สวนสวย โรงเรือน และสวนครัว ในพื้นที่ 30 ตารางวา
ส่วนใหญ่แล้วการที่เราจะมีทั้งสวนสวย ๆ มี โรงเรือน กระจกไว้เก็บต้นไม้สะสม และมีสวนครัวขนาดย่อม ๆ อยู่รวมในพื้นที่เดียวกันได้นั้น คงต้องมีเนื้อที่กว้างขวางมากพอ
แต่ บ้านและสวน จะพาคุณไปชมบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่อายุกว่า 50 ปี ที่มี โรงเรือน และสวนครัว ครบทุกอย่างที่กล่าวมา
สวนรอบ ๆ บ้านออกแบบในสไตล์โมเดิร์นอิงลิชที่ดูเรียบง่าย ทันสมัย และสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า “เดิมหน้าบ้านเราเป็นสวนทรอปิคัลค่ะ พี่ชอบต้นไม้ ชอบนํ้า ชอบความร่มรื่น แต่ด้วยความที่ไม่ค่อยได้ดูแล สวนก็เริ่มรกและปล่อยทิ้งไว้เป็น 10 ปี จากสวนสวย ๆ ก็กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ช่วงก่อนโควิด-19 เลยคิดรีโนเวตสวนใหม่ ได้คลิกเข้าไปดู ‘รวม 100 นักจัดสวนและบริษัทรับออกแบบสวน’ ในเว็บไซต์บ้านและสวน เห็นผลงานของ คุณโต้ง -ศุภกิจ มีลาภ จำได้ว่าเป็นสวนอังกฤษแห่งหนึ่ง และอีกงานเป็นสวนครัว เห็นแล้วก็ชอบเลยค่ะ แม้จะยังชอบสวนนํ้าตกแบบทรอปิคัล แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน สวนที่ดูเรียบง่าย สะอาดตา และดูแลไม่ยุ่งยากน่าจะเหมาะกับที่บ้านมากกว่าค่ะ” คุณนุ้ย-นันทพร สิริธนาวุฒิ เจ้าของบ้านเล่าถึงสาเหตุที่รีโนเวตสวนใหม่ให้เราฟัง
“สวนใหม่ที่อยากได้ขอแค่เป็นสวนที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากค่ะ อยากได้ที่นั่งทำงานในสวน ส่วนแคคตัสเพิ่งเริ่มสนใจช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 นี้เองค่ะ เริ่มต้นลองเลี้ยงแค่ต้นสองต้น แล้ววันหนึ่งเขาออกดอกก็แปลกใจมาก เพิ่งเคยเห็นว่าแคคตัสมีดอก ตั้งแต่นั้นก็เริ่มสนใจหามาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น จนคิดอยากทำโรงเรือนโดยเฉพาะ เลยให้โจทย์คุณโต้งเพิ่มไป อีกสิ่งที่ต้องการคือสวนครัวค่ะ ที่บ้านเราชอบทำอาหารรับประทานกันเอง ปลูกทั้งสมุนไพรไทยและฝรั่ง ทั้งที่เป็นผักอายุสั้นอย่างผักสลัดต่าง ๆ และผักอายุยืนอย่าง โรสแมรี่ มะกรูด มะนาว ปลูกกันแบบง่าย ๆ โรยเมล็ดลงในแปลงปลูกโดยตรง ก็ขึ้นดีนะคะ การได้ปลูกและดูแลผักเองทำให้มั่นใจว่าผักนั้น ปลอดภัยแน่นอนค่ะ”
สวนรอบ ๆ บ้านมีพื้นที่เพียงแค่ 120 ตารางเมตร จัดสรรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกตารางเมตร ภาพรวมของสวนแบ่งเป็น 3 โซนใหญ่ ๆ คือ สวนหน้าบ้านที่มีมุมนั่งเล่นในสวน และโรงเรือนแคคตัสขนาดย่อม ด้านข้างบ้านมีลานอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ และสวนครัวหลังบ้านที่ปลูกผักหลากหลายชนิด
