“บ้านพิเสฐ” เติมเต็มอารมณ์ผ่านประติมากรรมและของสะสม
บ้านโมเดิร์นปูนเปลือย ที่ดูราวกับงานประติมากรรมด้วยรูปฟอร์มของเสาคอนกรีตสี่ต้นต่างองศา พร้อมสเปซที่ค่อย ๆ ไล่ลำดับความว้าวด้วยสเปซและของสะสม
เจ้าของ: คุณพิเสฐ จึงแย้มปิ่น
ออกแบบสถาปัตยกรรม: Wolves Design Co.,Ltd.
ออกแบบ-ตกแต่งภายใน: August Design Consultant Co., Ltd.
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: Baan Nuengpun Mai Co., Ltd.
“ผมต้องการบ้านที่มีรูปฟอร์มเป็นประติมากรรมแบบโมเดิร์น ผมชอบอะไรที่ไม่ธรรมดา พิเศษ”
“ผมให้คอนเซ็ปต์กับทางสถาปนิกและมัณฑนากรว่า เข้ามาแล้วต้องมีความรู้สึกสามแบบคือ Oh, Wow และ Oh My God” แค่แนวคิดเริ่มต้นก็พอจะรับรู้ได้แล้วว่าบ้านหลังนี้ต้องไม่ธรรมดาแน่นอน และเพื่อให้สมกับชื่อ “Baan Pised” ซึ่งตั้งตามชื่อเจ้าของบ้าน คุณพิเสฐ จึงแย้มปิ่น หรือมีอีกนัยว่า “พิเศษ” ไม่เหมือนใคร
บนที่ดินขนาดสองไร่ครึ่งในหมู่บ้านนวธานีซึ่งมีสนามกอล์ฟรวมอยู่ในโครงการด้วย คุณพิเสฐได้มาพบที่ดินผืนนี้ระหว่างมาตีกอล์ฟและถูกใจจนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อเพื่อปลูกบ้านหลังใหม่ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ แล้ววางใจให้ทีมสถาปนิกจาก Wolves Design Co.,Ltd. ร่วมกับทีมมัณฑนากรจาก August Design Consultant Co., Ltd. มาเป็นผู้สานฝันให้เป็นจริง
สืบสานตำนาน “บ้านสืบศุข”
บ้านสืบศุขคือบ้านลูกผสมสไตล์กึ่งจีนกึ่งฝรั่งที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านเยาวราชอายุกว่า 90 ปีของคุณปู่คุณพิเสฐ ซึ่งท่านนับว่าเป็นหนึ่งในนักสะสมตัวยง เวลาเดินทางไปฮ่องกงก็มักขนของกลับมา โดยห่อใส่ลังไม้อย่างดีที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับบรรจุของประเภทถ้วยชามสังคโลก ของที่ระลึกต่าง ๆ ประกอบกับคุณปู่มีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว มีความสามารถในการวาดรูป งานศิลปะจึงเป็นอีกหนึ่งของสะสมที่มีอยู่ไม่น้อย ความเคยชินเหล่านี้จึงค่อย ๆ ซึมซับและได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของลูกหลาน ราวกับส่งต่อผ่านดีเอ็นเอในการชื่นชอบสะสมความทรงจำผ่านของสะสมเช่นเดียวกัน บ้านหลังนี้จึงเปรียบเสมือนการระลึกถึงคาแร็กเตอร์ของคุณปู่ไว้ได้ในรูปแบบใหม่ที่ดูทันสมัยยิ่งขึ้น
ให้บ้านทำหน้าที่ราวกับประติมากรรม
“ผมต้องการบ้านที่มีรูปฟอร์มเป็นประติมากรรมแบบโมเดิร์น ผมชอบอะไรที่ไม่ธรรมดา ดูพิเศษ” หากมองจากภายนอกจะสังเกตเห็นเสาหน้าบ้านจำนวน 4 ต้นที่จัดเรียงไว้แบบไม่ปกติ กล่าวคือเอียงไปมาในองศาที่ไม่เท่ากันสักต้น โดยเป็นองค์ประกอบที่คุณพิเสฐนำมาจากบ้านอีกหลังของตนเองที่เขาใหญ่ นับเป็นคาแร็กเตอร์ที่ขับให้บ้านดูมีเสน่ห์ และกลายมาเป็นประติมากรรมหลักของบ้านไปในตัว โดยมวลอาคารออกแบบให้มีความสัมพันธ์กับการอยู่อาศัย นอกจากในแง่ของทิศทางแดด ลม ฝนแล้ว ยังคำนึงถึงการใช้งานโดยนำส่วนเซอร์วิสบล็อกฝั่งที่ติดกับเพื่อนบ้าน แล้วให้อีกฝั่งเป็นส่วนที่พักอาศัย โดยร่นระยะสวนกว่าครึ่งของที่ดินให้ดูต่อเนื่องไปกับสนามกอล์ฟเหมือนได้สวนขนาดใหญ่ พร้อมสามารถชมวิวได้แบบ 180 องศา
