แบบ บ้านไม้ชั้นเดียว ที่ใช้ไม้เก่าจากโรงเลี้ยงหมู - บ้านและสวน
simple-wood-house

บ้านไม้ชั้นเดียว ภายใต้โรงเลี้ยงหมูเก่า กลางสวน

แบบ บ้านไม้ชั้นเดียว ที่สร้างอยู่ภายใต้โครงสร้างเก่าซึ่งเคยเป็นโรงเลี้ยงหมูมาก่อน ตัวอาคารมีลักษณะทอดยาวแบ่งฟังก์ชันให้เยื้องไม่ตรงกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากแสงและลม

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: YANGNAR STUDIO

พื้นที่เกือบ 11 ไร่ตรงนี้เคยเป็นฟาร์มหมูเก่าที่คุณแม่ของ คุณรุ่ง ตั้งตะธารากุล ได้ปรับปรุงพื้นที่มาโดยตลอด เพื่อรองรับกิจกรรมฝึกสุนัขซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ท่านรัก ในพื้นที่นี้เองคุณแม่และคุณรุ่งได้พัฒนาทดลองแนวคิดการพึ่งพาตัวเองแบบวิถีชาวบ้าน ในลักษณะของ แบบบ้านไม้ชั้นเดียว โดยทำให้ทุกอย่างง่ายและใช้วัสดุที่มีให้มากที่สุด แต่ก็ต้องสวยด้วย

เดิมทีคุณรุ่งมักต้องเดินทางไป-กลับสิงห์บุรีบ่อยๆ เพื่อดูแลคุณแม่และกิจการของครอบครัว แต่หลังจากแต่งงานกับผมแล้วจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่สิงห์บุรี โดยสร้างพื้นที่ส่วนตัวที่เน้นใช้วัสดุจากบ้านไม้หลังเก่าของคุณแม่ที่ต้องรื้อย้ายออกจากที่ดินที่ขายไป รวมถึงเศษวัสดุในพื้นที่ที่มีอยู่แล้วให้มากที่สุด เพื่อสร้างขยะใหม่ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้  และทุกชิ้นส่วนของบ้านยังประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไป

แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
ทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคารนำเข้าสู่ตัวบ้านขนำน้อยที่ซ่อนอยู่ภายใต้โครงสร้างหลังคาของโรงเลี้ยงหมูเก่า
แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
บ้านขนำน้อยสร้างอยู่ภายใต้โรงเลี้ยงหมู่เก่าซึ่งเป็นอาคารขนาดยาวและมีช่องว่างระหว่างหลังคา

บ้านของเราชื่อขนำน้อย “ขนำ” ในความเข้าใจของผม  คือ ที่พักผ่อนชั่วคราวในระหว่างทำนา ใช้วัสดุที่พอหาได้และก่อสร้างได้ง่าย บ้านขนำน้อยของเราจึงเป็นเพียงที่พักอาศัยชั่วคราว และยังคงประโยชน์ใช้สอยให้เข้ากับนิสัยคนเมือง ซึ่งผมทำงานเป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน ส่วนคุณรุ่งเป็นครูสอนโยคะ และเราต้องการทีมออกแบบที่สามารถอยู่หน้างานได้ตลอด เพราะหลายจุดต้องออกแบบกันหน้างานจากวัสดุที่มี เข้าใจองค์ประกอบบ้านไม้แบบท้องถิ่นและข้อจำกัดของบริบทพื้นที่ รวมไปถึงได้สนับสนุน”สล่าไม้” หรือช่างไม้มีฝีมืออีกด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่เราเลือกทีมออกแบบจากยางนาสตูดิโอ

แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
เนื่องจากตัวบ้านอยู่ใต้หลังคาโรงหมูอีกทีทำให้แสงธรรมชาติเข้าถึงตัวบ้านได้น้อย  สถาปนิกจึงเจาะช่องแสงตามจุดต่างๆ ของตัวบ้านแล้ว การวางตำแหน่งไฟส่องสว่างตามการใช้งาน
แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
เรือนเพาะชำต้นไม้อยู่ด้านข้างของบ้านขนำน้อย มีทางเดินสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ง่าย ส่วนทางขึ้นลงบ้านด้านนี้ปูพื้นด้วยแผ่นคอนกรีตเซาะร่องที่เคยใช้ในโรงเลี้ยงหมูมาก่อน เช่นเดียวกับแผ่นคอนกรีตที่ปูบริเวณลานสำหรับวางกล้าไม้เพื่อช่วยในเรื่องการระบายน้ำได้ดี

