วิธีเลือกมุ้งและพลาสติกคลุมโรงเรือน
ใครกำลังจะทำโรงเรือน ต้องมารู้จักวิธีเลือก มุ้งโรงเรือน และ พลาสติกโรงเรือน เพื่อช่วยปกป้องพืชพรรณให้ปลอดแมลงรบกวน และเติบโตได้ดี
พลาสติกโรงเรือน
ใช้สำหรับทำหลังคาโรงเรือน หรือใช้คลุมทั้งโรงเรือนเพื่อสร้างเป็นระบบปิด หรือโรงอบที่ใช้ตากพืชผล เป็นพลาสติกที่เป่าเป็นแผ่นฟิล์ม ผลิตจากพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene หรือ HDPE) และใส่สารต้านรังสียูวี เพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น โดย พลาสติกโรงเรือน ถือเป็นวัสดุคลุมโรงเรือนที่มีราคาประหยัดที่สุด หากมีงบประมาณเพียงพอ และต้องการความสวยงาม สามารถใช้วัสดุถาวรได้ เช่น กระจก พอลิคาร์บอเนต กระเบื้องหลังคาโปร่งแสง
ประเภทพลาสติกโรงเรือน : พลาสติกโรงเรือนในท้องตลาดส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุประเภทเดียวกัน แต่จะมีการเพิ่มสารเติมแต่งที่แตกต่างกัน เพื่อทำให้มีคุณสมบัติพิเศษที่ต่างกันตามการใช้งาน เช่น
- ชนิดใส (Green House -UV Clear Film) เป็นพลาสติกเนื้อใสที่ให้แสงผ่านลงมาได้โดยตรง คุณภาพของพลาสติกจะมีผลต่อค่าอัตราแสงผ่าน (Light Transmission in PAR) โดยสังเกตข้อมูลหรือขอดูเอกสารคุณสมบัติต่างๆ จากผู้จำหน่าย ซึ่งควรมีค่าอัตราแสงผ่านระบุอยู่ในเอกสาร
- ชนิดกระจายแสง (Green House – UV Diffused Film) มีคุณสมบัติกระจายแสงให้นวล ช่วยให้ใบพืชไม่ไหม้ และแสงสว่างกระจายได้ทั่วโรงเรือนแม้ในช่วงเวลาแสงน้อย พลาสติกมีลักษณะขุ่น แต่ด้วยเทคนิคการผลิตจึงมีค่าอัตราแสงผ่านเทียบเท่ากับแบบใสที่ประมาณ 90% และสามารถกระจายแสงได้กว่า 40%
- ชนิดกันรังสีอินฟาเรด (Green House – UV Cooling Diffused Film) เป็นการเพิ่มสารพิเศษให้เนื้อพลาสติกสะท้อนความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดออกมา จึงช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนประมาณ 3-5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับพลาสติกโรงเรือนทั่วไป เหมาะสำหรับพืชที่ไม่ทนร้อน เช่น ผักสลัด สตรอว์เบอร์รี่
การเลือกความหนา : ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งานและปัจจัยที่ทำให้พลาสติกเสียหายได้
- 100 ไมครอน สำหรับโรงเรือนในบริเวณบ้านที่มีรั้วรอบขอบชิด อยู่ในเมือง มีลมอ่อน
- 150 ไมครอน โรงเรือนในบริเวณบ้านที่มีรั้วรอบขอบชิด บ้านตั้งอยู่ห่างๆกัน มีลมพัดแรงบ้าง
- 150 – 200 ไมครอน โรงเรือนกลางสวน มีระดับพื้นถึงคานสูงมากกว่า 2.50 เมตร และคานถึงยอดหลังคาสูงมากกว่า 1 เมตร
การเลือกซื้อ :
- การเลือกพลาสติกรุ่นที่หนากว่า ไม่ได้หมายความว่ายิ่งหนาจะยิ่งทนแดดและมีอายุการใช้งานนานกว่ารุ่นที่บางกว่า แต่ความหนาที่มากขึ้นจะช่วยป้องกันการฉีกขาดจากแรงลม แรงกระแทกจากกิ่งไม้ และลูกเห็บได้ดีกว่า
- สังเกตปริมาณการใส่สารต้านรังสียูวี ซึ่งจะมีตั้งแต่ 0% 3% 5% และ7% ซึ่งจะช่วยให้มีอายุการใช้งานนานขึ้นตามลำดับ (กรณีระบุว่าใส่สารต้านรังสียูวี 0% ต้องดูข้อมูลต่ออีกว่าเป็นการใช้เม็ดพลาสติกใหม่หรือเก่า ซึ่งมีคุณภาพและราคาต่างกัน ส่วนกรณีใส่สารต้านรังสียูวี 3% 5% และ7% มักผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่)
- หลายคนมักสับสนกับพลาสติกปูบ่อชนิดใสเพราะดูคล้ายกันมาก และผู้ขายบางรายก็อาจเหมารวมให้ใช้คลุมโรงเรือนได้ ซึ่งก็ใช้คลุมได้จริง แต่จะมีอายุการใช้งานสั้นประมาณ 1 ปีเท่านั้น เพราะไม่ได้ใส่สารป้องกันยูวี และทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล)
