สวนป้าผิน สวนดอกไม้กินได้ กลางกรุงเทพฯ - บ้านและสวน
สวนดอกไม้กินได้

สวนป้าผิน สวนดอกไม้ กินได้ กลางกรุงเทพฯ

ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าบางอ้อ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ใครจะเชื่อว่ามี สวนดอกไม้กินได้ บนเนื้อที่หลายไร่ซ่อนตัวอยู่ สวนดอกไม้ที่คุณพัชพิน – ภิญญาพัชญ์ ปรีดาบุญ และคุณเซมเซม – สันติสุข ธิติโรจนกุล สองคู่รักช่างภาพอิสระร่วมกันสร้างขึ้นมา

สวนดอกไม้กินได้ แห่งนี้ สร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เริ่มต้นที่แค่อยากมีสตูดิโอถ่ายภาพสวยๆ ไว้ทำงาน จนพัฒนามาเป็นธุรกิจเกษตร ปลูกดอกไม้กินได้ (Edible Flowers) ที่ส่งดอกไม้ให้กับเชฟ ร้านอาหาร และคาเฟ่น้อยใหญ่มากกว่า 100 แห่ง

สวนดอกไม้กินได้

จุดเริ่มต้นแค่อยากปลูกดอกไม้

“พัชเป็นช่างภาพถ่ายอาหารและเป็นฟู้ดสไตลิสต์ เซมเซมก็เป็นช่างภาพอิสระเหมือนกันค่ะ เมื่อก่อนเปิดสตูดิโอถ่ายภาพกันที่บ้าน ลูกค้าเราเยอะขึ้น จนพื้นที่ที่บ้านไม่พอรองรับเลยคิดอยากหาที่ทำสตูดิโอแห่งใหม่ เราเองก็มีพื้นที่อยู่แล้ว อยากปลูกอะไรสักอย่าง อยากมีสวนเล็กๆ มีมุมถ่ายรูปสวยๆ เปิดให้เช่าสถานที่ใช้ถ่ายรูป คุยกับพี่ๆ สไตลิสต์ที่รู้จักก็สรุปกันว่าทำสวนดอกไม้ดีกว่า เราเองก็รักต้นไม้ ชอบต้นไม้ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ดอกไม้มาก่อนเลย ลองผิดลองถูกกันมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมากับที่นี่ ที่ สวนป้าผิน (PapinGarden) ค่ะ” คุณพัชเล่า

“จริงๆ แล้วการใช้ดอกไม้แต่งจานอาหารมีมานานแล้วค่ะ แต่ไม่ค่อยแพร่หลายนัก จะใช้กันเฉพาะในกลุ่มเชฟที่ทำ Chef’s Table กับ Fine Dining ดอกไม้บางอย่างก็หายาก ต้องสั่งมาจากที่ไกลๆ ใช้เวลานานกว่าดอกไม้จะส่งมาถึง เน่าบ้างเสียบ้าง และช่วงโควิดที่ผ่านมา ร้านอาหารและคาเฟ่ใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก คนชอบถ่ายรูปกันมากขึ้นด้วย การใช้ดอกไม้ตกแต่งอาหารและเครื่องดื่มให้สวยงามจึงแพร่หลายมากขึ้น ทำให้รูปสวยขึ้น คนอยากถ่ายรูปมากขึ้นค่ะ เรามองเห็นช่องทางตรงนี้เลยเริ่มสร้างเป็นธุรกิจปลูกดอกไม้กินได้ขึ้นมาค่ะ”

สวนดอกไม้กินได้

“แรกเลยก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นธุรกิจนะคะ แต่ในเมื่อโอกาสเข้ามาหา เราสองคนก็เป็นคนที่ไม่อยู่นิ่ง ชอบพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เลยลองเปิดรับโอกาส ลองทำดูค่ะว่ามันจะเวิร์คไหม ซึ่งที่บ้านก็ไม่เห็นด้วยนะคะที่จะมาทำสวนดอกไม้ที่นี่ ที่ก็จะโดนเวนคืนอยู่แล้วด้วยค่ะ พัชอยากแสดงให้เขาเห็นว่าถ้าเราตั้งใจเราสามารถทำได้ทุกอย่าง ทำให้เขาเห็นว่าการเป็นเกษตรกรมันไม่ได้แย่ พอเขาเห็นว่ามันขายได้ เรามีลูกค้าที่สนใจมากขึ้นจนดอกไม้เรามีไม่พอ เขาก็อนุญาตให้ทำต่อไปได้ค่ะ

เราเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ปลูกดอกไม้รอบๆ อาคาร ที่เราใช้เป็นสตูดิโอถ่ายรูปก่อน พัชชอบอะไร เห็นอะไรก็ลองเอามาปลูกหมดเลยค่ะ พยามรวบรวมให้ได้เยอะที่สุด ดอกไม้ในสวนจะมีความหลากหลาย แต่ก็มาค้นพบว่าการที่มีดอกไม้ให้เลือกหลายชนิดบางทีมันก็ไม่พอ บางครั้งลูกค้าต้องการเพียงชนิดเดียวในปริมาณมากเราก็มีไม่พอ ต้องวางแผนกันใหม่หมดเลย นอกจากชนิดที่เยอะแล้ว เราก็ต้องมีจำนวนให้เยอะตามด้วย พัชมองว่ามันเป็นธุรกิจที่น่าจะไปได้ดี เลยต้องขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้นค่ะ”

สวนดอกไม้กินได้

วางแผนปลูกให้มีดอกไม้จำหน่ายเสมอ

“ดอกไม้ที่ปลูกมีทั้งที่เป็นไม้ดอกล้มลุกและไม้ดอกอายุหลายปี มีมากกว่า 30 ชนิดค่ะ พัชจะหาดอกไม้ใหม่ๆ เข้ามาลองปลูกเรื่อยๆ แต่ก็มีดอกไม้ชนิดหลักๆ ที่ปลูกตลอดค่ะ อย่างเช่น มากาเร็ต ผีเสื้อ เราปลูกทั้งดอกไม้ไทยและดอกไม้ต่างประเทศ เจอเมล็ดอะไรที่หายากก็ซื้อเก็บไว้ หาจากในอินเตอร์เน็ตด้วยค่ะ

“ดอกไม้ที่ปลูกในแปลงจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ค่ะ แต่ก็มีการวางแผนไว้แล้วว่าจะปลูกอะไร อยากได้อะไร โดยเฉลี่ยไม้ดอกล้มลุกจะใช้เวลา 60 วันก็จะเริ่มออกดอก จากนั้นอีกประมาณ 30 วัน ต้นก็จะเริ่มโทรม เราก็รื้อปลูกต้นใหม่”

การเลือกไม้ดอกเพื่อปลูกจำหน่าย คุณพัชยึดความชอบตัวเองเป็นหลัก ยึดที่รูปร่างสีสัน แต่ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องรสชาติและประโยชน์ควบคู่กันไปด้วย ถ้ายึดตามความต้องการของลูกค้าจะยากมาก เพราะลูกค้าเรามีหลายแบบหลากสไตล์มาก จึงต้องพิจารณาดีๆ ว่า จริงๆ แล้วเขาใช้ดอกไม้อะไรกันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นพวกเชฟก็จะมีเรื่องของรสชาติ เรื่องของประโยชน์ของดอกไม้เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าเป็นร้านคาเฟ่ก็จะเน้นเรื่องการนำไปตกแต่งสวยงามเป็นหลัก

สวนดอกไม้กินได้

ปรับที่ดิน เรียนรู้หัวใจสำคัญ

“พื้นที่เดิมที่เป็นร่องสวนที่ปล่อยให้รกร้างเป็นอุปสรรคแรกที่เราต้องเจอ เราถมปรับพื้นที่ใหม่ แต่ในตอนนั้นคิดแค่ว่าจะทำเป็นโรงเรือนหรือที่จอดรถ ไม่ได้คิดว่าจะทำแปลงปลูกดอกไม้ เลยใช้ดินที่เขาขุดมาและหาที่ทิ้งมาถม ซึ่งไม่เหมาะกับการปลูกต้นไม้เลย มีทั้งเศษอิฐเศษหินเยอะมาก ถางต้นไม้เดิมที่รกๆ ออก ไถที่ เก็บเศษอิฐเศษหินออก แต่ผมคิดว่าดินที่เหลือก็ไม่ได้แย่มากนัก ยังพอใช้ปลูกต้นไม้ได้ แรกเลยเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายก็ใช้วิธีเตรียมดินเฉพาะแค่หลุมที่จะปลูกต้นไม้เท่านั้น โรยขี้วัวลงไปนิดช่วยปรับสภาพดิน แต่ปลูกแล้วต้นไม้ก็ไม่งามไม่โต ก็ไปหาข้อมูลเพิ่มว่าต้องคลุมด้วยฟางเพื่อช่วยรักษาหน้าดิน โรยด้วยขี้วัวเพิ่มธาตุอาหารและช่วยปรับสภาพดิน แล้วคลุมทับด้วยพลาสติก ก็ทดลองทำตาม ก็เริ่มเห็นผลดีขึ้นครับ” คุณเซมเซมเล่าเสริมให้ฟัง

