เลือกที่จะอยู่
ในชีวิตหนึ่งเรามักพบทางแยกที่ทำให้ต้องเลือกเส้นทางอยู่เสมอ บ้างก็เป็นการเลือกที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต บ้างก็เป็นการเลือกในสิ่งเล็กน้อย ซึ่งบางครั้งการเลือกนั้นก็อาจไม่ได้เห็นผลทันที ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราเลือกถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ บ้านที่ประเทศมาเลเซียหลังนี้ออกแบบและสร้างโดย Mr.Tony Heneberry จาก JTJ Design แม้เจ้าของบ้านจะมาพบและถูกใจบ้านนี้โดยบังเอิญ แต่การเลือกที่จะอยู่นั้นเป็นความตั้งใจอย่างแท้จริง
บ้านนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมาเลเซีย โดยบริษัทออกแบบจะไปซื้อที่ดินหรืออาคารเก่ามาปรับปรุงและปล่อยขายแก่ผู้สนใจ วิธีนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือบ้านหลังนั้นจะมีรูปแบบและรายละเอียดที่มาจากจินตนาการของสถาปนิก เสมือนเขากำลังออกแบบบ้านเพื่ออยู่เอง ผู้ซื้อต่อจึงมั่นใจได้ว่าทุกส่วนของบ้านได้รับการออกแบบมาแล้ว ส่วนข้อเสียน่าจะเป็นเรื่องที่บ้านนั้นสร้างเสร็จแล้ว หากต้องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ชอบอะไร ก็อาจต้องทุบหรือแก้ไขภายหลัง แต่เจ้าของบ้านเห็นว่าบ้านนี้มีความพอดีกับชีวิต จึงใช้เวลาตัดสินใจซื้อไม่นานนัก
คุณโทนี่ออกแบบบ้านหลังนี้ภายใต้แนวคิดที่อยากให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ สิ่งที่น่าแปลกใจมากกว่านั้นคือบ้านนี้เป็นบ้านเก่าที่คล้ายกับทาวน์เฮ้าส์ในบ้านเรา แต่เมื่อปรับปรุงเสร็จแล้วเรากลับไม่รู้สึกถึงความเป็นอาคารเดิมเลย ผู้ออกแบบเลือกซื้อ 2 คูหาและตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมด โดยทุบผนังที่กั้นระหว่างคูหาออก ทำให้ได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น
บ้านนี้ยังมีลักษณะเหมือนตึกแถวในเมืองไทย แต่มีช่วงกว้างถึง 7 เมตร สถาปนิกทลายผนังและกำแพงส่วนใหญ่ออกหมดเพื่อกำหนดพื้นที่ใช้งานใหม่ ภายในทั้งหมดแทบไม่มีผนังทึบกั้นให้รู้สึกอึดอัด เช่น ห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารชั้นสองก็จัดแปลนแบบ open plan ซึ่งทั้งโปร่งสบายและระบายความร้อนสู่ภายนอกได้เป็นอย่างดี
บันไดหลักของบ้านก็ทุบและสร้างใหม่ในตำแหน่งที่เหมาะสมมากขึ้น จากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นสอง เป็นขั้นบันไดเหล็กที่โปร่งโล่ง ด้านข้างคือคอร์ตกลางบ้านที่ปลูกต้นไม้สูงขึ้นไปยังชั้นสองซึ่งเป็นพื้นที่พักผ่อนหลัก ต้นไม้ช่วยสร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่ภายนอกได้ดี อีกทั้งยังช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ให้เกิดการเดินทางของสายตาและพาไปสู่ความน่าอยู่ที่สถาปนิกตั้งใจให้เป็น ส่วนบันไดที่ขึ้นสู่ชั้นสามย้ายใหม่ไปยังบริเวณด้านหน้าของอาคาร เพื่อให้ชั้นบนสุดซึ่งเป็นห้องทำงานและพักผ่อนมีพื้นที่กว้างขวางขึ้น โดยไม่ต้องมีโถงบันไดมาตั้งเกะกะกลางห้อง
สถาปนิกยังคิดถึงเรื่องการระบายความร้อนออกจากตัวบ้านได้สะดวก โดยอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูงผ่านโถงบันได โถงเปิดโล่งระหว่างชั้นสองกับสาม และออกจากตัวบ้านทางหลังคาซึ่งออกแบบหน้าต่างบานเกล็ดเอาไว้ อากาศภายในจึงหมุนเวียนตลอดเวลา อีกทั้งด้านหน้าของบ้านก็หันไปทางทิศใต้ ซึ่งมีแสงแดดสาดส่องเข้ามา สถาปนิกเลือกจัดสวนแนวตั้งแบบง่ายๆ วางไม้กระถางบนโครงเหล็กทาสีดำ เพื่อกรองแสงแดดที่จะเข้ามาภายในบ้าน และยังเป็นการเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
ในความเป็นจริงบ้านหลังนี้อาจเลือกที่จะเป็นบ้านปิดทึบและอาศัยการเปิดเครื่องปรับอากาศทั้งวันก็ได้ แต่เมื่อผู้ออกแบบเชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การเลือกที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างเหมาะสมจึงเป็นคำตอบของบ้านหลังนี้
เรื่องโดย : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพโดย : ศุภกร ศรีสกุล