Tammada Garden ฟาร์มออร์แกนิก ที่ส่งสินค้าเกษตรในรูปแบบ “ผูกปิ่นโต”
สำหรับคนที่อยากปลูกผักเกษตรอินทรีย์เป็นอาชีพหลักหรือจะอาชีพเสริมก็ตาม แต่กลัวว่า ปลูกแล้วไม่รู้จะไปขายที่ไหน? ซึ่งสิ่งที่ทุกคนกลัวก็เกิดขึ้นกับ คุณโอม – อัครเดช ม่วงไม้ เช่นกัน เจ้าของ ธรรมดาการ์เด้น Tammada Garden ฟาร์มออร์แกนิก ที่ ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงไก่ และมาพร้อมการจำหน่ายสินค้าแบบ ผูกปิ่นโต ซึ่งในระหว่างทางก็ไม่ราบรื่นกว่าที่ คุณโอม จะเจอทางที่ใช่
จุดเริ่มต้นของ ธรรมดาการ์เด้น
คุณโอม เจ้าของ ธรรมดาการ์เด้น ฟาร์มออร์แกนิก ที่ส่งสินค้าแบบ ผูกปิ่นโต เล่าว่า “ตอนนั้นที่ออกจากงานประจำมาปลูกผัก เพราะช่วงนั้นคุณแม่กำลังจะผ่าตัดหัวเข่า ทำให้ไม่สามารถเดินได้ 3 เดือน จึงตัดสินใจออกมาดูแลคุณแม่พร้อมกับทำสวนออร์แกนิกแบบเต็มตัว ซึ่งในช่วงแรกผักที่ปลูกได้นำไปขายที่ตลาดและห้างสรรพสินค้าขายอยู่เป็นปี ปรากฏว่า ผลตอบรับไม่ค่อยดี”
“แล้วมาเจอซีรี่ส์เรื่อง ซากะ…ฉันจะคิดถึงเธอ ซึ่งเป็นซีรี่ส์ที่ถ่ายทำที่ประเทศญี่ปุ่น โดยสถานที่ถ่ายทำเป็นทั้งสวนผักและร้านอาหาร ในระหว่างที่ดู มีอยู่ฉากหนึ่งที่ลูกค้าโทรเข้ามาสั่งผัก จากนั้นเขาก็ไปตัดผักพร้อมกับส่งผักในหมู่บ้าน จึงได้ไอเดียมาจากตรงนี้ว่า เราก็น่าจะสามารถทำได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการผูกปิ่นโตของธรรมดาการ์เด้น”
ผูกปิ่นโตกับธรรมดาการ์เด้น นั้นเริ่มจากทางฟาร์มส่งรายการสินค้าผ่านทางไลน์แอด ใครที่สนใจสินค้าตัวไหนก็สามารถสมัครเป็นลูกบ้านได้เพื่อผูกปิ่นโตกับทางฟาร์ม พอถึงวันจัดส่งที่ฟาร์มจะเดินทางไปส่งผักให้กับลูกบ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์
“ตอนแรกที่ยังไม่มีคนรู้จัก เราเริ่มจากยิงโฆษณาผ่าน Instagram โดยที่มีรายการผักให้ลูกค้าเลือก ถ้าลูกค้าต้องการผักชนิดไหนเราก็ไปส่ง เริ่มจากบ้านหลังแรกไปจนถึงหลังที่ 10 จากนั้นมีรายการเข้ามาถ่ายที่ฟาร์มทำให้มีลูกค้ารู้จักเราและเข้ามาผูกปิ่นโตกับเรา 200-300 บ้าน แล้วลูกค้าก็บอกต่อกันไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลยนอกจากผูกปิ่นโตอย่างเดียว 100%”
นอกจากจุดเริ่มต้นของผูกปิ่นโตแล้ว ธรรมดาการ์เด้นยังแบ่งพื้นที่สำหรับ ทำนา เลี้ยงไก่ และปลูกผัก ซึ่ง คุณโอม ก็ได้เล่ารายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจมากๆ
ที่มาของคำว่า “ธรรมดา”