สวนดอกไม้กินได้

สร้างโรงเรือน แบ่งโซนตามการดูแล

“การปลูกดอกไม้ที่นี่เราใช้วิธียกแปลงปลูกกลางแจ้งครับ ขนาดแปลงปลูกก็ยึดตามความกว้างของแผ่นพลาสติกคลุมแปลงที่กว้างประมาณ 70-80 เซนติเมตร ซึ่งก็เป็นระยะที่ทำงานในแปลงได้สะดวกพอดี ใน 1 แปลงเราจะปลูกดอกไม้ 3 แถว ส่วนการแบ่งพื้นที่ปลูก ก็ดูตามอายุของดอกไม้แต่ละชนิด ปลูกไม้ดอกอายุยืนปลูกแปลงหนึ่ง ส่วนพวกไม้ดอกล้มลุกก็ปลูกอีกแปลงหนึ่งเพื่อง่ายต่อการจัดการแปลงปลูก และปรับปรุงดินปลูก

ส่วนพวกไม้ดอกเมืองหนาวโดนฝนไม่ได้ เช่น แพนซี ไวโอล่า ก็จะปลูกในโรงเรือนทั้งหมด ซึ่งโรงเรือนของที่นี่เพิ่งสร้างเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้จะปลูกไม้ดอกเมืองหนาวบนแปลงเหมือนไม้ดอกชนิดอื่นๆ แต่การเติบโตไม่ได้ผลเท่าที่ควร

 “การสร้างโรงเรือนสักหลังใช้ทุนสูงมากค่ะ แต่พัชก็คิดไว้แล้วว่าเราสามารถคืนทุนได้ แต่เราต้องทำไปก่อน และด้วยความที่ชอบแพนซีและไวโอล่ามากด้วยค่ะ อยากทำให้ออกมาดี ให้เกิดความแตกต่าง ลูกค้าจะได้ชอบและจำเราได้”

ภายในโรงเรือนจะมีทั้งหมด 10 โต๊ะปลูก โครงสร้างเป็นเหล็ก ด้านล่างรองด้วยกระเบื้องลอนคู่กว้าง 1.2 เมตร วัสดุปลูกทั้งคู่ก็หาข้อมูลความรู้กันเอง ใช้สูตรดินปลูกไม้ดอกทั่วไป ประกอบด้วย ดิน กาบมะพร้าวสับ ขี้วัว ขี้แกลบ แกลบดิบ ผสมในอัตราส่วนเท่าๆ กัน วัสดุปลูกที่ใช้ต้องผ่านการหมักมาแล้ว โดยใช้วิธีเติมดินเข้าไปใหม่ไม่มีการรื้อเปลี่ยนดิน  ส่วนแปลงปลูกก็ใช้วิธีไถกลับหน้าดินใหม่หลังจากโล๊ะต้นที่หมดอายุแล้ว อาศัยประสบการณ์สังเกตดูว่าดินมีสภาพเป็นอย่างไร เหมาะสมกับการปลูกต้นไม้หรือไม่ โดยดูจากสีดินต้องมีสีน้ำตาล ไม่ขาว ดูความร่วนของดิน ถ้าไม่เหมาะก็ปรุงดินผสมเพิ่มลงไปใหม่

สวนดอกไม้กินได้

รดน้ำระวังดอกช้ำ

“ที่นี่รดน้ำโดยใช้สายยางรด ไม่ได้ติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ครับ เรารดด้วยน้ำประปาที่ทิ้งข้ามคืนในแท็งก์เก็บน้ำ รดน้ำกันตอนเช้า 8:00 น. ถ้าวันไหนแดดแรงๆ อากาศร้อนก็รดตอนเย็นเพิ่ม รดน้ำโดนดอกได้ตามปกติเลย เพราะเราไม่ได้ฉีดน้ำแรง ส่วนพวกปุ๋ยก็ใช้หัวเชื้อน้ำหมักปลาและน้ำหมักผลไม้ที่ซื้อมา ผสมน้ำฉีดพ่นในช่วงเย็นๆ ตอนแดดอ่อนๆ ประมาณ 15:00-16:00 น. โดยจะฉีดพ่นอาทิตย์ละครั้งครับ”