แบบบ้านไม้ชั้นเดียว

การออกแบบและลักษณะของตัวบ้านหลังนี้เกิดขึ้นตามการใช้งาน โดยใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดของโครงสร้างโรงหมูเดิมที่เป็นอาคารรูปทรงยาวทอดตัวจากทิศตะวันออกไปตะวันตกและมีช่องว่างระหว่างหลังคา ให้ประสานไปกับโครงสร้างบ้านใหม่ซึ่งเป็นเหล็กทำกันสนิมและทาสีแบบไม่เคลือบผิว เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติกลมกลืนไปกับเปลือกอาคารที่ประยุกต์จากรูปแบบท้องถิ่น รวมไปถึงความงามของตัวอาคารที่ล้อกับโครงสร้างหลังคาเดิมซึ่งลดหลั่นกันไป

ทีมออกแบบยังนำวัสดุเดิมทั้งหมดของบ้านกลับมาใช้ประโยชน์กับบ้านหลังใหม่ทั้งส่วนของคอนกรีต เหล็ก และไม้ โดยยังคงปล่อยให้มีร่องรอยของกาลเวลาจากอดีตไว้ให้รำลึกถึงอย่างครบถ้วนและผสมผสานไปกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ

แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
จากประตูทางเข้านำมาสู่พื้นที่พักผ่อนภายในที่วางผังแบบเปิดโล่งมองเห็นกันได้หมด
แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
ภายในแบ่งการใช้งานให้มีพื้นที่เยื้องไม่ตรงกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากแสงสว่างที่ส่องเข้ามาและทิศทางลมที่หมุนเวียน
โต๊ะอเนกประสงค์นี้ใช้เป็นทั้งมุมนั่งเล่น รับแขก และรับประทานอาหาร ในบรรยากาศที่เปิดโล่งและสามารถมองผ่านผนังกระจกใสได้รอ
แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
พื้นที่ต่อเนื่องจากส่วนนั่งเล่นรับประทานอาหารไปสู่ห้องครัวด้านใน โดยงานตกแต่งภายในทั้งหมดทำขึ้นจากไม้ที่รื้อจากบ้านหลังเก่า

โดยตัวบ้านมีพื้นที่ใช้สอย 148 ตารางเมตร แบ่งการใช้งานเป็น 3 ก้อน คือ ห้องครัว ห้องนั่งเล่น และห้องนอน แต่ละก้อนเยื้องไม่ตรงกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากแสงและลม ทางทิศเหนือมีระเบียงทางเดินยาวเชื่อมกับพื้นที่ทำงานและเรือนเพาะชำ พร้อมกับสวนขนาดกว้างเพื่อใช้เป็นพื้นที่ฝึกสุนัขและเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่สีเขียวของบ้าน นอกเหนือไปจากต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงากับตัวบ้านอย่างเป็นธรรมชาติ

แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
สถาปนิกได้ออกแบบชุดครัวไม้สำหรับเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวที่เจ้าของบ้านมีอยู่อย่างครบครัน โดยปิดส่วน   ท็อปด้วยหินแกรนิต และเพิ่มโต๊ะไม้ขนาดยาวไว้สำหรับเตรียมอาหาร ส่วนผนังใช้เทคนิคฝาไหลมาใช้เพื่อเป็นช่องเปิดรับแสงและลม
แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
ภายในห้องครัวยังคงใช้งานไม้เก่ามาตกแต่งอย่างต่อเนื่อง แต่ออกแบบให้มีเส้นสายที่ทันสมัย ภายใต้โครงหลังคาเหล็กทรงจั่วที่กรุด้วยวัสดุสีสว่างเพื่อไม่ทำให้ห้องครัวดูมืดทึบเกินไป

เนื่องจากตัวบ้านอยู่ใต้หลังคาโรงหมูอีกทีจึงทำให้แสงธรรมชาติเข้าถึงตัวบ้านได้น้อย  นอกจากการเจาะช่องแสงตามจุดต่างๆ ของตัวบ้านแล้ว การวางตำแหน่งไฟส่องสว่างตามการใช้งาน ประกอบกับตำแหน่งของแสงที่หลากหลาย และการใช้วัสดุที่ช่วยกระจายแสง เช่นสั งกะสี แผ่นสมาร์ทบอร์ดขัดโชว์ผิว กระจกลายพิกุล สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดแสงที่ทำให้พื้นที่ภายในดูมีมิติ

แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
ทางเดินทอดยาวระหว่างห้องครัวที่อยู่สุดทางของบ้านฝั่งหนึ่งมาสู่ห้องนอนที่อยู่อีกด้านหนึ่ง
แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
พื้นไม้โล่งๆ ภายในห้องนอนมาจากไม้เก่า ผสมผสานด้วยประตูหน้าต่างเก่า รวมถึงบานเฟี้ยมไม้เก่าที่นำมาประดับผนังด้านในด้วยเช่นกัน โดยเจ้าของบ้านจะปูฟูกเฉพาะในเวลานอน กลางวันจึงสามารถใช้งานได้อเนกประสงค์
แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
ส่วนของห้องน้ำภายในห้องนอนกั้นแยกด้วยผนังกระจกลายดอกพิกุลเพื่อให้แสงสว่างยังสามารถลอดผ่านได้โดยคงความเป็นส่วนตัวไว้

