3 พระราชวังไทย ที่ซ่อนอยู่ ได้แก่ วังบางขุนพรหม วังเทวะเวสม์ และพระราชวังเดิม

เที่ยวชม 3 วังที่ซ่อนอยู่

ครั้งนี้ขอพาไปเที่ยวชม พระราชวังไทย ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น 3 วังที่เรียกได้ว่าซ่อนตัวอยู่ คุณผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยว่าวังทั้งวังจะซ่อนอยู่ได้อย่างไร แห่งแรกและแห่งที่สอง คือ“วังบางขุนพรหม” และ “วังเทวะเวสม์” ตั้งอยู่ในพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนแห่งที่สาม “พระราชวังเดิม” ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือ คนทั่วไปจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าไปชื่นชมสักเท่าใดนัก บ้านและสวน ขอพาทุกท่านไปสัมผัสความงดงามอลังการแห่งงานศิลปสถาปัตย์และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจกันครับ

วังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์

พระราชวังเก่า
มุมมองด้านข้างของวัง มีต้นไม้ใหญ่และบางส่วนของแนวกำแพงวังเดิมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี
พระราชวังไทย
โถงบันไดของวังบางขุนพรหมซึ่งตกแต่งได้อย่างอลังการ โดดเด่นด้วยซุ้มประตูโค้งขนาดใหญ่ และลวดลายปูนปั้นที่งดงามซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบบารอก

หนึ่งใน พระราชวังไทย อยู่ภายในพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นที่ตั้งของวังที่มีความงดงามถึงสองวัง ได้แก่ วังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์  โดย วังบางขุนพรหม เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้โอนวังบางขุนพรหมเป็นของกระทรวงกลาโหม และในปี พ.ศ. 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ย้ายเข้าไปตั้งในบริเวณวังบางขุนพรหม และเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ในปี พ.ศ.2497

งานศิลปะและสถาปัตยกรรมของวังแห่งนี้เป็นแบบยุโรป เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระราชโอรสไปทรงศึกษาที่ต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเมือง ในยุคนั้นจึงได้รับวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกเข้ามาค่อนข้างมาก

เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้บูรณะและทาสีวังบางขุนพรหมใหม่ทุก 5 ปี วังแห่งนี้จึงยังคงความสมบูรณ์และงดงามอยู่มาก ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเงินตราไทย มีห้องประวัติและการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งห้องต่างๆ อาทิ ห้องสีชมพู เป็นห้องรับรองพระราชอาคันตุกะ ห้องสีน้ำเงิน เป็นที่ประดิษฐานพระรูปหล่อสัมริดของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์ เป็นห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

พระราชวังไทย
พิพิธภัณฑ์แสดงเงินตราไทย แสดงประวัติความเป็นมาของเงินตราไทยตั้งแต่ยุคแรก และมีห้องจำลองการผลิตเหรียญกษาปณ์ของไทยด้วย
พระราชวังไทย
ห้องสีชมพู ห้องที่สวยงามที่สุดในวังบางขุนพรหม ได้รับการบูรณะใหม่ตามคำบอกเล่าของเจ้านายในราชสกุล “บริพัตร” ห้องนี้เคยใช้รับเสด็จพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และต้อนรับผู้นำระดับประเทศมาแล้ว
พระราชวังไทย
บริเวณสวนในวัง ศาลาโดมด้านขวาเป็นที่สำหรับทรงดนตรีของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์

ในบริเวณใกล้เคียงยังมีอีกหนึ่งวังที่สวยงามไม่แพ้กัน นั่นคือ วังเทวะเวสม์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2461 โดยสถาปนิกชาวอังกฤษชื่อเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และเคยใช้เป็นที่ทำการกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ.2493 และเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานใหญ่ธนาคารแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 

มองผ่านอาคารของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเห็นวังเทวะเวสม์ ซึ่งเป็นที่จัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระบิดาแห่งการต่างประเทศของไทย
พระราชวังไทย
ช่องหน้าต่างของวังเทวะเวสม์โดดเด่นด้วยซุ้มกันสาดรูปหลังคาจั่ว อันเป็นศิลปะแบบตะวันตก ซึ่งดูสวยงามไม่แพ้วังบางขุนพรหม
บริเวณภูมิทัศน์ภายในซึ่งงดงามมาก จะเห็นการผสมผสานระหว่างยุค อาคารด้านขวาคือเรือนรับรอง ส่วนด้านซ้ายคือสะพานพระราม 8

