีในสวน

แมลง ศัตรูพืช เป็นแมลงที่ทำให้พืชผักเสียหายได้ โดยแมลงพวกนี้จะเข้ามากัดกินใบจนเป็นรอยแหว่ง ดูดกินน้ำเลี้ยงจนผลและใบหงิกงอ เป็นพาหะนำพาเชื้อไวรัสจากอีกต้นหนึ่งสู่อีกต้นหนึ่ง จนกระทั่งพืชผักที่ปลูกไม่สามารถนำมารับประทานได้เลย

โดยที่ แมลง ศัตรูพืช เหล่านี้สามารถแบ่งตามลักษณะการเข้าทำลายได้ 2 ประเภท คือ แมลงปากดูด และ แมลงปากกัด

แมลงปากดูด (Sucking) เป็น แมลงศัตรูพืช ที่มักอาศัยอยู่ตามยอดอ่อน ใบอ่อน ใต้ใบ ซอกใบต่างๆ โดยจะใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช ทำให้ใบพืชเหี่ยว ม้วน หงิกงอก มีรอยไหม้ ลำต้นแคระ ไม่พอยังเป็นพาหะของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุโรคพืชแพร่กระจายอีกด้วย

แมลงปากกัด (Chewing) ชอบกัดกินยอดใบจนกุด หรือทำให้ใบพืชเป็นรูพรุนจนเหลือแต่เส้นใบและก้านใบ ซึ่งทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโตเพราะขาดใบที่ใช้สังเคราะห์แสงสร้างอาหาร

จะเห็นได้ว่าแมลงเหล่านี้มีอันตรายต่อพืชผัก ดังนั้นก็ควรกำจัดเมื่อเริ่มสังเกตเห็น แต่จะให้กำจัดอย่างถูกวิธีได้นั้น เราก็ต้องรู้จักแมลงไม่ดีเหล่านี้กันก่อน

แมลง ศัตรูพืช มีอะไรบ้าง?

แมลง ศัตรูพืช

1 I เพลี้ยอ่อน (Aphid)

เพลี้ยอ่อน มีลำตัวอ่อนนิ่มสมชื่อ รูปร่างค่อนข้างกลม ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นกลุ่มก้อนเกาะอยู่ใต้ใบพืช นอกจากนี้ยังถ่ายมูลออกมาเป็นน้ำหวานทำให้เชื้อราเจริญบนต้นพืช และเป็นพาหะของโรคไวรัสในพืชหลายชนิด

อาการที่พบ : ส่วนยอด ใบ ใบอ่อนหงิกงอและแคระแกรน

ช่วงที่ระบาด : ฤดูร้อนและฤดูหนาว

พืชอาหาร : พืชตระกูลแตงและถั่วต่างๆ โหระพา พริก มะเขือเทศ ผักสลัด เป็นต้น

วิธีการกำจัด : ฉีดพ่นด้วย เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana) โดยเชื้อราจะเข้าสู่ตัวแมลงผ่านรูหายใจ ผนังลำตัว จากนั้นก็จะเจริญเติบโตอยู่ภายในตัวแมลง จนกระทั่งเส้นใยทะลุผนังลำตัวของแมลงออกมา และทำให้แมลงตายในที่สุด

แมลง ศัตรูพืช

2 I เพลี้ยไฟ (Thrips)

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน ตัวเต็มวัยมีปีกคล้ายขนนก 2 คู่ ซึ่งเพลี้ยไฟมีหลายชนิด มักเรียกตามชื่อของพืชที่มันเข้าทำลาย เช่น เพลี้ยไฟโหระพา เพลี้ยไฟพริก เป็นต้น

อาการที่พบ : ใบ ยอดอ่อน ตาดอก และดอก มีอาการหงิกงอและแคระแกรน ใบด่างเหลือง มีรอยแผลสีน้ำตาล

