การจัดสวนตู้ปลาและตู้ไม้น้ำ โลกใต้น้ำขนาดเล็กที่สัมผัสได้
การจัดสวนตู้ปลา และตู้ไม้น้ำ คือ การจัดจำลองบรรยากาศของสวนจากบนบกสู่โลกใต้น้ำไว้ในตู้กระจกใสภายในบ้าน ทำให้บรรยากาศโดยรอบดูสดชื่นมีชีวิตชีวา และเกิดมุมมองที่สบายตา
ซึ่งหากมีปลาหรือสัตว์น้ำแหวกว่ายท่ามกลางพรรณไม้น้ำที่จัดไว้อย่างสวยงามด้วย ก็จะยิ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย สงบ และรู้สึกเครียดน้อยลง นอกจากนี้ ตามหลักฮวงจุ้ยยังเชื่อว่า การจัดสวนตู้ปลา และการเลี้ยงปลาจะช่วยเสริมพลังให้บ้าน ทำให้ผู้อยู่อาศัยเจริญรุ่งเรือง และร่ำรวยมากยิ่งขึ้น
อุปกรณ์จัดตู้ปลาหรือตู้ไม้น้ำ
• ภาชนะ หรือตู้ปลามาตรฐาน
ภาชนะหรือตู้ที่เลือกใช้จะต้องมีความแข็งแรงทนทาน ซึ่งมีให้เลือกมากมาย หลายแบบทั้งขนาดและคุณภาพของกระจกที่ใช้อย่างกระจกใส และกระจกอะคริลิก โดยแต่ละแบบก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ในการพิจารณาจึงขึ้นอยู่กับความต้องการและทำเลที่ตั้ง เช่น หากมีพื้นที่จำกัด ก็ต้องเลือกตู้เล็กที่เหมาะสม ขณะเดียวกันอุปกรณ์ที่ใช้ รวมทั้งจำนวนปลาสวยงามที่ต้องการเลี้ยงก็ต้องสัมพันธ์กับขนาดตู้นั้นด้วยเช่นกัน
การบอกขนาดของตู้ปลานิยมใช้หน่วยเป็น “นิ้ว” (Inch) โดยจะบอกเฉพาะความยาว เช่น ตู้ปลาขนาด 18 นิ้ว หมายถึง ตู้ปลาที่มีด้านยาวเท่ากับ 18 นิ้ว แต่หากต้องการหาความจุหรือปริมาณน้ำในตู้ปลา จะต้องคำนวณจากความกว้าง ความยาว และความสูงของตู้ในหน่วยเซนติเมตร (Centimeter) เช่น ตู้ปลาขนาด 20 นิ้ว จะกว้าง 25 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร และสูง 32 เซนติเมตร ซึ่งจะคิดเป็นความจุประมาณ 40 ลิตร
• พรรณไม้
ควรเลือกใช้พรรณไม้น้ำหรือต้นไม้น้ำ (Aquatic / Water Plants) โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีหลายชนิดให้เลือกทั้งที่เลี้ยงยาก โตช้า และเลี้ยงง่าย โตไว ราคาไม่แพงสำหรับมือใหม่ อย่างต้นอเมซอน อะนูเบียส เฟินรากดำใบใหญ่ สาหร่ายฉัตร สาหร่ายเดนซ่า ดังนั้น ก่อนปลูกจึงควรศึกษาลักษณะนิสัยและความต้องการของพรรณไม้แต่ละชนิดให้เข้าใจ รวมถึงควรคำนึงถึงขนาดของพรรณไม้เมื่อโตเต็มที่ให้เหมาะกับขนาดของตู้ที่เลือกใช้ อีกทั้งการเลือกรูปทรงและสีสันที่แตกต่างกันของไม้น้ำจะทำให้การจัดสวนในตู้ปลาดูสวยงามและเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
• สัตว์น้ำและปลาสวยงาม
ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงปลาสวยงามที่มีขนาดเล็ก หรือเลี้ยงกุ้งแคระที่มีสีสันสวยงาม เช่น กุ้งเชอรี่ กุ้งไฟร์เรด กุ้งเครย์ฟิช และหอยชนิดต่างๆ ที่สามารถอยู่รวมกันได้ เพื่อช่วยกินตะไคร่ และทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องศึกษาลักษณะนิสัย พฤติกรรมความต้องการ และวิธีการดูแลของสัตว์น้ำแต่ละชนิด เลือกปลาที่แข็งแรง ครีบและหางไม่มีรอยฉีกขาด ลำตัวไม่มีแผล และว่ายน้ำเป็นปกติ เพื่อไม่ให้เกิดโรคติดต่อหรือการต่อสู้กันเอง ส่วนปลาที่กินเนื้อเป็นอาหารควรเลี้ยงไว้แบบแยกเดี่ยว เช่น ปลามังกร ปลาออสการ์ ปลากัด