สวนดอกไม้กินได้

ศัตรูพืชตัวร้าย วัชพืชก็เช่นกัน

“ปัญหาศัตรูพืชที่เจอก็พวกหนอนผีเสื้อ แต่ก็มีพวกกิ้งก่า ตุ๊กแก งู คอยมากิน เมื่อก่อนใช้วิธีกำจัดด้วยมือ เจอก็เก็บทิ้ง แต่ถ้าเยอะจนสู้ไม่ไหวก็ต้องใช้สารกำจัดแมลงที่เป็นสารอินทรีย์ที่มีขายในอินเตอร์เน็ตช่วย ส่วนพวกวัชพืชก็ถอนด้วยมือเช่นกัน แล้วก็มีพวกเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ก็ใช้สารกำจัดที่เป็นอินทรีย์ช่วย  เคยใช้สมุนไพรไล่แมลงนะครับ แต่ก็ทำให้ดอกไหม้ เลยเลิกใช้ไป

สภาพอากาศก็เป็นอีกปัญหาครับ ฤดูร้อนจะเป็นปัญหามากกว่าฤดูฝนครับ ต้องช่วยรดน้ำเพิ่มเพื่อลดความร้อน ส่วนหน้าฝนถ้าฝนตกหนักมากก็จะทำให้กลีบดอกช้ำ ดอกเน่า หรือถึงขั้นต้นเน่าเลยก็มีครับ”

สวนดอกไม้กินได้

เวลาตัดดอกต้องเลือกจากการใช้งาน              

“เราตัดดอกไม้ตอน 6:00-9:00 น. เลือกดอกที่สวยสมบูรณ์ คัดดอกที่สวยที่สุดส่งให้ลูกค้า ถ้าดอกจะเน่าให้เน่าที่เรา ไม่ใช่ไปเน่าที่ลูกค้า แต่ถ้าต้องการนำไปใช้เรื่องกลิ่น เช่น ทำน้ำเชื่อม ต้องตัดดอกตอนเย็น เราต้องรู้จุดประสงค์การนำไปใช้งานของลูกค้า ต้องคุยกันก่อน

เพราะเป็นสวนออร์แกนิก ไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง ดังนั้นดอกไม้ที่ได้อาจจะมีขนาดเล็กไปบ้าง บางกลีบบางดอกอาจจะไม่สวยเพอร์เฟ็กต์ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ เหล่านี้คุณพัชเลือกจะสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจเป็นหลัก

“หากอยากสั่งดอกไม้ อยากให้ออเดอร์ดอกไม้ล่วงหน้าสัก 2-3 วันค่ะ เรามีขายให้ทั้งแบบแยกชนิด และแบบคละดอกคละสี เราจะมีเมนูดอกไม้ส่งให้เลือกซึ่งก็จะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล แต่ก็จะมีชนิดที่มีขายเป็นประจำอยู่แล้ว สามารถสั่งเป็นโทนสีมาก็ได้ค่ะ แล้วทางเราจะช่วยเลือก ช่วยจัดและให้คำแนะนำปรึกษากันได้ ที่นี่เราไม่มีออเดอร์ขั้นต่ำค่ะ ราคาก็จะต่างกันไป เริ่มต้นที่กล่องละ 150 บาท”

สวนดอกไม้กินได้
ดอกไม้สามารถนำไปแช่ในตู้เย็น อยู่ได้ 3-7 วันหลังจากได้รับของ แนะนำให้ล้างเมื่อจะนำไปใช้งานเท่านั้น

อยากเรียกมันว่าเป็นการส่งต่อความสุข มากกว่าธุรกิจ

“เราค่อยๆ รู้จักกลุ่มลูกค้าของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ ไม่ได้ขายของอย่างเดียว เราเก็บข้อมูลไปด้วยว่าลูกค้าเราต้องการอะไร ฟีดแบ็คเป็นอย่างไรบ้างค่ะ บวกกับตัวเองเป็นคนเอ็นจอยกับการกิน ชอบชิมด้วยค่ะ เจออะไรก็ลองเด็ดมาชิม ดอกไม้ทุกอย่างที่ปลูกในสวน เราชิมมาหมดแล้ว รับรองว่ากินได้จริงและปลอดภัยค่ะ (หัวเราะ)”

