Behide House บ้านอบอุ่นที่ซ่อนตัวหลังกำแพงทึบ
บ้านที่ทำกำแพงทึบหน้าบ้านเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ภายในกลับโปร่งสบาย ด้วยเทคนิคการเปิดช่องแสง แบบบ้านโมเดิร์นชั้นเดียว
หลังจากซื้อบ้านทาวน์โฮมย่านพระรามที่ 2 และตกแต่งเรียบร้อยเพื่อเตรียมตัวย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหลังใหม่ คุณอลิสา คุณอังกูร เจ้าของบ้าน กลับเกิดคำถามขึ้นมาว่า “ทำไมเราไม่เลือกสร้างบ้านใหม่ในพื้นที่ดินของครอบครัวไปเลย” ซึ่งพื้นที่นั้นตั้งอยู่ในซอยเดียวกันกับทาวน์โฮม ทั้งยังแวดล้อมด้วยบ้านของคุณแม่และญาติๆ อีกด้วย เมื่อตัดสินใจได้ดังนี้ โปรเจ็กต์“บ้านซ่อนตัว-Behind House” บ้านชั้นเดียวหลังใหม่พื้นที่ 270 ตารางเมตร ของครอบครัวจึงเกิดขึ้น แบบบ้านโมเดิร์นชั้นเดียว
จุดเริ่มต้นของบ้านที่ซ่อนตัวอยู่หลังกำแพง
“ก่อนหน้านี้เราติดตามรายการบ้านและสวนทีวีเป็นประจำ แล้วได้รู้จักกับบริษัท Monotello จากการชมรายการและชื่นชอบสไตล์การออกแบบที่ดูเรียบง่ายแต่มีความเก๋ จึงตัดสินใจติดต่อสถาปนิกให้มาออกแบบบ้านหลังนี้ค่ะ” คุณพจน์ – วรพจน์ เตชะอำนวยสุข สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท Monotello จึงได้เข้ามาพูดคุยอย่างละเอียดถึงวิถีการใช้ชีวิตของคนในครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 คนคือ พ่อ แม่ และลูกสาว เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการออกแบบ โดยตัดสินใจร่วมกันว่าจะทำเป็นบ้านชั้นเดียว เพื่อตอบสนองการใช้งานที่เข้าถึงง่ายและมีฟังก์ชันไม่มาก ด้วยการรวมพื้นที่การใช้งานเข้าด้วยกันแต่แบ่งโซนพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลางสำหรับนั่งเล่นไว้อย่างชัดเจน แบบบ้านโมเดิร์นชั้นเดียว
บ้านขนาดกะทัดรัดที่ไม่อึดอัด
คอนเซ็ปต์ในการออกแบบบ้านหลังนี้คือ บ้านที่ซ่อนตัวอยู่หลังกำแพง เมื่อมองจากภายนอกเข้ามาจะมีองค์ประกอบของกำแพงผืนใหญ่ที่บดบังพื้นที่ภายในบ้านไว้เพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย แต่เมื่อเข้ามาแล้วจะพบว่าบ้านไม่ได้ทึบตันอย่างที่เห็น เพราะออกแบบสเปซให้ต่อเนื่องกัน นำแสงธรรมชาติเข้ามาผ่านช่องแสงทั้งทางด้านข้างตัวบ้าน และช่องแสงด้านบนเหนือกำแพงทึบ จึงทำให้บ้านโปร่งโล่งอยู่สบาย
คุณพจน์เล่าถึงการออกแบบว่า “เมื่อโจทย์ของเราคือการออกเเบบบ้านชั้นเดียว จึงต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เราเดินอยู่ในบ้านแล้วไม่เจอกับผนังทึบตัน เพราะความพิเศษของบ้านชั้นเดียวคือการที่เราได้มองเห็นโคนต้นไม้ ได้เห็นพื้นหญ้า ให้พื้นที่ภายในบ้านได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศภายนอกมากที่สุด การออกแบบช่องเปิดนั้นเป็นโจทย์สำคัญ”
การวางโซนฟังก์ชันของบ้านแบ่งเป็นฝั่งด้านหน้าและฝั่งด้านหลัง โดยออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง ได้แก่ ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และส่วนครัวให้อยู่ฝั่งด้านหน้าของบ้าน แบ่งสัดส่วนห้องนั่งเล่นด้วยการลดระดับพื้นลงเล็กน้อย และใช้ผนังบานเลื่อนกระจกเฟรมบางแบ่งสัดส่วนพื้นที่ให้สามารถเลือกเปิด-ปิดได้ตามต้องการ ทำให้พื้นที่ยังคงดูต่อเนื่องไม่อึดอัด ส่วนฝั่งด้านหลังจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของคนในครอบครัว
ห้องโถงพักผ่อนที่ทำหน้าที่เหมือนศาลาไม้