• อุปกรณ์ให้แสงสว่าง
หลอดไฟสำหรับตู้ปลาช่วยให้เกิดการสังเคราะห์แสงแก่พืช เหมาะสำหรับตู้ปลาที่จัดวางในตำแหน่งที่ได้รับแสงสว่างไม่เพียงพอ โดยจะนิยมใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Lamp) และหลอดแอลอีดี (Light Emitting Diode: LED) เพิ่มความสว่างและเพิ่มความโดดเด่นสวยงามให้ปลา ซึ่งจะต้องเลือกตำแหน่งในตู้ อย่าให้น้ำกระเด็นโดนขั้วหลอดไฟ และปรับระดับความเข้มของแสงให้เหมาะสม ไม่แรงจนทำให้อุณหภูมิน้ำสูงจนเกินไป
วิธีคำนวณความแรงของหลอดไฟคือ หลอดฟลูออเรสเซนต์หรือเมทัลฮาไลด์ต้องใช้ไฟประมาณ 0.7 วัตต์ต่อน้ำ 1 ลิตร เพราะอุณหภูมิสีและสเปกตรัมแสงเหมือนกัน รวมถึงเลือกใช้ขนาดที่มีความยาวหลอดใกล้เคียงกับความยาวตู้ แต่ถ้าเป็นหลอดแอลอีดีที่ใช้ในปัจจุบันแม้เป็นยี่ห้อเดียวกัน แต่ละรุ่นก็ให้คุณภาพแสงต่างกัน แนะนำให้เลือกใช้หลอดไฟสำเร็จรูปที่ทำมาเพื่อเลี้ยงไม้น้ำโดยเฉพาะ
• ตัวช่วยควบคุมอุณหภูมิ
พรรณไม้น้ำและปลาที่เลี้ยงส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนหรือเขตอบอุ่น ต้องการอุณหภูมิคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน ไม่ร้อนหรือเย็นมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้สิ่งมีชีวิตหยุดการเจริญเติบโต ป่วย หรือตายได้ ส่วนใหญ่อุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส และไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส การจัดตู้ปลาหรือตู้ไม้น้ำจึงนิยมติดตั้งพัดลมระบายอากาศ หรือชิลเลอร์ เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิด้วย
• ระบบกรองน้ำ
เครื่องกรองและวัสดุกรองทำหน้าที่กรองของเสียออกทำให้น้ำใส ระบบน้ำใต้ตู้หมุนเวียนได้ดี มีปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของไม้น้ำและสัตว์น้ำ เช่น เครื่องกรองใต้ทราย เครื่องกรองฟองน้ำ เครื่องกรองแบบแขวน แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ระบบกรองที่ติดตั้งอยู่นอกตู้ เพราะประหยัดพื้นที่และทำความสะอาดได้ง่าย
สำหรับปลากลุ่มที่ออกลูกเป็นตัว ค่อนข้างทน และปรับตัวได้ดี เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลามอลลี่ หรือกลุ่มปลาที่มีอวัยวะหายใจพิเศษที่เรียกว่า Labyrinth Organ อยู่บริเวณเหงือก ซึ่งช่วยให้ปลาสามารถฮุบอากาศจากผิวน้ำมาใช้ได้โดยตรง จะสามารถอยู่ในแหล่งน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีระบบกรองน้ำและปั๊มลม