“ผมออกแบบสวนโดยยึดจากตัวบ้านเป็นหลักครับ บ้านหลังนี้มีอายุมากกว่า 50 ปี แต่ยังมีโครงสร้างร่วมสมัย ผมเลือกใช้โทนสีขาว เทา นํ้าตาลจากตัวบ้านเป็นหลัก ทุกอย่างในสวนใช้เส้นตรงและรูปทรงเรขาคณิตในการออกแบบ ทั้งทางเดินในสวน โครงสร้างโรงเรือนแคคตัส ลานอเนกประสงค์ ไปจนถึงแปลงผักสวนครัวหลังบ้าน ส่วนการแบ่งพื้นที่ก็ง่าย ๆ หน้าบ้านได้แดดดีจัดเป็นสวนส่วนต้อนรับ และมีโรงเรือนแคคตัสตั้งเด่นอยู่ด้านข้าง บริเวณข้างบ้านลมพัดดีแต่ไม่ค่อยมีแดด เหมาะจะทำเป็นส่วนนั่งเล่น บริเวณหลังบ้านได้แดดเต็มวันจัดเป็นสวนครัวครับ” คุณโต้งพาเดินชมรอบ ๆ สวน พร้อมเล่าขั้นตอนการออกแบบให้เราฟัง
“จุดเด่นของสวนนี้คือมีมุมนั่งเล่นกระจายอยู่ทั่วสวนหลายจุดครับ คุณนุ้ยชอบนั่งเล่นนอกบ้าน อยากได้ที่นั่งทำงานในสวน และเป็นสวนที่มีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาหลายจุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการบังมุมมองที่ไม่สวยรอบ ๆ บ้าน เช่น โรงเรือนแคคตัสที่ออกแบบให้มีความสูงมากกว่าปกติ เพื่อบังสายไฟนอกบ้าน หรือหลังคาของลานอเนกประสงค์ข้างบ้านที่ใช้ไม้ตีเป็นระแนง โดยเลือกขนาดหน้ากว้างของแผ่นไม้และการจัดวางในตำแหน่งที่ช่วยบังมุมมองที่ไม่สวยจากหลังบ้าน การปลูกต้นไม้ใหญ่สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีระดับนํ้าใต้ดินค่อนข้างสูง ต้นไม้จะเน่าตายได้ง่าย เราจึงไม่ฝังตุ้มลงไปในดินลึกมากนัก ซึ่งผลเสียที่ตามมาคือต้นอาจโยกล้มได้ จึงต้องมีเหล็กช่วยคํ้ายันต้นไว้ และอาจต้องคํ้ายันไปตลอด ไม่สามารถรื้อออกได้ ดังนั้น วิธีการคํ้ายันจึงต้องออกแบบเป็นพิเศษ โดยใช้แหวนเลื่อนปรับขนาดได้เมื่อต้นไม้โตขึ้นครับ
“ส่วนต้นไม้ก็เลือกชนิดที่ผมใช้อยู่บ่อย ๆ เพราะสวยและเลี้ยงง่ายครับ ที่นี่เราเน้นพวกไม้ใบเป็นหลัก แซมไม้ดอกช่วยเพิ่มสีสันลงไปบ้าง และด้วยความที่มีกลิ่นอายของสวนอังกฤษ ก็จะใช้ดอกไม้โทนสีเย็น อย่าง ขาว ฟ้า ชมพู ม่วง เพราะ มองได้นาน ดูสบายตา สีไม่ฉูดฉาดเกินไป แต่ก็แอบใส่ไม้ดอกไม้ใบสีสด ๆ อย่าง บัวดิน หงส์ฟู่ และนาคบริพัตรลงไปเพื่อเพิ่มจุดเด่นเป็นพิเศษด้วยครับ”
ขณะที่สวนครัวด้านหลังบ้านก็ไม่ได้ถูกละเลยเรื่องงานดีไซน์ แปลงสวนครัวทำ เป็นกระบะยกสูงขึ้นมาจากระดับผิวดินประมาณ 20 เซนติเมตร ขอบกระบะกรุไม้สนนำเข้า เพื่อให้ดูต่อเนื่องกับสวนหน้าบ้าน ปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ทั้งผักสวนครัวแบบไทย ๆ สมุนไพรฝรั่ง รวมไปถึงผักสลัด แม้แต่บริเวณที่เก็บของและแท็งก์นํ้าขนาดใหญ่ คุณโต้งยังออกแบบระแนงไม้ทาสีนํ้าตาลเข้มเหมือนกับบริเวณลานนั่งเล่นอเนกประสงค์ข้างบ้าน เลือกปลูกผักสวนครัวที่เติบโตแบบเลื้อยพัน เช่น ขจร แต่งเพิ่มด้วยไม้เลื้อยประดับกระถางเล็กกระถางน้อยให้ดูกุ๊กกิ๊กน่ารัก แม้จะเป็นสวนที่ดูเรียบง่ายแต่ก็ใส่ใจในทุกรายละเอียด เป็นตัวอย่างงานออกแบบสวนในเมืองที่ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าน่าสนใจเลยครับ
นิตยสารบ้านและสวน ปี 2565 ฉบับที่ 553
เจ้าของ : คุณนันทพร สิริธนาวุฒิ
ออกแบบ : บริษัทสุขเย็น การ์เด้นท์ จำกัด โดยคุณศุภกิจ มีลาภ โทรศัพท์06-5914-2598, 09-3325-5149
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, สรนันทร์ แซ่ตั้ง