7 บ้านผู้สูงอายุ สวยๆ อยู่สบาย เหมาะสำหรับผู้สูงวัย
ด้วยอายุที่มากขึ้น ทำให้สุขภาพร่างกายของผู้สูงวัยเสื่อมถอย และอาจมีผลทำให้สุขภาพจิตลดน้อยลงไปด้วย การออกแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จึงมีผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นได้ เรามีตัวอย่าง บ้านผู้สูงอายุอยู่สบาย ที่นอกจากมีการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานของท่านแล้ว ยังแวดล้อมด้วยความเป็นธรรมชาติที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกสบายได้ทั้งกายและใจด้วย
บ้านไร้กังวล
เจ้าของ : คุณหญิงพรรณางค์ – พลเอกณรงค์ฤทธิ ปาณิกบุตร และคุณฐาปนันท์ สุวิทยาลังการ
สถาปนิก : คุณอภิสิทธิ์ ซื้อเจริญ
บ้านชั้นเดียวที่ออกแบบมาเพื่อความสุขของคุณแม่สูงวัย โดยจัดเป็นสวนคอร์ตยาร์ดอยู่กลางบ้านสร้างพื้นที่สีเขียวที่ดูสบายตา ในส่วนของตัวบ้านมีโครงสร้างไม่ซับซ้อน แต่แฝงการใช้งานแบบเต็มที่ มีการคิดเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกแด่คุณแม่สุดที่รัก เพื่อให้ท่านได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไร้ความกังวล >> อ่านต่อ
บ้านบุญโฮม
เจ้าของ: คุณวาทินี สุดตา
ออกแบบ: S Pace Studio โดยคุณทวิชากร เหล่าไชยยงค์ และคุณปัณณพัฒน์ เพ็ชรจรัส
วิศวกรโครงสร้าง:คุณบดินทร์ มหาราช
บ้านหลังนี้ตีความวิถีชีวิตที่มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยของคนอีสานออกมาเป็นบ้านชั้นเดียวรูปลักษณ์แบบโมเดิร์นที่โดดเด่นด้วยชานหน้าบ้านขนาดกว้างขวาง สำหรับรองรับญาติๆและเพื่อนบ้านที่หมั่นแวะเวียนมาทักทาย เพื่อไม่ให้ผู้สูงวัยในบ้านรู้สึกเหงาหงอย หลังคาจั่วกรุแผ่นลอนใสเพื่อช่วยนำแสงธรรมชาติให้ส่องลงมาถึงด้านล่างอย่างทั่วถึง สร้างความรู้สึกกระปรี้ประเปร่าให้แก่ผู้อยู่อาศัย >> อ่านต่อ
บ้านชั้นเดียวบนพื้นฐานความเรียบง่าย
เจ้าของ: คุณชำนาญ ชัชวาลยางกูร
สถาปนิก: คุณธีรชัย ลี้สุรพลานนท์
บ้านชั้นเดียวกลางทุ่งในจังหวัดอ่างทองที่เน้นการใช้เส้นสายระนาบแนวตั้งแนวนอนสลับให้สมดุล ไม่มีซอกหรือสันไว้เก็บฝุ่น และใช้วัสดุที่เป็นสัจจะแบบไม่ปรุงแต่งอย่างปูน ไม้ เหล็ก อิฐ และกรวด ภายใต้หลังคาโครงสร้างเหล็กในทรงแหงนที่เชิดขึ้นทางทิศเหนือให้ลู่ไปตามลม ตัวบ้านยกลอยขึ้นจากพื้นเพื่อให้ข้างล่างโปร่งและเอื้อต่องานระบบไปในตัว กำแพงด้านหน้าโดดเด่นด้วยอิฐ บ.ป.ก.ซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่นของอ่างทอง โดยนำมาจัดเรียงใหม่เพื่อให้มีช่องเปิดรับแสงเงาสวยๆ ซ้อนด้วยหน้าต่างกระจกบานเลื่อนอีกชั้นเพื่อความปลอดภัย และรอบๆ บ้านโรยกรวดแม่น้ำ เผื่อเวลามีใครเดินจะได้ส่งเสียงบอกเจ้าของบ้านให้รู้ตัว >> อ่านต่อ
บ้านคอร์ตร่วมสมัยแบบไทย
เจ้าของ : คุณเชาว์-คุณวารุณี มณีวัฒนาพฤกษ์
ออกแบบ : sea.monkey.coconut โดยคุณวชิรศักดิ์ มณีวัฒนาพฤกษ์