“เหตุผลที่เลือกใช้พื้นหินขัดสีขาวแทนการใช้กระเบื้อง เพราะหินขัดไม่มีรอยต่อ การมีรอยต่อของวัสดุจะไปลดทอนความรู้สึกของการเป็นลานนั่งเล่นขนาดใหญ่ลงได้” คุณพจน์อธิบายถึงความตั้งใจในการออกแบบพื้นที่โถงกลางให้มีความรู้สึกคล้ายกับการนั่งพักผ่อนในศาลาไม้ขนาดใหญ่ จึงเลือกใช้วัสดุเป็นฝ้าเพดานไม้ และพื้นหินขัด ทำให้แม้นั่งอยู่ภายในบ้านก็เสมือนได้นั่งเล่นนอกบ้าน และมีความเชื่อมต่อกับพื้นที่สวนผ่านช่องเปิดที่ออกแบบไว้อย่างลงตัว
ช่องแสงสร้างคุณภาพการอยู่อาศัย
สถาปนิกให้ความสำคัญกับช่องเปิด ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้บ้านขนาดกะทัดรัดดูโปร่งขึ้นมาก “ตำแหน่งการเปิดช่องเปิดนั้นมีความสำคัญมากที่จะทำให้บ้านดูไม่ทึบตัน เนื่องจากแปลนบ้านชั้นเดียวมีลักษณะแผ่ จึงมีโอกาสที่จะทำให้บางห้องไม่ได้รับแสงแดด ดังนั้นการออกแบบให้เกิดช่องแสงตามแนวทางเดินภายในบ้าน จะทำให้บ้านได้รับแสงธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากการเป็นบ้านชั้นเดียวจริงๆ”
บริเวณห้องโถงกลางออกแบบช่องเปิดขนาดใหญ่บริเวณห้องนั่งเล่น ซึ่งมองออกไปเห็นต้นพุดกังหันที่มีรูปทรงสวยงาม ซึ่งนักจัดสวนเลือกให้มีขนาดเหมาะเจาะกับช่องหน้าต่างที่สถาปนิกออกแบบไว้ ทำหน้าที่เสมือนเป็นกรอบเฟรมของบ้าน ในส่วนห้องนอนพ่อแม่และห้องนอนลูกซึ่งอยู่ด้านหลังของบ้านจะเปิดคอร์ตขนาดเล็กบริเวณโถงทางเดินเพื่อนำแสงเข้ามาและช่วยระบายอากาศภายในบ้าน จะเห็นได้ว่าสถาปนิกออกแบบให้แต่ละห้องนอนมีช่องแสงอย่างน้อยสองจุด เพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามาในห้องอย่างทั่วถึง แม้ช่องเปิดจะมีขนาดไม่ใหญ่แต่ด้วยตำแหน่งที่เหมาะสมจึงสามารถใช้ประโยชน์จากช่องเปิดได้อย่างเต็มที่
บ้านที่เจ้าของและนักออกแบบเติบโตไปพร้อมกัน
สเปซของบ้านย่อมสะท้อนตัวตนเจ้าของบ้าน ซึ่งตีความจากการพูดคุยกัน แล้วทำความเข้าใจความชอบ ความต้องการของทุกคน
“เป็นเรื่องปกติที่เจ้าของบ้านสื่อสารสิ่งที่เขาต้องการออกมาเป็นรูปธรรมไม่ได้ ซึ่งนั่นก็คือหน้าที่ของสถาปนิกที่จะเข้าไปพูดคุย ทำความรู้จักเจ้าของบ้านให้มากขึ้น แล้วนำเสนอสิ่งที่น่าจะเหมาะกับพวกเขา ซึ่งบ้านหลังนี้เจ้าของบ้านมีส่วนอย่างมากที่ทำให้บ้านสมบูรณ์แบบ โดยค่อยๆทำความเข้าใจไปกับเรา เหมือนเราได้พัฒนาด้านดีไซน์ร่วมกัน และผมมองว่าบ้านหลังนี้คือ Wonderwall ของพวกเขาทั้งสามคน”
ในขณะที่เจ้าของบ้านก็กล่าวทิ้งท้ายว่า“บ้านนี้เหมือนฝันที่ตั้งใจไว้กลายเป็นความจริง แต่ก่อนสมัยอยู่บ้านเดิมที่เป็นตึกแถว เราจะมีหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบบ้านติดบ้านไว้ คุณแม่ก็มักมาคั่นหน้าที่ท่านชอบ ซึ่งเราก็ทำแบบเดียวกัน ชอบรูปแบบไหนก็จะคั่นหน้าไว้ จนมาวันนี้เมื่อบ้านสร้างเสร็จแล้วมีเพื่อนๆชมว่าบ้านสวยก็รู้สึกดีใจ และดีใจเป็นพิเศษเมื่อรู้ว่าบ้านของเราได้มีส่วนร่วมในนิตยสารบ้านและสวนฉบับนี้ด้วย”
บ้านหลังนี้เป็นอีกบทพิสูจน์ว่าความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่บ้าน เพราะภายในพื้นที่กะทัดรัดกลับแฝงไปด้วยฟังก์ชันและความสบายที่ตอบโจทย์สำหรับครอบครัวเล็กๆ ให้สามารถเติมเต็มความสุขอย่างสงบและอบอุ่นเบื้องหลังกำแพงแห่งนี้
เจ้าของ: คุณอลิสา คุณอังกูร
ออกแบบ: Monotello
ออกแบบสวน: RITT Landscape Design
คอลัมน์ บ้านสวย พ.ย.2565
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล