ทำเกษตร ทำสวนผลไม้ ใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี เริ่มวันนี้อีก 3 ปี ขายคาร์บอนเครดิต ได้
อีกหนึ่งหนทางเพิ่มรายได้!! นอกจากการปลูกป่า ปลูกไม้ต้นเศรษฐกิจตามที่ อบก. กำหนดไว้ การทำเกษตรที่ดี ทำสวนผลไม้ และใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี ก็สามารถนำเสนอโครงการเพื่อ ขายคาร์บอนเครดิต ได้ด้วย
ข้อดีของการทำเกษตร ขายคาร์บอนเครดิต ที่เห็นได้ชัดคือการลดโลกร้อนและสามารถสร้างรายได้อีกทาง อาจจะมีขั้นตอนที่ละเอียดในช่วงแรก โดยต้องเก็บข้อมูลการทำเกษตรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนนำเสนอโครงการ และในขณะดำเนินการผลผลิตจะต้องไม่น้อยลงด้วย แต่หากเสนอโครงการผ่านก็สามารถเพิ่มรายในระยะยาวได้อีกช่องทาง
ในส่วนของภาคเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการขายคาร์บอนเครดิตที่ อบก.กำหนดไว้คือ การทำเกษตรที่ดี ปลูกพืชเกษตรยืนต้น และการใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี ซึ่งกำหนดเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ โดยข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่อยากให้เกษตรรับรู้ไว้เพียงเท่านั้น เพราะในรายละเอียดเชิงลึก ระเบียบข้อกำหนดต่างๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารที่ทางอบก.กำหนดไว้หลายส่วนพอสมควร หากสนใจอยากเสนอโครงการเพื่อขายคาร์บอกเครดิต สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่อบก.
ดาวน์โหลดระเบียบการขอขึ้นทะเบียน T-VER
1 | จัดการพื้นที่เกษตรที่ดี ขายคาร์บอนเครดิต ได้
อันดับแรกคือพื้นที่ต้องมีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายกำหนด ไม่เสี่ยงต่อดินถล่ม และมีกิจกรรมการทำเกษตรที่มีลักษณะอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
-เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมกิจกรรมการกักเก็บคาร์บอนในดิน ได้แก่ การใส่วัสดุอินทรีย์ การปรับปรุงการจัดการเศษวัสดุการเกษตร การลดการไถพรวนดิน ระบบวนเกษตร การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชคลุมดิน เป็นต้น
-เป็นพื้นที่การเกษตรที่ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน
-เป็นพื้นที่การเกษตรที่มีการปรับปรุงการจัดการน้ำหรือให้น้ำ
โดยแต่ละโครงการอาจดำเนินการตั้งแต่หนึ่งกิจกรรมขึ้นไป การหยุดหรือเลิกกิจกรรมบางประเภท รวมถึงการปรับปรุงหรือมีการปฏิบัติร่วมกับแนวปฏิบัติก่อนมีโครงการ ทั้งนี้พื้นที่โครงการต้องไม่ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศตามธรรมชาติในระยะเวลา 10 ปีก่อนวันเริ่มต้นของโครงการ
นอกจากนี้โครงการที่ยื่นเสนอต้องไม่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงเกินกว่าร้อยละ 5 จากการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ หรือข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ที่ดำเนินการในภูมิภาคเดียวกันหรือที่เทียบเคียงกันได้
ข้อมูลกรณีฐานที่ผู้ปลูกต้องทำบันทึกก่อนเริ่ม
ผู้พัฒนาโครงการต้องพัฒนาตารางกิจกรรมการเกษตรในกรณีฐานสำหรับแต่ละหน่วยตัวอย่าง โดยประเมินได้จากข้อมูลประวัติการเพาะปลูกย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี และกรณีที่มีการปลูกพืชหมุนเวียนต้องครอบคลุมรอบการปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 1 รอบ โดยข้อมูลกิจกรรมการเกษตรที่ต้องรายงานแสดงได้แก่
1 การปลูกและการเก็บเกี่ยวพืช ต้องระบุชนิดพืช วันที่ปลูกพืช (ถ้ามี) วันที่เก็บเกี่ยวผลผลิต หรือสิ้นสุดการปลูก (ถ้ามี) การใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยเคมี (ใส่/ไม่ใส่) พร้อมชนิดและอัตราการใส่ (ถ้ามี) ปุ๋ยอินทรีย์ (ใส่/ไม่ใส่) พร้อมชนิดและอัตราการใส่ (ถ้ามี)
2 การไถพรวนและ/หรือการจัดการเศษวัสดุการเกษตร ต้องระบุการไถพรวน (มี/ไม่มี) พร้อมรายละเอียด เช่น ความลึก ความถี่ และสัดส่วนพื้นที่ที่มีการไถพรวน (ถ้ามี) การนำเศษวัสดุการเกษตรออกจากพื้นที่ พร้อมชนิดและสัดส่วนที่นำออก (ถ้ามี)
3 การจัดการน้ำ/การให้น้ำ (Irrigation) ต้องเก็บข้อมูลการจัดการน้ำ รวมถึงการให้น้ำ (มี/ไม่มี) และอัตราการให้น้ำ (ถ้ามี) การขังน้ำ (มี/ไม่มี)
ข้อมูลกรณีฐานจะถูกใช้คำนวณการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในลำดับต่อไป
การคำนวณคาร์บอน
การคำนวณคาร์บอนพิจารณา 2 ส่วนคือแหล่งสะสมคาร์บอนและแหล่งที่ปลดปล่อยคาร์บอน ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการ
1 แหล่งสะสมคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกที่นำมาใช้ในการคำนวณ ประเมินจากมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของพืชที่มีเนื้อไม้ มวลชีวภาพใต้ดินของพืชที่มีเนื้อไม้ และคาร์บอนอินทรีย์ในดิน