ช่วงที่ระบาด : ฤดูร้อน

พืชอาหาร : พริก มันฝรั่ง แตงกวา เมลอน มะนาว กล้วยไม้ ผักสลัด มะม่วง เป็นต้น

วิธีการกำจัด : ฉีดพ่นด้วย เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana) โดยเชื้อราจะเข้าสู่ตัวแมลงผ่านรูหายใจ ผนังลำตัว จากนั้นก็จะเจริญเติบโตอยู่ภายในตัวแมลง จนกระทั่งเส้นใยทะลุผนังลำตัวของแมลงออกมา และทำให้แมลงตายในที่สุด

แมลง ศัตรูพืช

3 I เพลี้ยแป้ง (Mealybug)

เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงที่เคลื่อนไหวช้า ลำตัวปกคลุมด้วยไขสีขาวลักษณะคล้ายแป้ง ทำให้สังเกตได้ง่ายโดยเห็นเป็นกลุ่มก้อนสีขาวเกาะอยู่ตามยอดอ่อนและใบอ่อนของพืช นอกจากนี้ยังถ่ายมูลที่เป็นน้ำหวานออกมาทำให้เป็นแหล่งเพาะราดำ

อาการที่พบ : ใบ ใบอ่อน ยอดอ่อน และผล มีลักษณะหงิกงอและแคระแกรน

ช่วงที่ระบาด : ฤดูร้อน

พืชอาหาร : ผักและผลไม้หลายชนิด พริก มะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว กล้วย น้อยหน่า หม่อน เป็นต้น

วิธีการกำจัด : ฉีดพ่นด้วย เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana) โดยเชื้อราจะเข้าสู่ตัวแมลงผ่านรูหายใจ ผนังลำตัว จากนั้นก็จะเจริญเติบโตอยู่ภายในตัวแมลง จนกระทั่งเส้นใยทะลุผนังลำตัวของแมลงออกมา และทำให้แมลงตายในที่สุด

แมลง ศัตรูพืช

4 I ไรแดง (Red Spider Mite)

ไรแดง มีขนาดเล็กมาก แต่ยังพอสามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ โดยจะเห็นเป็นจุดสีแดงเล็กๆ ที่สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ ไรแดงมักจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบและส่วนยอดของพืช อยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มและสร้างเส้นใยปกคลุม ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย เอาไว้

อาการที่พบ : ใบมีจุดสีขาวเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไปและหากปล่อยไว้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแห้ง ส่วนยอดจะชะงักการเจริญเติบโต

ช่วงที่ระบาด : ฤดูร้อน

พืชอาหาร : ส้ม มะละกอ ขนุน มะนาว มะกรูด แตงโม และถั่วชนิดต่างๆ

วิธีการกำจัด : ฉีดพ่นด้วย เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana) โดยเชื้อราจะเข้าสู่ตัวแมลงผ่านรูหายใจ ผนังลำตัว จากนั้นก็จะเจริญเติบโตอยู่ภายในตัวแมลง จนกระทั่งเส้นใยทะลุผนังลำตัวของแมลงออกมา และทำให้แมลงตายในที่สุด

แมลง ศัตรูพืช

5 I มวนเขียว (Green Stink Bug)

มวนเขียว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากแทงเข้าไปในผล ดูดกินน้ำเลี้ยงทั้งผลอ่อนและผลแก่ ทำให้การพัฒนาของผลเสียหาย

อาการที่พบ : ผิวของผลไม้เป็นรอยด่าง ด้านในของผลมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ และถ้าโดนดูดกินมากผลก็จะร่วงหล่นได้

ช่วงที่ระบาด : ฤดูร้อน

พืชอาหาร : พืชตระกูลส้มเกือบทุกชนิด มะนาว มะกรูด

วิธีการกำจัด : ฉีดพ่นด้วย เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana) โดยเชื้อราจะเข้าสู่ตัวแมลงผ่านรูหายใจ ผนังลำตัว จากนั้นก็จะเจริญเติบโตอยู่ภายในตัวแมลง จนกระทั่งเส้นใยทะลุผนังลำตัวของแมลงออกมา และทำให้แมลงตายในที่สุด