พระราชวังเดิม

พระราชวังไทย
ประตูทางเข้าพระราชวังเดิมมีนายทหารเวรยืนป้องกันอย่างเข้มแข็งเพื่อรักษาความปลอดภัย เพราะตั้งอยู่ในเขตของกองทัพเรือ
พระราชวังไทย
ท้องพระโรง พื้นที่ตรงกลางมีเสาสองแถว แถวละ 8 ต้น เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

จากฝั่งกรุงเทพฯคราวนี้ผมขอข้ามมายังฝั่งธนบุรีบ้าง ณ กองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังเดิม ตามประวัติแล้ว หลังการกอบกู้เอกราชในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงเลือกชัยภูมิทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อตั้งราชธานีใหม่นามว่า “กรุงธนบุรี” และโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังหลวง เพื่อใช้เป็นสถานที่ประทับและว่าราชการแผ่นดิน

อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยนั้นมีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดอรุณราชวรารามและวัดโมลีโลกยารามเข้าไปในเขตพระราชวังด้วย ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้รับการเรียกขานว่า “พระราชวังเดิม” นับแต่นั้นมา โดยมีการกำหนดขอบเขตของพระราชวังให้แคบลง ด้วยการให้วัดอรุณราชวรารามและวัดโมลีโลกยารามอยู่ภายนอกพระราชวัง ตลอดช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นพระราชวังแห่งนี้ใช้เป็นที่ประทับของพระราชวงศ์ชั้นสูง กระทั่งในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือจนถึงปี พ.ศ.2484 จึงใช้เป็นกองบัญชาการกองทัพเรือ 

พระราชวังไทย
ด้านขวาคือท้องพระโรง ส่วนพระตำหนักหลังคาทรงปั้นหยาคือพระตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชวังไทย
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สร้างซ้อนทับบนฐานอาคารซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศาลเดิม แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าศาลเดิมนั้นสร้างเมื่อใด ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพระอิริยาบถทรงยืนและทรงพระแสงดาบ

สำหรับโบราณสถานสำคัญที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นในพระราชวังเดิม คือ ท้องพระโรง ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก พระตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ศาลศีรษะปลาวาฬ และเรือนเขียว โดยรูปแบบงานศิลปะและสถาปัตยกรรมของพระราชวังแห่งนี้ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากจีน เพราะในช่วงนั้นประเทศเราได้เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน ส่งผลให้ตึกรามบ้านช่องในยุคนั้นก็ได้รับอิทธิพลจากศิลปวัฒนธรรมจีนเช่นกัน

พระราชวังไทย
พระตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างระหว่างปี พ.ศ. 2367-2394 เป็นพระตำหนักแบบตะวันตกหลังแรกๆที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก มีหลังคาทรงจั่วแบบจีน ปัจจุบันใช้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและจัดแสดงอาวุธโบราณ
ศาลศีรษะปลาวาฬ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2542 บนฐานเดิมที่ขุดพบ ปัจจุบันเป็นที่แสดงกระดูกหัวปลาวาฬซึ่งพบอยู่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในช่วงการบูรณะ คนโบราณเชื่อว่ากระดูกของสัตว์ใหญ่มีความเป็นสิริมงคล จึงนำมาบูชาไว้
เรือนเขียว เป็นอาคารโรงพยาบาลเดิม สร้างระหว่าปี พ.ศ. 2443-2499 ใช้เป็นโรงเรียนนายเรือและสถานพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ
ข้างพระราชวังเดิมคือวัดอรุณราชวราราม หากเที่ยววังเสร็จแล้วจะต่อด้วยการเที่ยววัดอีกแห่งก็ได้

เรื่อง : พงศ์ธร รัตนประทีป

ภาพ : ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง

ตามรอยประวัติศาสตร์ 5 วัง 5 แผ่นดิน

ชม 5 บ้านเก่าทรงคุณค่า ที่เปรียบเสมือนมรดกของสถาปัตยกรรมไทย

ติดตามบ้านและสวนได้ทางเพจ บ้านและสวน Baanlaesuan.com