2 แหล่งปล่อยและประเภทก๊าซเรือนกระจกที่นำมาใช้ในการคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ เช่น รถไถ รถบรรทุก และเครื่องจักรกลทางการเกษตร หากมีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในกรณีดำเนินโครงการมีปริมาณสูงกว่ากรณีฐาน ต้องทำการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ขบวนการตรึงไนโตรเจนในพืช ตลอดจนการเผามวลชีวภาพที่จะต้องนำมาคำนวณการปล่อย Non-CO2
วิธีการคำนวณการลดการปล่อยและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยแนวทางการประเมินเชิงปริมาณจำแนกเป็น 3 วิธี คือใช้แบบจำลอง (modelling) การตรวจวัดโดยตรง (direct measurement) การคำนวณด้วยค่าแนะนำ (default)
2 | ปลูกพืชเกษตรยืนต้น ขายคาร์บอนเครดิตได้
ทำสวนผลไม้ พืชเกษตรยืนต้น ไม่ว่าจะเป็นสวนเชิงเดี่ยว หรือสวนผสม ก็สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ หากแต่ต้องตรงตามเงื่อนไขข้อกำหนดเช่น เป็นพื้นที่สำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น ที่มีการปลูก ดูแล และจัดการอย่างถูกวิธี มีการปรับการใช้ปุ๋ย สารปรับปรุงดินอย่างถูกต้องและเหมาะสม ต้องมีบำรุงรักษาอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้ได้อย่างต่อเนื่อง
การคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถคำนวณจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขณะดำเนินโครงการและก่อนเริ่มโครงการ โดยประเมินได้จากข้อมูลประวัติการเพาะปลูก เช่น การใช้ปุ๋ย และ/หรือ สารปรับปรุงดิน ย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 ปี
-การกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภายใต้กรณีฐาน คำนวณจากปริมาณมวลชีวภาพของพืชเกษตรยืนต้นที่กักเก็บอยู่เหนือพื้นดิน ได้แก่ลำต้น กิ่ง และใบ คำนวณจากปริมาณมวลชีวภาพของพืชเกษตรยืนต้นที่กักเก็บอยู่ใต้ดิน คำนวณจากกิจกรรมการจัดการดินและการใส่อินทรีย์วัตถุ
-การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กรณีฐาน คำนวณการปล่อยก๊าซ N2O โดยตรงจากการใส่ปุ๋ย จากปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกพืช การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ปุ๋ยยูเรีย การใช้ปูนขาวและโดโลไมต์ และการเผาไหม้ เป็นต้น
จากนั้นจะเป็นข้อมูลการการกักเก็บและปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขณะดำเนินโครงการมีรายละเอียดที่เพิ่มเติมคือมวลชีวภาพที่ถูกเผา ซึ่งคำนวณการเผาในกิจกรรมการตัดแต่งกิ่งที่จะใช้คำนวณการปล่อย CH4 และ N2O
3 | การใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีในพื้นที่การเกษตร
เป็นโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเพิ่มปริมาณคาร์บอนที่สะสมในดินจากการใช้ปุ๋ยในพื้นที่การเกษตร โดยมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปรับปริมาณการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการธาตุอาหารของพืช เพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี และปรับปรุงวิธีการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง เช่น ฝังกลบ และในเวลาที่เหมาะสม เช่น ความชื้นในดินที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ เป็นพื้นที่การเกษตรที่ปรับการใช้ปุ๋ย สารปรับปรุงดินอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ข้อกำหนดคือต้องเป็นโครงการขนาดเล็กมีปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 5,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี มีการดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตรไม่น้อยกว่า 5 ปี มีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย และไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อดินถล่ม
การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
คำนวณจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนเริ่มโครงการ โดยประเมินได้จากข้อมูลประวัติการเพาะปลูกพืช เช่น การใช้ปุ๋ย และ/หรือ สารปรับปรุงดิน ย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งเจ้าของโครงการต้องทำบันทึกรายละเอียดการใส่ปุ๋ยต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาปริมาณการกักเก็บและปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็น N2O CO2 และคำนวณการกักเก็บคาร์บอนในดิน ซึ่งจะมีการติดตามผลทุกๆ ปีด้วย
ปลูกป่า ปลูกไม้ยืนต้น ก็ขายคาร์บอนเครดิตได้
58 ต้นไม้ค้ำประกันเงินกู้
เรียบเรียงจากระเบียบการขึ้นทะเบียน T-VER
เรื่อง JOMM YB
ภาพประกอบ มนธีรา มนกลาง