การดูแลรักษา : แสงจะส่องผ่านได้น้อยลงเมื่อมีฝุ่นเกาะ จึงควรล้างด้วยการฉีดน้ำเป็นครั้งคราว และถ้าโรงเรือนมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป อาจใช้ผ้าเช็ดถูได้
อายุการใช้งาน : 3-5 ปี
Recommended Products
- พลาสติกโรงเรือน ชนิดใส ตราปลาฉลาม เป็นพลาสติกเนื้อใสที่ให้แสงผ่านลงมาได้โดยตรง มีค่าอัตราแสงผ่านอยู่ที่ประมาณ 88-90% ใส่สารต้านรังสียูวี 7% ความหนา 100 ไมครอน หน้ากว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร ราคา 825 บาท
- พลาสติกโรงเรือน ชนิดลดความร้อนและกระจายแสง ตราปลาฉลาม เป็นการเพิ่มสารพิเศษให้เนื้อพลาสติกสะท้อนความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดออกมา และช่วยกระจายแสงให้ทั่วโรงเรือน ใส่สารต้านรังสียูวี 7% ความหนา 150 ไมครอน หน้ากว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร ราคา 2,230 บาท
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : http://kongsawat.com/
มุ้งขาวกันแมลง
มุ้งขาวกันแมลงที่ใช้ในการเกษตร ผลิตจากพอลิเอทิลีนที่รีดออกมาเป็นเส้นด้าย จากนั้นจึงนำเข้าเครื่องทอและเชื่อมด้ายให้ติดกันด้วยความร้อน มีการผสมสารต้านรังสียูวี เพื่อใช้งานกลางแจ้ง มีคุณสมบัติทนทานน้ำได้ดี เหมาะสำหรับใช้ในการเกษตร การประมง รวมถึงการใช้งานทั่วไป
ประเภท : มีความถี่ตั้งแต่ 16, 20, 24, 32 และ 40 ตา โดยความถี่ที่ใช้กันมาก คือ 20 และ 32 ตา (20 ตา หมายถึง ใน 1 ตารางนิ้ว มีเส้นแนวตั้ง 20 เส้น และ เส้นแนวนอน 20 เส้น)
การเลือกใช้ขนาดความถี่ : ยิ่งตาถี่ก็จะยิ่งกันแมลงตัวเล็กได้ดี แต่ก็จะทำให้อากาศผ่านได้น้อยลงด้วย ซึ่งการระบายอากาศได้น้อย จะทำให้ภายในโรงเรือนร้อนขึ้น จึงมีผลกับทั้งพืชและผู้ที่เข้าไปทำงานในโรงเรือน โดยการเลือกความขนาดถี่ขึ้นอยู่กับประเภทพืชที่ปลูก
- 16 ตา ใช้สำหรับป้องกันสัตว์และแมลงขนาดใหญ่ เช่น หอยทาก
- 20 – 24 ตา เหมาะกับผักสายพันธุ์ต่างประเทศที่ต้องการการระบายอากาศดี เช่น ผักสลัด และพืชที่ไม่มีศัตรูเป็นแมลงขนาดเล็ก เช่น แคคตัส
- 32 – 40 ตา ใช้กับพืชที่ทนร้อนได้ดี และมีศัตรูเป็นแมลงขนาดเล็ก เช่น เมลอน
การดูแลรักษา : มุ้งจะระบายอากาศได้น้อยลงเมื่อมีฝุ่นเกาะ จึงควรฉีดน้ำล้างฝุ่นเป็นครั้งคราว โดยมักเกิดความเสียหายจากลมพายุ และสัตว์กัดแทะ เช่น หนู มุ้งสามารถซ่อมแซมด้วยการเย็บปะได้เหมือนงานปะผ้า
อายุการใช้งาน : 3-4 ปี
Recommended Products
มุ้งขาวเพื่อการเกษตร ตราปลาฉลาม สำหรับกันแมลงในโรงเรือนผสมสารต้านรังสียูวี เพื่อใช้งานกลางแจ้ง มีคุณสมบัติทนทานน้ำได้ดี เหมาะสำหรับใช้ในการเกษตร การประมง รวมถึงการใช้งานทั่วไป
- ความถี่ 20 ตา หน้ากว้าง 2.50 เมตร ยาว 10 เมตร ราคา 610 บาท
- ความถี่ 32 ตา หน้ากว้าง 2.50 เมตร ยาว 10 เมตร ราคา 910 บาท
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : http://kongsawat.com/
Tips
ใช้มุ้งฟ้าแทนมุ้งขาวได้ไหม
มุ้งไนล่อนสีฟ้ามี 2 ความถี่คือ 16 และ 20 ตา มีราคาถูกกว่ามุ้งขาว และไม่ได้ใส่สารต้านรังสียูวี จึงเหมาะสำหรับใช้ในร่มเท่านั้น เช่น กันแมลงให้โรงปศุสัตว์ หากนำมาใช้กลางแจ้งก็จะเสื่อมสภาพเร็ว
ขอบคุณข้อมูล : คงสวัสดิ์ ซัพลาย จำกัด
คอลัมน์ ช่างประจำบ้าน นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ มิ.ย.65
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, คงสวัสดิ์ ซัพลาย จำกัด
10 เรื่องต้องรู้ ก่อนทำโรงเรือนข้างบ้าน