สร้างความพิเศษในพื้นที่ทุกตารางเมตร
ในส่วนของการออกแบบตกแต่งภายใน เมื่อได้รับโจทย์มาว่าอยากได้ความรู้สึกสามแบบคือ “Oh, Wow และ Oh My God” จึงตีความมาสู่สเปซที่ไล่ลำดับวอลลุ่มของพื้นที่ตามลำดับการเข้าถึง โดยเริ่มจากอาคารก้อนแรกกับความสูง 3 เมตร บรรจุห้องน้องหมาสี่ขา ห้องเก็บรองเท้า และโถงทางเข้าหลักที่กรุกระจกขนานไปกับทางเดิน เพิ่มมิติด้วยช่องแสงสกายไลต์ที่ส่องลงมาพอดีกับองค์พระพุทธรูปแบบลอยตัว เปิดรับความรู้สึก Oh ต่อด้วยอารมณ์ Wow กับพื้นที่ถัดไปด้านในเป็นก้อนอาคารความสูง 6 เมตรที่บรรจุส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัว ที่จัดแบบโอเพ่นแปลนทำให้ทุกส่วนมองเห็นกันได้หมด แล้วอุทานดัง ๆ ว่า Oh My God กับอาคารด้านหลังขนาดสามชั้นกับความสูง 12 เมตรที่นอกจากจะเจอโครงสร้างเสาอาคารที่เป็นคาแร็กเตอร์พิเศษของบ้านหลังนี้แล้ว ยังมีห้อง Stuck Bar บาร์ลับที่บรรจุความทรงจำตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันไว้อย่างเต็มเปี่ยมผ่านรูปถ่ายและของสะสม ทั้งที่เก็บไว้เองและมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ไม่หมดเท่านั้นยังมีโถงบันไดสูงโปร่งที่ทำหน้าที่เหมือนแกลเลอรี่ขนาดย่อมกับผลงานประติมากรรมสั่งทำขนาดใหญ่ ที่พร้อมส่งสมาชิกของบ้านขึ้นสู่ส่วนพักอาศัยแบบส่วนตัวในชั้นสองและชั้นสามต่อไป
เพิ่มอารมณ์ ความรู้สึกผ่านการเลือกใช้วัสดุ
คุมมู้ดแอนด์โทนภายในบ้านให้ดูเรียบง่ายเพื่อทำหน้าที่เป็นแบล็กกราวนด์ให้ของสะสมหลากหลายสไตล์ แต่ก็ไม่ลืมสร้างความโดดเด่นด้วย Feature Wall ที่กรุไม้แดงซึ่งผ่านการนำไปตากแดดนานกว่า 6 เดือนจนเนื้อไม้เปลี่ยนเป็นสีอมเทา โชว์ลายไม้เด่นชัด ได้ผิวสัมผัสที่ไม่เหมือนใคร ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ไม้ไปในตัว ในส่วนของ Hall Gallery บริเวณโถงทางเดินเลือกใช้ไม้สนญี่ปุ่นเผาผิว (Yakisugi) ที่กะเทาะผิวหน้าออกพร้อมทาเคลือบอีกชั้นหนึ่ง โดยเลือกใช้ในจังหวะที่กำลังพอดีช่วยตัดเลี่ยนไม้แดงได้เป็นอย่างดี
อีกโจทย์สำคัญในการเลือกใช้วัสดุคือเหล่าน้องหมาที่นับเป็นสมาชิกในบ้าน จึงเลือกใช้วัสดุที่ดูแลรักษาง่าย มีความคงทน ง่ายต่อการติดตั้ง จึงเลือกใช้กระเบื้องลายไม้ในพื้นที่โซนสาธารณะ และเลือกใช้พื้นไม้ไผ่อัดในส่วนของโซนส่วนตัวแทน
ทั้งหมดที่รวมกันเป็นความพิเศษของบ้านหลังนี้ คุณพิเสฐย้ำกับเราว่าเกิดจากความร่วมมือของทีมออกแบบทุกทีมทั้งทีมสถาปนิก ทีมมัณฑนากร และผู้ประสานงานโครงการที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบจนงานเสร็จลุล่วงภายในเวลาเพียงสองปีตามที่คาดหวัง จนออกมาเป็นสเปซที่ถูกใจ สวยงามราวประติมากรรมตั้งแต่ภายนอก ภายใน ขับให้การใช้ชีวิตหลังเกษียณในบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยความสุขในทุกวัน
Living with Passion
“ของที่เราเก็บไว้ทุกชิ้นเป็นสิ่งที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรือกีตาร์ เป็นความสุขที่มารวมอยู่ด้วยกันอย่างที่เราคิดฝันเอาไว้ ตั้งแต่อยู่มาผมมีความสุขมาก”