“พื้นที่ภายในของฟาร์มทั้งหมด 42 ไร่ แบ่งเป็น แปลงนาสำหรับปลูกข้าวหอมปทุม 35 ไร่ ร่องสวน 7 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกผักและเลี้ยงไก่ไข่ ทั้งหมดนี้ทำแบบออร์แกนิก โดยมีคำว่า ธรรมดา เป็นหัวใจหลักในการปลูกผักของเราที่พยายามปลูกผักให้เหมือนกับว่าเกิดขึ้นจาก ธรรมชาติ ไม่ผ่านการปรุงแต่งใดๆ ส่วนวิธีการส่งผัก เราใช้ถังไม้สักใส่ข้าวสาร ผักใส่ในตะกร้า และไข่ไก่ใส่ตะกร้าหวาย ทุกอย่างเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้”
ผูกปิ่นโต ทางออกของธรรมดาการ์เด้น
“การทำผูกปิ่นโต ทำให้เราสามารถจัดการได้ง่ายขึ้นมาก พอมีสินค้าอะไรก็แจ้งลูกบ้าน ลูกบ้านอยากได้อะไรก็จะสั่งสินค้า เราก็แค่เตรียมสินค้าแล้วไปส่งให้เขาทุกสัปดาห์”
สินค้าที่มีฟาร์มแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ข้าวหอมปทุม ผักต่างๆ และไข่ไก่ บางครั้งจะมีสินค้าแปรรูปตามฤดูกาลด้วยอย่าง มะกอกแช่อิ่ม น้ำอ้อย ที่ฟาร์มตอนนี้มีสมาชิกอยู่ 800 บ้าน อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการจัดส่งทุกวันอาทิตย์และวันจันทร์ โดยจะแจ้งรายการสินค้าให้กับลูกค้าทุกวันศุกร์ ซึ่งประเภทของสินค้าขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย มีค่าส่ง 50 บาทต่อรอบ แต่ถ้าสั่งครบ 400 บาทส่งฟรี
หนึ่งในสินค้าที่ยอดฮิตมากๆ ก็คือ ไข่ไก่ ซึ่งลูกบ้านสั่งเป็นประจำและไม่ขาดสาย แต่รู้ไหมว่าความลับความอร่อยของไข่ไก่นั้นมาจากสูตรอาหาร
สูตรอาหารไก่ที่ปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล
สูตรอาหารไก่คุณโอมได้มาจากกับแบ่งปันสูตรระหว่างเกษตรกรอินทรีย์ด้วยกัน ซึ่งอาหารไก่จะมีการปรับเปลี่ยนไปทุกฤดูตามสภาพแวดล้อม
ฤดูร้อน – อาหารไก่จะเพิ่มกระถินเข้าไปในสูตรอาหารด้วย เนื่องจากอากาศร้อนทำให้ไข่ฟองเล็กลง กระถินจะเข้าไปช่วยกระตุ้นรังไข่ให้ไข่สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งเกษตรกรในกลุ่มก็ใช้กันสามารถเห็นผลได้ชัดเจน
ฤดูฝน – เพิ่มฟ้าทะลายโจรกับขมิ้น เนื่องจากเวลาไก่เดินจิกดินที่เปียก ในดินจะมีจุลินทรีย์เยอะอาจทำให้ไก่ท้องเสียได้
ฤดูหนาว – ไม่ต้องใส่อะไรเพิ่มเพราะเป็นฤดูที่อากาศเย็น ไก่ชอบ ไก่ไม่เครียด
สูตรอาหารไก่แกะส่วนประกอบจากอาหารไก่สำเร็จรูปออกมาเลย มีสารอาหารครบถ้วน ส่วนวิตามินจะใช้ผักและผลไม้กินเสริมจากอาหารไก่แทน ประกอบไปด้วย 10 ส่วน ดังนี้
- กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ข้าวโพด 20 กิโลกรัม ข้าวปลาย 30 กิโลกรัม
- กลุ่มโปรตีน ถั่วเหลือง 20 กิโลกรัม ปลาป่น 10 กิโลกรัม
- กลุ่มแคลเซียม หินหรือเปลือกหอย 10 กิโลกรัม
