เติมสีสันให้สวนครัวด้วยไอเดียปลูกผักหลากหลายในแปลงเดียว
นักปลูกผักที่ชอบปลูก แต่ปลูกเยอะๆ ก็กินไม่ทัน มาดู ไอเดียปลูกผัก แบบหลากหลายชนิดในแปลง อย่างละนิดอย่างละหน่อยแค่พอรับประทาน แถมด้วยวิธีปลูกผักสวยๆ ไว้ตกแต่งได้ด้วย
ไอเดียปลูกผัก หลายๆ ชนิดสามารถทำได้ทั้งปลูกลงแปลงดินหรือปลูกลงภาชนะ การปลูกแบบนี้มีข้อดีคือ สามารถปลูกผักแต่ละชนิดจำนวนไม่มากนัก ทำให้คำนวณจำนวนปลูกได้เพียงพอกับปริมาณที่ต้องการบริโภค นอกจากนี้การปลูกผักหลากหลายชนิดจะลดปัญหาโรคและแมลงรบกวนได้ด้วย แม้ว่าเทคนิคการปลูกผักแบบหลากหลายจะไม่แตกต่างจากปลูกผักทั่วไปนัก แต่มีข้อคิดในการปลูกให้ได้ผลดีดังนี้
- แปลงผักบนดาดฟ้า ของครูสอนโยคะที่อยากกำจัดขยะอาหาร
- ปลูกผักบนระเบียง ที่ไต้หวัน แปลงผักทำเองจากระเบียงห้องนอน
ไอเดียปลูกผัก ภายในแปลงปลูกอะไรบ้าง
วิธีปลูกผักแบบหลากหลาย สามารถปลูกได้ 2 แบบคือ ปลูกผักอายุหลายปีเป็นโครงเอาไว้ เช่น ปูเล่ เคล โรสแมรี่ มินต์ กะเพรา พริก ผักแพว และปลูกผักล้มลุกแทรกลงไป เช่น กวางตุ้ง ผักกาด ผักสลัด วิธีนี้จะช่วยให้แปลงปลูกดูไม่โล่งเวลาเก็บเกี่ยว อีกแบบคือปลูกผักล้มลุกทั้งหมด อาจจะเป็นผักกินใบปลูกรวมๆกันหลายชนิด หรือปลูกผสมระหว่างผักกินใบ หัว และผลได้ ผักแต่ละชนิดสามารถปลูกเท่าไหร่ก็ได้ตามที่เราต้องการ แต่ผักบางชนิดควรเว้นระยะระหว่างต้นเพื่อให้มีพื้นที่เจริญเติบโต เช่น ผักสลัดและผักกินหัว ควรเว้นระยะระหว่างต้นประมาณ 20 เซนติเมตร มะเขือเทศ 30-60 เซนติเมตร มะเขือ 50-75 เซนติเมตร เป็นต้น
ไอเดียปลูกผัก ปลูกที่มีอายุเก็บเกี่ยวต่างกัน
ผักอายุหลายปี ได้แก่ เคล โหระพา กะเพรา พริก ปูเล่ ให้ปลูกบริเวณริมๆ เพื่อเปิดกลางแปลงให้โล่งไว้ปลูกผักอายุสั้นที่เก็บเกี่ยวบ่อยกว่าได้สะดวก ทั้งยังสามารถเตรียมดินปลูกชุดใหม่ได้ง่าย นอกจากนี้พืชผักอายุสั้นอาจจะเลือกชนิดที่มีอายุเก็บเกี่ยวต่างกันเพื่อให้สามารถทยอยเก็บผลผลิตได้ จะทำให้มีผักกินตลอด เช่น ผักสลัดอายุเก็บเกี่ยว 45-60 วัน (ขึ้นกับชนิด) เคล > 45 วัน กวางตุ้งฮ่องเต้ 45-50 วัน มะเขือเทศ 70-90 วัน มะเขือยาว 70-90 วัน เบบี้แครอต 60 วัน แรดิช 45 วัน เป็นต้น อ่านเพิ่มเติมได้ที่หนังสือ “ผักนอกปลูกง่ายทำได้ทุกฤดู”
นอกจากปลูกผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวต่างกันแล้วก็ควรทยอยเพาะกล้าและปลูกผักห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ผักทยอยเก็บเกี่ยวได้
ปลูกผักร่วมกับไม้ดอกช่วยล่อแมลงที่มีประโยชน์
แมลงที่มีประโยชน์ในสวน เช่น เต่าทอง เต่าลาย ช่วยกำจัดเพลี้ยอ่อน แมลงบางชนิดยังทำหน้าที่ช่วยผสมเกสรให้พืชผักติดผลดีขึ้น ไม้ดอกหลายชนิดยังสามารถนำมารับประทานและตกแต่งอาหารและเครื่องดื่มได้ ชนิดไม้ดอกน่าปลูก ได้แก่ มินต์ เดซี่ แววมยุรา มากาเร็ต แวววิเชียร ดาวเรือง ทาร์รากอน เป็นต้น