• อุปกรณ์ตกแต่ง
ใช้จัดองค์ประกอบเพื่อให้ตู้ปลาสวยงามดูเป็นธรรมชาติและสร้างมิติเพิ่มเรื่องราวภายในตู้ปลาหรือตู้ไม้น้ำ เช่น ก้อนหิน ไม่ว่าจะเป็น หินฟองน้ำ หินแกรนิต หรือหินภูเขาไฟ ที่ไม่ทำให้ค่าความเป็นกรด-ด่างเปลี่ยน และขอนไม้ที่ทำจากไม้เนื้อแข็งที่ผ่านการแช่น้ำมาเป็นอย่างดี ซึ่งวัสดุตกแต่งเหล่านี้ ยังสามารถใช้เป็นตัวกำหนดขอบเขตของการปลูกพรรณไม้น้ำ และให้ปลาใช้เพื่อหลบซ่อนได้
การจัดตู้ปลาหรือตู้ไม้น้ำ
สวนในตู้ไม้น้ำ หรือสวนในตู้ปลา เป็นการจัดสวนที่จำลองสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ โดยไม่มีข้อจำกัดหรือกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับจินตนาการ และวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ แต่สิ่งสำคัญคือสิ่งมีชีวิตต้องอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและเติบโตได้เป็นอย่างดี
1. เลือกขนาดของตู้ที่เหมะสมกับพื้นที่ที่จะวาง ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป สำหรับผู้เริ่มต้นอาจเลือกตู้ที่มีขนาดประมาณ 24 – 30 นิ้ว เพราะสามารถควบคุมปัจจัยในการปลูกเลี้ยงได้ค่อนข้างคงที่
2. ศึกษาความต้องการของพืชและสัตว์น้ำแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแสง วัสดุปลูก คุณภาพน้ำ รวมทั้งอัตราการเจริญเติบโต และความยากง่ายในการเลี้ยงและดูแลรักษา
3. ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์และวัสดุตกแต่ง อย่างกรวด ก้อนหิน และขอนไม้ด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด ตรวจสอบความเรียบร้อยของตู้ว่าไม่มีรอยร้าว และรั่วซึม ตรวจสอบความสมบูรณ์ของพรรณไม้และสัตว์น้ำว่าแข็งแรง ไม่บอบช้ำ หรือเป็นโรค
4. วางแปลนของสวนในตู้ปลา กำหนดตำแหน่งของไม้ประธานและไม้รอง รวมถึงพรรณไม้ชนิดอื่นๆ ตามความสูงต่ำ ขนาดทรงพุ่ม และสีสัน โดยอาจกำหนดให้ไม้ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่หรือมีรูปทรงที่โดดเด่นเป็นไม้ประธานที่ดึงดูดสายตา ปลูกไม้ทรงสูงโตเร็วเป็นฉากหลัง แล้วค่อยๆ ลดทอนขนาดลงมา เพื่อไม่ให้บดบังซึ่งกันและกัน
5. ปูพื้นตู้ด้วยวัสดุรองพื้นและดินปลูกไม้น้ำ ปรับระดับความหนาตามความต้องการของพืชที่จะปลูก แล้วจึงจัดองค์ประกอบต่างๆ ลงไปในตำแหน่งที่ต้องการ
6. ติดตั้งระบบต่างๆ และเติมน้ำลงในตู้ โดยควรรองน้ำใส่ภาชนะตั้งทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน เพื่อให้คลอรีนระเหยออก ก่อนนำมาใช้ แต่หากใช้น้ำที่ยังไม่พัก ควรใช้สารปรับสภาพน้ำให้มีคุณภาพ
7. ในระยะแรกต้นไม้อาจยังไม่ฟื้นตัว ควรปล่อยให้ได้แสงจากหลอดไฟในตู้สัก 1-2 วันก่อน และควรทิ้งระยะสัก 5-7 วัน ก่อนปล่อยปลาลงในตู้
ติดตาม บ้านและสวน