หนึ่งในความท้าทายของทีมมัณฑนากรคือการนำของสะสมทั้งหมดมาผสานเข้ากับพื้นที่ใช้สอยอย่างไรให้ลงตัว โดยเริ่มจากการจัดหมวดหมู่แยกตามประเภท เช่น แจกัน กีตาร์ พรม ประติมากรรม หรือของสะสมจากคุณปู่ จากนั้นจึงวางแผนต่อว่าของแต่ละชิ้นสามารถเล่าเรื่องและเชื่อมไปกับพื้นที่ใช้งานไหนได้บ้าง เพื่อไม่ให้เป็นแค่ของโชว์แต่ยังช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้บ้าน เราจึงเห็นของสะสมถูกกระจายตามพื้นที่ในบ้านอย่างเหมาะเจาะ ไม่เพียงอยู่แค่ในห้อง Stuck Bar
ภายในห้อง Stuck Bar ที่ดูสวยงามนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่เพียงแค่การนำของมาจัดวาง แต่ทุกอย่างผ่านการคิดและออกแบบมาทั้งหมด แม้แต่รูปภาพตกแต่งผนังที่แบ่งตามช่วงอายุไล่ลำดับตามเหตุการณ์ “รูปผมแบ่งเป็นสามช่วง เริ่มตั้งแต่สมัยผมเด็ก ๆ ความทรงจำกับครอบครัว คุณปู่ พ่อแม่ พี่น้อง ส่วนตรงกลางก็จะเป็นยุคปัจจุบันเวลาไปท่องเที่ยว สุดท้ายเป็นการทำงานที่ผ่านมาในช่วงที่โตแล้ว กรอบรูปทั้งหมดดีไซน์วิธีการจัดการ มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำกรอบรูปโดยเฉพาะ โดยนำรูปเก่าไปสแกนแล้วแต่งสีใหม่ทั้งหมด มีการคำนวณน้ำหนักค่าสี ทำให้โทนสีของภาพไม่โดดจากกัน
“ผมมีพรมยี่สิบกว่าผืนจากตะวันออกกลางหลายประเทศ เวลาเดินทางไปทีก็จะหิ้วกลับมาทีละสองสามผืน เพราะพรมจะค่อนข้างหนัก บางชิ้นเกือบสิบปียังไม่ได้ใช้” ผู้ออกแบบจึงเลือกที่จะนำพรมผืนเล็กผืนน้อยมาเรียงต่อกันเป็นแพตเทิร์นผืนใหญ่ ทั้งในส่วนของห้องบาร์และห้องโถง นอกจากให้ความรู้สึกอบอุ่นขึ้นแล้ว ยังเป็นความสุขทางใจของเจ้าของบ้านที่ได้เห็นของที่ได้มาจากการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอยู่อาศัย เพราะทุกชิ้นเต็มไปด้วยความทรงจำ
นอกจากนี้ยังมีกีตาร์ที่คุณพิเสฐสะสมมากว่าสิบปีอยู่ในทุกมุมของบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นคนหลงใหลในเสียงดนตรี จึงให้ความสำคัญกับดนตรีทั้งในเรื่องของลำโพง เครื่องเสียง โดยมีกิมมิกเล็ก ๆ ที่แอบซ่อนไว้คือสติกเกอร์โน้ตเพลงที่คุณพิเสฐแต่งเองพาดไปบนบานประตูกระจกยาวตลอดแนว
“ผมไม่ใช่คนเล่นกีตาร์เก่งแต่เล่นกีตาร์ได้ระดับหนึ่ง เล่นมานานมากแล้ว สำหรับผมกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีที่เสมือนงานศิลปะที่มีรูปฟอร์มสวยงาม มีสัดส่วน มีส่วนเว้าส่วนโค้ง ดูเป็นประติมากรรม มีเรื่องของงานคราฟต์ในการทำแต่ละตัว มีคาแร็กเตอร์ ผมก็จะเก็บไว้ค่อนข้างเยอะ มีสั่งทำบ้าง รวมทั้งหมดก็ราวห้าสิบตัวได้
“ข้าวของเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่กับผมมานาน บางอันเห็นมาตั้งแต่เด็ก เรามีความผูกพัน ของที่เราเก็บไว้ทุกชิ้นเป็นสิ่งที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรือกีตาร์ เป็นความสุขที่มารวมอยู่ด้วยกันอย่างที่เราคิดฝันเอาไว้ ตั้งแต่อยู่มาผมมีความสุขมาก จริงๆผมไม่ได้กระผีกของคุณปู่หรอก เขาทำอะไรได้ยิ่งใหญ่กว่าเราเยอะ แต่เราก็อยากจะทำให้ลูกหลานเราเห็น ได้สืบทอดกันต่อไป”
เรื่อง: foryeah!
ภาพ: นันทิยา บุษบงค์
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์