จำนวนผักที่ต้องการปลูก
จำนวนผักที่ปลูกต้องคำนวณจากจำนวนสมาชิกในบ้าน อาจจะเพาะต้นกล้าอย่างละเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น มีสมาชิกประมาณ 4 คน เพาะกล้าผักผสมระหว่างผักกินใบประมาณเดือนละครั้ง ปลูกประมาณ 4-5 ชนิด อย่างละ 20-30 ต้น จะได้ผลผลิตหมุนเวียนพอรับประทานตลอด หรือลองปลูกแล้วปรับสัดส่วนชนิดและจำนวนผักตามที่ใช้งานจริงตามความเหมาะสมของแต่ละบ้านก็ได้
แปลงปลูกควรมีขนาดเท่าไหร่
แปลงปลูกผักที่จะปลูกรวมๆ กัน จะมีขนาดเท่าไหร่ก็ได้ จะเป็นกระถาง กระบะ ตะกร้า หรือรูปแบบใดก็ได้ทั้งสิ้น เพียงแต่แปลงผักควรลึกอย่างน้อย 20-25 เซนติเมตร ให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของราก แต่ผักบางชนิดสามารถปลูกลงภาชนะตื้นๆ 10-20 เซนติเมตรได้ เช่น ผักชี ผักสลัด วอร์เตอร์เครส เป็นต้น ข้อคิดอีกอย่างคือแปลงผักควรมีความกว้างไม่เกิน 1 เมตร เพื่อให้ดูแลจัดการสะดวกในระยะเอื้อมมือถึง
สำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัดก็ไม่ใช่ปัญหา แม้ว่าจะมีแปลงผักเล็กๆ เพียงแปลงเดียวก็สามารถปลูกผักหลากหลายได้เช่นกัน เพียงแต่ปรับสัดส่วนจำนวนผักแต่ละชนิดให้พอกับขนาดแปลงที่ปลูก
ปรุงดินให้ดีก่อนปลูก
ดินคือหัวใจสำคัญของการเจริญเติบโตของพืชผัก ดินที่ปรุงมาดีแล้วแทบจะไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มผักก็สามารถเติบโตได้ไปจนตลอดอายุการเก็บเกี่ยว เทคนิคการปรับปรุงดินปลูกต้นไม้ในบ้านแบบง่ายๆ คือ ใช้ปุ๋ยคอก 2 กิโลกรัม หรือปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 1 กิโลกรัม และแกลบดิบ 1 กิโลกรัม ต่อแปลงปลูก 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน รดด้วยน้ำหมักชีวภาพอัตราส่วน 4 ช้อนโต๊ะ (20 มิลลิลิตร) ต่อน้ำ 10 ลิตร คลุมดินระหว่างหมัก รดน้ำ 2 วันครั้ง และรดน้ำหมักชีวภาพทุก 7 วัน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ดินจะร่วนซุยยิ่งขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาดินแตกต่างกันไป สามารถเพิ่มอินทรียวัตถุต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา เช่น ดินเหนียวให้เพิ่มกาบมะพร้าวสับหรือทรายหยาบ 1-2 กิโลกรัม ต่อแปลงปลูก 1 ตารางเมตร ดินทราย ใส่อินทรียวัตถุที่อุ้มน้ำได้ดี เช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน อัตราส่วน 1-2 กิโลกรัมและขุยมะพร้าว 1 กิโลกรัมต่อแปลงปลูก 1 ตารางเมตร
สำหรับผู้ที่หา ไอเดียปลูกผัก และความรู้ในการปลูกผัก อ่านเพิ่มเติมๆ ได้ที่หนังสือ “จัดสวนกินได้อย่างมีสไตล์” และ “ผักนอกปลูกง่าย ทำได้ทุกฤดู” สำนักพิมพ์บ้านและสวน
เรื่อง วรัปศร
ภาพ คลังภาพบ้านและสวน
ข้อมูล : หนังสือ “ผักนอกปลูกง่าย ทำได้ทุกฤดู” และ “จัดสวนกินได้อย่างมีสไตล์”