6 I แมลง ศัตรูพืช หนอนกระทู้ผัก (Common Cutworm)

หนอนกระทู้ผัก มีจุดสีดำใหญ่ที่ด้านข้างบริเวณอกปล้องที่ 3 เป็นจุดสังเกต มีหลายสี โดยไข่ของหนอนจะมีขนปกคลุมไว้ เมื่อเป็นตัวอ่อนจะอยู่กันเป็นกลุ่มแทะกินผิวใบจนเห็นเป็นเยื่อผิวใบ แต่พอหนอนโตจะสามารถกินได้ทั้งใบจนเห็นเป็นรอยแหว่ง ออกหากินเวลาตอนกลางคืน

อาการที่พบ : ใบ ดอก ยอด และฝักอ่อน มีรอยโดนแทะกิน

ช่วงที่ระบาด : ระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่พบมากในฤดูฝน

พืชอาหาร : พืชตระกูลกะหล่ำ พริก หอมแดง หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว มะเขือเทศ

วิธีการกำจัด : ฉีดพ่นด้วย เชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส ทูริงเยนซิส (Bacillus thuringiensis) มีฤทธิ์ในการทำลายหนอนผีเสื้อหลายชนิด โดยหนอนที่กินเชื้อนี้เข้าไปจะทำให้ระบบย่อยอาหารของหนอนล้มเหลว เคลื่อนไหวช้า และตายในที่สุด

7 I แมลง ศัตรูพืช หนอนคืบกะหล่ำ (Cabbage Looper)

หนอนคืบกะหล่ำ ลำตัวมีสีเขียวอ่อนและแถบสีขาว เวลาเคลื่อนที่จะมีลักษณะเป็นคืบโดยที่จะไม่คลานเหมือนหนอนทั่วไป ไข่ของหนอนจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวบริเวณใต้ใบ ในระยะตัวอ่อนจะกินแค่ผิวใบ แต่พอหนอนโตจะกัดกินใบจนเหลือแต่ก้านใบ

อาการที่พบ : ใบโดนกัดกินจนเหลือแต่ก้านใบ

ช่วงที่ระบาด : ช่วงฤดูร้อน

พืชอาหาร : พืชตระกูลกะหล่ำ คะน้า กวางตุง ผักกาดขาวปลี ขึ้นฉ่าย มะเขือ มันฝรั่ง

วิธีการกำจัด : ฉีดพ่นด้วย เชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส ทูริงเยนซิส (Bacillus thuringiensis) มีฤทธิ์ในการทำลายหนอนผีเสื้อหลายชนิด โดยหนอนที่กินเชื้อนี้เข้าไปจะทำให้ระบบย่อยอาหารของหนอนล้มเหลว เคลื่อนไหวช้า และตายในที่สุด

8 I แมลง ศัตรูพืช ตั๊กแตนหนวดสั้น (Short-horned Grasshopper)

ตั๊กแตนหนวดสั้น เป็นตั๊กแตนศัตรูพืช ที่กัดกิบใบพืชให้ใบขาดแหว่ง ส่งผลให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ถ้ามีจำนวนมากอาจทำให้ต้นถึงขั้นตายได้ โดยตั๊กแตนเพศเมียจะวางไข่ในดินช่วงปลายฝน แล้วไข่จะฟักตัวอยู่ในดินนาน 7-8 เดือน ตลอดฤดูร้อน หลังจากนั้นจะฟักออกเป็นตัวอ่อนช่วงฤดูฝน และเป็นตัวเต็มวัยช่วงปลายฝน

อาการที่พบ : ใบและดอกเป็นรูพรุน

ช่วงที่ระบาด : ฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน

พืชอาหาร : พืชตระกูลกะหล่ำ และถั่วชนิดต่างๆ

วิธีการกำจัด : ฉีดพ่นด้วย เชื้อราเมตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในแมลงได้ และสามารถอยู่ในดินได้นาน โดยเชื้อราจะเข้าสู่ร่างกายแมลงทางผิวหนัง จากนั้นจะสร้างเอนไซม์เพื่อย่อยผนังลำตัวของแมลง และงอกสปอร์แทงผ่านลำตัวและเจริญเติบโตจากตัวแมลงออกมา จนทำให้แมลงตายในที่สุด

9 I แมลง ศัตรูพืช ด้วงเต่าแตงแดง (Pumpkin Beetle)

ด้วงเต่าแตงแดง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกัดกินใบและดอกของพืชตระกูลแตง โดยกัดใบให้เป็นวงก่อน จากนั้นจึงกินส่วนที่อยู่ในวงจนหมดเกิดเป็นรูๆ ตามใบ บางครั้งก็กัดกินบริเวณโคน ทำให้เป็นแผลรอยกัด

อาการที่พบ : ดอกมีรอยถูกกัดกิน ส่วนใบมีรอยเป็นวงทั่วทั้งใบ

ช่วงที่ระบาด : ระบาดได้ตลอดทั้งปี

พืชอาหาร : พืชตระกูลแตง แตงกวา ฟักทอง แตงไทย มะระ แตงโม

กำจัดด้วยวิธีการ ฉีดพ่นด้วยไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง (Entomopathogenic nematodes) ไส้เดือนฝอยจะเข้าไปในร่างกายแมลงผ่าน รูหายใจ ปาก ทวารหนัก และปล่อยแบคทีเรียที่ทำให้เลือดของแมลงเป็นพิษ ส่งผลให้แมลงตายภายใน 2-4 วัน จากนั้นก็ออกจากซากของแมลงและไปหาแมลงตัวใหม่

กำจัดด้วยวิธีการ ฉีดพ่นด้วยเชื้อราเมตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในแมลงได้ และสามารถอยู่ในดินได้นาน โดยเชื้อราจะเข้าสู่ร่างกายแมลงทางผิวหนัง จากนั้นจะสร้างเอนไซม์เพื่อย่อยผนังลำตัวของแมลง และงอกสปอร์แทงผ่านลำตัวและเจริญเติบโตจากตัวแมลงออกมา จนทำให้แมลงตายในที่สุด

10 I แมลง ศัตรูพืช ด้วงหมัดแถบลาย (Striped Flea Beetle)

ด้วงหมัดแถบลาย ตัวอ่อนเจาะไชเข้าไปกินอยู่ตามโคนและรากของต้นพืช จนทำให้ผักเหี่ยวเฉา ส่วนตัวเต็มวัยมักพบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กัดกินยอดและใบของผักจนเป็นรูพรุน และเมื่อถูกรบกวนจะกระโดดและบินหนีไปได้ไกล

อาการที่พบ : ยอดและใบถูกกัดกินจนเป็นรูพรุน โคนและรากของผักถูกเจาะทำให้ผักเหี่ยวเฉา

ช่วงที่ระบาด : ฤดูร้อน

พืชอาหาร : พืชตระกูลกะหล่ำ คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดหัว

กำจัดด้วยวิธีการ ฉีดพ่นด้วยไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง (Entomopathogenic nematodes) ไส้เดือนฝอยจะเข้าไปในร่างกายแมลงผ่าน รูหายใจ ปาก ทวารหนัก และปล่อยแบคทีเรียที่ทำให้เลือดของแมลงเป็นพิษ ส่งผลให้แมลงตายภายใน 2-4 วัน จากนั้นก็ออกจากซากของแมลงและไปหาแมลงตัวใหม่

กำจัดด้วยวิธีการ ฉีดพ่นด้วยเชื้อราเมตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในแมลงได้ และสามารถอยู่ในดินได้นาน โดยเชื้อราจะเข้าสู่ร่างกายแมลงทางผิวหนัง จากนั้นจะสร้างเอนไซม์เพื่อย่อยผนังลำตัวของแมลง และงอกสปอร์แทงผ่านลำตัวและเจริญเติบโตจากตัวแมลงออกมา จนทำให้แมลงตายในที่สุด

คราวนี้ก็รู้ทั้งหน้าตาแล้ววิธีการกำจัดแล้ว ครั้งหน้าถ้าเจอก็อย่าปล่อยให้ แมลงศัตรูพืช เหล่านี้มาทำลายพืชผักในแปลงเราได้อีกต่อไป และนอกจากนี้ ก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก หนังสือ สมุนไพรไล่แมลง ทำใช้เองแบบง่ายๆ My Little Farm Vol.6 กันได้เลย