บ้านชั้นเดียวที่ออกแบบมาเพื่อคุณพ่อคุณแม่ในวัยเกษียณ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “บ้านไทยร่วมสมัย” กลายเป็นบ้านทรงกล่องดีไซน์เรียบเท่ค่อนไปทางโมเดิร์น และตีความความเป็นไทยผ่านการออกแบบที่คำนึงถึงสภาพพื้นที่และอากาศ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์หรือแสงไฟตลอดเวลา ตรงกลางบ้านจึงทำคอร์ตหญ้าเล็ก ๆ กั้นพื้นที่ระหว่างภายในกับภายนอกด้วยบานเฟี้ยมไม้ หากต้องการจะชมสวนหรือเปิดพื้นที่โล่งกว้างมีแสงสว่าง และให้ลมพัดผ่านได้ตลอดทั้งวันก็แค่เปิดบานเฟี้ยมออกเท่านั้น วิธีนี้แทบไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ บ้านก็ดูน่าอยู่ขึ้นได้ไม่ยาก >> อ่านต่อ
บ้านไม้ชั้นเดียวกลางสวน
เจ้าของ : คุณอัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ
สถาปนิก : คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์
ออกแบบสวน : คุณมณฑล จิโรภาส
บ้านไม้ชั้นเดียวกลางสวนที่ตกแต่งแบบโมเดิร์นผสมกับแบบไทย ภายในเน้นความเรียบโล่ง มีลานไม้โล่งกว้างสำหรับให้ผู้สูงอายุออกมาทำกิจกรรมอย่างออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ ท่ามกลางบรรยากาศของสวนสวยที่ออกแบบได้สอดรับกันกับตัวบ้าน >> อ่านต่อ
บ้านปูนชั้นเดียวกลางสวน
เจ้าของ : คุณคำนึง ยินดีสุข
ออกแบบ : คุณภุชงค์ สถิรพิพัฒน์กุล OTATO Architect
บ้านปูนชั้นเดียวกลางสวนที่หลานชายผู้เป็นสถาปนิกสร้างให้คุณตา โดยใช้พื้นที่ร่มรื่นขนาด 100 ตารางวา กลางสวนมะพร้าวติดริมคลองหนองสลิดมาเป็นทำเลหลัก โดยคงต้นไม้ใหญ่อย่างมะขาม ขนุน และมะพร้าวรอบๆ ไว้ จากนั้นจึงสร้างบ้านปูนแบบชั้นเดียวขึ้นมาด้วยพื้นที่ใช้สอย 75 ตารางเมตร ในรูปทรงเหมือนกล่องตัวยู (U) ต่อกันทั้งหมด 4 ก้อนเชื่อมต่อกันโดยมีการเว้นช่องหน้าต่างทรงสูงเล็กๆ ไว้เพื่อไม่ให้บ้านดูทึบเกินไป >> อ่านต่อ
บ้านตถตา
เจ้าของ : แพทย์หญิงจิตราภรณ์ ความคนึง และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร
สถาปัตยกรรม: บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โดยคุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์
ออกแบบภายใน : คุณปรียชนัน สายสาคเรศ
ผู้รับเหมา: คุณวันไชย หงษ์แก้ว (สล่าเก๊า)
ผู้ควบคุมงาน : ยางนาสตูดิโอ และนายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร
บ้านพื้นถิ่นประยุกต์ที่เลือกเฟ้นไม้เก่าจากบ้านในจังหวัดน่านมาออกแบบใหม่ โดยไม่ทิ้งงานฝีมือเชิงช่างของล้านนา แม้เป็นบ้านสองชั้นแต่ได้ออกแบบให้ชั้นล่างเป็นห้องคุณพ่อคุณแม่ผู้สูงวัย พร้อมออกแบบทางลาดไว้รองรับ มีการรวมใต้ถุนกับชานเป็นส่วนเดียวกัน สามารถนั่งรับลมได้ภายใต้บรรยากาศที่เสมือนโอบล้อมด้วยป่าใหญ่ ส่วนภายในบ้านก็มีความโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นกันและกันได้ในทุกพื้นที่ >> อ่านต่อ
เรียบเรียง : Tarnda
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน นิตยสาร room
บทความที่เกี่ยวข้อง