ความน่าสนใจของพื้นที่ภายในคือการเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมภายนอก  จากช่องแสงและช่องเปิดต่างๆ  การเชื่อมต่อด้วยระเบียงทางเดินจากตัวบ้านไปยังเรือนเพาะชำ  และบริเวณซักผ้าที่มีห้องน้ำสำหรับใช้เวลาทำสวน  ทางเชื่อมนี้ต่อเนื่องไปกับโถงทางเดินภายในบ้านซึ่งแยกพื้นที่ห้องครัว และห้องนั่งเล่น โดยมีประตูบานเลื่อนสังกะสีเป็นตัวกั้น โถงทางเดินนี้ต่อเนื่องไปยังระเบียงนั่งเล่นที่สามารถดูการฝึกสุนัขยามเช้าของคุณแม่ และเป็นทางลงไปยังสนามฝึกสุนัขได้

แบบบ้านไม้ชั้นเดียว
พื้นที่ส่วนแห้งภายในห้องน้ำตกแต่งด้วยไม้เก่ากับผนังบางส่วนที่ใช้อิฐเดิมที่รื้อมาจากโรงเลี้ยงหมู
ใช้ประโยชน์จากทางเดินเข้าสู่ห้องน้ำโดยทำเป็นชั้นแขวนเสื้อผ้าซึ่งทำจากโครงเล้าหมูเก่า
เพราะตั้งใจใช้เศษวัสดุที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด โดยไม่เหลือทิ้ง จึงมีการนำอิฐเก่าจากผนังโรงเลี้ยงหมูเดิมที่รื้อไปมาประดับตกแต่งบริเวณผนังห้องน้ำ

รายละเอียดของฝีมือช่างเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านขนำน้อยมีชีวิตและน่าสนใจมากๆ ไม่ว่าจะเป็นช่างไฟที่ตั้งใจเดินสายไฟอย่างดี ช่างไม้ที่ใช้เศษไม้จากการก่อสร้างทำฝ้าเพดานในส่วนห้องนั่งเล่น  ลายจึงเกิดจากวัสดุที่มี หัวหน้าช่างปูนที่เรียนจบจิตรกรรมได้ลงมือก่อผนังห้องน้ำตามเศษอิฐที่มีในโรงเก็บของด้วยตัวเอง เหล็กจากกรงหมูเก่าถูกประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นที่แขวนและเก็บเสื้อผ้า ช่างไม้เจาะยึดพื้นที่ระเบียง อุดรูนอตทุกรูด้วยไม้ที่เหลาเท่ากับรูที่เจาะ หยดกาวแล้วยึดกลับไปให้สวยงาม

เราสองคนซาบซึ้งและขอบคุณอย่างมากกับความตั้งใจและเหงื่อนทุกเม็ดของช่าง รวมทั้งทีมสถาปนิกยางนาสตูดิโอที่ต้องการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เคารพกับบริบทที่เป็นธรรมชาติ 

มีการนำกระจกลายดอกพิกุลมาใช้กรุผนังในส่วนที่ต้องการให้แสงส่องผ่านแต่พรางความเป็นส่วนตัวไว้ภายใน เช่น ผนังห้องน้ำ
บริเวณโถงทางเดินภายในบ้านที่แยกห้องครัวกับส่วนนั่งเล่น ออกแบบประตูบานเลื่อนไว้โดยใช้สังกะสีเป็นวัสดุหลักทั้งเพื่อให้ดูสว่างตาและทำให้มีน้ำหนักเบาเอื้อต่อการเลื่อนเปิด-ปิดได้ง่าย
วัสดุเก่าที่มีอยู่เยอะมากคือเศษไม้ที่เหลือจากการตัดใช้งานแล้วในขนาดที่ไม่เท่ากัน ช่างไม้ก็ยังเก็บทุกชิ้นมาประกอบเป็นฝ้าเพดานห้องนั่งเล่นทำให้เกิดลวดลายสวยงามแตกต่างกัน
ผนังบ้านที่ติดกับพื้นที่สีเขียวด้านในก็จะเน้นผนังให้เป็นกระจกใสเพื่อเชื่อมต่อมุมมองออกมาได้และยังดูสวยมีมิติในยามค่ำคืน

เจ้าของ : คุณปานเดช บุญเดช และคุณรุ่ง ตั้งตะธารากุล

ออกแบบ : บริษัทยางนา สตูดิโอ จำกัด โดยคุณเดโชพล รัตนสัจธรรม

ตกแต่ง : คุณปานเดช บุญเดช

เรื่อง : คุณปานเดช บุญเดช

ภาพ : รุ่งกิจ เจริญวัฒน์

ที่ตั้ง : จังหวัดสิงห์บุรี


บ้านไม้ชั้นเดียว ที่เปิดรับแสงและลมธรรมชาติ

10 แบบบ้านไม้ชั้นเดียวในบรรยากาศเขียวสดชื่น