- กลุ่มไขมัน รำข้าว 5 กิโลกรัม
- กลุ่มอื่นๆ กระถิ่นป่น 4 กิโลกรัม เกลือ 500 กรัม
- กลุ่มสมุนไพร ขมิ้นชันป่น 300 กรัม ฟ้าทะลายโจรป่น 200 กรัม
โดยนำส่วนประกอบทั้ง 10 อย่างนี้ ผสมเข้าด้วยกันด้วยเครื่องผสมอาหาร จากนั้นนำไปใส่ในเครื่องอัดเม็ด เท่านี้อาหารไก่ก็พร้อมเสริฟให้กับน้องไก่แล้ว
สูตรอาหารสำหรับไก่ไข่จะเน้นโปรตีนและแคลเซียม จะไม่ค่อยเน้นคาร์โบไฮเดรตเพราะถ้าไก่ไข่อ้วนจะออกไข่น้อยทันที ไก่กินประมาณวันละ 100 กรัม/ตัว และเวลาให้อาหารไก่ต้องให้เป็นเวลา ให้เป็นกิจวัตรประจำวันด้วย มิฉะนั้นไก่จะไข่ไม่ค่อยเสถียร
“ไก่จะไม่ชอบอุณหภูมิที่สวิงมาก อย่างช่วงที่กลางวันร้อนกลางคืนหนาว เช้าวันรุ่งขึ้นไก่จะสังเกตได้เลยว่าไก่ไม่ค่อยออกไข่ แต่ถ้าหนาวติดกัน 3-4 วัน ก็จะเริ่มออกไข่มากขึ้น คือ ถ้าหนาวก็หนาวไปเลย ร้อนก็ร้อนไปเลย”
นอกจากสูตรอาหารไก่ที่ครบถ้วนตามความต้องการของไก่ไข่ทั้งหลายแล้ว แหนแดงก็เป็นอีกหนึ่งอาหารเสริมที่ขาดไม่ได้เช่นกัน
แหนแดงอาหารเสริมไก่
การเตรียมบ่อเลี้ยงแหนแดงมีขนาด 2×4 เมตร วัสดุสำหรับเลี้ยงแหนแดงจะใส่มูลวัว 1 กระสอบ และดิน 1 กระสอบ แหนแดงชอบแสงแดดรำไร ซึ่งที่ฟาร์มเลือกที่จะปลูกใต้ร่มไม้แทน เพราะเลี้ยงไว้ให้ไก่ไข่กินไม่ได้จำหน่ายจึงไม่อยากลงทุนสูง แต่มีข้อเสียตรงที่ถ้าใบไม้ตกลงไปในบ่อก็สามารถทำให้น้ำเสียได้ ถ้าเจอใบไม้อยู่ในบ่อควรรีบที่จะเก็บใบไม้ออกทันที
สายพันธุ์ของแหนแดงที่ใช้เป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรส่งเสริมซึ่งเจริญเติบโตไวมาก แหนแดง 1 กิโลกรัม ใช้ระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ก็เต็มบ่อแล้ว
แหนแดงเป็นพืชที่เลี้ยงสำหรับเป็นอาหารเสริมไก่ แต่ยังมีพืชหลากหลายชนิดที่ปลูกไว้สำหรับรับประทานอีกด้วย และเพื่อให้พืชเหล่านั้นเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ต้องมีการทำวัสดุเพาะเมล็ดที่เหมาะสม
วัสดุสำหรับเพาะเมล็ดผักสลัด
วัสดุที่ใช้เป็นพีทมอสออร์แกนิกผสมกับมูลไส้เดือน อัตราส่วน 1 ต่อ 1 เนื่องจากมูลไส้เดือนมีจุดเด่นที่มีจำนวนจุลินทรีย์เยอะ ซึ่งช่วยเสริมให้พืชหาอาหารได้ดีขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ใช้มูลไส้เดือนเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ต้นไม้แคระแกร็น โตไม่สมบูรณ์ ทางที่ดีใช้ผสมกับพีทมอสจะได้ผลดีกว่า
มูลไส้เดือนทำเองง่ายๆ ได้ที่ฟาร์ม
