บ้านรีโนเวตครอบครัวขยาย เชื่อมต่อสเปซหลากหลายในบ้านหลังเดียว
จากบ้านเก่าบนที่ดินใจกลางเมือง แปลงโฉมเป็น บ้านรีโนเวตครอบครัวขยาย สูง 4 ชั้น หน้าตาทันสมัย ที่จัดสรรสเปซส่วนตัวของสมาชิกหลากวัย ได้แก่ คุณพ่อ คุณแม่ คุณย่า และครอบครัวขยายของลูกชายทั้งสามคนเอาไว้ภายในบ้านหลังเดียว
บ้านรีโนเวตครอบครัวขยาย หลังนี้เป็นผลงานการออกแบบของ PVWB Studio ที่นำโดยสถาปนิก คุณเตอร์ – วิชญ์วัส บุญประสงค์ และ คุณเชอร์รี่ – พัสวี ว่องเจริญ ผู้เป็นทั้งมัณฑนากรและภรรยาของ คุณกอล์ฟ – ภูริพัฒน์ วุฒิภารัมย์ ลูกชายคนเล็กของบ้านด้วย โดยคุณกอล์ฟเล่าถึงที่มาของการรีโนเวตว่า
“เราอยู่บ้านหลังเดิมมากว่า 15 ปีครับ จนลูกชายทั้งสามคนเริ่มแต่งงานมีครอบครัว เลยถึงเวลาปรับปรุงจากบ้านครอบครัวเดี่ยวให้เป็นบ้านครอบครัวขยาย โดยจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ยังมีความเป็นส่วนตัวครับ”
ด้วยเนื้อที่จำกัด การรีโนเวตบ้านเก่าสำหรับสมาชิกครอบครัวทั้ง 11 คน จึงเป็นการปันส่วนพื้นที่แต่ละชั้นสำหรับแต่ละครอบครัวย่อย และเชื่อมต่อกันในแนวตั้งด้วยโถงบันไดหลักของบ้าน ด้วยแนวคิดการอยู่ร่วมกันแบบบ้านหลายหลังบนที่ดินผืนใหญ่ “เราออกแบบให้บ้านหลังนี้เป็นเหมือนกับที่ดินที่ลูกแต่ละคนปลูกบ้านอยู่ด้วยกันหลายๆ หลัง โดยที่โถงบันไดเป็นเหมือนกับสนามหน้าบ้านที่เชื่อมบ้านของแต่ละคนเข้าด้วยกันค่ะ” คุณเชอร์รี่อธิบาย
โถงบันไดถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เชื่อมต่อทุกโซนเข้าด้วยกัน ก่อนที่สมาชิกแต่ละคนจะเข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัวซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังย่อยๆ ของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ประตูบ้านที่เปิดเข้าไปยังบริเวณชั้น 1 ของโถงบันไดที่สร้างบรรยากาศแบบกึ่งภายนอกด้วยช่องเปิดกระจกที่ติดกับพื้น บันไดโครงสร้างเหล็กแนวตรงที่ดูราวกับลอยอยู่บนอากาศ วัสดุพื้นที่แยกชัดเจนระหว่างทางเดินกับพื้นกรวดที่ปูต่อเนื่องออกไปนอกบ้าน ผนังชั้น 1 ของโถงบันไดตกแต่งด้วยไม้สนซีดาร์สไตล์ญี่ปุ่น เพิ่มความรู้สึกอบอุ่นและกลมกลืนกับการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าภายในโซนของคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ถัดเข้าไปด้านใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ลูกๆ สามารถลงมารับประทานอาหารหรือพบปะกับคุณพ่อคุณแม่ได้ก่อนที่จะขึ้นไปยังพื้นที่ของตัวเองด้านบน