“พัชไม่ได้มองว่าสิ่งที่เราทำเป็นธุรกิจค่ะ เราอยากส่งต่อความสุข สื่อสารกันด้วยความสุข คนซื้อก็มีความสุข คนขายก็มีความสุข เราก็จะได้คอมมูนิตี้ที่มีความสุข ที่เราทำตรงนี้ถามว่าคุ้มไหม ก็ไม่คุ้มนักค่ะ ไม่ได้กำไรมากมายอะไร แต่พัชไม่ได้หวังจะได้แค่เงินเพราะทำตรงนี้ได้เจอสังคมใหม่ๆ มีความเห็นอกเห็นใจกัน วันไหนที่เราเหนื่อยลูกค้าก็ส่งขนมมาให้เรา บางครั้งเราก็ส่งดอกไม้ไปให้เขา เราได้ลูกค้าเป็นเพื่อนค่ะ

ก้าวต่อไปของคนปลูกดอกไม้

“เราเป็นคนไม่เคยหยุดนิ่ง เราพยายามพัฒนาไปเรื่อยๆ ค่ะ สวนเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปลูกอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราคุยกันตลอดว่าต้องทำอะไร ยังไงบ้าง ทำยังไงให้ลูกค้าไม่เบื่อเรา มีลูกเล่นตรงไหนเพิ่มขึ้นมาได้บ้าง มีดอกไม้อะไรที่เหมาะกับฤดูนั้น ช่วงนั้น อัพเดทสินค้าส่งไปให้ลูกค้าเรื่อยๆ ว่าตอนนี้เรามีอะไรน่าสนใจบ้าง พยายามถามเขาว่าอยากได้ดอกไม้อะไรเพิ่มไหม บางครั้งช่วยคิดแทนเขาด้วยค่ะว่าควรใช้ดอกไม้ชนิดไหน ใช้ดอกอะไรได้บ้าง เช่น ในกรณีที่ลูกค้าบอกแค่ว่าอยากได้โทนสีไหน เราก็จะนำเสนอเขาว่าเรามีดอกอะไรบ้าง ใช้อะไรได้บ้าง มีทั้งดอกเล็ก ดอกใหญ่ โทนสีไล่ระดับเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ให้เขาค่ะ”

“ตอนนี้พัชไปเรียนเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือกเพิ่มด้วยค่ะ พัชมองว่าเราสามารถโตต่อได้อีกหลายทางเลยค่ะ อาชีพเกษตรกรสามารถนำสิ่งที่มีไปประยุกต์ต่อยอดได้ เราไม่ได้แค่ปลูกดอกไม้ขาย เราสามารถขายได้ทั้งต้น ใบ เมล็ด หรือนำไปแปรรูปเป็นสิ่งต่างๆ ต่อไปได้ ตอนนี้เราปลูกต้นขายด้วยนะคะ เลือกชนิดที่คนอื่นเขาไม่ค่อยได้ทำขายกัน เช่น แพนซี ผีเสื้อ ดอกอาจจะไม่ใหญ่ สวยเหมือนที่เขาขายกันในหน้าหนาว แต่เราจะทำให้ซื้อได้ตลอดทั้งปีค่ะ

ในอนาคตอยากจะทำเวิร์คช็อปสอนปลูกดอกไม้ การดูแล ไปจนถึงการนำไปใช้ อาจจะเริ่มทำได้ปีหน้านะคะ ทำสักเดือนละครั้ง กลุ่มละไม่เกิน 10 คน อีกความฝันคืออยากทำให้ที่นี่เป็นสวนดอกไม้กินได้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพค่ะ”

ชมความสวยงามของสวนป้าผินได้ที่

instagram : papingarden

Facebook : Papin-garden

โทร. 09-1697-9905

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : ศุภกร  ศรีสกุล

รวมผักสวยน่าปลูก กินได้ ตกแต่งได้ด้วย

ปลูกดอกไม้ไทยกินได้ ให้มีรายได้ทุกวัน