รู้หรือไม่ “แก่นฝาง” ใช้สกัดทำน้ำยาอุทัย
ถ้าพูดถึง “น้ำยาอุทัย” เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก และอาจจะเคยใช้กันมาบ้างแล้ว แต่ถ้าถามว่า น้ำยาอุทัยนี้ทำมาจากอะไร คงมีแค่บางคนที่รู้ถึงที่มาที่ไป ดังนั้น เราจะพาไปทำความรู้จักพืชที่ใช้ทำน้ำยาอุทัยนี้พร้อมๆกัน
น้ำยาอุทัย เป็นยาแผนโบราณ ยาสามัญประจำบ้าน ที่สกัดจากสมุนไพรไทยที่ชื่อว่า “ฝาง” หรือบางท้องถิ่นเรียก ฝางเสน ฝางส้ม ง้าย หนามโค้ง โซปั้ก เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย โดยสามารถพบได้ตามประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเขตร้อนดังกล่าว เช่น อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ เวียดนาม รวมถึงทางตอนใต้ของจีน
ต้นฝางมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Caesalpinia sappan Linn. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง บริเวณลำต้นและกิ่งจะมีหนาม ลักษณะใบเป็นใบรวม มีการเรียงใบคล้ายกับต้นหางนกยูงไทย ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอด ดอกมีสีเหลือง ตรงกลางดอกมีสีแดง ผลเป็นฝักรูปเหลี่ยมคล้ายกับถั่วแปบ มีความแข็ง สีน้ำตาล ฝักของฝางนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดแก่นสีเหลืองเรียกว่า “ฝางส้ม” และแก่นสีแดงเข้มเรียกว่า “ฝางเสน” ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้ตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และตามเขาหินปูน
นอกจากฝางแล้วยังมีสมุนไพรธรรมชาติอื่นๆกว่า 32 ชนิด ส่วนฝางที่นำมาใช้ประโยชน์ด้านการย้อมสี คือ การนำส่วนของแก่น และฝัก น้ำต้มจากแก่นฝางจะให้สีแดง นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัยทิพย์ หรือใช้ผสมน้ำดื่ม และใช้สำหรับทำสีผสมอาหาร ส่วนฝางส้มนิยมแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม อีกทั้งยังมีการสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์อีกด้วย
นอกจากฝางจะให้ประโยชน์ด้านสีธรรมชาติแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาอีกมาก เช่น บำรุงโลหิต แก้ร้อนใน ช่วยลดอาการปวดมดลูกในสตรีหลังคลอด ช่วยรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ ส่วนสารสกัดจากแก่นฝางมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงนำมาเป็นส่วนผสมในยา และเครื่องสำอางประเภทครีม เจล และโลชั่น เพื่อใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้นฝางมีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย ปัจจุบันจึงเริ่มนิยมปลูก และขยายพันธุ์เพื่อการพาณิชย์มากขึ้น
นอกจากจะใช้เนื้อไม้ในการย้อมสีแล้ว ยังนำมาทำเป็นสีทาตัวสำหรับงานเทศกาลในอินเดียอีกด้วย ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื้อไม้ของต้นฝางถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่ง รวมทั้งเคยเป็นสินค้าผูกขาดของรัฐอย่างหนึ่งด้วย
เรื่อง : อธิวัฒน์ ยั่วจิตร
ภาพ : กชพรรณ ทองดี