เมื่อเดินขึ้นชั้นบนจะพบว่าวัสดุผนังของโถงบันไดเปลี่ยนไปเป็นผิวปูนที่ถูกปาดให้เกิดลวดลายในแนวตั้ง ดูสวยงามแบบดิบๆ เป็นธรรมชาติคล้ายกับผนังภายนอก บันไดนำทางขึ้นมาสู่ห้องโต๊ะพูลบนชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลางอีกจุดหนึ่ง ตรงจุดนี้นี่เองที่สเปซภายในที่เหลือถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนเท่าๆ กันสำหรับครอบครัวลูกชายทั้งสามคนที่ต่างมีไลฟ์สไตล์และฟังก์ชันการใช้งานที่ต่างกันออกไป โดยส่วนแรกบนชั้น 2 เป็นของลูกชายคนกลางซึ่งตกแต่งในสไตล์โมเดิร์น ประกอบด้วยห้องนั่งเล่นและเตรียมอาหารขนาดกะทัดรัด ห้องนอนหลัก และห้องนอนของลูกทั้งสองคน
บันไดทางขึ้นจากชั้น 2 สู่ชั้น 3 มีลักษณะที่ต่างออกไปจากบันไดชั้นล่าง โดยเมื่อเดินขึ้นมาถึงชานพักตรงกลางแล้ว บันไดจะแยกออกเป็นสองทาง ทางแรกนำไปยังโซนของลูกชายคนโตบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของชั้น 3 ประกอบด้วยห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารเพดานสูง ห้องนอน และห้องออกกำลังกาย
บันไดอีกทางหนึ่งนำขึ้นมายังโซนของคุณกอล์ฟที่กินพื้นที่ 2 ชั้น โดยบนชั้น 3 เป็นส่วนของห้องนั่งเล่นเล็กๆ ที่ตกแต่งในสไตล์ญี่ปุ่น พร้อมมุมนั่งฟังแผ่นเสียงบนเดย์เบด ก่อนเข้าสู่ห้องนอนด้านในที่ตกแต่งด้วยโทนสีเขียวสบายตา ส่วนทางขึ้นชั้น 4 เป็นบันไดโครงสร้างเหล็กสีดำรูปลักษณ์เรียบเท่ ที่เมื่อเดินขึ้นไปจะพบกับพื้นที่ใต้หลังคาขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยโซนนั่งเล่นสำหรับหลากหลายกิจกรรมการพักผ่อน ไม่ว่าจะนั่งเล่นเกมหรือดูทีวีบนโซฟา นั่งผ่อนคลายบนพื้นยกสูงแบบห้องญี่ปุ่น หรือปูเบาะนอนในมุมสงบตรงช่องผนัง รวมไปถึงโต๊ะรับประทานอาหาร และระเบียงสำหรับปลูกต้นไม้ พร้อมวิวมุมกว้างของตึกสูงใจกลางเมือง
แน่นอนว่าการรีโนเวตบ้านเก่าเป็นบ้านใหม่ให้ถูกใจผู้อยู่ทุกๆ คนนั้นเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทั้งเจ้าของบ้านและนักออกแบบ ตามที่คุณเตอร์กล่าวว่า “มีข้อจำกัดมากพอสมควรในการออกแบบให้แตกต่างไปจากเดิมครับ โดยเฉพาะฟาซาดของบ้านที่อยากปรับรูปโฉมให้ดูทันสมัยขึ้นด้วยการเจาะช่องแสงใหม่โดยที่ต้องมีผนังทึบตามกฎหมาย” ส่วนในมุมของผู้ที่เป็นทั้งคนออกแบบและเจ้าของบ้านนั้น คุณเชอร์รี่กล่าวว่า “ในงานรีโนเวตต้องเตรียมตัวเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิดค่ะ ทั้งเวลาและงบประมาณ บางจุดเป็นปัญหาก็ต้องพร้อมดีไซน์ใหม่ตรงหน้างาน แต่บางจุดก็ส่งเสริมงานดีไซน์นะคะ อย่างสเปซใต้หลังคาชั้น 4 ที่เราพบในตอนหลังว่ามีสเปซให้ใช้งานได้เยอะ จนทุกวันนี้กลายมาเป็นห้องนั่งเล่นที่เราชอบใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนนั้นค่ะ”
เจ้าของ : คุณภูริพัฒน์ วุฒิภารัมย์ และครอบครัว
ออกแบบ : PVWB Studio โดยคุณวิชญ์วัส บุญประสงค์ และคุณพัสวี ว่องเจริญ
เรื่อง : Tinnakrit
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : Suanpuk, Sanook