ไส้เดือนที่ใช้เป็นสายพันธุ์ AF (African Night Crawler) จำนวน 200 กรัม ต่อ Bedding 4 กิโลกรัม ใช้ระยะเวลาย่อยสลายประมาณ 1 เดือน ก็สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมวัสดุปลูกได้แล้ว ส่วน Bedding ไส้เดือนใช้เป็นมูลโคนมที่ไม่ผสมโซดาไฟ ก่อนนำไปใช้ให้แช่น้ำ 14 วันก่อน จากนั้นก็สามารถนำไปให้ไส้เดือนอยู่ได้เลย
ไส้เดือน 1 กะละมัง จะสามารถแยกได้เป็น 2 กะละมัง ทำให้มีไส้เดือนใช้อยู่ในฟาร์มตลอด แล้วถ้าไส้เดือนมีเยอะเกินไป ก็สามารถนำไปหว่านในแปลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ตอนร่อนแยกตัวไส้เดือนไข่ของไส้เดือนจะผสมเข้ากับมูลไส้เดือน ซึ่งเวลานำไปใช้เป็นส่วนผสมวัสดุปลูกก็จะทำให้ในแปลงผักมีประชากรไส้เดือนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
จากนั้นให้นำวัสดุเพาะเมล็ดที่ได้ไปใส่ในถาดหลุมที่เตรียมไว้ พรมน้ำให้วัสดุเพาะเปียกชุ่ม ใช้อุปกรณ์จิ้มให้เป็นหลุมพร้อมกับหยอดเมล็ด
ดูแลกล้าผักให้เติบใหญ่
ให้วางไว้ในที่ร่มประมาณ 3 วัน พอเห็นใบเลี้ยงงอกแล้ว จึงค่อยย้ายมาวางไว้ในโรงเรือนอนุบาล เพื่อไม่ให้โดนแสงแดดมากเกินไปและช่วยป้องกันน้ำฝน รดน้ำทุกวัน ตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงเป็นต้นอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน จากนั้นเราถึงนำมาลงดินได้ใช้ระยะเวลา 30-45 วัน จึงจะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งอายุการเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับชนิดของผักด้วย
ที่ฟาร์มเน้นการทำดินให้ดีที่สุด จะไม่ได้ฉีดพ่นน้ำหมักต่างๆ ผักสลัดจะใช้วัสดุปลูกที่หมักเองเพราะว่าผักสลัดชอบดินที่ร่วน มีรากไม่ลึกซึ่งกินอาหารแค่บนผิวดินเท่านั้น แต่ถ้านำผักสลัดลงดินผักจะแคระแกรนทันที เพราะว่ารากเดินไม่ได้ ส่วนผักไทยผักจีนอย่าง คะน้า กวางตุ้ง สามารถเติบโตได้ เพราะว่ารากแข็งแรงกว่าผักสลัด
สูตรดินสำหรับปลูกผักสลัด (1ตัน)
สำหรับปลูกผักสลัด ใน ฟาร์มออร์แกนิก นั้น จำเป็นต้องทำดินปลูกเอง เนื่องจากผักสลัดชอบดินที่มีความร่วมซุย ระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุสูง มีส่วนผสมตามนี้เลย หน้าดิน 300 กิโลกรัม ขี้หมู 100 กิโลกรัม ขี้วัว 100 กิโลกรัม ขุยมะพร้าว 100 กิโลกรัม แกลบดิบ 100กิโลกรัม แกลบดำ 100 กิโลกรัม หญ้าเนเปีย 100 กิโลกรัม มูลไส้เดือน 100 กิโลกรัม จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 3ลิตร จุลินทรีย์ EM 3 ลิตร มีวิธีทำ ดังนี้
- เริ่มจากนำส่วนผสมทีล่ะอย่างใส่เครื่องบดให้ละเอียด
- นำแกลบดิบทั้งหมด มาเทปูลงบนพื้น รดด้วยน้ำจุลินทรีย์ทั้ง 2 ชนิด
- นำส่วนผสมทั้งหมดมาเทชั้นๆ ทุกชั้นให้รดด้วยจุลิทรีย์
- ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
- ตั้งกองหมักทิ้งไว้ 1 เดือน เท่านี้ก็พร้อมใช้เป็นวัสดุสำหรับปลูกผักสลัดได้แล้ว
เมื่อผักเจริญเติบโตจากสูตรดินที่ตั้งใจหมักไว้อย่างดีแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องเก็บเกี่ยวเสียที แต่การเก็บเกี่ยวต้องมีเคล็ดลับในการเก็บเผื่อไม่ให้ผักมีรสชาติที่ขม
ไม่อยากให้ผักขม ต้องตัดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
เพราะถ้าตัดช้ากว่านี้เป็นช่วงที่อากาศเริ่มร้อน จะทำให้ผักจะมียางและมีรสชาติขมได้ นอกจากนี้ผักสลัดที่อายุเกินไม่เหมาะที่จะนำมากินเพราะจะมีรสชาติที่ขมด้วยเช่นกัน แม้ว่าผักสลัดกินหลังจากตัดเลยก็ยังมีโอกาสที่ผักจะขมได้
ดังนั้น เพื่อรสชาติที่ดีให้นำมาแช่เย็นก่อนรับประทาน เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน แต่ผักสลัดมีถิ่นกำเนิดจากเมืองหนาว โจทย์ของผักสลัดคือ ชอบแสง แต่ไม่ชอบร้อน พอร้อนจะทำให้ผลิตยางออกมาค่อนข้างเยอะ นอกจากปัญหาเรื่องผักขม ยังมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่ไม่ค่อยอำนวยในช่วงฤดูฝนที่ทำให้ผักเสียหายด้วยเช่นกัน
ปัญหาการปลูกผัก
“ฤดูที่ปลูกผักยากที่สุด คือ ฤดูฝน เนื่องจากผักใบชอบแสง แต่ช่วงฤดูฝนท้องฟ้าจะครึ้มไม่มีแสงเลย ทำให้ผักยืดไปหมด และฝนตกบ่อยทำให้ดินชุ่มน้ำตลอดเวลาทำให้ดินแน่น รากเดินได้ไม่ดี เราใช้วิธีการทำโค้งคลุมที่ทำมาจากท่อ pe แต่ก็ยังติดเรื่องแสงอยู่ดี ทำให้ลูกบ้านจะไม่ได้ผักตามที่ต้องการ แต่ลูกบ้านก็เข้าใจดี ซึ่งช่วงที่ผักทำจำนวนได้น้อย ทางเราก็ไม่ได้ขึ้นราคาผัก เรายังคงขายราคาเท่าเดิม”
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ใดที่สนใจอยากเรียนรู้การทำเกษตรแบบลงมือทำด้วยตัวเอง สามารถติดต่อกับทางฟาร์มเพื่อนัดเข้ามาเรียนรู้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้
การนัดเข้ามาทำกิจกรรมที่ฟาร์ม
ที่ฟาร์มตอนนี้เป็นฟาร์มปิด แต่สามารถจัด meeting ทำ workshop ได้ โดยสำหรับท่านที่สนใจสามารถเข้ามาทำกิจกรรมทั้งในรูปแบบครอบครัวเล็กๆ หรือเป็นกลุ่มก็สามารถติดต่อผ่านทาง ไลน์แอดนี้ได้เลย Line: @tammadagarden กิจกรรมที่มีตอนนี้มีตั้งแต่ การเรียนรู้ปลูกผักเริ่มจากหยอดเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยว เรียนรู้การดำนา การทำอาหารไก่ และให้อาหารสัตว์ภายในฟาร์ม
เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
Organ by Smart Nine Farm ฟาร์มคาเฟ่ของพยาบาลที่มาเป็นคนปลูกผัก